สวัสดีครับผม Mr. Leon มาแล้ว อาทิตย์สุดท้ายของปีนี้แล้วนะครับ ปกติแล้วช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี ผมจะเขียนบทความทบทวนเหตุการณ์ที่ผ่านมาของปีนั้นๆ แต่ทำไมปีนี้รู้สึกแค่ว่าไม่อยากพูดถึงเลยครับ (´・ω・`) นอกจากเรื่องผลกระทบจากโรคระบาดโควิดแล้วยังคิดว่าปีนี้เป็นปีที่คนญี่ปุ่นรู้สึกห่อเหี่ยวสิ้นหวังและรู้สึกท้อถอยอย่างไรพิกล ยิ่งช่วงอากาศหนาวๆ แบบนี้ยิ่งส่งผลทำให้จิตใจท้อถอยอยู่ไม่น้อยเลย ผมได้ยินเพื่อนคนไทยบอกว่าชอบแบบญี่ปุ่นที่มี 4 ฤดูกาล คือ ฤดูหนาว ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง อยากให้เมืองไทยมีความแตกต่างของฤดูกาลแบบญี่ปุ่นบ้าง คนญี่ปุ่นหลายคนที่เคยมาทำงานอยู่เมืองไทยก็พูดทำนองเดียวกันว่าเมืองไทยอากาศร้อนทั้งปีไม่มีฤดูกาลอย่างชัดเจน แต่สำหรับผม เท่าที่ผมอยู่เมืองไทยมาหลายปี ผมคิดว่าเมืองไทยมีขอบเขตของฤดูกาลอยู่นะครับ ผมดูจากผลไม้ประจำฤดูกาลที่จะหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ทำให้ผมรู้ว่า อ๋อ!ตอนนี้มันฤดูหนาวแล้วนะ เป็นต้น
ช่วงฤดูหนาวแบบนี้มีหลายคนอยากจะไปนั่งชิลฟังเพลงบ้าง ดื่มเครื่องดื่มเพิ่มความสดชื่นตามไลฟ์เฮาส์ Live house คือห้องจัดแสดงคอนเสิร์ตเล็กๆ สําหรับการแสดงสดเช่น ร็อก, แจ๊ส, ป๊อบ เป็นต้น และจัดกิจกรรมอื่นๆ ด้วย จะมีลักษณะคล้ายๆ กับผับของเมืองไทยนะครับ มีนักดนตรีจากทั่วญี่ปุ่น เดินทางมาแสดงความสามารถของตัวเอง ส่วนลูกค้าสามารถฟังดนตรีสดที่ไม่ซ้ำกันได้ในแต่ละวันตามตารางการแสดง และยังเรียกกันทั่วไปว่า 箱 、ハコ hako หรือกล่อง ซึ่งไลฟ์เฮาส์จะมีลักษณะดังต่อไปนี้อย่างคร่าวๆ
●ร้านที่มีลักษณะเป็นห้องเล็กๆ มีการจัดวางเก้าอี้และโต๊ะที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ตามต้องการ ไม่ต้องนั่งคงที่ บางแห่งใช้ยืนชมการแสดง มีคนรวมๆ กันอยู่ในห้องเล็กๆ บางครั้งมีผู้ชมอย่างหนาแน่นมากกว่าสองร้อยคน
●ต้องมีค่าเครื่องดื่มแยกต่างหากจากค่าเข้าชม เพราะไลฟ์เฮาส์ส่วนใหญ่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประเภทร้านอาหารแทนที่จะเป็นสถานบันเทิง จึงมีการใช้ระบบสั่งเครื่องดื่มหนึ่งแก้วด้วย
●ไม่มีอุปกรณ์เวทีขนาดใหญ่ และต้องปฏิบัติตามกฏของไลฟ์เฮาส์นั้นๆ บางแห่งห้ามใช้ควัน เป็นต้น
●ไลฟ์เฮาส์หลายแห่งมีการจัดแสดงดนตรีที่ใช้เสียงดัง เช่น การแสดงเพลงร็อก จึงมักจะเปิดร้านที่บริเวณชั้นใต้ดินของอาคาร ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันเสียงรบกวน
●ไลฟ์เฮาส์บางแห่ง (โดยเฉพาะไลฟ์เฮาส์ที่มีนักดนตรีมืออาชีพที่เป็นของบริษัทชื่อดัง มักจะดําเนินการจัดการด้วยออแกไนซ์มืออาชีพ ) จะห้ามถ่ายภาพ หรือบันทึกการแสดงของนักแสดง อย่างไรก็ตามหากเป็นนักดนตรีทั่วไปที่มีอำนาจตัดสินใจด้วยตนเองก็จะตรงกันข้าม สามารถถ่ายภาพและบันทึกได้ตามสะดวก
ปีนี้เป็นปีที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจมาก หลายธุรกิจได้รับผลกระทบจนต้องปิดตัวเองลงไป ไลฟ์เฮาส์ ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจในญี่ปุ่นที่เป็นประเด็นพูดถึงกันอย่างมาก ถึงแม้ว่าโตเกียวจะได้รับการยกย่องว่ามีวัฒนธรรมการแสดงที่โดดเด่นมากจนอาจเรียกได้ว่า มีระดับสูงที่สุดในโลก ไม่แพ้ที่นิวยอร์กหรือว่าปารีส เมื่อคุยเรื่องไลฟ์เฮาส์ของโตเกียวก็คิดว่ามีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและยังมีจำนวนมากกว่าทางฝรั่งตะวันตก นอกจากนี้ยังแยกประเภทออกเป็นห้องต่างๆ อีกมากมาย เช่น House music, Techno music, Manyao , Funkot, การแยกส่วนแยกห้องกันอย่างชัดเจนก็เพื่อให้ลูกค้าเลือกประเภทได้ตรงใจที่ตนชื่นชอบ เมื่อเกิดผลกระทบจากสถานการณ์โควิดในปีนี้ ธุรกิจประเภทไลฟ์เฮาส์ จะเป็นอย่างไรต่อไป จึงมีการพูดคุยกันอย่างกว้างขวาง รวมทั้งผมเองก็มีความสนใจตรงนี้ด้วย
ตามปกติแล้วไลฟ์เฮาส์มี 2 ประเภท คือแบบที่ต้องมีการตรวจสอบหรือการสัมภาษณ์ และแบบที่ไม่มีการตรวจเช็คอะไรเป็นพิเศษ ในฐานะที่ผมเคยเดินสมัครสัมภาษณ์ขอเข้าเช่าสถานที่จัดแสดงดนตรีสดในไลฟ์เฮาส์ด้วยความลำบากยากเย็น เมื่อรู้ว่าไลฟ์เฮาส์ต่างก็ได้รับผลกระทบจากโควิด ผมก็เข้าใจมากๆ เลยทีเดียว สำหรับผลกระทบต่อธุรกิจประเภทไลฟ์เฮาส์ ก็อาทิเช่น มีผู้เข้าชมการแสดงน้อยลง เพราะจำกัดจำนวน หรือการที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายป้องกันโควิดของรัฐบาล เช่น ห้ามชุมนุม ห้ามคนเยอะในห้องปิด ฯลฯ หรือการจำกัดเวลาเปิดปิดร้าน รวมทั้งมาตรการต่างๆ มากมาย แต่หลายๆ ที่ก็ยังพอประคองตัวอยู่ได้ ยกเว้นอยู่ที่หนึ่งที่ได้ประกาศยกเลิกกิจการไปแล้วนั่นก็คือไลฟ์เฮาส์ที่ Ikebukuro อย่าง 池袋サイバー Ikebukuro cyber เป็นไลฟ์เฮาส์แบบที่ต้องมีการตรวจสอบหรือการสัมภาษณ์ ซึ่งเมื่อผมได้รับฟังข่าวนี้แล้วผมรู้สึกตกใจมาก
