คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน ห่างหายไปสามสัปดาห์รู้สึกคิดถึงเพื่อนผู้อ่านจังเลยค่ะ ที่ผ่านมาฉันไปทำธุระปะปังทั้งที่ญี่ปุ่นและเมืองไทย ได้สังเกตพบอะไรต่อมิอะไรมาเพิ่มเติม ก็เลยตื่นเต้นเก็บมาเล่าให้เพื่อนผู้อ่านฟังนี่แหละค่ะ
เรื่องแรกเป็นเรื่องของรถประจำทางหรือรถเมล์ในญี่ปุ่น ฉันไม่ได้ขึ้นรถประจำทางของญี่ปุ่นเสียนาน จะว่าไปแล้วก็นึกได้ว่ายังไม่เคยเล่าเรื่องรถประจำทางเท่าใดนัก เลยขออธิบายนิดหนึ่งนะคะ ที่ญี่ปุ่น รถประจำทางในแต่ละท้องถิ่นจะใช้ระบบจ่ายเงินไม่เหมือนกัน บางแห่งก็ค่ารถเท่ากันตลอดสาย แบบนี้มักขึ้นรถแล้วจ่ายเงินเลย บางแห่งโดยเฉพาะตามชนบทจะคิดค่ารถตามระยะทางที่เรานั่ง ซึ่งต้องจ่ายค่ารถตอนลง
ถ้าเป็นแบบหลังนี้ ตอนขึ้นให้รับตั๋วจากเครื่องอัตโนมัติ เครื่องจะดูเหมือนกล่องเล็ก ๆ อยู่ทางขวามือตรงทางขึ้น ตั๋วจะระบุหมายเลขไว้ พอขึ้นรถแล้วจะเห็นว่าทางด้านหน้าของตัวรถมีจอขึ้นตัวเลขเป็นไฟสีแดงระบุว่าตั๋วหมายเลขใดต้องจ่ายราคาเท่าใด พอรถวิ่งไปเรื่อย ๆ ตัวเลขราคาจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตาม แล้วพอตอนลงเราก็ค่อยจ่ายตามราคาที่แสดงไว้บนจอนั้น
แต่ว่าหากใช้บัตรเติมเงิน ก็ให้แตะที่เครื่องตรวจบัตรตอนขึ้นรถและแตะอีกครั้งตอนลงรถ เครื่องจะคิดเงินให้อัตโนมัติ ทั้งนี้ในแต่ละท้องถิ่นหรือแต่ละบริษัทรถอาจมีวิธีชำระเงินอื่น ๆ แยกย่อยออกไปอีก
พวกรถประจำทางที่จอดตามสถานีรถไฟใหญ่ ๆ ในญี่ปุ่นจะมีด้วยกันหลายสาย พื้นที่สำหรับขึ้นรถประจำทางเหล่านี้ หรือที่เรียกกันว่า Bus Terminal จะแยกออกเป็นสัดส่วนเฉพาะอยู่ด้านใดด้านหนึ่งนอกสถานีรถไฟ มีป้ายขึ้นรถประจำทางหลายจุดระบุหมายเลขป้ายเอาไว้
หากใครเคยไปเที่ยวต่างจังหวัดญี่ปุ่นโดยรถไฟแล้วต้องต่อรถประจำทางไปยังจุดหมายปลายทาง คงพอนึกออกว่าต้องทราบหมายเลขป้ายที่จะไปขึ้นรถไว้ล่วงหน้าก่อน จึงจะหารถประจำทางที่ต้องการขึ้นเจอ โดยป้ายหนึ่ง ๆ อาจมีรถประจำทางมากกว่าหนึ่งสายที่ผ่าน ซึ่งถ้าเป็นคนต่างชาติแล้ว ก็อาจยากพอสมควรที่ขึ้นรถประจำทางในญี่ปุ่น ....แต่ล่าสุด ฉันพบว่ามีการอำนวยความสะดวกให้กับชาวต่างชาติมากขึ้นแล้ว
ฉันจำได้ว่าเมื่อก่อนเวลาจะไป ตม. (สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง) ญี่ปุ่น ก็ต้องไปขึ้นรถประจำทางตรงป้ายที่อยู่ใกล้สถานีใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว ที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษนอกจากหาป้ายให้ถูกหมายเลขแล้วไปขึ้นรถ ผู้โดยสารมักจะเยอะตอนช่วงเช้าอยู่แล้วและเป็นคนต่างชาติโดยส่วนใหญ่ จึงค่อนข้างแน่ใจได้ว่าขึ้นรถไม่ผิดคัน
