xs
xsm
sm
md
lg

เดาใจคนญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ภาพจาก https://kotobaryoku.com/archives/1341
คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน หนึ่งในวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่เป็นเอกลักษณ์และคนต่างชาติไม่ค่อยทราบหรือเข้าใจยาก น่าจะเป็นเรื่องที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการเดาใจอีกฝ่าย หรืออ่านสถานการณ์ให้ถูกต้อง แล้วทำตัวให้เหมาะสม สิ่งนี้มีบทบาทสำคัญมากในการสื่อสารและในความสัมพันธ์ อีกทั้งเป็นที่คาดหวังระหว่างกันในสังคมญี่ปุ่นด้วยค่ะ

มีหลายคำในภาษาญี่ปุ่นที่สะท้อนเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น 忖度 (ซนตะขุ) ซึ่งหมายถึง “ใส่ใจคาดเดาความรู้สึกของอีกฝ่าย” 気を回す (คิ โอ๊ะ มาวาสุ) คำนี้แปลกตรงที่ในพจนานุกรมญี่ปุ่นแปลว่า “คิดโน่นนั่นนี่เกินความจำเป็น” แต่มักใช้ในความหมายคล้ายกับ 気を遣う (คิ โอ๊ะ สึกาอุ) ที่หมายถึง “ใส่ใจความรู้สึกคนอื่น” และยังมีคำว่า 空気を読む (คูกิ โอ๊ะ โยหมุ) แปลตรง ๆ ว่า “อ่านอากาศ” ใช้ในความหมายว่า “อ่านสถานการณ์จากสีหน้าท่าทาง ถ้อยคำ และบรรยากาศ”

อาจเพราะคนญี่ปุ่นโดยมากไม่ค่อยพูดอะไรตรง ๆ แต่จะใช้สีหน้าท่าทาง หรือกระทั่งคำพูดกำกวมที่รู้กันว่าหมายความว่าอย่างไร ดังนั้น การอ่านอีกฝ่ายออกและเข้าใจสถานการณ์ ตลอดจนทำตัวให้เหมาะสม จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการสื่อสารแบบอ้อม ๆ หรือน้อยถ้อยคำเช่นนี้

อย่างสมมติว่าจะชวนใครไปไหนหรือเสนออะไรแก่คู่ค้า หากอีกฝ่ายตอบว่า “ยากนะ” แสดงว่าเป็นการปฏิเสธ หรือถ้าถามใครเช่น “สีหน้าไม่ดีเลย เป็นอะไรหรือเปล่า” แล้วอีกฝ่ายตอบสั้น ๆ ว่า “นิดหน่อย” ก็บ่งบอกได้ว่าอีกฝ่ายไม่อยากพูดต่อ คนถามก็จะไม่ซักไซ้อีก เป็นต้น

ก่อนที่ฉันจะได้มาอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นเต็มตัว ก็ไม่ได้เข้าใจสิ่งเหล่านี้อย่างถ่องแท้ จนมาวันหนึ่งได้ยินเพื่อนร่วมงานพูดถึงใครบางคนว่า “K.Y.” ฉันงง ถามว่า “K.Y. คืออะไร?” เพื่อนตอบ “ย่อมาจาก คูกิ งะ โยเมไน่ 空気が読めないไง”

