คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน เมื่อก่อนผู้หญิงญี่ปุ่นที่แต่งงานแล้วมักเป็นแม่บ้านเต็มเวลา แต่เดี๋ยวนี้สถานะสตรีดีขึ้นจึงหันมาทำงานนอกบ้านกันมากขึ้น แต่ก็ยังต้องทำงานบ้านและเลี้ยงลูกเหมือนเดิม โดยที่ฝ่ายชายไม่ค่อยจะช่วยสักเท่าไรนัก สร้างความหงุดหงิดแก่ผู้หญิงญี่ปุ่นกันมากทีเดียว ยิ่งยุคโควิดที่ต้องทำงานจากบ้านและเจอหน้ากันแทบตลอดเวลา ยิ่งชวนให้ผู้หญิงใกล้หมดความอดทนเต็มที
สภาพสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วทำให้บทบาทของผู้หญิงญี่ปุ่นต่างจากสมัยก่อนมาก จากเดิมเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้หญิงจะลาออกจากงานมาเป็นแม่บ้านเต็มตัวหลังแต่งงาน หน้าที่ทำงานบ้านและดูแลลูกจึงเป็นหน้าที่หลักของภรรยา ในขณะที่สามีออกไปทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัวและไม่ก้าวก่ายงานภายในบ้านเลย สมัยก่อนเวลาผู้ชายเอ่ยถึงภรรยาจึงมักเรียกว่า "คะไน"(家内) ซึ่งแปลตรงตัวว่า "ในบ้าน" เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้ยินเรียกกันแบบนี้แล้ว
แม้ปัจจุบันผู้หญิงมีบทบาทในหน้าที่การงานสูงขึ้น อีกทั้งแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมของหญิงชายก็มีมากขึ้น กระนั้นสิ่งที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปคือ ภาระในการเลี้ยงดูลูกและทำงานบ้านยังถูกมองว่าเป็นหน้าที่ของภรรยาเต็ม ๆ อีกทั้งสามีก็ยังเคยชินกับภาพลักษณ์ที่ว่าผู้ชายเป็นฝ่ายทำงานนอกบ้านหาเลี้ยงครอบครัว ส่วนหน้าที่รับผิดชอบภายในบ้านเป็นของภรรยา เลยเผลอปล่อยให้ภรรยาแบกภาระอยู่คนเดียว
ภรรยาญี่ปุ่นที่ลำบากใจเปรยคล้ายกันว่า ถึงบางคราวสามีจะหยุดอยู่บ้าน แต่ก็ไม่ได้ช่วยทำงานบ้านหรือเลี้ยงดูลูก กลับทำตัวตามสบาย เปิดโทรทัศน์บ้าง เล่นเกมบ้าง ยุ่งอยู่แต่กับมือถือบ้าง ทำงานอดิเรกสนุกสนานบ้าง หรือโอดครวญว่าตัวเองเหนื่อยเหลือเกินบ้าง ในขณะที่ภรรยากลับต้องทำโน่นทำนี่ทุกวันไม่มีวันหยุด จะคอยคิดตลอดว่าต้องทำอะไรบ้าง ถึงเวลาไหนต้องทำอะไรต่อ พอมาเห็นผู้ชายทำตัวไม่รู้ร้อนรู้หนาวอยู่คนเดียว จะไม่ให้เคืองได้อย่างไร
