xs
xsm
sm
md
lg

กระแสนิยมกับชีวิตนักพากย์ญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจาก https://www.tohogakuen.ac.jp/
คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”


สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน อาชีพหนึ่งในญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่ชื่นชอบและใฝ่ฝันโดยเฉพาะสำหรับวัยรุ่นยุคนี้ได้แก่อาชีพนักพากย์ แต่เส้นทางไปสู่อาชีพนี้ไม่ง่าย และยังต้องมีจุดขายอย่างอื่นที่ทำให้นักพากย์เป็นผู้ให้ความบันเทิงได้หลากรูปแบบด้วย เพื่อให้เป็นที่นิยมและมีงานเข้ามาเรื่อย ๆ วงการนักพากย์ญี่ปุ่นจึงค่อนข้างมีสีสัน และภาพลักษณ์ของนักพากย์ก็อาจเรียกได้ว่าคล้ายกับดาราอยู่เหมือนกัน

ความเป็นมาของนักพากย์ในญี่ปุ่นเริ่มต้นมาจากการพากย์เสียงภาพยนตร์เงียบของญี่ปุ่นเพื่อออกอากาศทางวิทยุ ต่อมาขยับขยายไปสู่ละครวิทยุซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง ในยุคนั้นงานนักพากย์ถูกมองว่าเป็นอาชีพที่ด้อยกว่านักแสดง มีแต่นักแสดงหน้าใหม่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักและรายได้ต่ำถึงจะรับงานพากย์เป็นงานเสริม

ในเวลาต่อมาหลังจากมีการผลิตโทรทัศน์ใช้แล้ว มีการฉายอนิเมชัน “เจ้าหนูอะตอม” เป็นตอน ๆ ทางโทรทัศน์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2506 และได้รับการตอบรับสูงจากเด็ก ๆ จนทำให้เกิดผลงานอนิเมชันเรื่องอื่น ๆ ตามมา ความแพร่หลายและเฟื่องฟูของอนิเมชันจึงทำให้อาชีพนักพากย์ค่อย ๆ กลายมาเป็นงานที่ได้รับความนิยมสูง และได้รับการยอมรับว่าเป็นอาชีพหนึ่งที่แยกต่างหากจากอาชีพนักแสดง ไม่ได้เป็นรองอาชีพนักแสดงอีกต่อไป

นับวันคนที่อยากจะเป็นนักพากย์ก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกันประชากรเกิดใหม่ที่น้อยลงก็ทำให้จำนวนอนิเมชันทางโทรทัศน์ค่อย ๆ ลดลงตามลำดับ อีกทั้งวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปก็ทำให้คนไม่ได้รับชมรายการบันเทิงผ่านทางโทรทัศน์มากเท่าเมื่อก่อน เมื่อคนอยากเป็นนักพากย์มีจำนวนมากในขณะที่งานพากย์เสียงอนิเมชันลดลง จึงทำให้อาชีพนักพากย์เป็นงานที่มีการแข่งขันสูง นักพากย์คนหนึ่งกล่าวว่านักพากย์ซึ่งเป็นที่ต้องการตัวจริง ๆ มีประมาณ 300 คนเท่านั้น แต่คนที่อยากเป็นนักพากย์มีถึงประมาณ 30,000 คนเลยทีเดียว

ภาพจาก https://twitter.com/
นักร้องและทีมนักพากย์ส่วนหนึ่งของ “ดาบพิฆาตอสูร” เล่นละครเวทีเป็นตัวละครที่ตัวเองพากย์ในอีเวนต์เฉพาะกิจ

ไม่เพียงเท่านั้น ลำพังงาน “แสดงด้วยเสียง” ของนักพากย์ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างรายได้มากนัก ทำให้ปัจจุบันนักพากย์ต้องมีความสามารถพิเศษด้านอื่นด้วยเพื่อให้ขายได้ในตลาดที่กว้างขึ้น เช่น แสดงละครเวที เป็นนักร้อง ออกรายการทอล์กโชว์หรือวาไรตี้ แล้วแต่ว่ามีความถนัดทางด้านใด ยิ่งถ้ารูปร่างหน้าตาดีหรือมีบุคลิกร่าเริงแจ่มใสก็อาจได้รับความนิยมเสมือนดาราคนหนึ่งได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นนักพากย์ที่มีจุดเด่นกว่าคนอื่นจึงได้เปรียบกว่ามาก แถมยังมีงานพากย์เข้ามาเรื่อย ๆ ด้วย

เมื่อก่อนฉันเคยสงสัยว่าทำไมรูปถ่ายของนักพากย์ที่เห็นทางอินเทอร์เน็ตจึงมักเก๊กท่าคล้าย ๆ นายแบบนางแบบ จัดแต่งทรงผมหรือเสื้อผ้าให้ดูดี เพิ่งทราบว่าเป็นวิธีหนึ่งในการสร้างภาพลักษณ์และโฆษณาตัวเองให้ขายได้ เผื่อมีโอกาสให้ได้งานบางอย่างง่ายขึ้นนี่เอง

