สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว วันก่อนผมได้อ่านทวิตเตอร์ที่คุยกันเรื่องหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของการขนส่งสินค้านั่นคือ ความตรงต่อเวลา เพราะลูกค้าย่อมคาดหวังว่าสินค้าที่ต้องการให้ส่งหรือที่รอรับนั้นจะต้องไปถึงที่หมายด้วยความรวดเร็วทันเวลาที่นัดหมาย ซึ่งบริษัทขนส่งของญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะส่งของได้ตรงตามกำหนดเวลาที่แน่นอน เช่นถ้าระบุว่าให้ส่งของในช่วงเวลา 12:00 น. ถึง 14:00 น. ก็จะมาในช่วงเวลานั้นได้จริงๆ จะไม่ล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนดไว้ แต่ถ้าเกิดเหตุไม่คาดคิดและมีความล่าช้าแม้จะ 10 นาที บริษัทขนส่งนั้นก็จะขอโทษขอโพยยกใหญ่ เพราะลูกค้าจะเคลมเรื่องเวลาด้วย ทำให้คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่คาดหวังว่าบริษัทขนส่งสินค้าต้องมีความตรงต่อเวลา แต่คนญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ต่างประเทศมาเล่าว่า เวลาส่งสินค้าต่างๆ อย่าคาดหวังว่าจะได้รับของตามเวลาที่กำหนด เพราะที่ต่างประเทศไม่ตรงเวลาเลย
มีคนญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ไม่ได้หมายถึงประเทศไทยเท่านั้นนะครับ อาจจะเป็นคนญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ประเทศโซนยุโรป อเมริกา หรือประเทศอื่นๆ ในเอเซีย ไม่ว่าจะเป็น จีน เวียดนาม ลาว เป็นต้น บางคนเล่าว่าแจ้งให้บริษัทขนส่งมาส่งของให้ได้ภายในช่วงเช้าก่อนเที่ยงแต่รอแล้วรอเล่าก็ไม่มา จะออกไปธุระก็ไม่ได้เพราะจะไม่มีคนรับของ และรอถึงเย็นค่ำก็ยังไม่มา ทำให้เสียเวลาและพลาดธุระกิจไปหลายอย่าง นอกจากเรื่องการขนส่งสิ่งของแล้วคนญี่ปุ่นที่ไปอยู่ต่างประเทศนานๆ มักจะโหยหาอาหารการกินแบบญี่ปุ่นที่หาซื้อได้ยากในท้องถิ่นที่ไปอาศัยอยู่ เพราะบางประเทศก็ไม่มีแหล่งขายทำให้หาซื้อไม่ค่อยได้ มีบางคนอยู่ลอนดอนเล่าว่าเมืองที่อยู่ไม่มีร้านที่ขายสินค้าของญี่ปุ่นเลยเขาอยากกินคัพราเมน รสชาติที่มีขายเฉพาะที่ญี่ปุ่น คือสินค้าบางยี่ห้อถึงแม้จะไม่ได้แพงมากแต่ไม่ได้มีวางขายในต่างประเทศ ดังนั้นถ้าเขาได้กินของที่อยากกินก็จะรู้สึกดีใจยิ่งกว่าได้ทองเสียอีก การแลกเปลี่ยนกันแบบนี้ก็ทำให้สนุกขำขันกันไป
