คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน แม้ว่าญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่ก้าวไกลในเรื่องของเทคโนโลยี สามารถประดิษฐ์อุปกรณ์เครื่องใช้คุณภาพสูงออกมามากมายจนทั่วโลกตื่นตาตื่นใจอยู่ยุคหนึ่ง แต่ทุกวันนี้ญี่ปุ่นกลับไม่ค่อยมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นเท่าใดนักในขณะที่ประเทศอื่นกำลังเติบโตแซงหน้า ความรุ่งโรจน์ของญี่ปุ่นกำลังถูกโลกลืมเลือนไป
ดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index) ได้จัดอันดับศักยภาพด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยีของแต่ละประเทศเอาไว้ล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2563 นอกจากญี่ปุ่นจะไม่ติดสิบอันดับแรกแล้ว ยังตามหลังสิงคโปร์ (อันดับที่ 8) และจีน (อันดับที่ 14) อีกด้วย ญี่ปุ่นอยู่ที่อันดับ 16 ส่วนประเทศที่ติดสามอันดับแรกได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน และอเมริกา ซึ่งยังครองแชมป์ตำแหน่งเดิมเหมือนปีก่อน ส่วนสวิตเซอร์แลนด์ครองอันดับหนึ่งต่อเนื่องมาตลอด 10 ปี
Silicon Valley ซึ่งเป็นศูนย์รวมนวัตกรรมเทคโนโลยีแห่งหนึ่งของโลก มักมีบริษัทจากประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศอำนาจใหม่มาขอศึกษาดูงานอยู่เรื่อย ๆ มีคนเล่าว่าหากเป็นสัก 20 ปีก่อน ถ้าประธานบริษัทโตชิบา ฮิตาชิ หรือพานาโซนิกมาขอดูงานที่บริษัทแอปเปิลละก็ สตีฟ จ็อบส์คงออกมาต้อนรับด้วยตัวเอง เพราะญี่ปุ่นอยู่ในฐานะผู้ผลิตที่มีเทคโนโลยีชั้นเลิศ ถ้าร่วมงานกับแอปเปิลก็น่าจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในโลกขึ้นมาได้
แต่ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากซึ่งขอมาดูงานที่ Silicon Valley แล้วถูกปฏิเสธ เขาคาดว่าคงเป็นเพราะญี่ปุ่นเองก็ไม่มีเทคโนโลยีอะไรใหม่น่าสนใจมาแลกเปลี่ยนกับฝ่ายอเมริกา จึงเป็นการเสียเวลากับทางอเมริกาเปล่า ๆ
ผลิตภาพด้านการวิจัยและพัฒนาต่อหัวต่ำ
องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เคยเปรียบเทียบผลิตภาพของนักวิจัยและพัฒนาของญี่ปุ่น จีน และอเมริกา พบว่าก่อนปี พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000) ทั้งสามประเทศเหมือนกันตรงที่ยิ่งมีเงินทุนวิจัยเท่าไหร่ ก็ยิ่งคิดค้นสิ่งที่นำไปยื่นจดสิทธิบัตรได้จำนวนมากขึ้น (จำนวนการขอจดสิทธิบัตรเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดศักยภาพด้านนวัตกรรม) แต่หลังปี พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา แม้ว่าจีนและอเมริกายังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ญี่ปุ่นยังจดสิทธิบัตรได้ในอัตราส่วนเท่าเดิมหรือไม่ก็ลดลง ทั้งที่มีเงินทุนวิจัยมากขึ้นด้วยซ้ำไป ซึ่งอาจบ่งบอกว่าปัญหาของญี่ปุ่นไม่ได้อยู่ที่เงินทุน แต่อยู่ที่ผลิตภาพต่อหัวต่ำ
ในขณะที่อเมริกาหันมาเน้นการวิจัยและพัฒนาในสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยลดความสำคัญในสาขาอื่นลงไป แต่ญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับสาขาต่าง ๆ ในอัตราส่วนเท่าเดิมเหมือนสิบปีที่แล้ว อาจหมายความว่าญี่ปุ่นยังพยายามเจาะลึกในสาขาวิจัยที่เติบโตถึงขีดสุดแล้ว หรือไม่ก็อาจเพราะยังไม่มีการแข่งขันในสาขาอื่นที่แสวงหานวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการใหม่ ๆ ก็ได้ แต่อย่างไรก็ดี มีผู้ให้ความเห็นว่าถึงจะรู้ลึกในด้านหนึ่ง ๆ ก็ไม่ได้แปลว่าจะทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องเสมอไป
