คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน ที่ญี่ปุ่นมีของเล่นหลายชิ้นทีเดียวค่ะที่มีประวัติศาสตร์มาไม่ต่ำกว่าร้อยปีไปจนถึงกว่าพันปี แต่ยังมีการผลิตอยู่ในยุคปัจจุบันด้วย บางอย่างยังเป็นของเล่นกันอยู่ บางอย่างเป็นของที่ใช้ในพิธีกรรมของศาลเจ้าชินโต และบางอย่างก็กลายมาเป็นของตกแต่ง เรามาดูกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง
เคนดามะ
สำหรับคนไทยแล้ว ของเล่นโบราณชิ้นนี้น่าจะเป็นที่คุ้นตาและรู้จักกันมากที่สุดชิ้นหนึ่ง ปัจจุบันนอกจากจะมีการแข่งทัวร์นาเมนต์ทั่วญี่ปุ่นทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่แล้ว ยังมี Kendama World Cup ซึ่งมีผู้เข้าร่วมแข่งขันจากประเทศอื่น ๆ ด้วย
คนจำนวนไม่น้อยอาจจะนึกว่าญี่ปุ่นเป็นผู้คิดค้นของเล่นแนวนี้ขึ้น แต่ในความเป็นจริงมีของเล่นที่คล้ายคลึงกันในประเทศอื่นอีกหลายประเทศด้วย ทว่าไม่พบแน่ชัดว่าใครหรือประเทศใดคิดค้นขึ้น เท่าที่มีบันทึกไว้เก่าที่สุดคือพบว่าฝรั่งเศสมีของเล่นแนวเดียวกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เรียกว่า “bilboquet” ในอังกฤษ เยอรมนี หรือเม็กซิโกก็มี แต่รูปร่างต่างกันหมด และเรียกด้วยชื่อต่างกัน
ทางฝั่งของญี่ปุ่นแม้จะไม่มีหลักฐานว่ามีที่มาอย่างไรแน่ แต่จากหลักฐานพบว่าในสมัยเอโดะ (พ.ศ. 2146 - 2411) มี “เคนดามะ” อยู่สองชนิดคือ แบบที่คล้าย bilboquet และแบบที่รูปร่างคล้ายแก้วไวน์ โดยเป็นเกมที่เล่นกันในวงเหล้า
พอเข้ามาสมัยเมจิ (พ.ศ. 2411 - 2455) กระทรวงศึกษาธิการก็เอาเรื่อง “ถ้วยและลูก” มาลงไว้ในหนังสือเด็ก ต่อมาจึงกลายมาเป็นของเล่นเด็กไป และในสมัยไทโช (พ.ศ. 2455 - 2469) ก็มีการประดิษฐ์เคนดามะซึ่งเป็นต้นแบบของเคนดามะยุคนี้ขึ้นมา เคนดามะที่เล่นกันในญี่ปุ่นปัจจุบันจะมีรูปร่างแบบเดียวกันหมด แต่อาจจะออกแบบ ใช้สีสัน และมีลวดลายต่างกัน มีราคาตั้งแต่ถูกไปจนถึงหมื่นกว่าเยน
เคะมาริ
เคะมาริเป็นของเล่นในยุคกว่าพันปีก่อนโดยเริ่มมาจากจีน และเข้าสู่ญี่ปุ่นในยุคอาสึกะ (พ.ศ. 1081-1253) ได้รับความนิยมในราชสำนักสมัยเฮอัน (พ.ศ. 1337-1728) เคะมาริทำจากหนังกวาง ข้างในกลวง วิธีเล่นคือตั้งวง เตะเคะมาริขึ้นไปสูง ๆ แล้วผลัดกันรับส่งให้กันโดยไม่ให้เคะมาริตกถึงพื้น คล้ายเซปักตะกร้อ แต่ใช้เท้ารับส่งอย่างเดียว ต่อมาเคะมาริแพร่หลายไปในหมู่ประชาชนด้วย โดยนิยมเล่นกันไม่จำกัดวัย และเล่นได้ทั้งหญิงชาย
ในจีนเรียกเคะมาริว่า “ชู่จวี” 蹴鞠 ซึ่งเขียนด้วยตัวอักษรแบบเดียวกัน แต่กฎในการเล่นจะไม่เหมือนญี่ปุ่น คือของจีนจะแบ่งทีมออกเป็นสองฝั่ง เตะชู่จวีด้วยเท้าหรือขา ทำแต้มโดยการเตะเข้าห่วงซึ่งตั้งไว้ในที่สูงทางฝั่งของอีกฝ่าย