ซึ่งผมเองก็เข้าใจที่พวกเขาพูดมากๆ เลยครับ ผมนึกถึงตอนที่ผมไปปารีสแม้จะไม่กี่วันแต่ก็กินขนมปังจนเริ่มเบื่อ ผมรู้สึกอยากกินอาหารญี่ปุ่นบ้าง แต่หาแบบดั้งเดิมไม่ได้เลย ถึงจะมีคัพราเมนขายในซุปเปอร์มาเก็ตแต่รสชาติก็ไม่ใช่ ต้องฝากท้องไว้ที่ร้านอาหารจีนบ้างแต่ก็ยังอยากกินอะไรที่มันเป็น Original แบบที่ญี่ปุ่นอยู่ดี หรือตอนที่ไปนิวยอร์กผมก็พยายามหาร้านอาหารญี่ปุ่น เพราะกินแต่แฮมเบอร์เกอร์ซึ่งก็จะรู้สึกว่าโหยหาราเมนมากๆ ดังนั้นผมเลยเข้าใจว่าคนที่อยู่ต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศแถบยุโรปที่ไม่ใช่ทางเอเชียเค้าก็จะโหยหาอาหารดั้งเดิมที่เป็นผลิตภัณฑ์ของประเทศญี่ปุ่นอย่างมาก
ตัวผมเอง เนื่องจากไม่ได้เดินทางกลับญี่ปุ่นมานานแล้วครับ ยิ่งเป็นช่วงโควิดนี่ก็ไม่มีเพื่อนหิ้วของมาให้ด้วย วันหนึ่งมีคนรู้จักที่หมดวาระประจำการที่เมืองไทยและต้องเดินทางกลับญี่ปุ่น เขาต้องเคลียร์ของที่ห้องพัก และขนอาหารที่เขาเก็บไว้มาให้ผมส่วนหนึ่ง ตอนแรกผมก็ไม่ทันดูวันหมดอายุครับเพราะมันไม่ใช่โซบะเส้นสด เป็นโซบะแห้งที่น่าจะเก็บได้นานพอสมควร เป็นโซบะพื้นเมืองของเมืองหนึ่งในญี่ปุ่นและไม่มีขายที่เมืองไทย โซบะอร่อยๆ ที่ผมกินไปเมื่อวานนี้นั้นสรุปว่าเป็นโซบะที่หมดอายุไปตั้งแต่ปี 201X นะครับ(*ノωノ)★★ ผมก็ตกใจนิดหน่อย แม้ว่าตามปกติแล้วคนญี่ปุ่นจะไม่เก็บของที่หมดอายุไว้และจะไม่ให้ของหมดอายุคนอื่นเพราะว่าค่อนข้างจะเป็นการเสียมารยาทมาก แต่ครั้งนี้ผมก็รู้สึกว่าโอเค ไม่เป็นไร ไม่ได้โทษเพื่อน เพราะว่ามันอร่อย เพื่อนก็เก็บของเขามานานจริงๆ เขาคงซื้อเก็บไว้นานมาก เก็บไว้แล้วเก็บจนลืม จนมันหมดอายุแล้วก็เพิ่งมาดูอย่างกรณีจะทิ้งก็คงเสียดาย อย่างนี้เป็นต้น นี่ถ้าไม่ได้ย้ายกลับประเทศคงเก็บยาวไป
ที่ว่าเก็บยาวไปนี่ก็ไม่ใช่เพื่อนผมคนเดียวนะครับ ผมเองก็มีสต็อกชาเขียวญี่ปุ่นเก่าเก็บเยอะมาก คือไม่ใช่ว่าลืมนะครับแต่ไม่ค่อยได้เอาออกมาชงดื่ม พอเห็นว่าโซบะเพื่อนหมดอายุ ผมก็เดินไปดูชาของผมบ้าง สรุปว่าพอกัน และผมเจอโฮจิฉะ ほうじ茶 焙じ茶 Hojicha ถุงหนึ่ง ที่หมดอายุไปตั้งแต่ 201X เช่นกัน (´・ω・ ` ) แต่พอเอามาชงแล้วมันก็ยังกินได้นะครับ สรุปว่าอร่อยเลย จริงๆ แล้วโฮจิฉะนี้ที่ญี่ปุ่นเป็นชาที่ไม่แพงนะครับเพราะราคาถูกหรือเปล่าจึงไม่ค่อยมีวางขายที่ต่างประเทศ ที่เมืองไทยก็เหมือนจะไม่มีขาย คงเหมือนกับคัพราเมนบางรส บางยี่ห้อ ที่หาซื้อได้เฉพาะที่ญี่ปุ่นเท่านั้น ผลิตภัณฑ์บางอย่างก็ไม่ได้มีราคาแพงมากแต่ไม่ค่อยมีขายในต่างประเทศเท่านั้นเอง ซึ่งทำให้คนต่างประเทศและคนญี่ปุ่นที่อยู่ต่างประเทศหาผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้ได้ยากมาก ถึงแม้ว่าจะราคาไม่แพงแต่ว่าหายากมากประมาณว่าถ้าได้มาครอบครองในช่วงที่อยากรับประทานมากๆ นี่ จะรู้สึกว่ามีความสุขมากและคิดถึงบ้านมาก