หากเป็นดังนี้จริง สาเหตุที่การวิจัยและพัฒนาของญี่ปุ่นมีผลิตภาพต่ำคงเป็นเพราะการ 1) ไม่ลำดับความสำคัญของสาขาชำนาญการ*ใหม่ตามความเปลี่ยนแปลงของโลก 2) ยังมุ่งความสนใจไปที่การวิจัยและพัฒนาในสาขาเดิม ๆ และ 3) ไม่มีการพัฒนาสาขาที่ตอบสนองต่อยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป
(*เช่น เคมี วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมวัสดุ เครื่องจักร การเกษตร การไฟฟ้า โทรคมนาคม เป็นต้น)
ลักษณะเฉพาะของบริษัทญี่ปุ่น
ลักษณะการทำงานของญี่ปุ่นเองก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความคิดเชิงนวัตกรรม (innovative thinking) เกิดขึ้นได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นการไม่แสดงความคิดเห็นตรง ๆ โดยเฉพาะถ้าคิดไม่เหมือนคนอื่น กลัวถูกมองประหลาดถ้าจะแตกต่างหรือโดดเด่น จึงเลือกที่จะทำตามกันหรือทำตามที่ถูกบอกเพื่อความปลอดภัย เน้นชั่วโมงการทำงานมากกว่าคุณภาพ อีกทั้งบริษัทก็ไม่ค่อยมีการไล่พนักงานออก บุคลากรจึงมักเป็นหน้าเดิมอยู่ไปจนเกษียณ เวลาเลื่อนตำแหน่งก็มักให้ตามลำดับอาวุโสมากกว่าตามความสามารถ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ทำให้พนักงานขาดความหลากหลาย ทั้งที่ความคิดสร้างสรรค์และความหลากหลายเป็นสิ่งจำเป็นมากต่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ
นอกจากนี้ รัฐยังไม่กล้าปล่อยให้บริษัทใหญ่ล้มง่าย ๆ ด้วย เพราะบริษัทเหล่านี้มีกิจการครอบคลุมไปทั่ว และเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของญี่ปุ่น แต่การที่บริษัทใหญ่อยู่ไปเรื่อย ๆ เช่นนี้ก็ทำให้บริษัทเกิดใหม่ที่มีพลังนวัตกรรมพลอยขาดโอกาสสร้างบทบาทโดดเด่นขึ้นมาด้วยเช่นกัน ในภาพรวมแล้วญี่ปุ่นจึงมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นยาก
หนังสือพิมพ์นิคเคอิของญี่ปุ่นเคยศึกษาไว้เมื่อปี พ.ศ. 2560 พบว่าอายุเฉลี่ยของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์กอยู่ที่ 15 ปี แต่บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีอายุเฉลี่ยถึง 89 ปีเลยทีเดียว ชี้ชัดว่าบริษัทญี่ปุ่นมั่นคงอย่างมาก แต่ทว่าความมั่นคงนี้ก็ทำให้ญี่ปุ่นหยุดนิ่งอยู่กับที่ไปด้วย
ผู้ประกอบการธุรกิจใหม่เสนอว่าญี่ปุ่นควรกล้าปล่อยให้บริษัทใหญ่ล้ม เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัว และเปิดทางให้นวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นหลังธุรกิจบางอย่างจบสิ้นลง แทนที่จะปล่อยให้มีบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ผลิตสินค้าและบริการแบบเดียวกันอยู่หลายบริษัท และทรัพยากรไปกระจุกตัวกันอยู่ในบริษัทใหญ่โดยไม่เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยีหรือบุคลากรชั้นเลิศก็ตาม
เดินตามรอยเดิม มากกว่าสร้างสรรค์สิ่งใหม่
คนญี่ปุ่นบางคนพูดคล้าย ๆ กันว่า บริษัทใหญ่ที่เต็มไปด้วยพนักงานจบจากมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่ง อย่างมหาวิทยาลัยโตเกียว รังแต่จะค่อย ๆ ตายลง ไม่เหมือนอย่าง 30 ปีก่อนที่บริษัทยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่นอย่างโซนี่ ชาร์ป หรือพานาโซนิก ขับเคลื่อนรุดหน้าได้ด้วยคนที่ “มีกึ๋น” จริง ไม่ได้เอาแต่คนจบจากมหาวิทยาลัยโตเกียว
