วันที่ 11 มีนาคม 2554 ญี่ปุ่นเผชิญภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่สุดจากแผ่นดินไหว คลื่นสึนามิ และกัมมันตภาพรังสีรั่วไหล ภาพเปรียบเทียบสถานที่เกิดเหตุเมื่อ 10 ปีก่อนและวันนี้ แสดงให้เห็นการฟื้นฟูบูรณะ แต่จิตใจของผู้คนยังต้องใช้เวลาเยียวยา
จังหวัดมิยางิ อิวาเตะ และฟูกูชิมะ เป็นพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบหนักที่สุด แต่ภัยพิบัติครั้งนั้นส่งผลกระทบทั่วประเทศญี่ปุ่น เฉพาะพื้นที่ที่มีผู้เสียชีวิตมีมากถึง 13 จังหวัด รวมถึงกรุงโตเกียว และเกาะฮอกไกโด ผู้เสียชีวิตรวมมากกว่า 22,000 คน ประชาชนอีกมากมายยังคงได้รับผลกระทบยาวนานถึง 10 ปี
ผลสำรวจของสถานีโทรทัศน์ NHK พบว่า ประชาชนผู้ประสบภัยมีความเห็นต่อความคืบหน้าในการบูรณะฟื้นฟูในแง่บวกและแง่ลบในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันครึ่งต่อครึ่ง ผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 12.0 ระบุว่าการฟื้นฟูเสร็จสิ้นแล้ว, ร้อยละ 33.7 ระบุว่ามีความคืบหน้ามากกว่าที่คาดไว้
ในทางกลับกัน ร้อยละ 43.3 ระบุว่ามีความคืบหน้าน้อยกว่าที่คาดไว้, ร้อยละ 7.4 ระบุว่าไม่สังเกตเห็นความคืบหน้าใด ๆ เลย
ผู้ประสบภัยร้อยละ 44.5 บอกว่ารู้สึกว่า เวลา 10 ปีเป็นจุดก้าวข้ามความเสียหายจากภัยพิบัติครั้งนั้น แต่ร้อยละ 30.5 ตอบว่าไม่คิดอย่างนั้น
ผู้ประสบภัยร้อยละ 33.8 บอกว่า “นี่เป็นโอกาสของการยืดหยัดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง” แต่ร้อยละ 31 ตอบว่ายังไม่เห็นโอกาสที่จะฟื้นตัวกลับมาอย่างอิสระได้
จังหวัดมิยางิมีการฟื้นฟูที่คืบหน้ามากที่สุด ผู้ประสบภัยร้อยละ 58.9 คิดว่าการฟื้นฟูมีความคืบหน้ามากกว่าที่คาดไว้ ส่วนที่จังหวัดอิวาเตะ ผู้ประสบภัยร้อยละ 44.9 คิดว่าการฟื้นฟูคืบหน้า
แตกต่างอย่างมากจากจังหวัดฟูกูชิมะ ที่ประชาชนเพียงร้อยละ 28.6 คิดว่าการฟื้นฟูคืบหน้า สะท้อนถึงผลกระทบที่ยังคงหลงเหลืออยู่ของอุบัติเหตุนิวเคลียร์ ที่โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ โดยคำสั่งอพยพยังคงมีผลบังคับใช้ในพื้นที่รอบโรงงาน และรัฐบาลยังคงไม่สามารถหาหนทางที่จะจัดการกับอนาคตของซากโรงไฟฟ้าที่พังพินาศแห่งนี้อย่างไร ?
ผู้ประสบภัยคนหนึ่งบอกว่า เวลา 10 ปียังไม่ทำให้ตนเองก้าวข้าวความเจ็บปวดในอดีตได้ เขามีความสุขที่ได้เห็นว่าบ้านกำลังได้รับการสร้างขึ้นใหม่ทีละน้อย แต่เมื่อผ่านเวลายิ่งนานขึ้น เขากลับยังคงรู้สึกว่าทำไปก็ไร้ประโยชน์ ความสงสัยของเขาได้เปลี่ยนมาเป็นความผิดหวัง
เมืองได้รับการสร้างขึ้นมาใหม่ตามแผนการฟื้นฟูบูรณะ แต่ประชากรลดลงมากจนแทบจะไม่มีชีวิตชีวา ผู้คนจำนวนมากยังไม่สามารถกลับบ้านของตัวเองได้ และหลายคนเลือกที่จะไม่กลับมาอีกเลย หากเมืองมีเพียงอาคารบ้านเรือนที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ แต่ไร้ผู้คนจะมีความหมายอะไร ?
ผ่านมา 10 ปี ผู้ประสบภัยจำนวนมากก็ยังพูดได้ไม่เต็มปากว่า มีความเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดนับตั้งแต่เกิดภัยพิบัติครั้งนั้น ร่องรอยความเสียหายถูกเก็บกวาดไปเกือบหมดแล้ว แต่รอยแผลในใจของประชาชนยังไม่สมานสนิท.