เมื่อพูดถึงเรื่องชา สําหรับชาวญี่ปุ่นชาก็ตามความหมายเลยว่า ความเป็นกิจวัตร เรื่องที่เป็นประจำ ชามีหลายประเภท เช่น
●เรียวกุฉะ 緑茶 ryokucha นี่คือชาที่พบบ่อยที่สุด เป็นการหมักแบบไม่เสร็จสมบูรณ์ มีประโยชน์ต่อร่างกายมาก มี カテキン catechin สูง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ มีฤทธิ์เป็นสารต้านออกซิเดชันที่จับกับอนุมูลอิสระ
เมื่อพูดถึงชาเขียว เรามักจะเรียกว่า เรียวกุฉะ 緑茶 Ryokucha แปลว่า ชาที่มีสีเขียว เป็นชาที่คนญี่ปุ่นนิยมดื่มมากที่สุด คนทั่วไปก็คงจะคิดถึงชาเขียวที่วางขายทั่วไป ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของญี่ปุ่นไปแล้ว ชาเขียวญี่ปุ่นมีอยู่มากมายหลายชนิด ส่วนใหญ่แบ่งประเภทของชาเขียวจากวิธีการปลูกกรรมวิธีการผลิต ช่วงเวลาของการเก็บเกี่ยว ซึ่งหลักๆ แล้ว ชาเขียวญี่ปุ่นจะแบ่งเป็น 3 เกรด คือ
1. เกียวคุโระ 玉露 Gyokuro เป็นชาเขียวที่มีคุณภาพดีที่สุด จากยอดอ่อนใบชาที่เก็บเกี่ยวในครั้งแรกของปีช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน โดยต้นชาจะถูกคลุมไม่ให้โดนแดด 20-30 วันก่อนจะเก็บใบ ในญี่ปุ่นมีการผลิตชาเขียวเกียวคุโระไม่มากเมื่อเทียบกับการผลิตชาทั้งหมดในญี่ปุ่น จึงเป็นชาเขียวที่ค่อนข้างมีราคาแพง
2. เซนฉะ 煎茶 Sencha เป็นชาเขียวระดับมาตรฐาน มีคุณภาพรองจากเกียวคุโระ เป็นชาที่คนญี่ปุ่นทั่วไปดื่มในชีวิตประจำวัน ชาเขียวเซนฉะใช้ใบชาที่ได้จากการเก็บเกี่ยวในครั้งแรกหรือครั้งที่สอง เป็นใบชาที่ปลูกให้ได้รับแสงแดดตลอดเวลาจนถึงช่วงเวลาที่เก็บเกี่ยว โดยหลังจากที่เก็บเกี่ยวแล้วจะนำใบชาไปอบไอน้ำทันทีและใบชาม้วนภายในระยะเวลาที่สั้นที่สุด แต่ถ้าอบไอน้ำนานกว่าเดิม 2-3 เท่าจะได้ 深蒸し茶 Fukamushicha ฟุคะมุชิฉะ ซึ่งเป็นชาที่ใช้ใบชาแบบเดียวกับเซนฉะ แต่จะมีสีและรสชาติที่เข้มกว่าเซนฉะ
3. บันฉะ 番茶 Bancha เป็นชาเขียวที่มีคุณภาพรองๆ ลงมา เนื่องจากใช้ใบชาส่วนที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวในช่วงแรงและช่วงที่สอง ที่ส่วนใหญ่จะเป็นใบชาแข็ง มีสีน้ำตาลอ่อนออกเหลือง และมีรสชาติขมกว่าเกียวคุโระและเซนฉะ โดยถ้านำบันฉะไปอบคั่วด้วยความร้อนในอุณหภูมิที่พอเหมาะ จะได้ใบชาหอมมีสีน้ำตาลแดง ที่เรียกว่า "โฮจิฉะ ほうじ茶 Hojicha " นั่นเอง