แต่สมัยนี้บริษัทยักษ์ใหญ่กลับเต็มไปด้วยคนจบจากมหาวิทยาลัยโตเกียว แม้ดูแล้วน่าจะดีเพราะได้บุคลากรหัวกะทิ แต่จำนวนมากก็เป็นคนที่ใช้ชีวิตตามค่านิยมสังคมว่าต้องจบจากมหาวิทยาลัยโตเกียว และต้องเข้าทำงานที่บริษัทใหญ่ แต่กลับไม่รู้ว่าที่จริงตัวเองต้องการอะไรในชีวิต เมื่อคนเหล่านี้ไปอยู่บริษัทใหญ่ก็คงยากที่จะเป็นผู้นำทางความคิด และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ขึ้นมาได้
เมื่อก่อนเคยเล่าไว้ว่ามีนักศึกษามหาวิทยาลัยโตเกียวคนหนึ่งที่ไม่เดินตามเส้นทางแห่งความมั่นคงเหมือนคนอื่น ๆ แต่ตั้งธุรกิจของตัวเองขึ้นมาตั้งแต่ยังเรียนอยู่ ซึ่งสวนกับค่านิยมที่เชื่อว่าไปเป็นพนักงานกินเงินเดือนบริษัทใหญ่ดีกว่า และมีแต่คนติงเขาด้วยความเสียดาย
เขาบอกว่า ที่จริงญี่ปุ่นก่อร่างสร้างตัวหลังแพ้สงครามขึ้นมาจนมั่นคงแล้ว ไม่จำเป็นต้องเดินตามทิศทางที่มีคนกำหนดให้เพื่อสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่นแบบสมัยก่อนอีก ควรจะหันมาให้ความสำคัญกับศักยภาพด้านนวัตกรรมมากกว่า แต่นักศึกษามหาวิทยาลัยโตเกียวส่วนมากดูเหมือนไม่ค่อยคิดออกนอกกรอบแบบนี้กันเท่าใดนัก
มีคนพูดไว้ว่าแม้ว่าญี่ปุ่นจะมีชื่อเรื่องการวิจัยและพัฒนาและจำนวนสิทธิบัตร แต่ก็ขาดสภาพแวดล้อมและการศึกษาที่เอื้อให้เกิดการสร้างธุรกิจใหม่ ซึ่งก็อาจจะจริงดังว่า
ไม่เพียงเท่านั้นญี่ปุ่นยังไม่ได้เป็นจ้าวแห่งนวัตกรรมอย่างในอดีต และประเทศเศรษฐกิจใหม่อย่างจีนหรืออินเดีย ก็ก้าวขึ้นมามีบทบาทด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างยิ่ง และคาดว่าจะมีศักยภาพรองรับในระยะยาวเสียด้วย จนอเมริกาและยุโรปเองยังไม่กล้ามองข้าม แต่ญี่ปุ่นยังติดภาพลักษณ์เดิม ๆ ว่าประเทศเหล่านี้ล้าหลังกว่าตน และไม่รู้ว่าตนเองกำลังถูกลืม
ตราบใดที่ญี่ปุ่นยังคงใช้ค่านิยมแบบเก่ามาเป็นตัวกำหนดทิศทางในปัจจุบันทั้งที่โลกเปลี่ยนไปมากแล้ว ญี่ปุ่นอาจต้องวิ่งทิ้งห่างจากประเทศอื่น ๆ ท่ามกลางกระแสนวัตกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วก็เป็นได้
ก่อนจากกันไปวันนี้ ขอนอกเรื่องสักนิดนะคะได้ยินว่าบริษัทใหญ่ในอเมริกาเน้นมากเรื่องการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดความคิดเชิงนวัตกรรม อย่างบริษัท 3M และ Google ก็ให้พนักงานใช้เวลา 15-20% ในแต่ละวันไปทำสิ่งอื่นที่ตนเองสนใจและไม่เกี่ยวข้องกับงานประจำที่ทำอยู่ สินค้าที่ขาดไม่ได้อย่าง Post-it หรือซอฟท์แวร์ยอดนิยมอย่าง Gmail และ Google Maps
ก็เกิดขึ้นได้จากช่วงเวลาแบบนี้เอง
ส่วนบริษัท Amazon ถึงกับลงทุนสร้าง the Spheres ซึ่งเป็นอาคารเรือนกระจกขนาดใหญ่เต็มไปด้วยแมกไม้สีเขียว
เพื่อให้พนักงานได้สัมผัสธรรมชาติ และกระตุ้นให้คิดและทำงานนอกกรอบ
ว่ากันว่าการได้สัมผัสและเรียนรู้สิ่งใหม่จะทำให้สมองได้พัฒนาความคิด ทำให้สมาธิ ความจำ การใส่ใจรายละเอียด และการแก้ปัญหาดีขึ้น อาจเพราะเหตุนี้บริษัทที่กล่าวมาถึงได้ลงทุนส่งเสริมให้พนักงานทำอะไรใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์ เพื่อกระตุ้นให้ใช้สมองอย่างเต็มศักยภาพก็เป็นได้
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น”ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.