สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว อาทิตย์ที่แล้วผมพูดเกี่ยวกับชาญี่ปุ่นไปคร่าวๆ บางคนบอกว่าชาญี่ปุ่นมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ซับซ้อน มีพิธีรีตรอง แต่บางคนก็บอกว่าไม่เห็นยุ่งยากอะไรเลย ชงง่ายพอๆ กับการชงกาแฟหรือการชงเครื่องดื่มร้อนทั่วไป แค่ใส่น้ำร้อนก็ดื่มได้ทันที แต่อาจจะต่างจากชาฝรั่งสักหน่อยถึงแม้ว่าจะเป็นการชงจากใบชาเหมือนกัน ใช้วิธีการชงคล้ายกันแต่รสชาติอาจมีความแตกต่าง ซึ่งผมเองก็เคยทำตามวิธีที่เขาแนะนำเกี่ยวกับวิธีชงชาฝรั่งให้ได้รสชาติดี ถ้าทำวิธีต่างๆ ตามขั้นตอนยืนยันได้ว่าอร่อยแน่นอน
ช่วงที่ผมเรียนจบใหม่ๆ และปีนั้นยังสอบเข้ารับราชการไม่ได้ จึงยังไม่ได้ทำงานอะไรและรอสอบอีกครั้งในปีต่อไป ลักษณะนี้ที่ญี่ปุ่นเรียกว่า 浪人 Ronin ที่จริงคำนี้มีสองความหมาย หนึ่งคือซามูไรรับใช้ที่ยังไม่มีหัวหน้า ยังไม่มีต้นสังกัด กำลังหางานและสังกัดอยู่ ส่วนอีกความหมายคือ คนที่ยังไม่มีงานทํา เพราะล้มเหลวในการสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยหรือเข้าทํางานและพยายามที่จะหาโอกาสต่อไป ซึ่งตอนที่ผมรอสอบเข้าทำงานข้าราชการในตอนนั้น ผมกลับไปอยู่บ้านที่ต่างจังหวัด บ้านผมอยู่ในเมืองที่มีหิมะตกหนักมากและหนาวเย็นมาก ในระหว่างนั้นก็อ่านหนังสือและเตรียมตัวสอบไปด้วย แม้ที่บ้านจะเร่งให้รีบหางานอื่นไวๆ แต่ผมคิดว่ารอสอบเข้าราชการและทุ่มเทเวลาอ่านหนังสือดีกว่าจึงบอกที่บ้านไปอย่างนั้นแต่ที่จริงก็ไม่ได้อ่านแบบเอาเป็นเอาตายสักเท่าไหร่นัก และบอกพ่อแม่ว่ากำลังเรียนวิธีการชงชาฝรั่งให้ถูกหลักการเพื่อให้ได้รสชาติอร่อยกลมกล่อม ตอนนั้นมีรายการทีวีที่นำเสนอเรื่องหลักการชงชาฝรั่งให้อร่อย ผมก็นั่งดูรายการทีวีนั้นและลองทำตาม เขาแนะนำว่าการชงชาฝรั่งให้อร่อยต้องทำดังนี้
●ต้องทำให้กาชงชาอุ่น เพราะการอุ่นภาชนะจะช่วยรักษาอุณหภูมิน้ำร้อนที่ใช้ชงชาได้นานขึ้น การอุ่นกาโดยการเทน้ำร้อนลงในกาเล็กน้อย ที่บ้านผมเป็นบ้านไม้โปร่งที่อากาศเย็นสบายในช่วงฤดูร้อน แต่ถ้าถึงฤดูหนาวนี่ตัวใครตัวมันครับหนาวเย็นมาก จะเปิดเครื่องฮีตเตอร์ทำความร้อนเฉพาะห้องที่มีคนอยู่เท่านั้น ถ้าออกไปนอกห้องนี่มือชา หูแข็งเลย และนึกออกไหมครับว่าของต่างๆ ก็จะเย็นยะเยือกไปด้วย ในห้องครัวที่ไม่ได้เปิดเครื่องทำความร้อนก็จะหนาวๆ อยู่สักหน่อย รายการทีวีบอกให้ทำอุปกรณ์การชงชาให้ร้อนทุกอย่าง ผมก็ต้องทนหนาวไปต้มน้ำและอุ่นกา และแก้วชาให้ร้อนตามที่เขาบอก
