xs
xsm
sm
md
lg

Exclusive! ญี่ปุ่น “อยู่กับโควิด” เลือกธุรกิจมากกว่าชีวิตจริงหรือ ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ญี่ปุ่นควบคุมการระบาดของโควิด-19 โดยเลือก “อยู่กับโควิด” หรือ With Corona เพื่อให้ภาคธุรกิจไม่ล้มหายตายจาก และประชาชนยังดำเนินชีวิตได้ แต่ขณะนี้ญี่ปุ่นต้องประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งที่ 2 มีผู้ติดเชื้อมากเกือบ 8,000 คนต่อวัน

รัฐบาลญี่ปุ่นมุ่งสร้าง “เจแปนโมเดล” รับมือโควิด โดยประคับประคองสถานการณ์ ไม่ใช้การล็อกดาวน์ สั่งปิดธุรกิจเหมือนหลายประเทศ ใช้การ “ขอความร่วมมือ” ไม่ใช่ “บังคับ” รัฐบาลจ่ายค่าชดเชยให้กับร้านค้าที่ร่วมมือในการลดเวลาทำการ และยังช่วยเหลือทั้งค่าเช่าร้าน ค่าจ้างพนักงานที่ต้องหยุดงาน ฯลฯ มาตรการเหล่านี้มีทั้งผู้ที่วิจารณ์ว่า “อยากจบแต่ไม่อยากเจ็บ” แต่ก็มีผู้ที่เห็นว่าหากเศรษฐกิจล่มสลาย ประชาชนก็อยู่ไม่ได้ แม้ว่าโควิดจะผ่านพ้นไปก็ตาม

ผู้สื่อข่าว MgrOnline ในญี่ปุ่น ได้สอบถามความเห็นจากนักวิชาการผู้ที่ใช้ชีวิตในญี่ปุ่นมานานกว่า 20 ปี เกี่ยวกับมาตรการรับมือโควิดของรัฐบาลญี่ปุ่น

รศ.ดร.ปิยดา ชลวร อาจารย์ประจำคณะนานาชาติศึกษา มหาวิทยาลัยเทนหริ ระบุว่า ถ้าเทียบกับเมืองไทย ญี่ปุ่นค่อนข้างจะยืดหยุ่น เพราะให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจ รวมทั้งกฎหมายของญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้จำกัดเสรีภาพของบุคคล และความเป็นคนญี่ปุ่นที่ไม่สามารถบังคับได้ ทำให้นโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นแบบ “ขยักขย่อน” และเปลี่ยนไปมาตามสถานการณ์ จนถูกฝ่ายค้านโจมตีว่าไม่มีความเด็ดขาด

หากเทียบกับญี่ปุ่นแล้ว ดร.ปิยดาให้ความเห็นว่า คนไทยกลัวโควิดอย่างมากจนอาจเรียกว่าตื่นตระหนก รัฐบาลไทยใช้นโยบายที่เข้มงวดซึ่งทำให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบด้วย

“โดยส่วนตัวมองว่าเมืองไทยปิดสถานที่ต่าง ๆ แบบเหวี่ยงแห ทั้งสถานออกกำลังกาย สนามเด็กเล่น โรงเรียน ทำให้คนทั่วไปได้รับผลกระทบไปด้วย บางคนไม่ออกจากบ้านเลย ทั้ง ๆ ที่การระบาดระลอกใหม่มาจากกลุ่มที่เล่นการพนัน หรือขบวนการลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าว


ส่วน ศ.ดร.ปิยะ พงศาพิทักษ์สันติ จากคณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยเกียวโตซังเกียว ให้ความเห็นว่า ญี่ปุ่นจะไม่บังคับประชาชน เพราะรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นให้สิทธิ์กับคนในการตัดสินใจ มาตรการของรัฐบาลจึงเป็นเรื่องของการให้รางวัลมากกว่าการลงโทษ เช่น ให้เงินช่วยเหลือกับร้านค้าที่ให้ความร่วมมือในการลดเวลาการเปิดร้าน เป็นต้น

ดร.ปิยะบอกว่า “ถ้ารัฐบาลญี่ปุ่นสั่งให้ทำอะไรแล้วก็จำเป็นจะต้องมีมาตรการออกมารองรับคำสั่งนั้น เช่นสั่งให้ปิดร้านหรือลดเวลาทำการ รัฐบาลก็จำเป็นต้องมีงบประมาณที่ออกมาช่วยเหลือร้านค้าต่างๆ เหล่านั้น ดังนั้นมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องคิดอย่างรอบคอบเมื่อเทียบกับงบประมาณที่จะต้องใช้ จะเห็นได้ว่ากรุงโตเกียวจะไม่สั่งการอะไรเอง ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐบาลก่อน เนื่องจากกรุงโตเกียวไม่ต้องการรับผิดชอบเรื่องเงินช่วยเหลือจากมาตรการที่ตัวเองจะดำเนินการ”

ศ.ดร.ปิยะ พงศาพิทักษ์สันติ มหาวิทยาลัยเกียวโตซังเกียว
อย่างไรก็ตาม การรับมือโควิดของญี่ปุ่นก็มีความย้อนแย้ง โดยเฉพาะนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว GotoTravel และการตรวจหาเชื้อ

หลังยกเลิกภาวะฉุกเฉินเมื่อเดือนพฤษภาคม ปีที่แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยที่ชื่อว่า Goto ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเหมือนเหยียบคันเร่งและเบรกไปพร้อม ๆ กัน และเป็นสาเหตุให้เกิดการระบาดระลอกใหม่