งานของนักพากย์คนหนึ่ง ๆ อาจประกอบไปด้วยการให้เสียงตัวละครในอนิเมชัน เกม ละครวิทยุ ซีดีละคร (คล้ายละครวิทยุแต่จบในตอน) บรรยายโฆษณา สารคดี และรายการต่าง ๆ รวมไปถึงพากย์เสียงสื่อของต่างประเทศ อาทิ อนิเมชัน ภาพยนตร์ และละคร นอกจากนี้นักพากย์ยังอาจเป็นนักร้องที่มีอัลบั้มเพลงเป็นของตัวเอง ออกอัลบั้มรวมภาพถ่าย เล่นมิวสิควีดีโอ แสดงละครเวที เล่นละครโทรทัศน์ จัดรายการวิทยุ เป็นพิธีกร และอื่น ๆ อีกมากมาย

ปกอัลบั้มภาพถ่ายของนักพากย์แต่ละคน  https://seigura.com/
นอกจากนี้ถ้านักพากย์ได้บทตัวละครเด่นในอนิเมชันหรือเกมที่ได้รับความนิยม ก็จะได้งานที่เกี่ยวเนื่องทยอยตามมาด้วย อย่างเช่น ซีดีละคร ซีดีเพลงที่ร้องโดยตัวละครหลัก อีเวนต์ รายการเฉพาะกิจช่องพิเศษหรือออนไลน์ หรือหากได้พากย์เสียงของนักแสดงหนังฮอลลีวู้ดคนใดแล้ว ก็มักจะพากย์เสียงของนักแสดงคนนั้นในผลงานเรื่องอื่น ๆ ตามไปด้วย แต่ก็มีบางกรณีเหมือนกันที่ใช้นักพากย์คนอื่นพากย์เสียงนักแสดงคนเดียวกัน

นักพากย์หลายคนสร้างชื่อมาจากการพากย์อนิเมชันและเกม ทำให้มีแฟน ๆ ติดตามตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงผู้ใหญ่ เคยได้ยินว่าบางคนดูอนิเมชันบางเรื่องหรือเล่นเกมบางเกมก็เพราะทราบว่านักพากย์คนโปรดเป็นคนให้เสียง อีกทั้งอีเวนต์เฉพาะกิจที่จัดโดยค่ายเกมใหญ่ นำทีมโดยนักพากย์เกมชื่อดังมาให้ความบันเทิงแก่แฟน ๆ ก็ขายได้ขายดี เพราะตอบสนองความต้องการของแฟน ๆ ที่คลั่งไคล้ทั้งเกมทั้งเสียงนักพากย์ได้ถูกจุด

อาชีพนักพากย์เป็นที่นิยมเช่นนี้เอง ปัจจุบันจึงมีโรงเรียนสายอาชีพที่เปิดสอนสาขาการพากย์ไม่ต่ำกว่า 30 แห่ง และยังมีโรงเรียนที่สอนภาคค่ำหรือเฉพาะเสาร์อาทิตย์อีกด้วย นักพากย์ปัจจุบันร้อยละ 80 จบจากโรงเรียนสอนการพากย์โดยตรง แล้วไปออดิชันกับค่ายเพื่อให้ได้เข้าสังกัด จากนั้นค่อยไปออดิชันงานเป็นจ็อบ ๆ ไป ซึ่งตอนสมัครก็ต้องส่งตัวอย่างเสียงของตัวเอง พร้อมรูปถ่ายและประวัติการทำงานไป ถ้าผ่านรอบแรกก็จะได้เข้าสัมภาษณ์ ทดสอบอ่านบท รวมทั้งอาจทดสอบความสามารถในการร้องเพลงหรือความสามารถพิเศษด้านอื่นร่วมด้วย

นักพากย์ที่ไม่ได้จบจากโรงเรียนเฉพาะทางก็มี แต่มีความสามารถด้านการใช้เสียงเป็นอย่างดี เมื่อไปออดิชันแล้วเป็นที่ถูกใจก็มีสิทธิ์ได้งานเหมือนกัน จึงไม่จำเพาะเจาะจงว่าเส้นทางนักพากย์ต้องเริ่มจากการเข้าโรงเรียนสอนเฉพาะทางเสียก่อนเท่านั้น ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงและไม่แน่ว่าจบมาจะได้งานพากย์หรือไม่ด้วย