●น้ำร้อนต้องร้อนถึง 99 องศาเซลเซียส ถ้าใครไม่มีเครื่องวัดอุณหภูมิ มีวิธีสังเกตว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าน้ำร้อนถึง 99 องศาเซลเซียสแล้ว เขาแนะนำว่า ถ้าใช้กาต้มน้ำนกหวีดมันจะมีเสียงเตือนเมื่อน้ำเดือด จะมีไอน้ำพุ่งออกมาทางปากกาและนกหวีดก็จะส่งเสียงร้องหวีด~ เมื่อมันร้องเราก็ปิดไฟและรีบรินน้ำลงกาชาทันที นั่นหมายถึงผมต้องยืนเฝ้าน้ำให้เดือดแล้วรินลงกาชาทันที ในสภาพอากาศที่หนาวเย็นในห้องครัวบ้านผมมันหนาวจับใจเลยครับ
●ในจังหวะที่เทน้ำร้อนอุณหภูมิ 99 องศาเซลเซียสลงไปในกาชา จะต้องดูปฏิกิริยาของใบชาด้วย ใบชาจะขยายตัวออก และเคลื่อนไหวเหมือนเต้นระบำในกา นั่นแหละคือหนึ่งในกรรมวิธีที่จะทำให้เราได้ชาที่มีรสชาติอร่อยกลมกล่อมถูกใจอย่างยิ่ง
นั่นคือสิ่งที่ผมทำตามที่รายการทีวีแนะนำ ในช่วงเวลาที่มีสภาพอากาศหนาวเย็นเช่นนั้น ผมมานึกดูว่าการที่ผมต้องทนความหนาวเพื่อไปชงชาร้อนๆ และดื่มด้วยความหนาวในครั้งนั้น ชาที่ชงดื่มก็ไม่ได้อร่อยกว่าการชงแบบปกติสักเท่าไหร่นัก อาจเพราะผมดื่มแบบไหนก็ได้กระมัง วิธีต่างๆ ที่เขาแนะนำนี้อาจจะทำให้ชาอร่อยกว่าปกตินิดหน่อยแต่ผมคิดว่าด้วยความเป็นคนขี้เกียจอย่างผมก็ชงแบบธรรมดาก็ได้นะ ไม่ต้องเดินไปรอชงหน้าเตาในครัวก็ได้ แค่เอากระติกน้ำอุ่นเข้าไปไว้ในห้องที่เปิดเครื่องทำความร้อนและชงกินในห้องอุ่นๆ อย่างเนี่ยรู้สึกฟินสบายและง่ายกว่าเยอะ
แต่ร้านขายชาหรือคาเฟต์ที่ต่างประเทศ หรือคนที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการชงชาฝรั่งจริงๆ มีนะครับ เค้าจะมีเทคนิคบางอย่างที่ทำให้ชงได้อร่อยกว่าที่เราชงเอง ซึ่งถ้าใครเคยไปเที่ยวญี่ปุ่นแถวย่านจิมโบโช 神保町Jimbocho ที่มีร้านชาและชากาแฟคาเฟ่ เล็กๆ มากมาย จะเห็นว่าส่วนใหญ่คนที่ชงชาฝรั่งเนี่ยเค้าชงชาได้อร่อยจริงๆ บางร้านไม่มีกาแฟขายนะครับ มีแต่ชาหลากหลายชนิดซึ่งถ้าใครเป็นคอชาต้องลองไปชิมครับ เพราะว่าจะได้รสชาติความอร่อยที่แตกต่างกันในแต่ละชนิดของประเภทชา
