xs
xsm
sm
md
lg

ยลศิลป์ยินญี่ปุ่น “เซียนจีนบนฉากญี่ปุ่น”

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


“ยลศิลป์ยินญี่ปุ่น” คือมุมพิเศษมุมใหม่ที่มาแทน “สะดุดคำ” หลังจากที่ได้นำเสนอมาครบ 3 ปีเต็ม มุมนี้จะแนะนำญี่ปุ่นผ่านงานศิลปะเดือนละครั้ง ด้วยการบอกเล่าแง่มุมที่น่าสนใจในเชิงศิลปะ สังคม และเกร็ดประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการมองผ่านจิตรกรรมประเภทต่าง ๆ ของญี่ปุ่น ประกอบกับคำอธิบายสะท้อนภูมิหลังทางยุคสมัยในลักษณะที่หาอ่านที่อื่นได้ยาก

ทุกวงการมีผลงานแหวกแนว ผู้สร้างความแปลกชนิดที่ถูกตีค่าต่ำจากสายตาผู้เชี่ยวชาญของช่วงเวลานั้นอาจถูกมองว่าเป็นคนประหลาด ส่วนผลงาน...เบาหน่อยอาจถูกเมิน หนักหน่อยอาจถูกด่า แปลว่าไม่เป็นที่ยอมรับ แต่หากความแปลกได้รับการประเมินค่าสูงส่ง ก็จะมีคำประทับให้ใหม่ว่านั่นคือ “เอกลักษณ์” คำนี้คือสิ่งที่ผู้ได้ชื่อว่าศิลปินปรารถนามากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นศิลปินด้านการแสดง นักร้อง นักเขียน และแน่นอน...จิตรกรก็เช่นกัน

เป็นที่รู้กันว่าญี่ปุ่นมักมีอะไรแปลก ๆ ในแบบที่แสดงเอกลักษณ์ ถ้าเป็นคนยุคนี้คงนึกถึงการแต่งหน้าแต่งตัวของวัยรุ่นหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นแถวฮาราจูกุหรือชิบูยะ หรืออาจนึกถึงการประดิดประดอยสิ่งของให้เล็กน่ารัก มองแวบเดียวเดาได้ว่าน่าจะมาจากญี่ปุ่น อันที่จริงจิตวิญญาณการแสวงหาความแปลกใหม่ในแบบที่สร้างความประทับใจ...หรือทำให้ผู้พบเห็นต้องเหลียวหลังมองใหม่ มีอยู่ในตัวตนของคนญี่ปุ่นมาเนิ่นนานแล้ว หนึ่งในตัวแทนของบุคคลแนวนี้คือ โซงะ โชฮากุ (曾我蕭白;Soga Shōhaku;1730–1781) จิตรกรสมัยเอโดะอันเป็นยุคที่ศิลปวัฒนธรรมผ่านการบ่มเพาะเฟื่องฟูและมีศิลปินชั้นเลิศมากมาย

โซงะ โชฮากุวาดภาพที่มีเอกลักษณ์สะดุดตาด้านลายเส้นและการใช้สี โดยเฉพาะภาพบนฉากพับขนาดใหญ่ซึ่งมีชื่อว่า “ฉากพับภาพเหล่าเซียน” (郡仙図屏風;Gunsen-zu Byōbu) สันนิษฐานว่าวาดเมื่อปี 1764 ตอนโชฮากุอายุสามสิบห้าปี เป็นฉากขนาดใหญ่หนึ่งคู่ประกอบด้วยฉากขวากับซ้าย ฉากละหกพับ ความสำคัญเชิงศิลป์อยู่ที่ภาพมากกว่าที่ฉาก ยามชมจะไล่สายตาจากขวาไปซ้าย ความเด่นของภาพคือการใช้สี ขอเพียงหันมองผ่าน ๆ เชื่อแน่ว่าสีแดง น้ำเงิน และขาวที่ตัดกับพื้นหลังในโทนน้ำตาลเหลืองจะตรึงสายตาให้ละเลียดมองใหม่ และการจงใจใช้สีแบบนี้หาได้ยากยิ่งในภาพเขียนของญี่ปุ่น อีกทั้งลายเส้นที่ลงละเอียดยิบก็ชวนให้พินิจนานว่าอะไรเป็นอะไรในแต่ละจุด ครั้นมองไปเรื่อย ๆ สายตาก็อาจสะดุดหยุดที่เสื้อผ้าหน้าตาและทรงผมของผู้ที่ปรากฏในภาพทั้งเด็กและผู้ใหญ่รวมหลายคน เอ๊ะ...ดูเหมือนไม่ใช่สไตล์ญี่ปุ่น

