คอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” โดย “ซาระซัง”
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน ฉันมีเพื่อนรุ่นน้องคนไทยคนหนึ่งเป็นพยาบาลในญี่ปุ่น ได้เห็นชีวิตของเธอตั้งแต่ตอนเรียนพยาบาลจนกระทั่งได้บรรจุเป็นพยาบาลแล้วรู้สึกว่าทรหดหนักหนา แต่ก็อดทึ่งในความเป็นนักสู้ของเธอไม่ได้ วันนี้เลยขอนำเรื่องราวชีวิตพยาบาลในญี่ปุ่นมาเล่าสู่กันฟังค่ะ
เดิมทีน้องคนนี้เขามีความฝันอยากช่วยผู้ป่วยในถิ่นทุรกันดาร อย่างในแอฟริกาที่ขาดแคลนการแพทย์และสุขอนามัย เธอเพิ่งค้นพบตัวเองก็หลังเรียนจบปริญญาตรีมาสองใบและทำงานมาหลายปี แต่ก็ลงทุนลาออกจากที่ทำงานไปเรียนปริญญาตรีใบที่ 3 เพื่อที่จะได้มาเป็นพยาบาล
เธอเคยถามฉันว่าประหลาดไปไหมที่เรียนปริญญาตรีตั้งสามใบ แต่ฉันคิดว่าบางทีคนเราก็ค้นพบความฝันเอาตอนเลยวัยหนุ่มสาวแล้ว และเมื่อเธอรู้แน่ชัดว่าต้องการอะไรในชีวิต การเริ่มต้นใหม่เพื่อไปสู่เป้าหมายใหม่ก็สมเหตุสมผลดี
ช่วงเรียนพยาบาลเธอต้องพยายามมากกว่าเพื่อนคนญี่ปุ่น เพราะแม้จะเชี่ยวชาญภาษาญี่ปุ่นแค่ไหน แต่ภาษาญี่ปุ่นก็เป็นภาษาต่างชาติ อีกทั้งวิชาเรียนก็เต็มไปด้วยศัพท์เฉพาะทาง จึงต้องหัดจำหัดเขียนบ่อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก และยังต้องฝึกซ้อมทักษะหัตถการต่างๆ นับตั้งแต่การปูเตียงให้ตึงเป๊ะ พับมุมเตียงเป็นรูปสามเหลี่ยม วัดสัญญาณชีพ วิธีฉีดยา คำนวณสารน้ำ เจาะเลือด พลิกหรือยกตัวคนไข้ เช็ดตัว ดูดเสมหะ สวนปัสสาวะ สวนทวาร และอื่นๆ ซึ่งทุกอย่างมีเทคนิคที่ต้องฝึก รวมทั้งต้องรู้เหตุรู้ผลด้วย เวลาสอบต่อให้ทำเป็นแต่ถ้าตอบเหตุผลไม่ได้ก็ไม่ผ่าน
นอกจากนี้ยังมีการสอบเสมือนจริง (role play) บ่อยครั้ง โดยอาจารย์จะให้จับฉลากเหตุการณ์สมมติขึ้นมา นักศึกษาต้องทำ role play กับหุ่น แล้วอาจารย์จะคอยให้คะแนนตามเช็กลิสต์ทีละข้อ ถ้าไม่ผ่านครบทุกข้อก็ต้องสอบซ่อม
ส่วนเวลาฝึกภาคปฏิบัติในโรงพยาบาล ก็มักเจอพยาบาลโหด จิก เข้าถึงตัวยาก ถ้าได้โรงพยาบาลไกลก็ต้องตาลีตาเหลือกออกจากบ้านแต่เช้า กลับมาก็ต้องเขียนบันทึกส่งอาจารย์อีกว่าวันนี้วางแผนการพยาบาลอย่างไร ทำอะไรไปบ้าง ใช้วิธีการอย่างไร ได้ผลอย่างไร คนไข้ตอบรับอย่างไรบ้าง เธอบอกว่าการทำบันทึกแต่ละวันจากการฝึกปฏิบัติงานจริงนั้นบั่นทอนพลังชีวิตมาก ทำเอาหลายคนแทบไม่ได้นอนเลย แต่ทุกคนก็ต้องผ่านจุดนี้ไปถึงจะสอบได้วุฒิพยาบาล
พอทำบันทึกของวันนั้นเสร็จ ก็ต้องศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคของคนไข้ที่ดูแลอยู่ ทั้งอาการ วิธีรักษาและพยาบาล เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวันถัดไป ไม่อย่างนั้นก็จะขึ้นวอร์ดแบบไม่มีข้อมูลอะไรในหัว ดูแลคนไข้ไม่ได้ ตอบคำถามพยาบาลไม่ได้
