ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
ตอนนี้หันมองไปทางไหนก็เจอแต่คู่วิวาท สหรัฐกับจีนก็ใช่ เกาหลีใต้กับญี่ปุ่นอีกคู่ ทางอังกฤษกับ EU ยังตกลงกันไม่ได้ ในฮ่องกงก็ยังประท้วงไม่เลิก อย่างไรก็ตาม คู่ที่คุยกันรู้เรื่องยังพอมีอยู่ สำหรับคู่ที่จะเอ่ยต่อไปนี้ดูเหมือนผู้คนไม่ค่อยรู้ว่าถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมานาน ที่ไม่รู้คงเพราะมีไม่บ่อยที่คู่นี้จะมีชื่อปรากฏพร้อมกันในเวทีเจรจา ก็อย่างว่า...คนเราถ้าพูดจากันด้วยดีตกลงได้ง่ายมักจะไม่ตกเป็นข่าว คู่ที่ว่านี้คือญี่ปุ่นกับอิหร่าน ซึ่ง ‘น่าสนใจ’ ยิ่งขึ้นเมื่อมีอเมริกาเข้ามาเกี่ยวข้องขณะที่เกิดสถานการณ์ล่อแหลมในช่องแคบฮอร์มุซใกล้กับอิหร่าน
ด้วยระยะทาง ตลอดจนวัฒนธรรมและชีวิตความเป็นอยู่ที่ต่างกันมาก ตอนนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะของญี่ปุ่นตัดสินใจเยือนอิหร่านเมื่อวันที่ 12-14 มิถุนายน 2562 หลายคนจึงเกิดคำถามว่าสองประเทศนี้เกี่ยวข้องกันด้านไหน? ทำไมอยู่ ๆ ผู้นำญี่ปุ่นถึงตัดสินใจไปพบผู้นำอิหร่าน? รู้จักกันดีแค่ไหน? และนี่เป็นครั้งแรกในช่วงไม่ต่ำกว่าสี่สิบปีที่ผู้นำญี่ปุ่นเยือนอิหร่าน...ครั้งที่แล้วคือปี 1978 เป็นการเยือนโดยนายกรัฐมนตรีฟูกูดะ จนบัดนี้ทิ้งช่วงยาวนานกว่าสี่ทศวรรษ ไปยังไงมายังไงถึงเกิดความสัมพันธ์กันได้? อย่าว่าแต่คนนอก แม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็มีไม่เท่าไรหรอกที่รู้ว่า นอกจากการซื้อขายน้ำมันแล้ว ญี่ปุ่นกับอิหร่านสานสัมพันธ์ฉันมิตรในด้านอื่นมานานกว่านั้นมาก
การเมืองระหว่างประเทศเป็นเรื่องซับซ้อนและมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ อย่างเรื่องญี่ปุ่นกับอิหร่าน ด้านหนึ่งอิหร่านไม่ถูกกับอเมริกา ตอนนี้อเมริกาไม่พอใจอิหร่าน กล่าวหาว่าซุ่มพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และพยายามคว่ำบาตรด้วยวิธีต่าง ๆ รวมทั้งบีบให้ขายน้ำมันไม่ได้เพราะเชื่อว่ารายได้ตรงนั้นจะกลายเป็นทุนสำหรับนิวเคลียร์ อเมริกาไม่ได้ทำเพียงลำพัง แต่ยังไปชวนประเทศโน้นประเทศนี้ให้ร่วมคว่ำบาตรด้วย ก่อให้เกิดความตึงเครียดกับหลายประเทศในยุโรปและเอเชียที่ซื้อน้ำมันอิหร่านอยู่เหมือนกัน แม้มีการอนุโลมในเบื้องต้นอยู่บ้างก็ตาม
