ชาวญี่ปุ่นเกือบ 150,000 คน รวบรวมรายชื่อในเว็บไซต์ change.org ให้ปลดนายโยชิโร โมริ ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกและพาราลิมปิก ซึ่งได้กล่าวว่า “การประชุมที่มีผู้หญิงร่วมด้วยเสียเวลา เพราะผู้หญิงพูดมาก”
นายโยชิโร โมริ ได้กล่าวถ้อยคำที่ดูแคลนสตรีในการประชุมวิสามัญของคณะที่ปรึกษาคณะกรรมการโอลิมปิกญี่ปุ่น เมื่อวันพุธที่ 3 ก.พ. และถูกวิจารณ์อย่างหนักทั้งในญี่ปุ่นและนานาชาติว่าคำพูดเช่นนี้ไม่เหมาะสม และสวนทางกับจิตวิญญาณของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และพาราลิมปิก ที่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ
นายโมริได้ถอนคำพูดในเวลาต่อมาเพราะแรงกดดันทางสังคม อาสาสมัครหลายร้อยคนลาออก บุคคลมีชื่อเสียงที่เป็นตัวแทนวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกหลายคนประกาศถอนตัว ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากรับไม่ได้กับทัศนคติดูแคลนสตรีของนายโมริ และเรียกร้องให้ปลดเขาออกจากตำแหน่ง
นายโยชิโร โมริ วัย 83 ปี เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุน ซึ่งแม้พ้นจากตำแหน่งไปถึง 20 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีอิทธิพลสูงมากในพรรครัฐบาลจนได้ฉายาว่า “โชกุนเงา” แม้แต่นายกฯ อย่างนายชินโซ อาเบะ และนายโยชิฮิเดะ ซูงะ ก็ต้องเกรงใจ และเป็นที่มาของการได้รับตำแหน่งประธานจัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาล
ถึงแม้กระแสประชาชนจะกดดันให้ปลดนายโมริ แต่รัฐบาลญี่ปุ่นกลับมีท่าทีอยากให้เรื่องนี้จบลงอย่างเงียบๆ
นายกฯ โยชิฮิเดะ ซูงะ ยอมรับว่าคำกล่าวของนายโมริไม่สามารถยอมรับได้และไม่เป็นผลดีต่อผลประโยชน์แห่งชาติ แต่ก็หลีกเลี่ยงที่จะให้ความเห็นว่านายโมริควรอยู่ในตำแหน่งต่อไปหรือไม่ โดยอ้างว่าคณะกรรมการจัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระจากรัฐบาลญี่ปุ่น
คณะกรรมการจัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก และพาราลิมปิก ก็ออกมาช่วยลดกระแสอีกแรงหนึ่ง โดยออกแถลงการณ์บนเว็บไซต์ระบุว่า ความเท่าเทียมทางเพศเป็นหนึ่งในหลักการพื้นฐานของงานโตเกียวโอลิมปิก และโอลิมปิกครั้งนี้จะเป็นงานที่มีความเท่าเทียมทางเพศมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา
ผู้หญิงญี่ปุ่น ช้างเท้าหลังตลอดกาล?
ในการจัดลำดับดัชนีความเท่าเทียมทางเพศ หรือ gender gap index ประจำปี 2563 ของ 153 ประเทศทั่วโลก ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 121 ต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
ศ.ดร.ปิยะ พงศาพิทักษ์สันติ อาจารย์คณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยเกียวโตซังเกียว ระบุว่า “ผู้หญิงญี่ปุ่นเมื่อแต่งงานและมีลูกก็มักจะลาออกจากงานมาเป็นแม่บ้านเต็มตัว แม้ว่าหลายคนจะกลับไปทำงานอีกครั้งเมื่อลูกเข้าโรงเรียนประถมแล้ว แต่ก็จะไม่ใช่งานประจำ ทำให้สถานภาพการงานของผู้หญิงญี่ปุ่นด้อยกว่า และก็ได้เงินเดือนน้อยกว่าผู้ชายอย่างมาก”
“ถึงแม้ผู้หญิงญี่ปุ่นต้องการจะมีบทบาทเพิ่มขึ้น แต่ในความเป็นจริงพวกเธอไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นครอบครัวเดี่ยว ไม่ได้มีปู่ย่าตายายช่วยเลี้ยงหลาน นอกจากนี้ สถานรับเลี้ยงเด็กก็ไม่เพียงพอโดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ ค่าจ้างคนเลี้ยงเด็กก็แพงมาก ครอบครัวคนชั้นกลางธรรมดาไม่มีเงินมากพอที่จะจ้างแม่บ้านมาเลี้ยงลูก ด้วยเหตุผลเหล่านี้ผู้หญิงที่เป็นแม่จึงต้องลาออกจากงานมาเลี้ยงลูก”
“ปลดปล่อยพลังสตรี” รัฐบาลพูดได้แต่ทำไม่ได้
รัฐบาลญี่ปุ่นในสมัยนายชินโซ อาเบะ ประกาศนโยบายยกสถานะผู้หญิง เพราะญี่ปุ่นมีผู้สูงอายุเกิน 65 ปี มากถึง 28.1% ของประชากรทั้งหมด และมีอัตราการเกิดของเด็กต่ำมากมานานแล้ว ถ้าประชากรลดลงก็จะไม่มีใครทำงานจ่ายภาษีและค่าสวัสดิการสังคม รัฐบาลญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องกระตุ้นให้ผู้หญิงออกมาทำงานด้วย
ศ.ดร.ปิยะ พงศาพิทักษ์สันติ ให้ความเห็นว่า “ในความเป็นจริงแล้วผู้หญิงออกมาทำงานได้จริงๆ น้อยมาก เพราะต้องอาศัยความร่วมมือจากฝ่ายผู้ชาย ครอบครัว หรือชุมชนที่ต้องเสียสละเวลาและทรัพยากรในการเลี้ยงดูลูกแทนตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากและต้องใช้ความพยายามสูง”
แม้แต่ในช่วงที่นายอาเบะเป็นนายกฯ เอง ก็ไม่ได้แต่ตั้งรัฐมนตรีหญิง หรือข้าราชการระดับสูงที่เป็นผู้หญิง และในพรรค LDP ก็เต็มไปด้วย “ผู้ชาย” และ “ผู้เฒ่า” ที่อยู่ในแวดวงการเมืองมาหลายสิบปี
วาทะเหยียดหยามสตรีเพศจากออกจากของผู้หลักผู้ใหญ่อย่างอดีตนายกฯ ญี่ปุ่น สะท้อนมิติหนึ่งของสังคมผู้สูงวัย ชายวัย 83 ปีย่อมมีทัศนคติแตกต่างจากคนรุ่นใหม่อย่างแน่นอน แต่ “ไม้แก่ดัดยาก” เหล่านี้ยังคงมีอิทธิพลอย่างสูง ญี่ปุ่นจะกลับมาเป็น “แดนอาทิตย์อุทัย” ได้อย่างไรหากยังขับเคลื่อนโดยคนรุ่น “อัสดง”.