K.Y หรือ “คูกิ งะ โยเมไน่” ใช้เรียกคนที่มีลักษณะตรงกันข้ามกับคำอื่น ๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น ซึ่งก็คือคนที่ “ไม่รู้กาลเทศะ” หรือ “เดาสถานการณ์ไม่เป็น” อย่างสมมติว่ามีคนกลุ่มหนึ่งกำลังคุยกันด้วยสีหน้าคร่ำเคร่งอยู่ และมีอีกคนเข้ามาแจมด้วยเรื่องไม่เป็นโล้เป็นพาย โดยไม่สนใจดูสีหน้าท่าทางคนอื่น ๆ หรือสถานการณ์ขณะนั้นเลย หรือผู้ชายที่เผลอไปขึ้นรถไฟตู้ที่จำกัดเฉพาะผู้โดยสารหญิง เพราะตอนขึ้นไม่ทันดูให้ดี คนเหล่านี้จะถูกขนานนามว่า “K.Y.”
“วัดระดับความ K.Y.” “ฉันอ่านสถานการณ์ไม่ออกหรือนี่” ภาพจาก https://mirrorz.jp/
แม้จะไม่ได้อยากเกาะกระแส แต่ฉันเองก็ดันอินเทรน “K.Y.” เป็นคราว ๆ เหมือนกัน เช่น เคยมีหน่วยงานแห่งหนึ่งเชิญที่ทำงานฉันไปร่วมงาน ผ่านไปจนเลยวันกำหนดแจ้งเข้าร่วมแล้ว นายคงเพิ่งไปเจอจดหมายเชิญที่ซ้อนอยู่ท่ามกลางเอกสารกองโต จึงฝากฉันโทรไปถามคนจัดว่ายังเข้าร่วมได้หรือไม่ พอฉันโทรไปถาม เขาก็ตอบว่า “ยากนะครับ”

ตอนนั้นฉันยังไม่รู้ความหมายแฝงของคำว่า “ยากนะ” จึงถามต่อว่า “หมายถึงไม่ได้ใช่ไหมคะ” เขาก็ไม่ตอบตรง ๆ แต่ตอบอ้อมไปมาแบบไม่รับและไม่ปฏิเสธ ฉันจึงเข้าใจไปว่าเขาอาจจะไม่ใช่คนที่มีอำนาจตอบรับหรือปฏิเสธได้หลังเลยกำหนดแล้ว จึงถามต่อว่าถ้าอย่างนั้นฉันต้องคุยสายกับใครที่สามารถให้คำตอบได้ เขาก็ตอบว่าเขาเองแหละ หลังจากถามตอบกันอยู่ยืดยาวเพียงเพื่อเอาคำตอบเยสหรือโน ในที่สุดเขาคงเหนื่อยจึงหลุดคำพูดในทางที่บอกใบ้ให้ฉันมากขึ้นว่าเขากำลังปฏิเสธ ก็เลยได้คำตอบเป็นที่เรียบร้อย เข้าใจตรงกัน

หลังจากวางสายไปด้วยความมึน ฉันก็มานั่งคิดว่าทำไมเขาไม่ตอบเยสหรือโนตรง ๆ นะ เวลานั้นฉันคิดว่าหากเขาตอบมาในแบบที่เข้าใจง่ายกว่า เช่น “ต้องขอโทษด้วยจริง ๆ ครับ” อย่างนี้ก็จะรู้ว่าปฏิเสธ แล้วก็ฟังดูสุภาพดีด้วย

แต่เมื่อนึกถึงว่าคนญี่ปุ่นมักระวังไม่ทำอะไรให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดี และพยายามทำให้อีกฝ่ายรู้สึกดีที่สุดที่จะทำได้ จึงมักคิดอย่างละเอียดลออ เผื่อหน้าเผื่อหลังกันหลายตลบแล้ว ในกรณีก็อาจอธิบายได้ว่าการที่ผู้จัดงานไม่ตอบรับและไม่ปฏิเสธนั้น เป็นเพราะเขาไม่อยากพูดในทำนองว่าเป็นการไม่สะดวกแก่ทางเขา (ที่จะไปแหกกฎให้รับคนหลังเพิ่มได้หลังหมดเขตตอบรับ) เพราะเหมือนเอาตัวเขาเองเป็นที่ตั้ง และไม่คงอยากพูดว่ามันหมดเขตแล้ว ซึ่งเหมือนเป็นการตอกใส่หน้าอีกฝ่ายให้อับอาย แต่นี่ก็เป็นการคาดเดาส่วนตัวนะคะ

พอมาเขียนบทความนี้เข้า ฉันก็ไปจ๊ะเอ๋เข้ากับข้อมูลชิ้นหนึ่งที่บอกว่า เหตุผลหนึ่งที่คนญี่ปุ่นเลี่ยงไม่พูดอะไรตรง ๆ ก็เพื่อเป็นการ “รักษาหน้า” ทั้งของตัวเองและของคนอื่นด้วย มิน่าละ การพูดว่า “ยากนะ” จึงเป็นคำกลาง ๆ ที่นิยมใช้กันเพื่อบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น รักษาหน้าได้ทั้งสองฝ่ายด้วย

