xs
xsm
sm
md
lg

ยลศิลป์ยินญี่ปุ่น “ภาพหญิงงามยามร่ายรำเรียบง่าย”

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


“ยลศิลป์ยินญี่ปุ่น” คือมุมพิเศษมุมใหม่ที่มาแทน “สะดุดคำ” หลังจากที่ได้นำเสนอมาครบ 3 ปีเต็ม มุมนี้จะแนะนำญี่ปุ่นผ่านงานศิลปะเดือนละครั้ง ด้วยการบอกเล่าแง่มุมที่น่าสนใจในเชิงศิลปะ สังคม และเกร็ดประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการมองผ่านจิตรกรรมประเภทต่าง ๆ ของญี่ปุ่น ประกอบกับคำอธิบายสะท้อนภูมิหลังทางยุคสมัยในลักษณะที่หาอ่านที่อื่นได้ยาก

ผู้หญิงในชุดกิโมโนสีแดงส้มยื่นมือขวาออกไปข้างหน้า มือกำพัดไว้ในแนวขวาง หันปลายพัดที่คลี่น้อย ๆ ออกไปด้านนอก ท่าทางแบบนี้ไม่ใช่อากัปกิริยาปกติเป็นแน่ ว่าแต่...ทำไมถึงอยู่ในท่านี้?

นี่ไม่ใช่ท่วงท่าที่ผู้คนจะลุกขึ้นมาทำในชีวิตประจำวัน ถ้าคนญี่ปุ่นดูก็คงพอจะเดาได้ว่าภาพนี้มีต้นแบบมาจากอะไร แต่ถ้าเป็นคนต่างชาติก็อาจจะเดาไม่ออกหากไม่มีความรู้เกี่ยวกับการแสดงดั้งเดิมของญี่ปุ่น

สตรีในชุดแดงส้มผู้นี้ทำท่าร่ายรำอันเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะการแสดงที่เรียกว่า “โน” หรือ “ละครโน” (能;Nō) ซึ่งถือเป็นศิลปะการแสดงที่สำคัญของญี่ปุ่น โดยออกเสียงว่า “โน” เสียงยาว ไม่ใช่ “โนะ” และภาษาอังกฤษมักเขียนว่า Noh ถ้าเป็นภาพเขียนว่าด้วย “โน” ภาพนี้คือผลงานที่รู้จักแพร่หลายที่สุด มีชื่อว่า “โจะ-โนะ-ไม” หรือ “การร่ายรำปฐมบทของโน” (序の舞;Jo no mai)

หากเทียบกับละครคาบูกิที่จัดฉากอลังการและใช้ผู้แสดงจำนวนมาก ชื่อของ “โน” คงไม่คุ้นหูคนต่างชาติเท่าไรนัก ความสนุกเพลิดเพลินก็น้อยกว่าเพราะมีการเคลื่อนไหวไม่มากเท่า อีกทั้งยังดำเนินเรื่องด้วยการเล่าเป็นเพลงด้วยภาษาเก่าพร้อมกับการร่ายรำประกอบเสียงดนตรีโหยหวนเนิบ ๆ เป็นหลัก...ไม่ต้องบอกก็พอจะเดาออกได้ว่าบรรยากาศชวนให้ง่วงแค่ไหน คนรุ่นใหม่ที่กระตือรือร้นสนใจไปดูก็มีไม่มาก อย่างไรก็ตาม ในฐานะศิลปะการแสดงเก่าแก่ จึงมีการอนุรักษ์ ศึกษาวิจัย และจัดแสดงอย่างกว้างขวางทั่วญี่ปุ่น และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโกตั้งแต่ปี 2008


เวทีแสดงโนและการแสดง
ในฐานะภาพเขียนของญี่ปุ่น ภาพที่มีผู้หญิงเป็นองค์ประกอบเด่นเช่นนี้ ไม่ว่าจะได้ต้นแบบจากการแสดง หรือบทประพันธ์ หรือคนจริง ๆ ก็แล้วแต่ วงการศิลปะตั้งชื่อให้ว่า “ภาพหญิงงาม” เรียกเป็นชื่อเฉพาะในภาษาญี่ปุ่นว่า “บิจิน-งะ” (美人画; Bijin-ga) นั่นหมายความว่า ภาพที่ปรากฏย่อมสะท้อนรสนิยมต่อความงามของสตรีในยุคนั้น ทำให้คนรุ่นหลัง ๆ ประเมินได้ว่าหน้าตาแบบไหนถือว่าสวยงามในยุคก่อน และเมื่อมองจากภาพเขียนโบราณของญี่ปุ่นจำนวนมากรวมทั้งภาพนี้ ก็พอจะบอกได้ว่ารูปหน้าของสตรีสมัยก่อนที่ถือว่าสวยคือหน้ากลม ๆ ดูอูม ๆ มีเนื้อหน่อย ๆ ปากเล็ก ตาเรียว ดูเฉี่ยว ๆ และเครื่องหน้าไม่เด่นชัดนัก ซึ่งต่างจากค่านิยมสมัยนี้

