xs
xsm
sm
md
lg

นับถอยหลัง 1 ปี ก่อน “โตเกียวโอลิมปิก”

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


เหลือเวลาไม่ถึงปีมหกรรมกีฬาโตเกียวโอลิมปิก 2020 จะเริ่มขึ้น ตอนนี้มีภาพมาสคอตและตราสัญลักษณ์ประจำงานแพร่หลายทั่วกรุง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทเสื้อผ้า ตุ๊กตา แก้วน้ำ ป้ายประกาศ หรือแม้แต่ประตูรถแท็กซี่ การเตรียมตัวสำหรับงานนี้เป็นอย่างไรบ้าง...วันนี้จะบอกเล่ากันในสองสามประเด็น คือ การเริ่มจำหน่ายตั๋ว มาตรการรับมือความร้อน และสถานที่หลักบางแห่งสำหรับงานครั้งสำคัญนี้

ก่อนอื่นขอแจ้งข้อมูลสำคัญคือ โตเกียวโอลิมปิกจะเริ่มจัดตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม และปิดฉากในวันที่ 9 สิงหาคม 2563 (ต่อด้วยพาราลิมปิกตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม ถึงวันที่ 6 กันยายน 2563) ซึ่งเป็นช่วงหน้าร้อนของญี่ปุ่น โอลิมปิกครั้งนี้มี 33 ประเภทกีฬา แข่งขันกันใน 300 กว่ารายการ อย่างไรก็ตาม ย้อนกลับไปตอนที่กรุงโตเกียวเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานนี้ มีเสียงต่อต้านต่อเนื่องในประเทศอยู่ไม่น้อยเพราะการจัดงานแบบนี้ต้องใช้เงินมหาศาลและญี่ปุ่นทุกวันนี้ไม่ได้มีเงินเหลือเฟือเหมือนเมื่อสามสิบปีก่อน เกิดกระแสวิจารณ์ว่าสิ้นเปลืองเพราะต้องสร้างอะไรต่ออะไรมากมาย รวมทั้งการบูรณะสนามกีฬาหรือสร้างใหม่

ทางฝ่ายที่มองโลกในแง่ดีบอกว่า...ก็เพราะญี่ปุ่นในสามทศวรรษหลังมานี้ค่อนข้างหงอยเหงา กระตุ้นเท่าไรก็ยังไร้ชีวิตชีวา จึงต้องใช้งานช้างอย่างโอลิมปิกนี่แหละมาช่วยฉุดให้หลุดจากความซึมเซา ในที่สุดญี่ปุ่นสมหวัง ได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2020 ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 โดยห่างจากครั้งแรกเมื่อปี 1964 (พ.ศ. 2507) เป็นเวลา 56 ปี และญี่ปุ่นตั้งความหวังไว้สูงกับงานนี้ ในด้านการเตรียมความพร้อมนั้น แม้มีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่เมื่อขึ้นชื่อว่าญี่ปุ่นก็เชื่อมั่นได้ในระดับหนึ่งว่าจะไม่ยอมให้พลาดเด็ดขาด
ที่มา: https://tokyo2020.org/en/get-involved/spectators/
ความคืบหน้าหลัก ๆ ในขณะนี้คือ การซื้อบัตรเข้าชมกีฬา แฟนกีฬาทั้งหลายคงใจจดใจจ่อรอมานานพอสมควร บัดนี้กระบวนการจำหน่ายบัตรเริ่มขึ้นแล้วตามที่ต่าง ๆ ทั่วโลก สำหรับในญี่ปุ่น ผู้ที่จะซื้อบัตรได้จะต้องเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นเท่านั้น (https://tokyo2020.org/en/games/ticket/olympic/) โดยเริ่มเปิดให้ลงชื่อเพื่อจับสลากสำหรับการจำหน่ายบัตรเป็นรอบ ๆ ส่วนราคาค่าเข้าชมก็เป็นธรรมดาว่าขึ้นอยู่กับที่นั่งและประเภทของกีฬา มีตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่นบาท ถ้าเป็นพิธีเปิดก็แพงถึงหลักแสน

คนในประเทศอื่นจะต้องซื้อบัตรผ่านตัวแทนจำหน่ายตามที่ญี่ปุ่นกำหนดไว้ ในกรณีของประเทศไทย ผู้ได้รับสิทธิ์จัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการรายเดียวคือ บริษัท เจทีบี (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีสารพัดแพ็คเกจพร้อมที่พัก โดยเริ่มเปิดจำหน่ายออนไลน์ตั้งแต่วันสิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 มีคนไทยจำนวนมากวางแผนไปชมการแข่งขันโอลิมปิกและถือโอกาสเที่ยวญี่ปุ่นด้วยเลย เพราะนอกจากจะไม่ไกลเท่าไรแล้ว ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศในฝันของหลายคนด้วย จึงเชื่อได้ว่าคงมียอดซื้อขายท่วมท้นแน่ ๆ หากมีบัตรพร้อมแล้ว ต่อไปคือการเตรียมกายเตรียมใจให้พร้อมสำหรับการเยือนญี่ปุ่นในหน้าร้อนปีหน้า...และต้องระวังอย่าให้ความร้อนเป็นอุปสรรคขัดขวางความสนุก