ย้อนไปในอดีต อเมริกาแค้นอิหร่านมานานแล้ว บาดหมางกันหนักสุดตอนเกิดวิกฤติตัวประกัน 444 วันตั้งแต่ปลายปี 1979 ครั้งนั้นนักการทูตและพลเมืองอเมริกันรวม 52 คนถูกจับเป็นตัวประกันโดยกลุ่มนักศึกษาผู้สนับสนุนการปฏิวัติอิหร่าน (การปฏิวัติอิสลาม) ที่เข้ายึดสถานทูตอเมริกันในกรุงเตหะราน เหตุที่นำไปสู่การทำเช่นนั้นคือ ในอิหร่านเกิดกระแสปฏิวัติต่อต้านชาห์ (กษัตริย์) โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของอิหร่าน ชาห์ทรงลี้ภัยไปอียิปต์และทรงพระประชวรด้วยโรคมะเร็ง จึงเสด็จไปรักษามะเร็งระยะสุดท้ายที่อเมริกา ทีแรกอเมริกาไม่อยากรับ แต่ด้วยแรงกดดันจากหลายฝ่ายจึงยอมในที่สุด
ทางฝ่ายปฏิวัติในอิหร่านเรียกร้องให้อเมริกาส่งตัวชาห์คืน แต่ก็แน่นอนว่าอเมริกาไม่ยอม กลุ่มปฏิวัติในอิหร่านจึงบุกสถานทูตอเมริกันแล้วจับตัวประกันไว้นานปีกว่าถึงจะยอมปล่อย สร้างความเจ็บแค้นให้แก่อเมริกาตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้ ทุกวันนี้อเมริกายังวิพากษ์วิจารณ์อิหร่านในเวทีโลกด้วยสาเหตุต่างกรรมต่างวาระ โดยเฉพาะเรื่องการลอบพัฒนานิวเคลียร์ และที่เน้น ๆ อีกอย่างคือ ตราหน้าอิหร่านว่าสนับสนุนการก่อการร้าย
ในอีกด้านหนึ่ง ญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรกับอเมริกา และเป็นมิตรกับอิหร่านซึ่งเป็นศัตรูของอเมริกา ญี่ปุ่นเป็นลูกค้าน้ำมันของอิหร่านและซื้อมากเสียด้วย โดยซื้อจากอิหร่านมากเป็นในอันดับ 3 มานานปี อย่างน้อยตั้งแต่ปี 1995 ถึง 2007 ก่อนจะเลื่อนไปอยู่ในอันดับ 4-6 ในปีหลังจากนั้น (แหล่งต้นทางนำเข้าสองอันดับแรกคือ (1) ซาอุดีอาระเบีย และ (2) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) แค่นี้ก็ถือว่าอิหร่านมีความสำคัญต่อญี่ปุ่นอย่างสูงแล้ว เพราะเกี่ยวข้องกับพลังงานซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยตรง
น้ำมันดิบที่ญี่ปุ่นนำเข้า ประมาณร้อยละ 90 มาจากตะวันออกกลาง และส่วนใหญ่ต้องผ่านช่องแคบฮอร์มุซแถบชายฝั่งอิหร่านกับอ่าวโอมาน แต่ละวันมีน้ำมันดิบผ่านช่องแคบนี้ประมาณ 17 ล้านบาร์เรล นอกจากเรือบรรทุกน้ำมันของญี่ปุ่นแล้ว ของอีกหลายประเทศก็ต้องผ่านเพื่อขนน้ำมันไปยังประเทศตน สัดส่วนมากที่สุดคือจีน (18%) รองลงมาคืออินเดีย (16%) ญี่ปุ่น (14%) และของอเมริกา (8%) ก็ผ่านเช่นกัน
แต่ทว่าขณะนี้กำลังเกิดความตึงเครียดระหว่างอเมริกากับอิหร่านแถว ๆ นั้นสืบเนื่องจากการคว่ำบาตรของสหรัฐต่ออิหร่านและเหตุโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันของบางประเทศ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน เรือบรรทุกน้ำมันของต่างชาติ 2 ลำถูกยิงโจมตีที่อ่าวโอมาน ลำหนึ่งในนั้นเป็นของบริษัทเดินเรือญี่ปุ่น “โคกูกะ-ซังเงียว” (国華産業;Kokuka-Sangyō) อีกลำเป็นของนอร์เวย์ วันนั้นผู้นำญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการเยือนอิหร่านพอดีด้วย ทางอเมริกาออกมาชี้นิ้วทันทีว่าเหตุที่เกิดขึ้นนี้อิหร่านน่าสงสัยเป็นที่สุด แต่อิหร่านย้อนว่าอย่าพูดมั่ว ไหนล่ะหลักฐาน? จนบัดนี้ก็ยังสรุปไม่ได้ว่าเป็นฝีมือใคร เพราะไม่มีกลุ่มไหนออกมาแสดงตนว่าข้านี่แหละคนทำ
หลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน โดรนลาดตระเวนของอเมริกาถูกยิงตกที่ช่องแคบฮอร์มุซ คราวนี้แหละอิหร่านบอกว่าข้านี่แหละยิง ก็มันบินเข้ามาในน่านฟ้าของเราทำไมล่ะ ทางอเมริกาบอกว่าเปล่านะ...มันอยู่ในน่านฟ้าสากล โต้กันไปโต้กันมา...คนทั่วโลกก็ยังไม่รู้ว่ายังไงกันแน่ แต่ที่แน่ ๆ คือเดือนกันยายนนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐประกาศอีกว่าเราจะคว่ำบาตรอิหร่านให้หนักขึ้น ถึงขั้นที่ว่าใครซื้อขายน้ำมันกับอิหร่านละก็อาจโดนลูกหลงไปด้วย จะไม่อนุโลมเหมือนที่ผ่าน ๆ มาแล้ว และถึงกับขู่ด้วยว่าถ้าจำเป็น ประเดี๋ยวจะปิดช่องแคบฮอร์มุซเสียให้รู้แล้วรู้รอด
ญี่ปุ่นเห็นความตึงเครียดที่ตั้งเค้ามาพักใหญ่แล้ว และตระหนักว่าถ้าเกิดอุปสรรคในการเดินเรือทางช่องแคบฮอร์มุซย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นแน่ นี่คือปัจจัยที่ผลักดันให้ผู้นำญี่ปุ่นไปอิหร่าน โดยเสนอตัวเป็นคนกลางเพื่อโน้มน้าวอิหร่านด้วยว่าอย่าแตะต้องอาวุธนิวเคลียร์เลย ว่าแล้วผู้นำญี่ปุ่นก็คุยกับผู้นำอิหร่านเกี่ยวกับเรื่องที่อเมริกากังวล และได้คำตอบจากทางอิหร่านว่า “อิหร่านไม่ได้คิดจะผลิต ครอบครอง หรือใช้อาวุธนิวเคลียร์” การเยือนครั้งนี้นอกจากเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของตนแล้ว ญี่ปุ่นยังได้แสดงบทบาทในเวทีโลกอีกด้วย แต่ผลสุดท้ายอิหร่านจะได้คุยกับอเมริกาโดยตรงหรือไม่นั้นต้องรอดูกันต่อไป
ตัดภาพมาที่ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับอิหร่านอีกที นอกจากประเด็นน้ำมัน อันที่จริงญี่ปุ่นกับอิหร่านแลกเปลี่ยนกันในด้านวัฒนธรรมมานานแล้ว สินค้าจากเปอร์เซียมาถึงญี่ปุ่นผ่านเส้นทางสายไหมตั้งแต่สมัยโบราณ ความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการสมัยใหม่เริ่มต้นช่วงปลายทศวรรษ 1920 ซึ่งตอนนั้นอิหร่านยังมีระบอบกษัตริย์อยู่ และต่อเนื่องมาโดยตลอดแม้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันก็ยังมีกิจกรรมแนะนำวัฒนธรรมเปอร์เซียในญี่ปุ่นเป็นระยะ