“การร่ายรำปฐมบทของโน” (231.3×140.4 ซม.) เป็นงานจิตรกรรมประเภทภาพหญิงงาม เรื่องความงามของคนในภาพคงแล้วแต่คนมอง แต่ที่แน่ ๆ นี่คือภาพเขียนหญิงงาม (ไม่ใช่ภาพพิมพ์) ที่โด่งดังที่สุดภาพหนึ่งของญี่ปุ่นและได้รับเลือกให้ปรากฏบนแสตมป์ด้วย ภาพดูเรียบง่ายเหมือนลอยอยู่นิ่ง ๆ ก็จริง แต่วงการประเมินว่ามีความลุ่มลึกไม่เหมือนใคร คนในนั้นแลดูเหมือนอยู่เฉย ๆ แต่หากมองดี ๆ จะเห็นความตื่นตัวอยู่ในที ซึ่งคาดว่าคงมาจากแขนขวาที่ยกขึ้น กับแขนซ้ายที่ไม่ได้ปล่อยให้คลายตัวอย่างสบายเสียทีเดียว ทว่ากำมือหลวม ๆ และเกร็งเล็กน้อย พร้อมที่จะขยับเพื่อร่ายรำเป็นท่าถัดไป

สายตาจ้องแน่วแน่เหมือนจดจ่ออยู่กับอะไรสักอย่าง ชุดกิโมโนที่ใส่ก็ใช้สีสะดุดตา ผ้าคาดเอวลงลายอย่างละเอียด แต่เส้นขอบโครงร่างของตัวผู้หญิงดูเหมือนจะกลืน ๆ ไปกับพื้นหลัง ไม่ได้มีการตัดเส้นให้เด่นเหมือนภาพเขียนแนวตะวันตก ตรงนี้เองที่เป็นลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งของภาพเขียนตามขนบญี่ปุ่น กล่าวคือ เรียบเนียนหารอยแบ่งแยกได้ยากระหว่างพื้นหลังกับองค์ประกอบหลัก และสำหรับผลงานชิ้นนี้ซึ่งปัจจุบันเป็น “สมบัติทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่ง” ผู้วาดบอกว่านี่คือภาพสตรีในอุดมคติที่ดีที่สุดและตัวเองก็ชื่นชอบด้วย ปัจจุบันภาพเก็บรักษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งโตเกียว
แสตมป์ที่ใช้ภาพ “การร่ายรำปฐมบทของโน”
เรื่องคุณภาพของงานนั้นก็อย่างหนึ่ง ส่วนในอีกด้าน สิ่งที่ทำให้ภาพนี้มีเรื่องให้พูดถึงคือตัวคนวาดนั่นเอง โดยทั่วไปโลกศิลปะของญี่ปุ่นในสมัยก่อนคือพื้นที่ของผู้ชาย ผู้หญิงในฐานะจิตรกรเป็นเรื่องไกลห่างจากความรับรู้ของสังคม สิบนิ้วมือคงจะเหลือเมื่อนับชื่อศิลปินหญิงที่ผู้คนจดจำได้เป็นวงกว้าง อย่างไรก็ตาม แม้มีน้อย แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มี และนั่นหมายความว่าหากหญิงคนใดเข้าไปอยู่ในทำเนียบยอดฝีมือเทียบเคียงกับผู้ชาย ก็มั่นใจได้เลยว่าต้องไม่ธรรมดาแน่ ดังเช่นผู้สร้างสรรค์ “การร่ายรำปฐมบทของโน” ที่ปรากฏสู่สายตาผู้ชมเมื่อปี 1936 ซึ่งขณะนั้นผู้วาดอายุ 61 ปี และอยู่ในวัยบั้นปลายชีวิตแล้ว เธอคือ “อูเอมูระ โชเอ็ง” (上村松園; Uemura Shōen; 1875-1949) ซึ่งสนใจดนตรีที่ใช้ในการแสดงโนเป็นพิเศษและเป็นจิตรกรหญิงของญี่ปุ่นที่ผู้คนจะนึกถึงเป็นคนแรก ๆ
อูเอมูระ โชเอ็ง (1875-1949)
โชเอ็งสร้างผลงานไว้มากมาย ไม่ได้มีเฉพาะภาพหญิงงามอย่าง “การร่ายรำปฐมบทของโน” ซึ่งว่ากันว่าได้ต้นแบบมาจากลูกสะใภ้ของตนเท่านั้น แต่รวมไปถึงภาพที่ได้แรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์และธรรมชาติด้วย หนึ่งในตัวอย่างนั้นคือ “หิมะพระจันทร์ดอกไม้” ซึ่งมาจากฉากในวรรณกรรมโบราณ ทว่าด้วยความโดดเด่นของผลงานภาพสตรี ชื่อโชเอ็งจึงกลายเป็นเหมือนตัวแทนศิลปินผู้วาดภาพหญิงงามไปโดยปริยาย ทังนี้ เมื่อสังเกตลักษณะเด่นในแทบทุกภาพไม่ว่าจะได้โครงเรื่องมาจากที่ไหน สิ่งที่เห็นได้ชัดคือความสบายตา ลักษณะของเส้นที่ดูเรียบร้อย เนี้ยบ และการใช้สีเย็น ๆ ดูแล้วให้ความรู้สึกเรียบแต่หรู
“หิมะพระจันทร์ดอกไม้” (ดูจากขวาไปซ้าย)
ชีวิตของอูเอมูระ โชเอ็งมีดรามาไม่แพ้ละครสมัยใหม่และไม่ได้เรียบง่ายเหมือนภาพของตน โชเอ็งผู้เกิดในนครเกียวโตคนนี้ พ่อเสียตั้งแต่ตัวเองอายุได้สองเดือน เมื่อเติบใหญ่แม้เป็นจิตรกรหญิงที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงด้านการงาน แต่ในด้านชีวิตคู่ จะเรียกว่าล้มเหลวก็ไม่ผิดนัก เธอตั้งท้องตอนอายุ 27 ปี ว่ากันว่าฝ่ายชายคือครูคนแรกของเธอเอง แต่เนื่องจากครูผู้นั้นมีครอบครัวอยู่แล้ว ความสัมพันธ์จึงไม่อาจไปต่อได้ แล้วเธอก็เลือกเส้นทางการเป็นแม่โดยที่ไม่ได้แต่งงาน และทนต่อสายตาของสังคมที่มองแบบไม่ค่อยดีนัก ต่อมาเมื่ออยู่ในวัยสี่สิบกว่า ความรักที่มีต่อชายอ่อนวัยกว่าก็ไม่สมหวังอีก การอกหักครั้งใหญ่คราวนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้วาดภาพ “เปลวเพลิง” ที่ไร้ไฟ แต่เป็นรูปวิญญาณของนางในวรรณคดีผู้มีความริษยาอาฆาตเนื่องจากผิดหวังในความรัก