เมื่อหันมาพิจารณาประเด็อากาศร้อนจัด ญี่ปุ่นตระหนักดีว่านี่เป็นเรื่องสำคัญตั้งแต่รู้ตัวว่าจะต้องจัดงานนี้ ถ้าเป็นกีฬาในร่มคงรับมือไม่ยาก แต่กีฬาหลายประเภทก็ต้องแข่งขันกลางแจ้ง โดยเฉพาะประเภทที่ต้องใช้เวลานานอย่างวิ่งมาราธอนหรือวอลเลย์บอลชายหาดยิ่งน่าเป็นห่วง จุดนี้ผู้คนกังวลกันมากเพราะเกรงว่าอุณหภูมิสูงอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงสี่ห้าปีมานี้จะเป็นอันตรายต่อทั้งนักกีฬาและผู้ชม สถิติของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นบ่งชี้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของกรุงโตเกียวในราวร้อยปี (1905-2001) เพิ่มขึ้นประมาณ 3 องศา ซึ่งถือว่าสูงเอาการ และจำนวนวันร้อนจัด (ตั้งแต่ 35 องศา) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย

อากาศในญี่ปุ่นช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมร้อนมาก ใครไม่เคยเจอคงนึกไม่ออก แต่บอกได้เลยว่านักกีฬาที่ไม่ชินจะประสบความเสี่ยงอย่างยิ่ง หลายปีมานี้เกิดกรณีเสียชีวิตในญี่ปุ่นเพราะความร้อนทุกปี จึงมีทัศนะเสนอว่าจัดตอนที่อากาศเย็นลงหน่อยไม่ได้หรือ อย่างโตเกียวโอลิมปิกปี 1964 ก็จัดในเดือนตุลาคม หรือถัดจากนั้นอีกสี่ปีคือปี 1968 ที่เม็กซิโกก็จัดในเดือนตุลาคม หรือที่ออสเตรเลียเมื่อปี 2000 ก็จัดกลางเดือนกันยายน ทว่าเรื่องแบบนี้ญี่ปุ่นกำหนดเองไม่ได้ทั้งหมด ครั้งนี้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) เรียกร้องให้จัดกลางกรกฎาคม-สิงหาคม นัยว่าช่วงที่ไม่ค่อยมีมหกรรมกีฬาใหญ่ระดับโลก และจะดึงดูดคนดูได้มากโดยเฉพาะในอเมริกา

เมื่อผลสรุปเป็นเช่นนี้ ญี่ปุ่นจึงต้องเดินหน้าและหันมาหาวิธีรับมือกับความร้อน เช่น ติดตั้งเครื่องพ่นละอองน้ำ เตรียมเต็นท์มากางสร้างที่ร่มและติดตั้งเครื่องวัดดัชนีความร้อน ปูพื้นถนนบางจุดด้วยวัสดุฉนวนความร้อน (มีคุณสมบัติสะท้อนรังสีอินฟาเรดออกไปและทำให้อุณหภูมิพื้นผิวถนนลดลง แต่มีข้อโต้แย้งว่าบริเวณที่สูงกว่าพื้นผิวขึ้นมาหน่อย กลับมีอุณหภูมิสูงขึ้น) สิ่งเหล่านี้อาจดูเหมือนเป็นมาตรการพื้น ๆ อยู่ คงต้องดูกันต่อไปว่าเมื่อใกล้วันมากขึ้น ญี่ปุ่นจะสรรหาวิธีหรือเทคโนโลยีใดมาช่วยอีก เท่าที่มีประกาศเพิ่มเติมตอนนี้ มีบ้างที่ดูเหมือนเป็นวิธีเฉพาะตัวของญี่ปุ่น อย่างการนำไม้เลื้อยอาซางาโอะ (ผักบุ้งฝรั่ง; morning glory) ที่เด็กประถมปลูกเป็นไม้กระถางมาจัดวางเป็นแนวรั้วในพื้นที่ตรวจกระเป๋าสัมภาระก่อนเข้าสู่บริเวณงานแทนการใช้รั้วโลหะ หรือการผลิตหิมะให้โปรยปรายในพื้นที่แข่งเรือแคนู (อยู่ระหว่างการทดลอง) ญี่ปุ่นเคยใช้วิธีนี้ในงานคอนเสิร์ตมาบ้างแล้วเพื่อความตื่นเต้นของผู้ชม หากมีการใช้ในโอลิมปิก จะเป็นการใช้เพื่อคลายร้อนโดยเฉพาะเป็นครั้งแรก และเป็นมาตรการที่ไม่เคยใช้ในโอลิมปิกหน้าร้อนที่ใดมาก่อน

