ญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่คนไทยอยากจะมาทำงาน โดยหวังรายได้ที่สูงกว่า คุณภาพชีวิตที่ดีกว่า แต่ความเป็นจริงแล้วแรงงานต่างชาติบางส่วนต้องเผชิญกับชะตาชีวิตที่ไม่ได้สวยหรูเหมือนดั่งที่คาดไว้
ผู้สื่อข่าว MgrOnline ในญี่ปุ่นได้สนทนากับ รศ.ดร.ปิยดา ชลวร อาจารย์ประจำคณะนานาชาติศึกษา มหาวิทยาลัยเทนหริ ซึ่งศึกษาเรื่องแรงงานต่างชาติในญี่ปุ่น และได้ถ่ายทอดข้อมูลบางส่วนไว้ในหนังสือ“ญี่ปุ่นที่ยังไม่รู้จัก”
คนไทยที่พำนักและทำงานในญี่ปุ่นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากคู่สมรสของชาวญี่ปุ่นและนักศึกษาแล้ว ยังมีกลุ่มคนทำงานที่มาญี่ปุ่นตามโครงการ “ผู้ฝึกงานด้านเทคนิค” 技能実習生
โครงการ “ผู้ฝึกงานด้านเทคนิค” ริเริ่มขึ้นในปี 2536 โดยมุ่งหมายสร้างทักษะให้กับผู้ฝึกงานจากประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้นำกลับไปใช้ยังประเทศบ้านเกิดของตนเอง แต่ทุกวันนี้โครงการนี้กลับถูกใช้เป็นช่องทางหาแรงงานราคาถูก
ดร.ปิยดาได้สำรวจกลุ่ม “ผู้ฝึกงานด้านเทคนิค” พบว่า ใน 10 ปีที่ผ่านมา แรงงานที่ได้วีซ่าฝึกงานด้านเทคนิคเพิ่มขึ้นมากเป็นประวัติการณ์กว่า 3 เท่าตัว เป็นกว่า 300,000 คน คิดเป็น 30.8% ของแรงงานต่างชาติทั้งหมดในญี่ปุ่น
ชาวเวียดนามเป็นแรงงานในกลุ่มนี้ที่มีจำนวนมากที่สุด ในปี 2561 ผู้ฝึกงานชาวเวียดนามมีมากถึงร้อยละ 50 ของทั้งหมด เป็นจำนวนกว่า 164,000 คน ส่วนคนไทยมาทำงานที่ญี่ปุ่นตามโครงการนี้มีราว 9,500 คน
ดร.ปิยดาเล่าว่า ในส่วนของผู้ฝึกงานชาวไทยมีวัยหลากหลาย ตั้งแต่ 20-40 ปี หลายคนไม่ได้มาเพื่อเก็บเงินอย่างเดียว แต่มาเพราะชอบญี่ปุ่น อยากมาลองอยู่ บางคนอยู่เมืองไทยมีงานที่ดีพอสมควร เป็นพนักงานบริษัทหรือเจ้าของกิจการ แต่ยอมลาออกหรือปิดร้านเพื่อมาลองทำงานที่ญี่ปุ่น คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนโสด ไม่มีภาระครอบครัว มาทำงานและเก็บเงินไว้เที่ยวในช่วงวันหยุดงาน
แรงงาน “ใช้แล้วทิ้ง” อบรมดั่ง “ค่ายทหาร”
จากคำบอกเล่าของคนไทยที่มาทำงานในโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดชิกะบอกว่า พวกเขาต้องจ่ายเงินให้บริษัทนายหน้าในประเทศไทยเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ประมาณ 165,000-240,000 บาท บางคนต้องกู้หนี้ยืมสินแล้วมาทำงานใช้หนี้กันภายหลัง
เมื่อมาถึงญี่ปุ่นแล้วต้องเข้าคอร์สอบรมอีก 1 เดือน เพื่อให้เข้าใจกฎระเบียบด้านความเป็นอยู่และการทำงานของญี่ปุ่น แต่ว่าการอบรมบางพื้นที่กลับคล้ายกับการฝึกทหาร เช่น ตื่นตี 5 ทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องครัว ก่อนที่จะประชุมตอนเช้าและกินอาหารเช้า จากนั้นจะเรียนตั้งแต่ 8.30 ถึง 17.30 น. หลังจากนั้นจึงกินอาหารเย็น อาบน้ำ และปิดไฟนอนตอน 4 ทุ่ม
ระหว่างการอบรม โทรศัพท์มือถือจะถูกยึดและคืนให้ในวันศุกร์ ซึ่งต้องไปใช้สัญญาณ WiFi ตามร้านสะดวกซื้อ หากผู้ฝึกงานทำผิดกฎที่วางไว้ ผู้ดูแลก็จะตำหนิด้วยวาจาที่รุนแรง บางครั้งก็ให้แขวนป้ายที่เขียนว่าทำผิดกฎอะไรตลอดทั้งวัน เหมือนกับประจาน(ปิยดา ชลวร, เขียน, บรรณาธิการ ”ญี่ปุ่นที่ยังไม่รู้จัก. บทที่ 20”)