ในศิลปะญี่ปุ่น สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คืออิทธิพลจากจีน ภาพนี้ก็เช่นกัน แม้เป็นฝีมือจิตรกรญี่ปุ่น แต่หากไม่บอก คนส่วนใหญ่คงคิดว่าเป็นของจีน เพราะทั้งหน้าตาและการแต่งตัวของคน (?) ในนั้น ตลอดจนบรรยากาศและชื่อผลงานที่มีคำว่า “เซียน” อยู่ด้วย ล้วนแต่สื่อความเกี่ยวข้องกับจีน นี่คือภาพที่อิงความเชื่อของจีนเรื่องเซียนที่วาดโดยศิลปินญี่ปุ่นและได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานชั้นยอดอันมีเอกลักษณ์ ปัจจุบันฉากพับซึ่งแต่ฝั่งมีขนาด 172 ซม. x 378 ซม. ขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่มีความสำคัญยิ่งของญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 2005 (พ.ศ.2548) อยู่ในความดูแลของสำนักงานวัฒนธรรม

คำว่า “เซียน” เมื่อเขียนเป็นภาษาจีนคือ仙สื่อนัยถึงผู้บำเพ็ญบารมีอย่างบากบั่นจนมีสถานะเป็นเทพและมีพลังวิเศษเหนือคนทั่วไปในที่สุด อักษรตัวเดียวกันนี้ภาษาญี่ปุ่นอ่านว่า “เซ็น” และถ้าจะสื่อความหมายเดียวกันกับภาษาจีนในฐานะผู้บรรลุอมตภาพทางร่างกายและวิญญาณ ภาษาญี่ปุ่นจะเขียนว่า 仙人 (เซ็นนิง) ซึ่งสื่อถึง “เซียน” และบางทีก็ใช้แปลคำว่า “ฤๅษี” ตามคติอินเดียวและไทยด้วย ในวัฒนธรรมจีนมีเซียนและตำนานประกอบเซียนมากมาย แต่ที่คนไทยคุ้นหูกันดีที่สุดน่าจะเป็น “โป๊ยเซียน” (สำเนียงแต้จิ๋ว หรือ “ปาเซียน” ในสำเนียงจีนกลาง) ซึ่งเป็นทั้งชื่อต้นไม้และชื่อกลุ่มเทพแปดองค์ โดยมีบางองค์ปรากฏใน “ฉากพับภาพเหล่าเซียน” ด้วย

ชื่อกลุ่มเทพเจ้าโป๊ยเซียน เมื่อเขียนด้วยอักษรจีน แต่ละชื่ออ่านได้หลายเสียง ต่างกันไปตามสำเนียงภาษาถิ่น คนญี่ปุ่นก็อ่านแบบญี่ปุ่น มีชื่อ [เสียงญี่ปุ่น (อักษรจีน; ตัวพินอินสำเนียงจีนกลาง)] เรียงตามเข็มนาฬิกาดังที่ปรากฏในภาพดังนี้คือ คะ เซ็งโกะ (何仙姑;Hé Xiān Gū) เซียนสตรี, คัง โชชิ (韓湘子;Hán Xiāng Zi) เป่าขลุ่ย, รัง ไซกะ (藍采和;Lán Cǎihé) ถือกระจาดลูกท้อ, ริ เท็กไก (李鉄拐;Tiě Guǎi Lǐ) นั่งอิงน้ำเต้า, เรียว โดฮิง (呂洞賓;Lǚ Dòngbīn) ชุดสีเหลืองสะพายดาบ, คัง โชริ (漢鍾離;Zhōnglí Quán) ชุดสีแสด, โซ คกกิว (曹国舅;Cáo Guó Jiù) ชุดสีเขียวทางซ้ายของเซียนสตรี, และผู้ที่อยู่นอกเรือคือ ผู้อาวุโสโชกะ (張果老;Zhāng Guǒ Lǎo)
ภาพจาก Myths and Legends of China, 1922 โดย อี. ที. ซี. เวอร์เนอร์ (วิกิพีเดีย)
ในแปดองค์นี้ สององค์ที่ปรากฏใน “ฉากพับภาพเหล่าเซียน” ได้แก่ ริ เท็กไก และเรียว โดฮิง ส่วนจะเป็นองค์ไหนนั้น เดี๋ยวค่อย ๆ ไล่ดูไปตามลำดับ ทั้งนี้ ทางญี่ปุ่นเองก็มีคติความเชื่อคล้ายกับโป๊ยเซียน แต่เป็นเทพเจ้าโชคลาภเจ็ดองค์ (七福神;Shichi fukujin) ไม่ใช่แปด และเป็นคนละคณะกับโป๊ยเซียน แม้กระนั้นก็มีข้อสันนิษฐานว่าอาจได้รับอิทธิพลมาจากโป๊ยเซียนก็เป็นได้ แต่บางกระแสไม่ยอมรับข้อสันนิษฐานนี้