เมื่อทุกอย่างที่เธอต้องเรียนรู้ ฝึก จำ และทำในแต่ละวันมีปริมาณมหาศาลขนาดนี้ เธอจึงเริ่มอดกินอดนอนจนผมร่วงไปเป็นหย่อมทั้งที่อายุยังน้อย ต่อมาพยายามปรับการกินการนอนจึงค่อยดีขึ้น ความที่เธอเป็นคนน่ารักและมีน้ำใจจึงแวดล้อมไปด้วยคนที่เต็มใจคอยช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์หรือเพื่อนร่วมรุ่น จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอผ่านวันคืนอันทรหดมาได้จนกระทั่งหางานสำเร็จ ได้บรรจุในโรงพยาบาลใหญ่
ตลอดสามปีเต็มของการเรียน เธอได้เรียนรู้ว่า คนเรามีความสามารถที่จะทำอะไรได้มากกว่าที่คิด อย่ากลัวพลาด ถ้าคิดว่าทำไม่ได้ก็จะไม่ได้ทำ และจะทำไม่ได้ตลอดไป รู้สึกไม่เอาไหนตลอดไป เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือไม่ใช่ว่า “ทำไม่ได้” แต่อยู่ที่ “ทำหรือไม่ทำ” ดังนั้นอย่างแรกคือต้องลงมือทำ ไม่ต้องสมบูรณ์แบบก็ได้ แต่ที่สำคัญคืออย่ายอมแพ้ แล้วความผิดพลาดนับครั้งไม่ถ้วนจะเป็นตัวช่วยให้เกิดความมั่นใจในตัวเองตามมา
หลังจากได้เป็นพยาบาลแล้ว เธอก็เจอความหฤโหดอีกรูปแบบหนึ่ง คือเจอรุ่นพี่ที่มีวิธีการสอนแบบไม่บอกก่อน แต่ให้คิดเองว่าต้องทำอะไรให้คนไข้แต่ละคนบ้าง ทำแล้วได้ผลอย่างไร สิ่งที่ทำให้คนไข้มีอะไรผิดสังเกตรึเปล่า ถ้าผิดทำไมถึงผิด มีปัญหาแล้วค่อยมาปรึกษารุ่นพี่ แต่ถ้าเรื่องไหนพลาดก็โดนด่าเอาเสียจนหมดกำลังใจไปเหมือนกัน
เธอว่าวิธีนี้ก็ดีตรงที่ทำให้รู้จักคิดหาเหตุผลเอง ถ้าไม่ใช่เรื่องด่วนก็ลองผิดลองถูกไป เพราะไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะมีคำตอบตายตัว ต่อไปเวลาเกิดเหตุการณ์คล้ายกันก็จะมีทักษะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อนได้ แต่ไม่ดีตรงที่ว่าหากวิธีคิดหรือวิธีทำไม่ถูกต้อง ก็จะโดนรุ่นพี่ด่าว่าหรือเข้ามายุ่มย่ามกลางคัน ทำให้ไม่กล้าไปปรึกษาอีก เครียด ท้อ และรู้สึกถูกกดดันตลอดเวลา เธอเคยบอกว่าถ้าได้เป็นรุ่นพี่เมื่อไหร่ เธอจะไม่ใช่วิธีแบบนี้กับรุ่นน้อง แต่จะให้กำลังใจและพูดกันดีๆ
จากการสำรวจแห่งหนึ่งพบว่า มีพยาบาลญี่ปุ่นถึงร้อยละ 80 ทีเดียวที่อยากลาออก หลายคนเสียกำลังใจไปตั้งแต่ปีแรกของการทำงาน เพราะเข้ามาใหม่ๆ ก็มีแต่เรื่องที่ยังไม่รู้เต็มไปหมด ยังต้องการคนชี้แนะและให้กำลังใจ แต่กลับถูกดุด่า พอกลัวก็เลยลนลาน ยิ่งทำอะไรไม่ถูก เครียดไปหมด อีกทั้งงานก็เกี่ยวกับความเป็นความตายของคนจึงยิ่งต้องระมัดระวัง ยังไม่รวมว่าต้องทำงานหนักหลายชั่วโมง วันหยุดต่อเนื่องก็แทบไม่มี พักผ่อนไม่เคยเพียงพอ จนสุดท้ายหลายคนทนไม่ไหวลาออกกลางคัน ซึ่งนับเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะกว่าจะผ่านการเรียนหฤโหดมาได้ก็ไม่ง่ายเลย อีกทั้งคนที่มุ่งมั่นอยากเป็นพยาบาลเพื่อช่วยเพื่อนมนุษย์ก็ไม่ได้มีเยอะแยะเสียด้วย