ปัจจุบันทั้งญี่ปุ่นทั้งจีนต่างก็ยังรักษาการละเล่นดั้งเดิมนี้ไว้ โดยในญี่ปุ่นสามารถหาดูได้ในพิธีกรรมของศาลเจ้าชินโตบางแห่ง ที่โด่งดังคือ “เคะมาริฮาจิเมะ” (蹴鞠始め)ของศาลเจ้าชิโมงาโมะ จังหวัดเกียวโต ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 4 มกราคมของทุกปี ผู้เล่นจะแต่งกายในชุดย้อนยุคไปในสมัยเฮอัน ส่วนจีนมีจัดแสดงการเล่นชู่จวีในกรุงปักกิ่ง และผู้เล่นก็แต่งกายย้อนยุคไปในสมัยราชวงศ์ฮั่น ซึ่งเป็นยุคที่ชู่จวีรุ่งเรืองเช่นกัน
ชมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=nsJvCIXu5cI
เทะมาริ
เทะมาริเป็นของเล่นโบราณของเด็กผู้หญิงที่มีมาแต่สมัยเอโดะ ซึ่งพัฒนาต่อยอดมาจากเคะมาริอีกทีหนึ่ง เล่นโดยการโยนขึ้นไปสูง ๆ แล้วรับส่งด้วยมือไม่ให้ตกพื้น แรกเริ่มเป็นที่นิยมกันเฉพาะในราชสำนัก และลักษณะการเย็บเทะมาริยังบ่งบอกถึงความมีฝีมือของสตรีชั้นสูง และใช้เป็นสิ่งดึงดูดใจชายในยุคนั้นด้วย
เดิมทีเทะมาริทำจากเศษผ้าหรือผ้าเก่าปนด้วยวัสดุธรรมชาติอื่นที่หาได้ เพื่อให้เทะมาริมีความเด้ง และมีเสียงฟังดูน่ารักอยู่ภายใน ไม่ว่าจะเป็นใบสน เปลือกหอย ข้าวสาร เปลือกข้าว นำมาปั้นรวมกันและเย็บเป็นทรงกลมให้แน่นหนา ห่อด้วยผ้าทับและเย็บทำลวดลายด้วยด้ายไหม
ต่อมาเมื่อด้ายฝ้ายเป็นที่แพร่หลาย การทำเทะมาริจึงแพร่หลายไปในหมู่ประชาชนด้วย แต่ละท้องถิ่นจะมีเอกลักษณ์ในการออกแบบและใช้วัสดุต่างกัน นอกจากนี้ เทะมาริที่ทำด้วยด้ายฝ้ายยังทำให้เทะมาริมีความเด้ง การเล่นจึงเปลี่ยนจากการรับส่งไม่ให้ตกพื้นอย่างเดียว กลายมาเป็นเล่นให้กระดอนที่พื้นได้อีกด้วย
เมื่อยางและพลาสติกเข้ามามีบทบาท ความต้องการเทะมาริจึงลดลงเรื่อย ๆ ด้วยมีผู้เกรงว่าเทะมาริจะเลือนหายไปตามกาลเวลา จึงมีการก่อตั้งสมาคมเทะมาริในญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2520 เพื่อธำรงรักษาวัฒนธรรมเก่าแก่นี้ไว้ แม้ปัจจุบันเทะมาริจะไม่ได้มีบทบาทในฐานะของเล่นอีกต่อไป แต่ก็สามารถใช้เป็นของประดับตกแต่ง หรือทำขนาดจิ๋วใช้เป็นเครื่องประดับ และยังเป็นงานอดิเรกที่สืบสานวัฒนธรรมเก่าแก่ของญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน
โคเคฉิ
ตุ๊กตาไม้โคเคฉิถือกำเนิดขึ้นในปลายสมัยเอโดะ ประดิษฐ์ขึ้นโดยช่างไม้ในภูมิภาคโทโฮขุ หรือตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ว่ากันว่าไว้ขายนักท่องเที่ยวที่มาออนเซนในย่านนั้น
โคเคฉิแบบดั้งเดิมแบ่งออกได้เป็น 11 ประเภทตามลักษณะเฉพาะที่ทำขึ้นในแต่ละท้องถิ่น ที่ขึ้นชื่อที่สุดคือชนิดที่เรียกว่า “นารุโกะ” ของจังหวัดมิยางิ ซึ่งในย่านออนเซนนารุโกะจะเต็มไปด้วยร้านรวงที่ขายโคเคฉิชนิดนี้ อีกทั้งยังเป็นแหล่งจัดงานเทศกาลโคเคฉิช่วงปลายฤดูร้อนของทุกปีด้วย