สำหรับเรื่องของการคาดเดาใจโดยไม่ต้องให้พูดนั้น เป็นที่ใช้กันและคาดหวังในวงกว้างทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นในครอบครัว ในที่สาธารณะ หรือในที่ทำงาน

เคยได้ยินว่ามีคุณแม่คนหนึ่งเป็นไข้หวัดใหญ่นอนซม ลูกรับประทานข้าวเสร็จก็ทิ้งไว้ในอ่างล้างจานก่อนออกไปโรงเรียนตามความเคยชิน คุณแม่ก็รู้สึกแย่ว่าทำไมลูกไม่คิดบ้างว่าควรจะช่วยแม่ล้างจานในยามที่แม่ป่วยหนัก ทำไมต้องคอยให้บอกไปหมดทุกอย่าง คิดเองไม่ได้หรือว่าควรทำตัวอย่างไร
ภาพจาก https://tg-uchi.jp/topics/5141
กระทั่งว่าจะสละที่นั่งบนรถไฟดีหรือไม่ก็เป็นประเด็น เพราะต้องคาดเดาว่าอีกฝ่ายจะตอบรับหรือปฏิเสธ และถ้าปฏิเสธจะเกิดอะไรขึ้นตามมาบ้าง แล้วตัวเองจะทำอย่างไรต่อ เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เรื่องทั่วไปอย่างการสละที่นั่งกลายมาเป็นเรื่องสลับซับซ้อน คงมาจากระบบความคิดและความรู้สึกที่ซับซ้อนละเอียดอ่อนของคนญี่ปุ่นเอง ไม่ว่าจะเป็น “การเดาใจ” “ความเกรงใจ” “ความไม่สบายใจ” “ความไม่ชอบเป็นจุดเด่น”

เห็นคนญี่ปุ่นบางคนเล่าในเว็บบอร์ดว่าเวลาลุกให้นั่ง คนจำนวนมากจะปฏิเสธ แล้วทีนี้คนที่ลุกให้ก็เดาไม่ถูกว่าอีกฝ่ายปฏิเสธเพราะไม่อยากนั่งจริง ๆ หรือว่าเกรงใจ แล้วตัวเองควรจะเชื้อเชิญให้นั่งต่อหรือเปล่า แถมไม่อยากเป็นเป้าสายตาด้วย สำหรับเขาแล้วรู้สึกว่าเรื่องแบบนี้วุ่นวายมาก เลยตัดปัญหาไม่ลุกให้นั่งเสียเลย หรือบางคนก็ไม่อยากลุกเพียงเพราะกลัวโดนปฏิเสธ

คนญี่ปุ่นที่มาตอบก็ให้ความเห็นหลากหลาย ทำให้มองเห็นภาพได้กว้างขึ้นอีกว่าทำไมคนที่ได้รับน้ำใจถึงปฏิเสธ เช่น ผู้สูงอายุบางคนพอนั่งแล้วจะลุกอีกที มันลุกลำบาก ก็เลยไม่นั่งแต่แรก หรือคนที่อุ้มลูกอยู่อาจกลัวว่าถ้านั่งแล้วเด็กตื่นขึ้นมา จะร้องไห้โวยวาย เลยไม่นั่งก็มี

หรือบางคนก็ปฏิเสธด้วยความเกรงใจ เพราะไม่สบายใจที่ทำให้คนอื่นต้องลุกขึ้นยืนเพราะเขา แต่ฉันคิดว่าถ้ามีใครสักคนที่ลุกให้คนอื่นนั่งก็น่าจะเป็นเพราะเขายินดีที่จะทำอย่างนั้น น่าจะดีใจหากอีกฝ่ายได้สบายขึ้นจากการนั่ง และคงไม่สบายใจถ้าอีกฝ่ายคิดเกรงใจอยู่