ช่วงแรกๆ น้องเขาเครียดจนไม่รู้จะปฏิบัติกับคนไข้อย่างไร กะว่าอย่างแรกคือพอเจอหน้าคนไข้แล้วจะปั้นยิ้มก่อน แล้วท่องตามบทที่เตรียมไว้ด้วยน้ำเสียงร่าเริง ฉันฟังแล้วก็นึกภาพคนญี่ปุ่นที่มักทำอะไรเป็นรูปแบบตามกันไปหมด จึงเสนอว่าเธอทำอะไรได้มากกว่านั้นเยอะ อย่าเป็นแค่หุ่นยนต์นางพยาบาลเลย ให้ลืมเรื่องพยาบาลกับคนไข้ไปก่อน มองเขาว่าเป็นเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกับเรา เขาป่วย เขาต้องอยู่ติดเตียงนานๆ เขาทุกข์ เขาน่าจะต้องการอะไร แล้วเราจะทำอย่างไรให้เขามีความสุขได้บ้าง แล้วจะได้คำตอบเองว่าควรปฏิบัติกับคนไข้อย่างไร
ดูเหมือนน้องจะเกิดไอเดีย จากนั้นมาเธอก็ใช้วิธีแบบเป็นตัวของตัวเอง และมีความสุขกับการดูแลคนไข้มากขึ้น พลอยมีเรื่องอบอุ่นใจมาเล่าให้ฉันฟังมากมาย เธอเล่าว่าเธอมักจะจับมือคนไข้บ่อยๆ เช่น มีคุณป้าคนหนึ่งกำลังจะเข้าห้องผ่าตัดและดูท่าทางตื่นตระหนก น้องสังเกตเห็นจึงจับมือคุณป้าไว้ คุณป้าบีบมือตอบแน่นน้ำตาคลอเบ้าขึ้นมาทันที พูดว่า “ฉันกลัว ฉันกลัว” น้องมองเข้าไปในดวงตาคุณป้าพลางบอกอ่อนโยน “ไม่เป็นไรนะคะ” เธอบอกว่าแม้ไม่อาจทำให้ความกลัวของคุณป้ามลายหายไปได้ แต่อย่างน้อยก็คงทำให้คุณป้ารู้สึก “มีเพื่อน” ขึ้นมาได้บ้าง
คนไข้เองก็ให้ความเอ็นดูน้องเขาไม่น้อยเหมือนกันค่ะ จนบางทีคนไข้เป็นฝ่ายสอนพยาบาลมือใหม่ หรือให้คำแนะนำในฐานะผู้ใหญ่ก็มี ครั้งหนึ่งน้องเขาเคยได้รับการไหว้วานให้ไปพูดประสบการณ์ของพยาบาลต่างชาติในญี่ปุ่นแก่เด็กชาวบราซิลที่พ่อแม่มาทำงานในญี่ปุ่น พอเล่าเรื่องนี้ให้คนไข้ฟังระหว่างพาเธอไปอาบน้ำ คนไข้ซึ่งเดิมมีอาชีพเป็นอาจารย์สอนงานฝีมือก็เลยคะยั้นคะยอให้ลองซ้อมพูดดู น้องจึงทำตาม คนไข้ก็ให้คำแนะนำ ติชม หรือเพิ่มเติมเป็นจุดๆ ไป แถมพอถึงวันที่น้องจะได้เวลาต้องไปพูดที่โรงเรียนแล้ว กำลังจะออกจากโรงพยาบาล คนไข้กับสามีของเธอก็เรียกตัวเธอไว้ แล้วยื่นถุงใส่ของว่างกับน้ำเป็นเสบียงติดตัวไประหว่างทางด้วย ฟังแล้วรู้สึกซาบซึ้งกับความสัมพันธ์อันอบอุ่นนี้ไปด้วยเลยค่ะ
เรื่องน่าดีใจก็คือดูเหมือนเพื่อนพยาบาลจะรู้และเห็นความพิเศษของน้องคนนี้โดยที่เจ้าตัวไม่รู้เรื่อง วันหนึ่งระหว่างที่เธออยู่กับพยาบาลคนอื่นๆ ก็มีพยาบาลอีกคนเดินเข้ามาสมทบ บ่นว่าจนปัญญากับคนไข้คนหนึ่งที่รับมือยากเหลือเกิน ทุกคนลงความเห็นตรงกันว่าต้องเป็นน้องคนนี้เท่านั้นคนไข้ถึงจะเปิดใจ เธอจึงโดนส่งไปรับมือแทน และได้รับผลตอบรับที่ดีกลับมา นอกจากนี้ยังเคยมีคนไข้ที่อยากให้เธอไปเป็นพยาบาลส่วนตัวให้ที่บ้านด้วย เงินเดือนดีงานสบายกว่า แต่เธอปฏิเสธเพราะยังอยากไปช่วยเหลือคนไข้ในถิ่นทุรกันดารที่เป็นความฝันแต่เดิมอยู่