ซึ่งผมเองก็เคยมีประสบการณ์ทั้งเป็นผู้ชมและทีมวงดนตรีที่ต้องหาสถานที่จัดแสดง พูดถึงการชมคอนเสิร์ตผมมักจะไปกับกลุ่มเพื่อนๆ ที่ไปชมการแสดงด้วยกันจะมีหลายคนทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ทุกคนจะเห็นผมออกอาการตื่นเต้นสนุกสนานที่สุด บางทีก็ไปฟังเพลงแนวที่แตกต่างออกไปจากที่เราชอบ แต่เมื่อเปิดใจลองดู ก็รู้สึกชอบและตื่นเต้นและแปลกใหม่เหมือนกัน สำหรับในส่วนของนักดนตรี มีคนบอกว่าศิลปินนักร้องที่ยืนอยู่บนเวทีจะมองเห็นผู้ชมหน้าเวทีได้อย่างชัดเจน เมื่อนักร้องชายขึ้นร้องเพลงแล้วเห็นผู้ชมสาวๆ เต้นและดูมีความสุขกับเสียงเพลงที่เขาได้สร้างสรรค์ออกไปนักร้องจะดีใจ ยิ่งกว่านั้นถ้านักร้องชายร้องเพลงและได้เห็นหนุ่มๆ ที่มาชมการแสดงออกอาการสนุกสนานและมีความสุข ยิ้มแย้มและเต้นสนุกสนานร่าเริง นักร้องจะมีความสุขมากยิ่งกว่า บางครั้งนักร้องก็จะพูดคำว่า 野郎(やろう)! YAROU! ซึ่งเป็นคำสแลงที่แปลว่าผู้ชาย! ก็คือกระตุ้นให้ผู้ชายมาเต้น มาร่วมสนุกด้วยกัน
ถ้าพูดถึงลักษณะธุรกิจประเภทไลฟ์เฮาส์ ที่ต่างจังหวัดอื่นๆ นอกจากโตเกียว ยังพออยู่ได้ แม้จะเล็กๆ สถานที่หนึ่งจะมีเพียงห้องเดียวไม่ได้แยกห้องแยกประเภท ไม่เด่นดังแต่ก็มีนักร้องที่มีชื่อเสียงไปจัดแสดงด้วยเสมอ อย่างเช่น วง DIR EN GREY , วง 黒夢 Kuroyume ก็เคยมาแสดงที่ไลฟ์เฮาส์ที่จังหวัดไซตะมะด้วย ซึ่งวง 黒夢 Kuroyume ก็มักจะพูดว่า また野郎ぜ! Mata YAROU ze! วง Kuroyume นั้นมีการกำหนดวันแสดงดนตรีสำหรับ Boys day เฉพาะหนุ่มๆ เท่านั้นที่จะสามารถเข้ามาร่วมในงานได้ (และมีวันสำหรับ girls day ด้วย) ซึ่งวงนี้เป็นวงดนตรีร็อก ที่มีกำเนิดมาจากนาโกย่า มีอิทธิพลอย่างชัดเจนต่อจากวิชวลเคโดยได้รับการยกย่องว่าเป็นแรงบันดาลใจให้กับวงดนตรีอีกหลายวง เนื่องจากเกิดจากนาโกย่า จึงถูกเรียกว่า Nagoya kei (名古屋系) หรือ ถือเป็นกลุ่มย่อยของวิชวลเคที่พัฒนาขึ้นที่เมืองนาโกย่าประเทศญี่ปุ่น วงดนตรีที่เล่นสไตล์เดียวกันกับ Nagoya ke ได้รับอิทธิพลทางดนตรีมากขึ้นจากวงดนตรีพังก์ร็อกตะวันตก วงดนตรีที่โดดเด่นของ Nagoya Kei ได้แก่ Nagoya Kei Fanatic◇Crisis,Laputa,ROUAGE,Silver-Rose และ Kuroyume ด้วย บางครั้งวงดนตรีจากนาโกย่า (ไม่ว่ายุคสมัยใด) ก็จะถูกมองว่าเป็น Nagoya kei ไปโดยอัตโนมัติครับ ขนาดไลฟ์เฮาส์ที่ต่างจังหวัดยังมีนักร้องที่มีชื่อเสียงมาแสดง ซึ่งแน่นอนว่าที่โตเกียวก็มีนักร้องระดับ high level มาร่วมเช่นกัน