รายได้ไม่เยอะอย่างที่คิด กดขี่แรงงาน
ผู้ฝึกงานหลายคนพบว่า ถึงแม้รายได้จะมากกว่าที่เมืองไทย แต่เมื่อหักค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่แพงกว่าไทยมาก รายได้ที่เหลือจึงไม่ได้มากมายนัก หลายแห่งค่าจ้างที่ได้ไม่คงที่ อาศัยค่าล่วงเวลาจึงจะพอเหลือเก็บ แต่ถ้าเป็นช่วงวันหยุดยาว OT มีไม่มากพอ รายได้ก็อาจแทบจะไม่พอใช้
รศ.ดร.ปิยดาให้ความเห็นว่า โครงการ “ผู้ฝึกงานด้านเทคนิค” ถูกวิจารณ์อย่างมากว่าเอาเปรียบคนทำงาน มีข้อจำกัดมากมาย เช่น ต้องทำงานตามประเภทที่กำหนดไว้เท่านั้น, ห้ามย้ายงานกลางคัน และห้ามนำครอบครัวมาอยู่ด้วย เป็นต้น แม้แต่บริษัทใหญ่อย่าง มิตซูบิชิและพานาโซนิก ก็มีการใช้ผู้ฝึกงานผิดประเภทงานจากที่กำหนดไว้ บางบริษัทให้ทำงานหนักจนผู้ฝึกงานจนฆ่าตัวตาย
ที่ผ่านมา มีผู้ฝึกงานจำนวนมากหนีจากโครงการ เพราะนายจ้างปฏิบัติต่อผู้ฝึกงานอย่างไม่เหมาะสม โดยให้พวกเขาทำงานในสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ ยึดหนังสือเดินทาง และไม่จ่ายค่าแรงตามเวลาในจำนวนที่เหมาะสม แต่เมื่อผู้ฝึกงานหนีจากโครงการเพื่อหลีกเลี่ยงความทุกข์ยากต่างๆ พวกเขาจะกลายเป็นคนงานผิดกฎหมาย เพราะโครงการฝึกงานไม่อนุญาตให้เปลี่ยนงาน
ผู้ฝึกงานบางคนยังพบกับการเลือกปฏิบัติจากนายจ้างและเพื่อนร่วมงาน เพราะถูกตีค่าเป็น “พนักงานชั่วคราว” ที่มีอายุการทำงานเพียงแค่ 3 ปีตามสัญญาฝึกงาน
ยิ่งในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 แรงงานต่างชาติหลายคนถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ถูกทอดทิ้ง จะกลับประเทศบ้านเกิดก็ไม่ได้ บางคนต้องอยู่อย่างยากลำบาก หรือถึงขั้นลักขโมยเพื่อประทังชีวิต
ดร.ปิยดาระบุว่า ถึงแม้ญี่ปุ่นเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงาน แต่รัฐบาลกลับใช้วิธี “เปิดประตูข้างบ้าน” คือใช้ผู้ฝึกงานเป็นแรงงานราคาถูก ไม่เปิดกว้างให้วีซ่าทำงานเหมือนในยุโรป อดีตนายกฯ อาเบะ ชินโซ เคยประกาศในช่วงที่แก้ไขกฎหมายคนเข้าเมืองของชาวต่างชาติในปี 2561 ว่า “นี่ไม่ใช่นโยบายให้ชาวต่างชาติย้ายถิ่นฐานมาญี่ปุ่น”
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จากหนังสือ “ญี่ปุ่นที่ยังไม่รู้จัก” โดย ปิยดา ชลวร
https://kledthai.com/consignment-book-134/travel/9786165657310.html
อาจารย์ปิยดาที่ใช้ชีวิตในญี่ปุ่นมานานกว่า 20 ปี ให้ความเห็นว่า “การรับคนต่างชาติเข้ามามากขึ้นไม่ได้หมายความว่า สังคมญี่ปุ่นเปิดรับความเป็นสากลมากขึ้น สังคมญี่ปุ่นยังคงกังวลว่าความแตกต่างด้านภาษาและวัฒนธรรมจะทำให้เสถียรภาพและความสงบสุขจะหายไป หรืออาชญากรรมเพิ่มขึ้น”
ญี่ปุ่นกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนักจากภาวะสังคมผู้สูงอายุ คาดกันว่าในอีกราว 40 ปีข้างหน้า คนทำงานในญี่ปุ่นจะลดลงกว่า 40% เหลือเพียง 45 ล้านคนจากที่มีอยู่เกือบ 70 ล้านคนในปัจจุบัน แรงงานต่างชาติหลายคนจึง “หวังน้ำบ่อหน้า” มาทำงานที่ญี่ปุ่น แต่รัฐบาลจะสร้างระบบที่เป็นธรรมได้อย่างไร สังคมญี่ปุ่นจะเปิดใจรับชาวต่างชาติได้ไหม เพื่อให้ไม่ถูกมองว่า “เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง”.