อิหร่านคือแหล่งวัฒนธรรมเปอร์เซีย รุ่งเรืองมาตั้งแต่โบราณทั้งด้านการค้าและศิลปวัฒนธรรม และส่งอิทธิพลไปสู่พื้นที่โดยรอบ ผู้คนก็หน้าตาดีทั้งหญิงและชาย พูดภาษาเปอร์เซียเป็นหลัก ในประเทศไทยคงหาที่เรียนรู้วัฒนธรรมและภาษาเปอร์เซียได้ยาก แต่ในญี่ปุ่นสอนเป็นวิชาเอกระดับอุดมศึกษากันเลยทีเดียว โดยเริ่มเปิดครั้งแรกเมื่อปี 1925 ในสถาบันของรัฐ (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยโอซากะ) หรือเกือบร้อยปีมาแล้ว ในปี 1980 ถัดจากปีที่เกิดการปฏิวัติอิหร่านก็เปิดสอนที่มหาวิทยาลัยโตเกียวภาษาต่างประเทศด้วย และยังมีอีกหลายมหาวิทยาลัยที่สอนภาษาเปอร์เซียเป็นภาษาต่างประเทศภาษาที่ 2
ส่วนความเป็นญี่ปุ่นที่คนอิหร่านรู้จักนั้น ช่วงแรก ๆ หลั่งไหลเข้าไปโดยผ่านภาพยนตร์กับละคร ตอนที่เกิดการปฏิวัติอิหร่านปี 1979 ระบอบกษัตริย์ของอิหร่านถูกโค่นล้ม วัฒนธรรมจากฝั่งตะวันตกถูกปฏิเสธ ภาพยนตร์จากฮอลลิวูด ฝรั่งเศส อิตาลีก็ไม่ได้เข้าสู่อิหร่าน แต่ความบันเทิงยังจำเป็นอยู่ ภาพยนตร์ญี่ปุ่นไม่ต่ำกว่า 100 เรื่องจึงเข้าสู่อิหร่าน รวมทั้งผลงานของผู้กำกับดังอย่างอากิระ คูโรซาวะด้วย คนอิหร่านได้รู้จักญี่ปุ่นผ่านภาพยนตร์ไม่น้อยและรู้สึกใกล้ชิดกับญี่ปุ่นด้วย
ทางด้านละคร ผลงานหนึ่งที่กลายเป็นปรากฏการณ์ความนิยมครั้งสำคัญคือ “สงครามชีวิตโอชิน” (1983) ที่บอกเล่าเรื่องราวการฝ่าฟันความลำบากในชีวิตของผู้หญิงบ้านนอกยากจน โอชินเกิดในจังหวัดยามางาตะ ต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมากมายและผจญสงครามด้วย เรื่องนี้ไม่เพียงแต่โด่งดังมากในญี่ปุ่นโดยมีเรตติ้งสูงสุดที่ 62.9% เท่านั้น แต่ยังออกอากาศในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 60 ประเทศรวมทั้งในอิหร่านและไทยด้วย โดยเฉพาะที่อิหร่านนั้นดังมาก มีเรตติ้งสูงสุดถึง 80% ว่ากันว่าสาเหตุหนึ่งก็เพราะประชาชนเหนื่อยล้าจากสงครามอิรัก-อิหร่าน (1980-1988) และได้รับกำลังใจจากละครสู้ชีวิตเรื่องนี้
เมื่อมองภาพรวม ญี่ปุ่นกับอิหร่านมีภาพลักษณ์ที่ดูเหมือนไม่ได้มีความสัมพันธ์กันนักเพราะเดิมไม่ค่อยมีข่าวคราวเท่าไร แต่เมื่อเหตุการณ์เริ่มบีบคั้นมากขึ้น ชื่อของอิหร่านในส่วนที่เกี่ยวกับญี่ปุ่นจึงปรากฏขึ้นมาถี่ ๆ ในช่วงปีสองปีนี้ คนญี่ปุ่นเองจึงได้ทราบด้วยว่า แท้จริงแล้วสองประเทศนี้เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และมีความสัมพันธ์ราบรื่นมาตลอด ทั้งนี้สถานการณ์แถบอิหร่านและอ่าวเปอร์เซียคงไม่คลี่คลายในเร็ววัน จึงเป็นที่น่าติดตามว่าในเวทีที่มีอเมริกาเข้ามาเกี่ยวข้องนี้ ญี่ปุ่นจะใช้มิตรภาพของตนมาแสดงบทบาทต่อไปอย่างไร
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com