แต่นักดนตรีอิสระที่จะแสดงดนตรีสดที่ไลฟ์เฮาส์ ต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าของไลฟ์เฮาส์ด้วย นั่นหมายถึงผู้ที่มีความชอบในดนตรีจะมีค่าใช้จ่ายในชีวิตสูงมาก ไม่ใช่แค่ค่าเครื่องดนตรีที่มีราคาแพง แต่ค่าจัดการแสดง ค่าเช่าเวลาและสถานที่ในไลฟ์เฮาส์ ก็แพงมากๆ ประมาณว่าเงินก็ไม่ได้แล้วยังต้องจ่ายค่าแสดงอีก บางคนไม่รู้ว่าพวกนักดนตรีร็อกที่รูปลักษณ์ภายนอกดูเจิดจ้าฉูดฉาด แต่ที่จริงแล้วภายในของพวกเขาส่วนใหญ่กลับเป็นคนเก็บตัว ส่วนใหญ่ฝึกดนตรีแบบโดดเดี่ยวในห้องของตัวเองหรือกลุ่มเพื่อนไม่กี่คน ด้วยความที่มีเพื่อนน้อยจึงเป็นเรื่องยากที่จะขายตั๋วจัดแสดงให้แฟนคลับจำนวนมาก และไลฟ์เฮาส์ก็ไม่ได้ช่วยเรื่องการขายตั๋วเป็นสถานที่ให้เช่าเท่านั้น เป็นสาเหตุทำให้นักร้องนักดนตรีส่วนใหญ่ไส้แห้ง และเป็นผู้ชายที่อยู่รอดด้วยการมีแฟนเลี้ยงดูค่อนข้างเยอะ แบบนี้เองทำให้คนที่มีความฝันอยากเป็นนักร้องนักดนตรี เกิดความสิ้นหวังอยู่เหมือนกัน ยิ่งสมัยก่อนนั้นยังไม่มี Social Network หรือ เครือข่ายสังคมออนไลน์ ด้วยแล้ว ต้องเสียเงินค่าโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ต้องเสียเงินค่าโฆษณาเองอีกก็ไม่ไหว หรือไม่ก็ทำใบปลิวไปเดินแจกกันเองลำบากมาก
สามารถพูดได้เลยว่า "แม้ว่าเงินไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต แต่เงินก็มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต" การอยู่แบบนักดนตรีญี่ปุ่นผู้ตามหาฝันเหมือนสมัยก่อนนั้นอยู่ยากเกินไป นั่นหมายถึงไลฟ์เฮาส์ เป็นสถานที่ได้ผลประโยชน์ที่มาจากลูกค้าที่มาใช้บริการ และรายได้หลักมาจากนักร้องนักดนตรีที่มาเช่าสถานที่ คือมีแต่ได้กับได้
เมื่อ 池袋サイバー Ikebukuro cyber ปิดตัวลง จึงสะท้อนให้เห็นว่ารูปแบบการขับเคลื่อนแบบเดิมอาจต้องเปลี่ยนแปลงไป นักดนตรีไม่จำเป็นต้องเช่าสถานที่เพื่อแสดงผลงานก็สามารถสร้างสรรค์งานของวงได้ที่ช่องทาง Social Network หรือ เครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ ซึ่งต่อไปนี้ไลฟ์เฮาส์ก็อาจจะไม่จำเป็นและไม่เหมาะสมกับสถานการณ์อีกต่อไป เพราะคนรุ่นใหม่สามารถทำผลงานในช่องทางส่วนตัวดีกว่าจะต้องเอาเงินไปจ่ายค่าเช่าราคาแพง
ความรักในดนตรีของมวลมนุษยชาติไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต แต่จากนี้ไปผมคิดว่ามันจะมีความเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างรูปแบบวัฒนธรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น หนึ่งปีนี้ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เวลาไม่เคยย้อนกลับ มีแต่เดินต่อไปข้างหน้านะครับ สำหรับปีนี้ผมขอขอบคุณเพื่อนๆ ทุกคนที่เข้ามาอ่านบทความ ขอบคุณอีกครั้งครับและพบกันใหม่ปีหน้า ที่ mgronline 、Marunouchi cafe นะครับ 今年も1年間読んでいただきありがとうございました。来年もmgronline 、Marunouchi cafe をよろしくお願いします。 วันนี้สวัสดีครับ