ย้อนมาดูที่ภาพของโชฮากุ เริ่มจากฉากขวา มีภาพชายไว้หนวดเครารุงรัง แนวสะบัดพลิ้วไหวของเส้นผมบอกให้รู้ว่าลมคงแรงน่าดู นี่คือ “โทโฮ” (董奉) ซึ่งเป็นหมอใจบุญผู้มีเรื่องราวในเรื่องสามก๊ก ตำนานเล่าว่าหมอโทโฮรักษาคนโดยไม่คิดเงิน แต่ขอให้ตอบแทนด้วยการปลูกอันซุ (แอปพริคอต) เมื่อกลายเป็นป่าอันซุขึ้นมาจึงให้เสือเฝ้าป่าไว้ ลองมองไปทางซ้ายเล็กน้อยจะเห็นเสือซุ่มอยู่ ใครหมายขโมยผลอันซุจะถูกเสือกัดตาย พอครอบครัวของขโมยมาขอขมาก็ชุบชีวิตขโมยที่ตายไปให้ฟื้นคืนชีพ ผลอันซุที่เก็บเกี่ยวได้จะนำไปแลกเป็นธัญพืชมาแจกจ่ายคนยากจน
ฝั่งขวาของ “ฉากพับภาพเหล่าเซียน”
ถัดมาอีกหน่อยคือ “โชชิ” (簫史) เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์จีนโบราณสมัยวสันตสารท (ยุคที่มีหญิงงามนามว่าไซซี) ประมาณ 770 – 463 ปีก่อนคริสตกาล โชชิมีฝีมือการเป่าขลุ่ยเป็นที่เลื่องลือ แต่งงานกับเจ้าหญิงองค์หนึ่ง ตำนานเล่าว่าทั้งสองเป่าขลุ่ยได้เพราะพริ้งเสียจนหงส์ (สัตว์ในป่าหิมพานต์ ไม่ใช่หงส์ที่คล้ายห่าน) ร่อนลงมาหาและได้ขี่หงส์

ถัดมายังมีอีกสองเซียนซึ่งอยู่ในกลุ่มแปดเทพ องค์แรกที่อยู่ติดกับโชชิคือ “ริ เท็กไก” (หลี เถียไกว่) ศิลปินวาดให้กลมกลืนกับพื้นหลังจนแทบจะมองผ่านหากไม่สังเกตดี ๆ ตำนานเล่าว่าตอนมีชีวิตอยู่เป็นผู้ฝักใฝ่ธรรมะและรักสันโดษ เคยถอดวิญญาณออกจากร่างแล้วกลับเข้าร่างไม่ได้ ต่อมาเมื่อพบร่างชายพิการผู้เป็นขอทาน จึงเข้าไปอาศัยร่างและเสกไม้เท้าให้เป็นไม้เท้าเหล็กเพื่อประคองตัวยามเดิน จึงได้รับการขนานนามว่า “หลี่ขาเหล็ก”

ส่วนอีกองค์หนึ่งคือ “เรียว โดฮิง” (ลหฺวี่ ต้งปิน) อยู่ในชุดสีน้ำเงินสดสะดุดตา ตอนอยู่ในสถานะมนุษย์เป็นคนสมัยราชวงศ์ถัง เป็นผู้มีความเพียรพยายามอย่างสูงแม้เคยพลาดหวังในการสอบเป็นขุนนาง กว่าจะผ่านการยอมรับเป็นศิษย์สำนักเต๋าก็ต้องฝ่าด่านทดสอบจิตใจ เช่น ถูกเสือจ้องจะกิน ถูกหญิงงามยั่วยวน เมื่อบำเพ็ญเพียรแก่กล้าแล้วเคยออกช่วยประชาชนปราบมังกร

