พระราชดำรัสในวโรกาสฉลองการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะ ที่ว่า “จะอยู่เคียงข้างประชาชน” และ “ขอให้โลกมีสันติภาพ” สื่อนัยถึงการเป็นพระจักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญ และเจตนารมณ์ในการนำพาญี่ปุ่นก้าวพ้นบาดแผลจากสงคราม
พระราชพิธีที่ได้จัดขึ้นในวันอังคารที่ 22 ตุลาคม สมเด็จพระจักรพรรดิทรงประกาศการขึ้นครองราชย์ต่อหน้าผู้นำ และผู้แทนจากหลายประเทศ ทรงมีพระราชดำรัสในแนวเดียวกับพระราชดำรัสของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ พระเจ้าหลวง เมื่อครั้งพระราชพิธีเมื่อปี 2533 คือ เน้นถึงการเป็น “จักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญ ผู้เป็นสัญลักษณ์ของชาติ และศูนย์รวมจิตใจของประชาชน”
ข้อความเช่นนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น ซึ่งเปลี่ยนแปลงสถานะของพระจักรพรรดิจากการเป็นสมมมุติเทพ มาอยู่ภายใต้กฎหมายและอำนาจอธิปไตยของประชาชน โดยสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ก็เคยมีพระราชดำรัสในหลายโอกาส แสดงถึงการ “ยอมรับ” สถานะเช่นนี้
อย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้สมเด็จพระจักรพรรดิได้ตรัสถึงสันติภาพโลก และทรงมีดำรัสว่าจะอยู่เคียงข้างประชาชน ซึ่งเนื้อหาเหล่านี้เพิ่มขึ้นจากพระราชดำรัสในพระราชพิธีขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ก่อน
สมเด็จพระจักรพรรดิมีพระราชดำรัสว่า "ข้าพเจ้าจะดำรงตนตามรัฐธรรมนูญและปฏิบัติภารกิจตามความรับผิดชอบในฐานะสัญลักษณ์ของประเทศ และเอกภาพแห่งประชาชนชาวญี่ปุ่น ตลอดจนปรารถนาให้ประชาชนมีความผาสุกและขอให้บังเกิดสันติภาพแก่โลก ข้าพเจ้าจะนึกถึงประชาชนและอยู่เคียงข้างประชาชน ด้วยสติปัญญาและความอุตสาหะอย่างไม่ย่อท้อของประชาชนชาวญี่ปุ่น ข้าพเจ้าหวังอย่างจริงใจว่าประเทศญี่ปุ่นจะพัฒนาก้าวหน้าตลอดจนสร้างสัมพันธ์และสันติภาพแห่งประชาคมนานาชาติ รวมถึงสวัสดิภาพและความเจริญรุ่งเรืองของมนุษยชาติ"
ทั้งนี้ สมเด็จพระจักรพรรดินารูฮิโตะได้ตรัสว่าจะทรงอยู่เคียงข้างประชาชนเช่นกัน ในพระปฐมบรมราชโองการเนื่องในโอกาสขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม และในการพระราชทานสัมภาษณ์เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์
นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในฐานะตัวแทนของชาวญี่ปุ่นได้กราบบังคมทูลถวายพระพรว่า "ประชาชนชาวญี่ปุ่นจะตั้งใจอีกครั้งในการดำเนินความพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อสร้างอนาคตที่สดใสแก่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่พวกเราภาคภูมิใจ ประเทศแห่งสันติภาพและเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง และสร้างยุคสมัยแห่งวัฒนธรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นและงอกงาม เมื่อประชาชนรวมหัวใจและจิตใจไว้ด้วยกันในวิถีที่สวยงาม"
ถ้อยคำของนายอาเบะสอดคล้องกับที่เคยอธิบายไว้ในตอนประกาศชื่อรัชสมัยใหม่ “เรวะ” ว่า ในรัชสมัยนี้ ชาวญี่ปุ่นและชาวโลกจะประสานใจกันอย่างงดงาม วัฒนธรรมจะก่อกำเนิดและเติบโต ในยุคเรวะชาวญี่ปุ่นทุกคนจะสามารถบรรลุความฝันได้ด้วยความพยายามของตน เหมือนกับดอกบ๊วยที่ผลิบานท่ามกลางอากาศที่หนาวเหน็บ.