เป็นผู้หญิงทำไมทำงานบริษัทหนังโป๊ ? ทำงานอะไร ต้องเปลืองตัวไหม ? พนักงานผันตัวเป็นดาราเป็นเรื่องจริงหรือ ? พนักงานสาวที่ตัดสินใจทำงานกับ SOD ค่ายภาพยนตร์วาบหวิวรายใหญ่ของญี่ปุ่น ตอบคำถามมากมายที่หนุ่ม ๆ ใคร่รู้
ถึงแม้ภาพยนตร์ AV จะเป็นธุรกิจถูกกฎหมายในญี่ปุ่น แต่คงไม่มีผู้หญิงคนไหนตั้งใจที่จะเข้าทำงานกับบริษัทเช่นนี้ บางคนมองว่านี่คืองานที่หมกมุ่นอยู่กับกามราคะ ไม่ใช่งานที่เชิดหน้าชูตาบอกใคร ๆ ได้ แต่ที่บริษัทSOD ก็มีพนักงานหญิงจำนวนไม่น้อย
SOD หรือ Soft On Demand เป็นค่ายหนังวาบหวิวที่ขึ้นชื่อว่าสร้างสรรค์ผลงานด้วยแนวทางแปลก ๆ มากมาย เช่น หยุดเวลา มายากล เลียนแบบภาพยนตร์ดัง ทำให้มีผู้ชื่นชอบไม่น้อย นอกจากนี้ยังมีค่ายหนังที่ผลิตผลงานเพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะอย่าง SILK LABO, บริษัทที่จำหน่ายสินค้าทางเพศ และยังมีโครงการรณรงค์ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย เรียกได้ว่าทำธุรกิจครบวงจร
พนักงานหญิงคนหนึ่งที่ร่วมงานกับSOD มา13 ปี ยอมเปิดใจว่าเธอจบการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวาเซดะ สถาบันการศึกษาชั้นนำของญี่ปุ่น เธอเริ่มเข้าทำงานกับ SOD ในแผนกธุรการ และปัจจุบันได้รับผิดชอบเว็บไซต์ GIRL’S CH ซึ่งเผยแพร่ผลงานสำหรับผู้หญิง
เธอบอกว่า มีคนถามมากมายว่าจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ ทำไมจึงทำงานกับบริษัทหนังโป๊ ? แต่เธอบอกว่าตั้งแต่สมัยเรียน เธอก็มีความฝันที่จะสร้างภาพยนตร์ที่คนดูชอบ และเธอก็คิดว่าหนัง AV คือจินตนาการที่ไร้ข้อจำกัด ไม่ถูกตีกรอบเหมือนภาพยนตร์หรือละครทั่วไป หลายเรื่องราวเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเกิดขึ้นในชีวิตจริงได้
ต้องเปลืองเนื้อเปลืองตัว ?
SOD มีผลงานชื่อดังที่เป็นเรื่องราวของพนักงานสาวที่ผันตัวมาเป็นดารา AV และยังเปิด “ร้านเหล้าพนักงานสาว” ในย่านอากิฮะบาระ ที่พนักงานล้วนแต่งตัวเป็นสาวออฟฟิศสุดเซ็กซี่ ให้บริการด้วยลีลายั่วยวน ทำให้หลายคนคิดว่านี่คือเรื่องจริงของพนักงานหญิงในบริษัท
แต่ความจริงแล้วทั้งหมดเป็น “กลยุทธ์การตลาด” พนักงานหญิงของSOD ไม่มีใครเป็นนักแสดง ทุกคนมีงานของตัวเอง เช่น การตลาด ฝ่ายบุคคล ฝ่ายบัญชี ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฯลฯ เหมือนกับบริษัททั่วไป
แรงกดดันจากครอบครัวและคนรอบข้าง
พนักงานหญิงของSOD เมื่อเริ่มงานกับบริษัท ไม่เพียงแต่ต้องเซ็นสัญญาจ้างด้วยตัวเอง แต่ยังต้องให้ผู้ปกครองยินยอมด้วย โดยทางบริษัทจะระบุเนื้อหาของงานที่รับผิดชอบ และสภาพการทำงานอย่างละเอียด เพื่อลดความกังวลของบรรดาพ่อแม่
พนักงานหญิงของ SOD บอกว่า ถึงแม้บริษัทจะสร้างผลงานเกี่ยวกับเรื่องเพศ แต่ก็เป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง ไม่ควรจะมองด้วยอคติ เรื่องเพศเป็นเรื่องของชายและหญิง เพียงแต่ค่านิยมได้ “ป้ายสี” ว่าผู้หญิงไม่ควรข้องแวะกับเรื่องบัดสีเช่นนี้
พวกเธอบอกว่า ยิ่งเมื่อธุรกิจนี้เป็นเหมือน “โลกของผู้ชาย” บรรดาพนักงานผู้หญิงยิ่งต้องใช้ความพยายามอย่างมาก เพื่อให้ได้รับการยอมรับและก้าวหน้าในหน้าที่การงาน พวกเธอคือผู้กล้า ที่ท้าทายสายตาแห่งมายาคติของผู้คนจำนวนไม่น้อย.