รศ.ดร.ปิยดา ชลวร ให้ความเห็นว่า นโยบาย GoTo ที่ออกมาช่วงแรกมีกระแสตอบรับดีจากผู้ประกอบการท่องเที่ยว
แต่เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลก็ทยอยระงับใช้ในบางพื้นที่ และระงับทั่วประเทศในเวลาต่อมา สร้างความสับสนให้กับผู้ใช้อยู่ไม่น้อย ความไม่ชัดเจนเช่นนี้ทำให้ประชาชนบางส่วนไม่พอใจ ทั้งกลุ่มที่ต้องล้มแผนจะไปท่องเที่ยว และกลุ่มที่วิตกกับโรคระบาด

ดร.ปิยดายังพูดถึงการตรวจหาเชื้อ หรือ PCR ในญี่ปุ่น ซึ่งประชาชนเข้าถึงได้ยากและราคาแพงว่า “หลายประเทศตรวจโควิดสะดวกและฟรี แต่ที่เกียวโตหากจะไปตรวจที่โรงพยาบาลต้องจ่ายค่าตรวจและค่าออกใบรับรองแพทย์ (ในกรณีที่ไม่ติดเชื้อ) รวมกันเกือบ 20,000 เยน (ราว 6,000 บาท) นอกจากนี้ยังไม่ค่อยมีการแนะนำว่าหากติดเชื้อแล้วต้องทำอย่างไร สื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อทุกวัน แต่ไม่ค่อยบอกว่าถ้าติดเชื้อต้องติดต่อที่ไหน ทำตัวอย่างไร”

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกระบุว่า การตรวจหาเชื้อให้รวดเร็วและครอบคลุมเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมการระบาด หลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และแคนาดา มีการตรวจหาเชื้ออย่างกว้างขวาง ประชาชนสามารถรับการตรวจได้อย่างง่ายดาย


“เราชนะ” ไปด้วยกัน มุ่งสู่ After Corona

ญี่ปุ่นตระหนักว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ แนวทาง “อยู่กับโควิด” หรือ With Corona คือ การควบคุมจำนวนผู้ป่วยไม่ให้ระบบการรักษาพยาบาลล่มสลาย พร้อมๆ กับพยุงเศรษฐกิจ และให้ประชาชนดำเนินชีวิตได้อย่างใกล้เคียงปกติ โดยใช้มาตรการป้องกัน ฆ่าเชื้อโรค ตรวจวัดอุณหภูมิ เว้นระยะห่างทางสังคม เป็นต้น

อาจารย์ชาวไทยที่ใช้ชีวิตในญี่ปุ่นเห็นตรงกันว่า ถึงแม้ญี่ปุ่นจะเริ่มฉีดวัคซีนโควิดในเดือนกุมภาพันธ์ แต่น่าจะต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปีกว่าจะเข้าสู่สภาวะหลังโควิด หรือ After Corona

ศ.ดร.ปิยะ พงศาพิทักษ์สันติ เห็นว่า “เมื่อมีวัคซีนออกมาก็น่าจะกลับมาเหมือนเดิมได้ อาจจะเป็นช่วงปลายปีนี้ เมื่ออากาศอุ่นขึ้นการแพร่กระจายของเชื้อก็น่าจะลดลง จำนวนผู้ติดเชื้ออาจจะไม่เยอะมากเหมือนช่วงฤดูหนาว แต่ก็จะมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว”

รศ.ดร.ปิยดา ชลวร ให้ความเห็นว่า “การระบาดของโควิดทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนเราน้อยลง ปกติช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม จะมีเทศกาล งานออกร้าน และคอนเสิร์ตเยอะมาก แต่ปีที่แล้วถูกงดไปเกือบหมด มหาวิทยาลัยสอนออนไลน์ นักศึกษาใหม่ปีนี้เปิดเทอมมาไม่เคยมามหาวิทยาลัยเลย ไม่ได้เจอเพื่อน ไม่ได้ทำกิจกรรม โชคดีที่เทอมสองมีบางแห่งที่กลับมาสอนตามปกติ”


หลังการระบาดมานานกว่า 1 ปี ญี่ปุ่นเริ่มปรับตัว “อยู่กับโควิด” เช่นมหาวิทยาลัยที่อาจารย์สอนอยู่ก็มีแนวทางปฏิบัติที่ละเอียดมากว่า ถ้าพบนักศึกษาที่ติดเชื้อจะทำอย่างไร การเรียนการสอนก็เปลี่ยนเป็น “ไฮบริด” คือ มีทั้งการเรียนในห้องเรียน ออนไลน์ และออนดีมานต์ ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้น่าจะยังคงอยู่แม้โควิดผ่านพ้นไป

ถึงแม้โควิดจะสร้างวิกฤตทั่วโลก แต่เชื้อโรคไม่ได้อยู่ตลอดไป สิ่งที่น่าเป็นห่วง “หลังโควิด” คือ ผู้ที่สูญงาน เสียรายได้จำนวนมาก และจะส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ เป็นห่วงโซ่ คนเหล่านี้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการสกัดกั้นโควิด แต่พวกเขาอาจอยู่ไม่รอดจนถึง “หลังโควิด” และวัคซีนไม่ว่าจะเป็นของเจ้าใดก็ไม่อาจจะ “เยียวยา” พวกเขาได้.


กำลังโหลดความคิดเห็น