●*โฮจิฉะ ほうじ茶 焙じ茶 Hojicha คือ ชาเขียวคั่ว ตัวนี้แหละครับที่ผมค้นเจอ มันหมดอายุแต่ก็ยังชงอร่อย ที่จริงผมแนะนำมากนะครับถึงจะมีคนบอกว่าเป็นชาเกรดรองก็ตาม เป็นชาเขียวญี่ปุ่นที่ผ่านการนำใบชาไปคั่ว โดยจะใช้ทั้งส่วนใบ และก้านนำมาคั่วไฟ จนใบชามีสีน้ำตาลไหม้ และมีกลิ่นหอมคั่วไฟอย่างชัดเจน รสที่นุ่มละมุนและขมน้อย เนื่องจากส่วนก้านจะมีความขมน้อยกว่าส่วนใบ เป็นชาที่เหมาะดื่มระหว่างมื้ออาหาร หรือหลังอาหาร เนื่องจากมีกลิ่นคั่ว และรสชาติที่ค่อนข้างตัดกับความคาว หรือความเลี่ยนได้ดี แต่คิดว่าที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตในห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นในเมืองไทย น่าจะมี ryokucha กับ genmaicha วางขายมากที่สุดแต่ว่าโฮจิฉะ Hojicha ไม่แน่ใจว่ามีขายไหมและนอกจากนั้นห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นในเมืองไทยก็เหลือน้อยลงด้วยสิ
ส่วนชาอื่นๆ ก็มีอีกนะครับ เช่น
● เกนไมชา 玄米茶 genmaicha คือเรียวกุฉะ ryokucha ที่มีข้าวกล้องคั่วด้วยซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายมากยิ่งขึ้นไปอีก ตามปกติไม่ค่อยมีโอกาสที่จะดื่มเท่าไหร่นัก และถ้าไปหาซื้อตามร้านขายชา ทางร้านก็จะไม่ค่อยแนะนำให้ลูกค้าทั่วไปนักเพราะว่ามันค่อนข้างจะภาพลักษณ์ที่ Dasai นิดหน่อย (Dasai นี้ถ้าเป็นคนก็ประมาณคนที่เฉื่อยๆ เชยๆ หน่อย) ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม
●มัทฉะ 抹茶 matcha คือผงชาเขียวบดละเอียด คิดว่าชาเขียวเย็นที่ขายที่เมืองไทยน่าจะเป็นน้ำชงใส่ผงมัทฉะด้วยซึ่งถ้าตามร้านขายยาทั่วไปที่ญี่ปุ่นที่มีเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ขาย ก็จะมีผงชามัทฉะขายด้วย เป็นชาที่นำยอดอ่อนสีเขียวสดที่เพิ่งเก็บมาอบด้วยไอน้ำ ตากให้แห้งในอุณหภูมิที่อุ่นพอดี จากนั้นก็นำใบชาไปบดให้ละเอียด เป็นผงชาเขียว ซึ่งการบดชาเขียวจนเป็นผงจะช่วยให้ชาเขียวมีกลิ่นหอมและมีรสชาติกลมกล่อมขึ้นนั่นเอง จัดได้ว่าเป็นชาชั้นยอดของชาวญี่ปุ่นครับ เวลาชงก็นำไปใส่ลงภาชนะแล้วเติมน้ำร้อน จะเห็นว่าการชงชาในลักษณะเป็นต้นแบบของพิธีชงชา 茶道 Chadou นั่นเอง
●มูกิชา 麦茶 mugicha ชาข้าวบาร์เล่ย์คั่ว เป็นชาที่ทำจากข้าวบาร์เลย์ที่ผ่านการอบแห้งในเตาพร้อมเปลือก และนำมาคั่ว ถ้าจะบอกว่าเป็นชาแต่ก็ไม่เชิงเพราะไม่ได้ชงดื่มแบบชาทั่วไป แต่ส่วนใหญ่ต้มใส่น้ำแช่ตู้เย็น ดื่มแทนน้ำเสียมากกว่าโดยเฉพาะหน้าร้อนคนญี่ปุ่นจะชอบดื่มมาก มีกลิ่นหอม คลายร้อนดับกระหายได้ดี
วันนี้ไปดูในตู้เย็นก็พบว่ามีถุงชามูกิชา mugicha แช่ไว้นานแล้ว วันนี้คงต้องเอามาต้มดื่มสักหน่อย อากาศเริ่มร้อนพอดี ดื่มแล้วสดชื่น อยากให้เพื่อนๆ ลองครับ วันนี้สวัสดีครับ