สมัยก่อนพื้นที่ของผู้หญิงถูกจำกัด ไม่ได้มีกระแส “โลกนี้ไม่ใช่พื้นที่ของผู้ชายเพียงฝ่ายเดียว” เหมือนอย่างตอนนี้ การวาดเขียนในสังคมญี่ปุ่นไม่ใช่กิจกรรมของผู้ชายอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่สตรีผู้ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบคนตระกูลสูงมีโอกาสได้ทำด้วย ชุดอุปกรณ์วาดเขียนและพู่กันจึงถือว่าเป็นของหรูหราในฐานะของขวัญที่ติดตัวของสตรีชั้นสูงในยามแต่งงานด้วย ในสมัยเอโดะ (1603-1868) ผู้หญิงมีโอกาสวาดภาพกันในหมู่คนใกล้ชิด แต่ดูเหมือนเป็นแค่งานอดิเรกเท่านั้น ไม่ได้มีโอกาสพัฒนาฝีมือและนำผลงานออกเผยแพร่สู่สายตาคนภายนอกเท่าใดนัก ต่อมาคงด้วยการปรับประเทศให้ทันสมัยและเปิดกว้างมากขึ้นในสมัยเมจิกระมัง ผู้หญิงอย่างอูเอมูระ โชเอ็งจึงมีโอกาสแสดงฝีมือจนเป็นที่ยอมรับ และเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทางวัฒนธรรมเมื่อปี 1948 ก่อนจะเสียชีวิตในปีถัดมาเพราะโรคมะเร็ง สิริอายุ 74 ปี

ชีวิตของจิตรกรผู้สร้างสรรค์ผลงานสวยงามอาจไม่สวยงามเหมือนภาพที่ตนวาดเสมอไป บางครั้งพอรู้เรื่องราวชีวิตของศิลปินแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่า คงเพราะมรสุมทางอารมณ์หรืออะไรแรง ๆ ในชีวิตของศิลปินผู้นั้นนั่นแหละ เขาหรือเธอถึงได้มีแรงกระตุ้นให้ปล่อยพลังสร้างสรรค์ออกมาตรึงตาตรึงใจผู้ชม กรณีของอูเอมูระ โชเอ็งก็อาจเป็นเช่นนั้น แต่ไม่ว่าจะด้วยแรงผลักดันแบบไหน สิ่งที่ต้องขอบคุณโชเอ็งก็คือการวางบรรทัดฐานให้โลกศิลปะได้เห็นว่าผู้หญิงก็วาดภาพผู้หญิงให้เป็นภาพอมตะได้เช่นกัน

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น