ส่วนชาญี่ปุ่น อาจจะมีเทคนิคเหมือนกันแต่ไม่ว่าจะด้วยเทคนิคไหนส่วนใหญ่ก็ชงออกมาแล้วได้รสชาติความอร่อยคล้ายๆ กัน ที่จริงเมื่อพูดถึงเรื่องชา สําหรับชาวญี่ปุ่นชาก็ตามความหมายเลยว่าความเป็นกิจวัตร เรื่องที่เป็นประจำหรือ 日常茶飯 Nichijosahan ไม่ได้เป็นพิธีรีตรองอะไรมากนัก เพียงแต่ว่าบางคนมองว่าการชงชาญี่ปุ่นยุ่งยากและมีความซับซ้อน เพราะอาจจะติดภาพของ "พิธีชงชา 茶道 Chado คือ วิถีแห่งชาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นพิธีกรรมที่ทรงคุณค่า ว่ากันว่าเป็นวิถีที่สะท้อนถึงศิลปวัฒนธรรมและแนวคิดการใช้ชีวิตของชาวญี่ปุ่น ที่ว่าด้วยการใช้เวลาอย่างมีสุนทรียภาพในการลิ้มรสทั้งรูป รส กลิ่น เสียง และจิตใจระหว่างการชงชาและการดื่มชา"
พิธีชงชานั้นอาจจะมีความยุ่งยาก มีพิธีรีตรอง จะต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะในพิธีชงชาครับ ยกตัวอย่างอาทิเช่น
* คะมะ (Kama) หม้อเหล็กสำหรับใช้ต้มน้ำใส่ชา
* นัทสึเมะ (Natsume) ภาชนะสำหรับใส่ผงชามัทฉะ
* ชาอิเระ (Chaire) โถใส่ชา
* ชาชะคุ (Chashaku)** ช้อนตักผงชา มีลักษณะยาว ปลายแหลมเล็ก ทำจากไม้ไผ่
* ชาเซน (Chasen) อุปกรณ์สำหรับใช้คนและตีผงมัทฉะให้ละลาย ทำจากไม้ไผ่ มีลักษณะแปรงและคุณภาพที่เหมาะสม
* ชาวัง (Chawan) ถ้วยชาขนาดใหญ่กว่าถ้วยชาทั่วไป
* ฮิชะคุ (Hishaku) กระบวยสำหรับตักน้ำชงชา เป็นต้น
เรื่องพิธีชงชาจึงมีทั้งคนที่มองในภาพลักษณ์ที่ดีอันเป็นขนบธรรมเนียมอันดีงาม และคนญี่ปุ่นที่รู้สึกเฉยๆ เพราะว่าบางคนก็ไม่ได้รู้สึกว่าการดื่มชาคือการชงชาแบบในพิธีชงชาครับ มีงานเขียนจากซีนหนึ่งในการ์ตูนเรื่อง Hyouge Mono へうげもの ตอนที่กล่าวถึงชาชะคุ (Chashaku) หรือช้อนตักผงชาด้วยครับ
Hyouge Mono へうげもの Tea for Universe, Tea for Life เป็นการ์ตูนอิงประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่เขียนโดย Yoshihiro Yamada และยังได้รับการดัดแปลงเป็นซีรีส์อนิเมะด้วยครับ เรื่องราวเกิดขึ้นในยุคเซ็นโงคุ และดำเนินเรื่องผ่านตัวละครชื่อ Sasuke Furuta ผู้รับใช้คนสนิทของ โนบุนางะ โอดะ Oda Nobunaga
Sasuke Furuta หรือถ้าเรียกตามยศว่า 古田織部 Furuta Oribe เป็นซามูไรแต่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านการรบแบบซามูไรทั่วไป เขาเก่งและชอบในศิลปะและหลงไหลในชาอย่างมาก แม้ว่าอยากจะไต่เต้าขึ้นสู่ระดับสูงตามตำแหน่งของซามูไรแต่ว่าลึกๆ แล้ว เขาชอบศิลปะและชามากกว่าอื่นใด Furuta Oribe มีหัวหน้าคือ 豊臣秀吉 Toyotomi Hideyoshi ที่ต้องการส่งของขวัญที่ระลึกให้กับ 明智光秀 Akechi Mitsuhide ซึ่งมีระดับตำแหน่งเทียบเท่ากัน ถ้าพูดอีกแง่ก็คือมอบของขวัญผูกมิตรกระชับไมตรีให้คู่แข่งที่เทียบเท่าสูสีกัน