ครั้งล่าสุดที่ไปพบว่า มีเจ้าหน้าที่มาคอยอำนวยความสะดวกกันถึงสามนาย พวกเขาเอาเครื่องตรวจบัตรโดยสารแบบเติมเงินมาตั้งรออยู่ที่ป้ายรอรถประจำทาง พอผู้โดยสารมาถึง เจ้าหน้าที่จะเรียกให้แตะบัตรที่เครื่องนี้ แล้วให้ขึ้นรถได้เลย ไม่ต้องไปรอต่อคิวแตะบัตรบนรถอย่างที่ผ่านมา พอรถคันแรกเต็มแล้วออกไป คันที่สองและสามซึ่งรออยู่แล้ว ก็สามารถรับผู้โดยสารที่แตะบัตรโดยสารแล้วขึ้นรถต่อได้เลย
การบริการแบบนี้ทำให้สะดวกรวดเร็วกว่าเมื่อก่อนมาก ยิ่งไปกว่านั้นเจ้าหน้าที่ก็สื่อสารภาษาอังกฤษได้ด้วย เข้าใจว่าที่มีการอำนวยความสะดวกเช่นนี้ คงเป็นเพราะมีชาวต่างชาติมาทำงานในญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งก็เพื่อให้รถประจำทางออกตรงตามเวลาไม่สะดุด เพราะว่าระหว่างทางก็ต้องรับผู้โดยสารเหมือนรถประจำทางทั่วไป เพียงแต่เป็นรถประจำทางระยะสั้นที่วิ่งเพียงไม่กี่ป้ายเท่านั้น
ถัดจากเรื่องของรถเมล์ มาที่เรื่องของรถไฟใต้ดินกันต่อค่ะ เรื่องมีอยู่ว่า...วันหนึ่งระหว่างที่ฉันโดยสารรถไฟใต้ดิน ก็สังเกตเห็นป้ายวาดเป็นรูปตัวการ์ตูนแปะอยู่ในขบวนรถ เตือนให้ผู้โดยสารที่รู้สึกไม่สบายว่าอย่าฝืน ให้ลงสถานีถัดไปแล้วแจ้งเจ้าหน้าที่ได้โดยไม่ต้องเกรงใจ ถ้าไม่เห็นเจ้าหน้าที่ก็ให้ไปกดเรียกที่เครื่องซึ่งติดตั้งอยู่ตามชานชาลา หรือถ้าเป็นเหตุด่วน ก็ให้ผู้โดยสารอื่น ๆ ที่เห็นเหตุการณ์กดปุ่มภายในขบวนรถเพื่อแจ้งต่อคนขับรถไฟได้
ป้ายนี้ทำให้ฉันนึกไปถึงเรื่องที่ได้ยินมาเมื่อไม่กี่ปีก่อน คือมีเด็กนักเรียนหญิงวัยรุ่นคนหนึ่งขอให้ผู้หญิงวัยห้าสิบซึ่งนั่งอยู่ตรงที่นั่งสำหรับบุคคลพิเศษ (priority seats) ช่วยสละที่นั่งให้เธอด้วยเพราะเธอไม่สบาย ผู้หญิงคนดังกล่าวก็ตำหนิเธอทำนองว่า "อายุยังน้อยแท้ ๆ ทำไมต้องมาขอนั่งด้วย ฉันเองก็เหนื่อยนะ" ส่วนคนอื่น ๆ ที่นั่งอยู่ก็ไม่มีทีท่าจะลุกให้เธอนั่งเช่นกัน และแล้วไม่ทันไรเด็กนักเรียนคนนี้ก็ล้มตึงลงไปนอนกับพื้นไม่ขยับตัว คนรอบข้างตกใจ และมองผู้หญิงคนดังกล่าวด้วยสายตาตำหนิ
สาเหตุหนึ่งที่ไม่มีใครยอมลุกให้นั่งอาจเป็นเพราะภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยดีนักของเด็กนักเรียนวัยรุ่น คือบางคนก็ชอบไปนั่งที่สำหรับบุคคลพิเศษ อีกทั้งมัวแต่เล่นมือถือ ปล่อยให้คนสูงอายุ คนท้อง คนพิการหรือเจ็บป่วยต้องยืน เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดี เหตุการณ์นี้ชวนให้คนจำนวนมากได้คิดว่า สมควรให้คนที่ดูท่าทางไม่สบายได้นั่งที่นั่งสำหรับบุคคลพิเศษด้วย ไม่ใช่ว่าต้องอายุมากเท่านั้นจึงนั่งได้ และควรช่วยกันสังเกตใส่ใจคนรอบตัวที่อาจจำเป็นต้องนั่งด้วย