ผู้หญิงญี่ปุ่นบางคนก็โทษตัวเองที่ไม่พอใจสามี กลัวว่าตัวเองเป็นภรรยาที่ไม่ดีพอหรือเปล่า บางคนพยายามจะเป็นภรรยาที่ดีก็อดทนเอาไม่ว่าอะไร ยิ่งสังคมญี่ปุ่นให้คุณค่ากับเรื่องความอดทนก็อาจจะยิ่งทำให้หลายคนเลือกไม่พูดไม่บ่น ผู้ชายบางคนนึกว่าภรรยาตัวเองไม่เคยบ่น แสดงว่าเข้าใจความรู้สึกตนว่าทำงานหนักก็เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว หารู้ไม่ว่าภรรยาวางแผนว่าจะอดทนไปก่อน เพราะถ้าต้องเลี้ยงลูกคนเดียวก็ลำบาก รอให้ลูกโตเป็นฝั่งเป็นฝาแล้วค่อยอาละวาดทีเดียว เป็นอิสระหย่าขาดกันตอนแก่ แบบนี้ก็มี
ฉันเคยมีคุณลุงคุณป้าชาวญี่ปุ่นที่สนิทสนมกันมานานเหมือนครอบครัวแท้ ๆ เมื่อก่อนเคยนึกว่าคุณป้าเป็นคนใจเย็นและอ่อนโยน เป็นภรรยาที่แสนดี ดูแลทุกสิ่งทุกอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง คุณลุงเคยพูดถึงคุณป้าอย่างอารมณ์ดีว่า “มองตาก็รู้ใจ” แต่พอคุณลุงเสียชีวิตไป คุณป้าก็เริ่มเล่าความคับแค้นในชีวิตคู่ให้ฉันฟัง ทำนองว่าเธอต้องแบกภาระเหน็ดเหนื่อยขนาดนี้ คุณลุงไม่เคยช่วย ไม่เคยนึกขอบคุณ ไม่เคยพาไปเที่ยว ทั้งยังเอาแต่ใจ ฉันขมวดคิ้วด้วยความแปลกใจบอกว่า “แต่ลุงเคยบอกว่ามองตาป้าก็รู้ใจนี่นา ? ” แววตาคุณป้าทอประกายโหดขึ้นมาทันที “ฮึ ! ไม่มีหรอก สร้างภาพ !” วันนั้นฉันเลยได้แต่รับฟังด้วยความตกตะลึง เพราะเคยคิดว่าคู่นี้รักกันดีเสียอีก
มีแบบสำรวจอันหนึ่งเขาสุ่มตัวอย่างถามผู้ชายวัย 60 ปีขึ้นไปว่า หากมองย้อนไปในวัย 40 รู้สึกเสียใจเรื่องอะไรบ้าง ปรากฏว่าที่ตอบกันมากที่สุดคือ “มัวแต่ปล่อยให้ภรรยารับหน้าที่ดูแลลูกและทำงานบ้านอยู่คนเดียว” และผลจากการกระทำเช่นนั้นทำให้ครอบครัวต้องเดือดร้อน อีกทั้งยังทำให้ไม่ค่อยมีเวลาได้คุยกันด้วย บางคนก็บอกว่าถ้าย้อนเวลาไปได้จะให้ความสำคัญกับครอบครัวมากกว่างาน เพราะบริษัทให้ความสำคัญกับเรื่องผลประโยชน์เป็นที่หนึ่ง ถ้าโดนปลดคนงานออก ตนก็หมดความหมายต่อบริษัทแล้ว
ไลฟ์โค้ชชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งเล่าว่า ปัญหาสามีภรรยาทะเลาะกันดูจะเพิ่มสูงขึ้นทันควันในยุคโควิดนี้เอง แม้ก่อนโควิดจะมีความระหองระแหงกันบ้าง แต่อย่างน้อยต่างคนต่างก็มีเวลาได้อยู่กับตัวเองในวันธรรมดาที่ไปทำงาน จึงยังพอมองข้ามไปได้