Hideyoshi ได้ฝากให้ทาง Oribe เป็นคนนำของขวัญผูกมิตรไปมอบให้ Mitsuhide พอ Oribe รู้ว่าเป็นของที่เกี่ยวกับการชงชา ที่เขาชอบมากอยู่แล้ว จึงแอบเปิดห่อของขวัญดูว่ามีอะไรบ้าง แล้วเห็นว่าเป็นอุปกรณ์เกี่ยวกับการชงชาสวยๆ หลายอย่าง และมีไม้ตักชาที่สวยถูกใจเขามาก ซึ่งน่าจะมีราคาแพงมากเช่นกัน เขาจึงทำการสลับเอาไม้ตักชาจากไม้ไผ่ธรรมดาที่เขาทำขึ้นมาแทนไม้ตักชาอันที่เจ้านายฝากให้เป็นของขวัญแก่ Mitsuhide Σ(゚Д゚; ผมอ่านแล้วรู้สึกขำซีนนี้มากแม้จะเป็นเรื่องราวในการ์ตูน ซึ่งจริงๆ แล้วชาชะคุ (Chashaku) หรือที่ตักชาที่มีราคาแพงแบบมีมูลค่าแพงมากๆ มีจริงนะครับ ยิ่งสืบทอดกันมายาวนานก็ยิ่งแพง บางอันแพงกว่าคอนโดมิเนียมอีก ซึ่งเรื่องแบบนี้ก็เป็นความชอบความเชื่อของคนที่เขารักในพิธีชงชา แต่จริงๆ แล้วพิธีชงชาก็ไม่เกี่ยวข้องกับในการดื่มชาในชีวิตประจำวันสักเท่าไหร่
คนธรรมดาอย่างเราอาจไม่ต้องเตรียมตัวถึงขั้นต้องชงชาอย่างเป็นพิธีการ หรือต้องเลือกใช้ของแพงแบบในพิธีชงชาก็ได้ ถ้าอยากดื่มชาเขียวญี่ปุ่น ก็ง่ายๆ เดินหาซื้ออุปกรณ์ กาชง ตามร้านร้อยเยนก็มีขายทั่วไปครั้บ และเรื่องน้ำร้อนก็ไม่ต้องต้มให้ร้อนเดือด 99- 100 องศาเซลเซียส แค่น้ำร้อน 70- 80 องศาเซลเซียสก็ใช้ได้
แต่ว่าสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ถ้าดื่มคนเดียวเราอาจจะชงแบบไหน หรือดื่มกี่รอบก็ได้ แต่ถ้าชงให้เพื่อนในวงที่มีอยู่ประมาณ 2-3 คน เราต้องรินชาโดยให้ความเข้มข้นหรือรสชาติของชาเท่ากันทั้งสามคน 3 ถ้วยครับ โดยที่ค่อยๆ รินชาลงไปทั้งสามถ้วยทีละนิดๆ แล้วก็วนกลับมารินใหม่จนกว่าจะเต็มของทั้งสามถ้วยเพื่อให้รสชาติและความเข้มข้นเท่ากันจึงจะได้รสชาติที่อร่อยเท่ากัน ไม่มีใครขมเกินไป หรือเจือจางเกินไป ไม่ควรรินชาให้คนแรกแบบเต็มแก้วในทีเดียวนะครับ
และถ้าเราดื่มเองเมื่อหมดกาแรกแล้วเราอาจจะใส่น้ำร้อนเข้าไปใหม่ก็ได้ แต่ถ้าเราชงชาให้ลูกค้าหรือให้เพื่อนบ้านหรือแขกที่มาเยี่ยมเยือน เมื่อชาหมดกาไปแล้วหนึ่งกา ควรจะเปลี่ยนชาใหม่และเติมน้ำร้อนใหม่อีกรอบหนึ่ง เพื่อจะได้ชาที่สดอร่อยกลมกล่อมได้รสชาติที่แท้จริงครับ ชาเขียวเป็นชาที่มีประโยชน์มากนะครับ ถ้ามีโอกาสอย่าลืมชงดื่มนะครับ วันนี้สวัสดีครับ