สำหรับความเคลื่อนไหวในภาพกว้างด้านสถานที่ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการจัดงานได้จัดการประชุมเพื่อรายงานความคืบหน้าของการเตรียมการ ประธานกรรมการระบุว่า ทาง IOC ชื่นชมญี่ปุ่นที่เตรียมการได้รวดเร็วดี...โดยเร็วกว่าครั้งไหน ๆ เพราะที่ผ่านมาเมื่อเหลือเวลา 1 ปี ไม่มีครั้งใดคืบหน้าเท่ากับครั้งนี้ อีกทั้งยังราบรื่นอีกด้วย (คำว่า “ราบรื่น” นี้ ไม่ทราบเหมือนกันว่ากินความกว้างแค่ไหน เพราะในช่วงแรกญี่ปุ่นมีปัญหาด้านโลโก้เดิมที่มีกระแสตรวจสอบว่าลอกเลียนแบบจนต้องผลิตกันใหม่ และมีปัญหางบประมาณการสร้างสนามกีฬาหลักด้วย)

ทั้งนี้ ส่วนที่สำคัญที่สุดคือสนามกีฬาแห่งชาติ (ใหม่) ที่จะเป็นหน้าเป็นตาของประเทศในช่วงพิธีเปิดปิดโดยจุผู้คนได้ 68,000 คน หลังจากมีปัญหาเรื่องการออกแบบกับค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ก็ผ่านการปรับรูปแบบและลดค่าใช้จ่ายลงมาได้มาก กระทั่งมีประกาศออกมาว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนพฤศจิกายน 2562 และมีประกาศย้ำออกมาอีกว่ากำหนดนี้ไม่เปลี่ยนแปลง หากนับจุดนี้เป็นเกณฑ์ก็ต้องถือว่าราบรื่นจริง และเมื่อถึงวันนั้น เราคงจะได้เห็นการแถลงข่าวพร้อมภาพภายในของสนามกีฬาแห่งนี้โดยละเอียด


ทางด้านความพร้อมของหมู่บ้านนักกีฬาในย่านฮารูมิก็มีประกาศออกมาแล้วว่าเตรียมการอย่างดี ประกอบด้วยอาคารที่พักถึง 21 หลัง ใหญ่กว่าโตเกียวโดมประมาณ 9 เท่า และพักอาศัยได้ประมาณ 3,800 หน่วย โดยมีโรงอาหารบริการอาหารได้วันละ 45,000 ชุด ทั้งหมดนี้มีกำหนดสร้างแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมปีนี้ หลังจากโอลิมปิกจบลงก็จะจัดสรรเป็นที่เช่าพักสำหรับประชาชนทั่วไป

นอกจากนี้ สิ่งที่เคยดำเนินไปแบบเรื่อย ๆ ก็ได้โอลิมปิกมาเป็นแรงกระตุ้นด้วย อย่างเช่นสถานีใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในชื่อ “Takanawa Gateway” มีกำหนดเสร็จต้นปีหน้า สร้างเป็นลำดับที่ 30 (สถานีที่ 26 ตามการนับรอบของเส้นทาง โดยนับสถานีโตเกียวเป็นสถานีที่ 1) บนเส้นทางของรถไฟรอบเมืองสายหลัก “ยามาโนเตะ” โดยแทรกระหว่างสถานี Shinagawa กับ Tamachi เดิมมีแผนจะสร้างอยู่แล้วและไม่ได้เกี่ยวข้องกับโอลิมปิก แต่เมื่อมีงานใหญ่ จึงถือว่าเป็นนุสรณ์โอลิมปิกไปโดยปริยาย และเมื่อเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟสายอื่นอีก ความสะดวกย่อมสูงขึ้นสำหรับคนเดินทาง

ในด้านอานิสงส์ของโอลิมปิกที่ส่งไปถึงภาคประชาชนนั้น ยังประเมินตัวเงินไม่ได้ แต่ที่แน่ ๆ คือญี่ปุ่นเข้าสู่โหมดคึกคักแล้ว เกิดการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โรงแรมหลายแห่งปรับปรุงสถานที่ สนามบินฮาเนดะและนาริตะเริ่มวางมาตรการสำหรับนักท่องเที่ยว ส่วนผลทางเศรษฐกิจที่ ‘คาดหวัง’ ว่าจะได้รับคงต้องรอวิเคราะห์กันหลังงาน และเมื่อลงเรือลำเดียวกันแล้ว ญี่ปุ่นจึงกระตือรือร้นปรับโน่นเปลี่ยนนี่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลเข้ามามากมายแน่นอน

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น