แต่พอโควิดมา การทำงานจากบ้านก็มา ลูกต้องเรียนหนังสือจากที่บ้านก็มา ทำให้ไม่มีเวลาส่วนตัวเลย แถมภรรยายังต้องแบกรับภาระมากขึ้น ต้องทำทั้งงานของตัวเองและมีงานเพิ่มคือต้องดูแลทุกคนในบ้านตลอดวัน ทำกับข้าววันละสามหน ดูแลลูกให้เรียนหนังสือ ในขณะที่สามีทำแค่งานของตัวเองเป็นหลัก เรื่องอื่นให้ภรรยาจัดการ เมื่อได้มาเห็นสามีทำตัวราวกับเป็น “นายท่าน” อยู่ตำตาทุกวี่วันเช่นนี้ ฝ่ายภรรยาจึงชักเหลืออด
เรื่องน่าสนใจอย่างหนึ่งคือ มีการทำแบบสำรวจว่าผู้หญิงและผู้ชายมองหาอะไรจากตัวอีกฝ่ายมากที่สุด หากจะเลือกมาเป็นคู่ครอง เกินร้อยละ 90 ของทั้งสองฝ่ายตอบว่า “ความสามารถในการทำงานบ้านและเลี้ยงลูก” อีกทั้งอัตราส่วนของผู้หญิงที่เลือกเงื่อนไขนี้ยังสูงกว่าผู้ชายเสียอีก สะท้อนให้เห็นว่าผู้หญิงไม่ได้ต้องการแบกภาระอยู่คนเดียว แต่ต้องการให้ฝ่ายชายมีบทบาทนี้ร่วมกัน
โดยเฉพาะเมื่อผู้หญิงยุคนี้มีบทบาททางสังคมมากขึ้น ก็คาดหวังให้บทบาทของผู้ชายเปลี่ยนไปให้สอดคล้องกัน ไม่ใช่รอแต่ให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายคอยปรนนิบัติอย่างเดียวแบบสมัยก่อน ดังนั้นหากสามีทำอะไรเองได้ก็อยากให้ทำด้วยตัวเอง ยิ่งเป็นผู้หญิงที่ทำงานเลี้ยงตัวเองได้มากขึ้นอย่างสมัยนี้ หากแต่งงานไปแล้วไม่มีความสุขก็อาจจะไม่ได้อดทนอยู่ไปเรื่อย ๆ อย่างคนยุคก่อน
แต่จะเลือกหนทางหย่าขาดจากกันแทน
ทนายความคดีฟ้องหย่าคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ชายแนะนำผู้หญิงว่า หากมีความไม่พอใจสามีเรื่องใด ก็ให้ลองคุยกันตรง ๆ ว่าสิ่งใดบ้างที่เขาทำแล้วทำให้ภรรยารู้สึกเครียด เพราะบางเรื่องผู้ชายก็ทำไปด้วยความเคยชินหรือไม่ทันคิด เมื่อรับรู้แล้วก็อาจทำให้ปัญหาแก้ไขลงได้ง่ายกว่าที่คิด รวมทั้งแนะนำให้ผู้หญิงหาเวลาอยู่คนเดียวด้วยการปลีกตัวออกไปข้างนอกบ้าง หรือคุยกับเพื่อนผู้หญิงด้วยกัน หรืออาจมองว่าสามีเป็นเด็กตัวโตว่านอนสอนยาก จะได้ไม่คาดหวังอะไรมากเกินไปให้ต้องผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า
(ภรรยากลับจากซื้อกับข้าวมาเหนื่อย ๆ สามีนอนดูทีวีอยู่บอกว่าตนเองช่วยเก็บเสื้อผ้าที่ตากแห้งแล้วไว้ให้ ภรรยายิ้มแย้มปากบอกขอบคุณ แต่ในใจคิดว่าทำไมไม่พับให้เรียบร้อยไปด้วยเลย ช่วยแค่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ)