มีคนเสนอแนะว่าจะสละที่นั่งอย่างไรโดยไม่ต้องมีดรามา เช่น “ก็ถ้าเขาปฏิเสธ เราก็นั่งต่อไป ไม่เห็นเป็นอะไรเลย ไม่ต้องไปคาดเดาถึงขนาดว่าจริง ๆ แล้วอีกฝ่ายอยากนั่งแต่เกรงใจหรือเปล่า” หรือ “ผมใช้วิธีบอกว่าผมจะลงสถานีหน้า แล้วพอถึงสถานีหน้าก็ลง แต่เดินไปขึ้นตู้ข้าง ๆ แทน” ผู้ชายหลายคนใช้วิธีทำเป็นว่าจะลงแล้ว แต่ไปยืนที่อื่นแทน อย่างนี้ก็เห็นอยู่บ่อยครั้ง บางทีอยากจะตะโกนไปขอบคุณ แต่เดาว่าอีกฝ่ายอาจจะไม่สบายใจ เพราะคนญี่ปุ่นไม่ชอบตกเป็นเป้าสายตา
“วัดระดับความสามารถในการรู้ใจนาย” ภาพจาก https://mirrorz.jp/
ส่วนในที่ทำงาน เจ้านายจำนวนมากจะคาดหวังให้ลูกน้องสังเกต และรู้ว่าเจ้านายต้องการอะไรโดยไม่ต้องให้คอยบอกทุกอย่าง เช่น ให้คาดการณ์ความเหมาะสม และลงมือทำโดยไม่ต้องรอเจ้านายสั่ง หรือให้รู้จักคิดว่าถ้าตัวเองเป็นผู้บริหารจะทำอย่างไร เป็นต้น

แต่การที่เจ้านายเองก็ไม่ระบุให้ชัดเจนว่าต้องการอะไร และลูกน้องก็เดาใจไม่ถูก ทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันได้มาก อย่างในหนังสือแปลจากภาษาญี่ปุ่นชื่อ “จริง ๆ แล้วเจ้านายต้องการอะไรจากเรา” ก็เล่าว่าพอให้ผู้เข้าอบรมที่เป็นเจ้านายเขียนว่าต้องการอะไรจากลูกน้อง และให้ผู้เข้าอบรมที่เป็นลูกน้องเขียนว่า คิดว่านายต้องการอะไรจากเรา ปรากฏว่าแทบไม่มีอะไรที่ตรงกันเลย
ภาพจาก https://www.facebook.com/amarinpublishing/
การที่ลูกน้องบางคนพยายามจะเดาใจนายมากไป แต่เดาผิดและก่อให้เกิดปัญหาตามมาเป็นเรื่องวุ่นวาย ทำให้ปัจจุบันคำว่า 忖度 (ซนตะขุ) ที่หมายถึง “ใส่ใจคาดเดาความรู้สึกของอีกฝ่าย” กลายเป็นคำที่มีความหมายแฝงในแง่ลบไป และมักเอามาใช้ในความหมายว่า “เดาและทำตามความต้องการของเจ้านาย”

ถ้าลองอ่านบทนำ (ไม่ใช่คำนำสำนักพิมพ์นะคะ) ของหนังสือที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นภาพบรรยากาศชัดเจนว่าการสื่อสารระหว่างคนญี่ปุ่นนั้นพูดน้อยและพูดอ้อมกันเพียงไหน จึงไม่แปลกเลยที่จะทำให้เข้าใจไม่ตรงกัน ทำให้ความสัมพันธ์มีปัญหา และเครียดเพราะต้องคอยเดาใจกันไปกันมา วางตัวไม่ถูก

โดยสรุปแล้ว การเดาใจและทำตัวให้เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ก็เป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญ แม้จะถือเป็นเรื่องดีงามและน่าชมเชย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นเหนื่อยด้วยที่ต้องคอยมาคาดเดาให้ถูก หรือคับข้องใจเมื่อคาดหวังแล้วไม่ได้รับสิ่งนี้จากคนอื่น เรียกได้ว่าวัฒนธรรมการเดาใจและทำตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ มีส่วนทั้ง “สร้าง” และ “บั่นทอน” ความสัมพันธ์ได้ไปพร้อม ๆ กันเลยนะคะ

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.





"ซาระซัง"
สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น