จากเรื่องที่เธอเล่าแสดงว่าเธอน่าจะได้รับการยอมรับในระดับหนึ่งทั้งจากพยาบาลและคนไข้ ฉันฟังแล้วก็ภูมิใจในตัวน้อง และดีใจที่คนอื่นๆ ก็มองเห็นคุณสมบัติที่ดีในตัวเธอ แต่เธอก็บอกว่าทุกวันนี้ยังท้ออยู่เรื่อยๆ บางทีคนไข้เสียชีวิตต่อหน้า ก็โทษตัวเองว่าทำไมถึงดูไม่ออกว่าเขากำลังจะจากไป ไม่อย่างนั้นก็คงได้เรียกครอบครัวเขาให้มาดูใจได้ทันเวลา รู้สึกอ่อนด้อยประสบการณ์เหลือเกิน
หลายครั้งที่น้องเขาร้องไห้หนัก แต่ก็ไม่คิดจะเลิกเพราะมาถึงขนาดนี้แล้ว จึงพยายามหาทางให้ทำงานอยู่รอดต่อไป ทั้งหาคนคุยด้วย ปรึกษารุ่นพี่ที่คุยได้ หาข้อมูลเพิ่มในการรับมือกรณีฉุกเฉิน มีวิถีทางอะไรอย่างไรบ้าง เผื่อคราวหน้าจะได้รับมือได้ดีขึ้น เธอรู้สึกว่า พยาบาลเป็นอาชีพที่ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต การแพทย์เปลี่ยนตลอด มีโรคใหม่และโรคที่ไม่เคยรู้จักอีกมาก การนิ่งนอนใจว่ารู้แล้วทำได้แล้ว จึงเป็นอะไรที่น่ากลัวที่สุด
ยิ่งตอนนี้มีโควิดมา คนไข้เต็มโรงพยาบาล เธอจึงต้องทำงานหนักขึ้นทั้งที่ใจก็กลัวติดโควิดเหมือนกัน แต่ด้วยเป็นหน้าที่ และบุคลากรทุกคนก็พยายามทำงานเต็มที่ จึงได้แต่ต้องสู้ต่อไป
แม้จะมีทั้งปัญหาให้เผชิญทั้งเรื่องงานและเรื่องคนทำให้เครียดและเหนื่อยอยู่ตลอด แต่น้องก็บอกว่า สิ่งที่ช่วยต่อลมหายใจให้ทำงานต่อไปได้คือ “กำลังใจ” ไม่ว่าจะเป็นการได้รับคำขอบคุณ จดหมายขอบคุณ หรือคำชมจากคนไข้ เช่น “คุณเหมาะกับอาชีพพยาบาลนะ” หรือเวลาปรึกษารุ่นพี่ คนใกล้ตัว แล้วพวกเขาให้กำลังใจว่าทำได้ดีแล้ว แค่นี้ก็รู้สึกมีกำลังใจเดินหน้าต่อไปได้
เมื่อก่อนฉันไม่ทราบเลยว่าชีวิตพยาบาลสาหัสถึงเพียงนี้ จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนเมตตาและเห็นอกเห็นใจพยาบาลกันมากๆ และแม้เพียงการเอ่ยคำแสดงความชื่นชม หรือขอบคุณจากใจจริง ก็น่าจะช่วยให้พวกเขามีความสุขขึ้น เกิดกำลังใจ และพอจะหายเหนื่อยได้บ้างนะคะ
หรืออาจจะใช้พื้นที่ในช่องแสดงความเห็นเขียนข้อความให้กำลังใจพยาบาล เผื่อมีพยาบาลท่านใดได้มาอ่านก็คงดีใจ มีแรงสู้ต่อไปค่ะ ✌️
ขอบคุณและพบกันใหม่สัปดาห์หน้านะคะ สวัสดีค่ะ.
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
"ซาระซัง" เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น”ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.