ในงานจะมีการขายโคเคฉิทั้ง 11 ประเภท สามารถเลือกซื้อ ทำเอง หรือดูช่างทำโคเคฉิสาธิตการทำได้ มีจัดแสดงโคเคฉิ และตอนกลางคืนมีพาเหรดคนสวมโคเคฉิทำจากกระดาษ (ซึ่งดูน่ากลัวมาก) และคนสวมกิโมโนลายเดียวกับโคเคฉิออกมาร่ายรำ
ชมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=jDkiSn2Cnvw
โคเคฉิเคยหมดความนิยมลงไปในยุคสมัยไทโช เพราะช่วงนั้นมีของเล่นสมัยใหม่ออกมามากมาย และต่อมาเมื่อมีการตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับโคเคฉิเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2471 ซึ่งตรงกับต้นสมัยโชวะ ก็ทำให้เกิดกระแสนิยมโคเคฉิขึ้นมาใหม่ เดี๋ยวนี้มีโคเคฉิแบบประยุกต์จำนวนมาก คือยังเป็นตุ๊กตาที่ทำจากไม้อยู่เหมือนเดิม แต่ทาสีสันสดใสฉูดฉาด หรือวาดหน้าตาแตกต่างกันออกไป รวมทั้งใช้คาแรคเตอร์ตัวการ์ตูนเรื่องต่าง ๆ มาทำด้วย
โอะเทะดามะ
อาจเคยมีคนเคยเห็นของเล่นชนิดนี้ผ่านตากันมาบ้าง โดยเฉพาะตามร้านขายของที่ระลึกในแหล่งท่องเที่ยวของญี่ปุ่น โอะเทะดามะเป็นของเล่นสำหรับเด็กผู้หญิงทำจากผ้าญี่ปุ่นที่เย็บเป็นถุง ภายในบรรจุเมล็ดถั่ว ไว้โยนเล่นแบบเดียวกับการ juggling หรือจะเล่นแบบหมากเก็บก็ได้ ว่ากันว่าโอะเทะดามะวิวัฒนาการมาจากการเล่นลูกหินซึ่งเข้ามาจากจีนในสมัยนารา (พ.ศ. 1253-1337)
โอะเทะดามะแบบที่เห็นในปัจจุบันนั้นเป็นแบบเดียวกับที่นิยมในสมัยเอโดะมาจนถึงต้นสมัยเมจิ (พ.ศ. 2411-2455) มีวิธีการทำสืบทอดกันมาจากแม่สู่ลูก จากย่ายายสู่หลาน แต่ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา สังคมญี่ปุ่นเปลี่ยนจากครอบครัวใหญ่มาเป็นครอบครัวเล็ก ทำให้การส่งต่อภูมิปัญญาชนิดนี้ค่อย ๆ เลือนหายไป รวมทั้งการมีของเล่นหลากหลายชนิดมากขึ้นก็ทำให้ความนิยมโอะเทะดามะลดลงไปตามลำดับ
เดี๋ยวนี้แม้จะไม่นิยมใช้โอะเทะดามะเป็นของเล่นกันแล้ว แต่ก็ยังมีให้เห็นอยู่ทั้งแบบดั้งเดิมที่ใช้ผ้าญี่ปุ่น หรือแบบสมัยใหม่ที่ทำเป็นตุ๊กตาโอะเทะดามะ โดยทำเป็นรูปสัตว์ แคแร็คเตอร์สินค้า หรือตุ๊กตาแคแรคเตอร์ของแต่ละจังหวัด เช่น รีลัคคุมะ จิบิมารุโกะจัง ฟุนัชชี่ คุมะมง เป็นต้น ช่วยทำให้โอะเทะดามะไม่สูญหายไปตามกาลเวลาได้บ้าง
จะเห็นได้ว่าการสร้างกระแสฮิตหรือไอเดียดัดแปลงของโบราณให้เข้ากับปัจจุบัน มีส่วนสำคัญที่ทำให้ของเล่นโบราณกลับฟื้นคืนชีพมาในยุคนี้ได้อีก จะว่าไปก็แปลกดีเหมือนกันที่ประเทศผู้นำในการผลิตของเล่นใหม่ ๆ ออกมาตลอดเวลาอย่างญี่ปุ่นยังสามารถทำให้ของเล่นเก่า ๆ หลงเหลืออยู่ได้ คงต้องขอบคุณที่มีคนอนุรักษ์และพยายามหาทางสืบทอดกันต่อมา รวมทั้งสร้างกระแสให้ของเล่นเหล่านี้ยังมีคุณค่าอยู่ในใจคนญี่ปุ่นนะคะ
แล้วสมัยเด็ก ๆ เพื่อนผู้อ่านเล่นอะไร หรือจำของเล่นอะไรกันได้บ้างคะ อย่าลืมเล่าสู่กันฟัง แล้วกลับมาพบกันอีกในสัปดาห์หน้านะคะ สวัสดีค่ะ.
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.