ภรรยาญี่ปุ่นจะกล่าวคล้าย ๆ กันว่า อยากให้ผู้ชายสังเกตและคิดได้เองบ้างว่าวัน ๆ ผู้หญิงเหนื่อยแค่ไหน อยากให้ช่วยกันแบ่งเบาภาระในบ้านและช่วยดูแลลูก ผู้ชายบางคนคิดว่าตัวเองก็ช่วยภรรยาแล้ว ทำไมยังบ่นอีก แต่เมื่อมองจากมุมมองของฝ่ายหญิงแล้ว รู้สึกว่าผู้ชายแทบไม่ได้ช่วยอะไรเลย ต้องรอให้ขอเสียก่อนถึงจะทำ หรืออย่างมากก็แค่ถามว่าจะให้ช่วยอะไรไหม แต่ไม่ได้คิดจะแบ่งหน้าที่อย่างเป็นกิจลักษณะพอที่จะช่วยให้รู้สึกว่าแบ่งเบาภาระได้
ไลฟ์โค้ชชาวญี่ปุ่นไม่แนะนำให้สามีถามภรรยาว่า “ให้ช่วยอะไรไหม ?” เพราะสะท้อนความคิดลึก ๆ ว่างานบ้านเป็นหน้าที่ของภรรยา แต่หากสามีเปลี่ยนคำถามเป็น “ผมมีหน้าที่ต้องทำอะไรบ้าง ?” จะเป็นการแสดงว่าตนพร้อมมีบทบาทรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งการมีส่วนร่วมในการดูแลครอบครัวด้วยกันแบบนี้ นอกจากจะช่วยภรรยาแบ่งเบาภาระงานบ้านและเลี้ยงลูกได้มากแล้ว ยังทำให้สามีเป็นที่รักและเทิดทูนของภรรยาอีกด้วย
(ฉันจะเอาลูกไปอาบน้ำ คุณช่วยจัดการผ้าที่ซักแล้วให้หน่อยนะ”)
มีตัวอย่างสามีภรรยาคู่หนึ่ง สามีนึกว่าตัวเองก็ช่วยงานหลายอย่างแล้ว เช่น เล่นกับลูก ล้างห้องน้ำ ล้างอ่างล้างจาน ทิ้งขยะ ตากผ้า ส่งลูกไปเนิร์สเซอรี่ แต่พอภรรยาเขียนรายการเทียบให้ดูดังภาพข้างล่างว่าสามีทำอะไรบ้าง ภรรยาทำอะไรบ้าง
จึงเห็นข้อเปรียบเทียบอย่างชัดเจนว่าภรรยารับภาระหนักกว่ามาก
(รายการงานบ้านและเลี้ยงลูก ฝั่งซ้ายคือสิ่งที่สามีทำ ฝั่งขวาคือสิ่งที่ภรรยาทำ ครึ่งบนคืองานประจำ ครึ่งล่างคืองานไม่ประจำ)
จากนั้นมาวันไหนสามีสังเกตว่าภรรยากำลังอารมณ์ไม่ดี ก็จะรีบมายืนดูรายการนี้ซึ่งแปะอยู่ที่ตู้เย็น และเริ่มลงมือทำงานส่วนที่เคยอยู่ฝั่งของภรรยา ปัจจุบันเขาขยันทำงานบ้านและเลี้ยงลูกคล่องแล้ว ภรรยาก็ดูท่าจะมีความสุขขึ้นมาก ฝ่ายสามีบอกว่าแปลกเหมือนกันที่เขาไม่ได้ต่อต้าน แต่กลับดีใจที่รู้ชัดเจนว่าตัวเองควรทำอะไรบ้าง ไม่ใช่รอให้ภรรยาโมโหเสียก่อน หรือมานั่งหาสาเหตุว่าทำไมภรรยาจึงโกรธ เขายังบอกด้วยว่าพอมาย้อนนึกดูถึงสมัยก่อนแล้ว เขาเอาเวลาไปดูโทรทัศน์เยอะจริง ๆ คิดแล้วก็รู้สึกละอายใจ
ส่วนบ้านเราอาจจะไม่ได้มีบริบทแบบเดียวกับสังคมญี่ปุ่น แต่อย่างน้อยที่สุดการเห็นอกเห็นใจกัน เกื้อกูลกันและกัน และหมั่นสื่อสารให้เข้าใจตรงกัน น่าจะมีส่วนช่วยประคับประคองให้ความสัมพันธ์ของสามีภรรยาอบอุ่นและรักกันกว่าเดิมได้นะคะ
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น”ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.