ข้ามมาที่ฉากฝั่งซ้าย ผู้ที่ยืนอยู่กับกลุ่มเด็ก ๆ รูปร่างจ้ำม่ำหลากสีสัน คือ “ริน นาเซ” (林和靖) หรือ “ริมโปะ” (林逋) ผู้เป็นกวีตอนมีขีวิตอยู่และได้รับความเลื่อมใสอย่างสูงในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ บทประพันธ์ร้อยกรองที่แสดงความรักและถวิลหาอาลัยอาวรณ์ได้รับการยกย่องเป็นพิเศษ เคยได้รับการเสนอตำแหน่งสูงในรัฐบาล แต่ก็ปฏิเสธ ยินดีใช้ชีวิตอย่างสงบมากกว่า ไม่มีครอบครัว ไม่แต่งงาน ไม่มีลูก ปลูกต้นบ๊วยไว้ที่สวน เลี้ยงนกกระเรียนเป็นเพื่อน ประหนึ่งว่า “บ๊วยคือภรรยา บรรดานกกระเรียนคือลูก” ในช่วงบั้นปลายใช้ชีวิตอย่างสันโดษที่ทะเลสาบตะวันตกในเมืองหางโจว และบทกวีของริมโปะยังคงเป็นที่ศึกษากันอยู่จนถึงทุกวันนี้
ฝั่งซ้ายของ “ฉากพับภาพเหล่าเซียน”
เซียนองค์ต่อมาที่ยิ้มแย้มแจ่มใสนั่งอยู่ตรงหน้าอ่างปลาในท่าสบายคือ “ซาจิ” (左慈) ตำนานเล่าว่ามีตัวตนในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออกและสมัยสามก๊ก ว่ากันว่ามีชีวิตยืนยาวถึง 300 ปีโดยผ่านการร่ำเรียนวิชาทำให้อายุยืนจากปราชญ์สำนักเต๋า มีชื่อเสียงด้านยาอายุวัฒนะ การแยกร่าง และเวทมนตร์ เช่น เสกปลาประหลาดในกระทะเปล่า และเป็นตัวละครที่ปรากฏในเรื่องสามก๊กในฐานะผู้วิเศษคนหนึ่ง

และสุดท้ายคือ “เซียนคางคก” ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “กามะ-เซ็นนิง” (蝦蟇仙人) เป็นเซียนของจีนที่ได้รับความนิยมเป็นพิเศษในญี่ปุ่นแม้ในจีนมีภาพลักษณ์เป็นลบอยู่บ้างก็ตาม ปรากฏอยู่บ่อย ๆ ในภาพเขียน งานฝีมือ หรือละครคาบูกิของญี่ปุ่น ตำนานเล่าว่าเคยได้รับความช่วยเหลือจากซาจิและเรียว โดฮิง มีความสามารถในการใช้เวทมนตร์ปีศาจคางคกน้ำเงิน ซึ่งเป็นคางคกสามขาโดยมีสองขาหน้ากับหนึ่งขาหลังอยู่กลางตัว และในภาพของโชฮากุก็มีคางคกเกาะอยู่บนหัวของเซียนผู้นี้ด้วย

นอกจากเซียนเหล่านี้แล้ว ที่เหลือคือเหล่าสตรีซึ่งดูเหมือนปรากฏตัวเพื่อปรนนิบัติพัดวี จิตรกรลงสีเครื่องแต่งกายสตรีไว้อย่างสดใส เมื่อมององค์ประกอบทั้งหมดนี้ พบว่าภาพฝั่งขวาคือเซียนที่ปั้นหน้าถมึงทึง ท่วงท่าแฝงความเขม็งเกลียวอยู่ในที และแสดงความเคลื่อนไหวเด่นชัด ผิดกับภาพทางซ้าย เซียนฝั่งนี้อยู่ในท่าผ่อนคลาย ถึงขั้นดูน่าเลื่อมใสน้อยกว่าอีกฝั่งด้วยซ้ำ การถ่ายทอดอารมณ์ในแบบที่ขัดกันเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างจงใจ เช่นเดียวกับการลงสีสด ๆ ให้แก่เซียนบางองค์เท่านั้น เป็นการสร้างความฉงนให้ผู้ชมนึกคิดไปต่าง ๆ นานาว่าต้องการสื่ออะไร แต่ที่แน่ ๆ คือการตัดกันอย่างชัดเจนของสีและอารมณ์ในลักษณะเปรียบต่างเช่นนี้คือเสน่ห์ของภาพ

โชฮากุได้รับการขนานนามว่าเป็นศิลปินที่วาดรูปฉีกขนบและออกแนว ‘บ้า’ ในภาพเขียนของญี่ปุ่น จะหาภาพไหนที่ลงสีแบบนี้คงไม่มีแล้ว แต่ ‘ความโดด’ ชนิดนี้กลายเป็นความเด่นที่ลงตัว นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในผลงานของโชฮากุผู้พยายามดึงตัวเองให้ออกห่างจากความธรรมดาในสมัยนั้น งานอื่น ๆ ของเขาก็สร้างความประหลาดใจแก่ผู้พบเห็นเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นภาพหน้าคนตลก ๆ หรืออากัปกิริยาประหลาด ความบ้าจึงกลายเป็นเอกลักษณ์ไป และเมื่อเทียบกันแล้ว เอกลักษณ์มีความเป็นสากลมากกว่าความงาม ในขณะที่ความงามขึ้นอยู่กับรสนิยมด้วย แต่เอกลักษณ์คือลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนใคร เลียนแบบได้ยากหรือไม่ได้เลย จึงเป็นที่ยอมรับโดยหาข้อโต้แย้งได้ยาก และแน่นอนว่าหากความงามมีเอกลักษณ์ประกอบด้วยย่อมเป็นที่สุด

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น