ภาพจาก https://www.tohogakuen.ac.jp/
การสังกัดค่ายนักพากย์ยังมีส่วนสำคัญตรงที่บางทีแต่ละค่ายก็เน้นงานคนละประเภทกัน บางค่ายถนัดงานอนิเมชัน บางค่ายเน้นงานบรรยายเสียงประกอบ บางค่ายรับงานพากย์ภาพยนตร์ฝรั่งเยอะ นอกจากนี้งานใหญ่บางชิ้นยังสงวนสิทธิ์ไว้เฉพาะคนที่สังกัดบางค่ายเท่านั้นถึงมีโอกาสได้ออดิชัน เช่น เพราะค่ายนั้นเป็นที่รู้จักและได้รับความไว้วางใจ จึงได้รับการติดต่อเสนองานโดยตรงจากผู้จ้างวานรายใหญ่ เป็นต้น

เมื่อก่อนนักพากย์ชายที่เสียงหล่อชวนเคลิ้มแบบเจ้าชายจะเป็นที่ต้องการตัว แต่เดี๋ยวนักพากย์ผู้ชายที่มีเสียงสูงกลายมาเป็นที่ต้องการมากขึ้น ถ้าเพื่อนผู้อ่านดูอนิเมชันญี่ปุ่นด้วยเสียงต้นฉบับ อาจสังเกตพบว่านักพากย์ชายที่มีเสียงสูงพากย์เสียงตัวละครชายมากกว่าแต่ก่อน ในขณะที่เมื่อก่อนบางทีก็ใช้เสียงผู้หญิงพากย์ อีกทั้งเกมสำหรับผู้หญิงซึ่งมีตัวละครชายเยอะ ๆ ก็มักมีอย่างน้อยหนึ่งหรือสองตัวละครชายที่เสียงสูง

ความนิยมในตัวนักพากย์มีความเกี่ยวข้องกับงานค่อนข้างมาก และเป็นส่วนประกอบการพิจารณาตอนไปแคสติ้งด้วย ดังนั้นยอดผู้ติดตามบนโซเชียลของนักพากย์ หรือยอดขายซีดีของนักพากย์จึงมีความสำคัญ การพิจารณาแบบนี้จึงทำให้งานไปกองรวมกันอยู่ที่นักพากย์ขายดีในช่วงเวลาหนึ่ง และพอถึงเวลาก็จะมีนักพากย์อื่น ๆ ผลัดเปลี่ยนเข้ามา

นิตยสารนักพากย์รายเดือน ภาพจาก https://seigura.com
ว่ากันว่าช่วงเวลาขายดีของนักพากย์ชายจะอยู่ที่ 7 ปี ส่วนนักพากย์หญิงอยู่ที่ประมาณ 5 ปี อีกทั้งปัจจุบันมีนักพากย์หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปีเพิ่มมากขึ้นด้วย ทำให้การแข่งขันยิ่งสูงขึ้น และอาจทำให้นักพากย์หญิงแต่ละคนอยู่ในวงการได้สั้นลงไปอีก ในขณะเดียวกันนักพากย์ที่ใช้เสียงได้ดีแต่ไม่มีจุดเด่น น้ำเสียงไม่ต่างจากคนอื่น และไม่มีความสามารถในการแสดงมากพอ ก็จะอาจไม่มีโอกาสเกิดหรืออยู่ในวงการได้ไม่นาน

นักพากย์ญี่ปุ่นคนหนึ่งกล่าวไว้ว่า ปัจจุบันอาชีพนี้เป็นงานที่เจิดจรัสเพียงชั่วระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้นก่อนจะอับแสงลง คิดดูแล้วก็น่าวิตกพอสมควร เพราะกว่าจะได้มาทำงานพากย์เสียงเต็มตัวได้ก็ไม่ง่าย อีกทั้งช่วงเวลาที่จะได้รับงานพากย์ต่อเนื่องก็สั้น แถมยังต้องมีความสามารถหลายด้านเพื่อให้มีรายได้หลายทางมาประทังชีวิตอีกด้วย

สำหรับงานพากย์เสียงในเมืองไทย เท่าที่ฉันอ่านข้อมูลมาได้ทราบว่านักพากย์ในไทยมีจำนวนน้อย งานนี้ต้องอาศัยเวลาและความอดทนในการฝึกฝนทักษะและเรียนรู้เสียงของตัวเองให้ดี ทำให้หลายคนที่อยากเป็นนักพากย์ล้มเลิกความฝันกลางคัน แต่อย่างไรก็ตามหากได้เป็นนักพากย์อาชีพแล้วก็สามารถทำงานนี้ไปได้ตลอดชีวิต ซึ่งตรงนี้ก็นับว่าเป็นจุดดีเมื่อเทียบกับอาชีพนักพากย์ญี่ปุ่นเพราะน่าจะมั่นคงกว่าและการแข่งขันน้อยกว่ากันมาก

ระหว่างหาข้อมูล ฉันไปเจอบทความด้านล่างที่อ่านแล้วประทับใจ เลยนำมาฝากเพื่อนผู้อ่านด้วยค่ะ
เส้นทางการเป็นนักพากย์ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบของ ‘น้าต๋อย เซมเบ้’

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง"  เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น”ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.



กำลังโหลดความคิดเห็น