สมัยที่ฉันอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น บางครั้งระหว่างโดยสารรถไฟก็ได้ยินเสียงประกาศว่ารถไฟต้องหยุดจอดชั่วคราวเนื่องจากมีผู้โดยสารที่ไม่สบาย พอได้ยินแบบนี้หลายครั้งก็อดแปลกใจไม่ได้ว่ามีคนป่วยหนักกระทันหันบ่อยขนาดนั้นเลยหรือ? แต่การที่รถไฟมีโปสเตอร์แปะไว้ดังรูปข้างต้น ก็แสดงว่าคงมีเหตุการณ์เช่นนี้บ่อยจริง และสำหรับคนญี่ปุ่นที่มักขี้เกรงใจแล้ว การมีโปสเตอร์เชิญชวนให้ลงจากรถไฟและเรียกเจ้าหน้าที่ได้โดยไม่ต้องเกรงใจ ก็น่าจะช่วยให้ผู้โดยสารรู้สึกอุ่นใจที่จะขอความช่วยเหลือแต่เนิ่น ๆ นะคะ
ผู้หญิงญี่ปุ่นคนหนึ่งเล่าว่า เธอดีใจที่เห็นโปสเตอร์นี้ เพราะสมัยยังสาว ๆ ก็เคยไม่สบายอยู่ในบริเวณสถานีรถไฟ และเจ้าหน้าที่ก็เร่งรุดมาให้ความช่วยเหลือพร้อมกับดูแลเธอเป็นอย่างดี เป็นบริการที่เปี่ยมด้วยน้ำใจและน่ารักจริง ๆ ค่ะ
💕
เปลี่ยนมาที่เรื่องของกินกันบ้างค่ะ วันหนึ่งสามีฉันชวนไปรับประทานราเม็งเผ็ดร้านดัง ตอนแรกฉันว่าจะไม่ไปเพราะอยากลดพุง แต่พอได้ยินว่า “ราเม็งเผ็ด” แล้ว ผีตะกละก็เข้าสิง เลยเสียทีตามไปด้วยจนได้ ร้านนี้คงดังจริงเพราะคนต่อคิวกันยาว ระหว่างที่ยืนรอคิวก็เห็นป้ายแปะเต็มรอบร้านว่าไม่ให้ลัดคิว เขียนว่ารอให้ครบคนที่มาด้วยกันก่อนแล้วค่อยไปต่อแถว อย่าลัดคิวโดยให้คนอื่นมาจองที่ไว้ให้ก่อน กรุณาคิดถึงคนอื่นบ้าง
ตามมาด้วยป้ายที่อธิบายยาวเหยียดข้างล่างนี้….
ป้ายเขียนไว้ว่า ถ้าลูกค้ามาถึงร้านแล้วเห็นคนต่อแถวอยู่ก็ให้ต่อแถวตาม รอซื้อคูปองอาหารตามคิว จากนั้นรอให้พนักงานมาต้อนรับ นอกจากนี้ยังห้ามแซงคิวหรือจองที่ให้กัน หากคนไหนไม่ได้มายืนรออยู่ในแถวแต่แรก พอมาถึงแล้วให้ไปต่อที่ปลายแถว และหากจะต้องไปห้องน้ำระหว่างที่ต่อแถวอยู่ ก็บอกลูกค้าคนข้างหน้าและคนข้างหลังให้รับทราบด้วย
แม้จะเห็นด้วยกับเนื้อหาที่เขียนแต่ก็แอบคิดว่าเยอะไปไหมหนอ? ฉันนึกไปถึงเพื่อนคนญี่ปุ่นที่เคยบ่นว่าญี่ปุ่นชอบบอกให้คนต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ไปหมดทุกแห่ง เช่น ต้องประกาศในรถไฟตลอดเวลาเกี่ยวกับมารยาทและสิ่งที่ควรทำ พลางสงสัยว่านอกจากญี่ปุ่นแล้ว จะมีประเทศอื่นอีกไหมนะที่เข้มงวดเรื่องมารยาทกันอย่างเป็นกิจลักษณะในที่สาธารณะเช่นนี้
ร้านนี้มีทั้งราเม็งเผ็ดน้อย เผ็ดปานกลาง และเผ็ดจัด เมนูที่ฉันสนใจมีรูปกองไฟ 9 กองแสดงว่าเผ็ดจัด ฉันกลัวว่ามันจะเผ็ดไป เลยถามพนักงานว่าปรับระดับความเผ็ดได้ไหม เขาบอกว่าได้แค่เมนูเดียวซึ่งเป็นเมนูที่ฉันสั่งพอดี ฉันบอกว่างั้นเอาระดับ 5 นะ (ในใจคิดว่าให้ลดความเผ็ดลงเหลือกองไฟ 5 กอง) เขาก็ตอบตกลง
ปรากฏว่าพอมาเสิร์ฟที กลายเป็นว่าเขาเพิ่มระดับความเผ็ดไปอีก 5 เท่า !!!!!
น้ำซุปมาแบบข้นคลั่กจนดูเหมือนราเม็งนั้นคลุกเคล้าอยู่กับซอสข้น ๆ คำแรก ๆ ก็อร่อยดีเหมือนกัน แต่เผ็ดเหลือทนจนรับประทานไม่ลง
หลังจากแสบท้องออกจากญี่ปุ่นอย่างร้าวราน ฉันก็หนีไปซับน้ำหูน้ำตาต่อที่เมืองไทย งวดนี้ฉันกลับกรุงเทพ ฯ แล้วมีความรู้สึกเหมือนสำนวน “บ้านนอกเข้ากรุง” เลยค่ะ รู้สึกตื่นเต้นมากที่เห็นว่ารถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดินขยายออกไปครอบคลุมหลายพื้นที่มากขึ้น ทำให้การเดินทางสะดวกขึ้นกว่าเดิม ไม่รู้ว่าคิดไปเองหรือเปล่านะคะ แต่ฉันรู้สึกว่าการจราจรในบางพื้นที่ติดน้อยลงกว่าเมื่อก่อน
ครั้งนี้ฉันใช้บริการรถไฟใต้ดินบ่อย ด้วยความไม่คุ้นชินก็ทำให้หลงทิศบ้าง ขึ้นและต่อรถไฟไม่ถูกบ้าง แต่ก็พบว่ามีเจ้าหน้าที่รายรอบมากพอที่จะให้ความช่วยเหลือ แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะสวมเครื่องแบบต่างกัน ทำหน้าที่ต่างกัน แต่ก็มีใจให้บริการและตอบคำถามได้ทุกคน อีกทั้งยังสุภาพมาก ก็เลยรู้สึกขอบคุณรถไฟฟ้าใต้ดินที่ให้ความสำคัญกับการสร้างบุคลากร ทำให้ผู้ใช้บริการรู้สึกดี ๆ
มีหลายอย่างเลยค่ะที่ฉันชอบ ไม่ว่าจะเป็นป้ายที่ติดไว้ในทางเดินนอกชานชาลาว่าหากต้องการใช้ห้องน้ำให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งแสดงสัญลักษณ์เป็นรูปคนทำท่าปวดชิ้งฉ่องได้เข้าใจง่ายและน่ารักดี เมื่อก่อนฉันเคยคิดว่ามันลำบากจังที่ตามสถานีรถไฟฟ้าไม่มีห้องน้ำ การมีป้ายแบบนี้ก็คงเป็นประโยชน์มากสำหรับคนที่ต้องการเข้าห้องน้ำฉุกเฉินนะคะ
อีกอย่างที่ชอบคืออนิเมชันอธิบายเรื่องการใช้รถไฟฟ้าอย่างปลอดภัย รวมไปถึงมารยาทในการใช้รถไฟโดยไม่รบกวนคนอื่น ๆ ซึ่งทำออกมาได้น่ารักทีเดียวค่ะ ถ้าทำให้คนมีความตระหนักมากขึ้นได้ก็คงจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยเลย
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
MRT มีห้องน้ำให้บริการนะครับ 🚹🚺
— MRT Bangkok Metro (@BEM_MRT) November 20, 2019
สถานีที่มีห้องน้ำสาธารณะให้บริการ
👉 สถานีกำแพงเพชร
👉 สถานีสวนจตุจักร
👉 สถานีพหลโยธิน
👉 สถานีพระราม 9
👉 สถานีเพชรบุรี
👉 สถานีสุขุมวิท
👉 สถานีคลองเตย
สำหรับสถานีอื่นๆ หากต้องการใช้ห้องน้ำ
สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำสถานีได้เลยครับ~ 😊 pic.twitter.com/60SET7GPqw
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.