คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน เคยคิดกันไหมคะว่าถ้าในชีวิตเรามีสิ่งนั้นสิ่งนี้แล้วคงจะมีความสุข หากเรามองดูประเทศที่ดูเหมือนจะมีทุกสิ่งทุกอย่างพรั่งพร้อมไปหมดอย่างญี่ปุ่น ก็อาจจะเผลอคิดไปว่าคนญี่ปุ่นคงจะมีความสุขกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ในความเป็นจริงคือ คนญี่ปุ่นกลับมีระดับของความสุขต่ำ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ?
ถ้าหากว่าเรามีรายได้ ฐานะการเงิน การศึกษา งาน ที่อยู่อาศัย ความปลอดภัย และคุณภาพสิ่งแวดล้อมในเกณฑ์ดี ก็คงชวนให้มั่นใจได้ว่าชีวิตน่าจะมีความสุขมากพอสมควรทีเดียวใช่ไหมคะ
ประเทศญี่ปุ่นมีสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้อยู่ในเกณฑ์สูงกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) แต่ความพึงพอใจในชีวิตของญี่ปุ่นกลับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD เสียอีก คืออยู่ที่ระดับ 5.9 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 6.5 http://www.oecdbetterlifeindex.org/topics/life-satisfaction/ แสดงว่าความพรั่งพร้อมเหล่านี้ไม่ได้ทำให้คนญี่ปุ่นมีความสุขเท่าไหร่เลย
จากการสำรวจเด็กอายุ 15 ปีใน 72 ประเทศพบแนวโน้มที่คล้ายคลึงกันอย่างหนึ่งว่า ประเทศที่เศรษฐกิจเจริญจะมีระดับความผาสุกต่ำกว่าที่คาดว่าจะได้รับจากความมั่งคั่งทางวัตถุและอิสรภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เยาวชน
เด็กวัยรุ่นญี่ปุ่นมีความเครียดในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD แต่ก็พบว่าเด็กที่พ่อแม่พูดคุยหรือรับประทานข้าวด้วยมีแนวโน้มที่จะมีความพอใจในชีวิตสูงกว่า และเด็กที่พ่อแม่รับฟังปัญหาที่โรงเรียนก็จะเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งในโรงเรียนน้อยกว่าด้วย
นอกจากนี้ โรงเรียนไหนที่มีคุณครูคอยดูแลนักเรียนดีกว่า นักเรียนก็จะมีความผาสุกสูงกว่าค่าเฉลี่ยไปด้วย จุดนี้น่าจะบ่งบอกได้ว่าการให้เวลา ความรัก ความเข้าใจ และความอบอุ่นแก่เด็กมีความสำคัญมากเพียงใดต่อความพึงพอใจและความผาสุกในชีวิตของพวกเขานะคะ
ในทางกลับกัน คนในประเทศจีน อินเดีย ไนจีเรีย และอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนากลับมีความสุขในระดับต้น ๆ คาดว่าคงเป็นเพราะประเทศเหล่านี้มีความสัมพันธ์ในครอบครัวที่แน่นแฟ้น อีกอย่างคือประเทศเหล่านี้เศรษฐกิจกำลังเติบโต คนจึงมองโลกในแง่ดี ต่างจากประเทศเศรษฐกิจเจริญและไม่ค่อยมีนวัตกรรมอะไรใหม่ ๆ อย่างญี่ปุ่นในยุคนี้ ทำให้คนญี่ปุ่นรู้สึกเนือย ๆ กับชีวิตและมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ นี่จึงอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นรู้สึกไม่มีความสุขเท่าที่ควรก็เป็นได้
ส่วนสาเหตุสำคัญอื่น ๆ ที่ทำให้คนญี่ปุ่นจำนวนมากไม่มีความสุข ฉันคิดว่าน่าจะเป็นเพราะความกดดันที่ต้องเดินอยู่ในกรอบของสังคมที่จัดระเบียบไว้เป๊ะไปหมดทุกอย่าง เปิดทางให้เดินนอกกรอบยาก ทำอะไรก็ต้องทำตามเสียงส่วนใหญ่ ตามคนส่วนมากเขาทำกัน หรือต่อให้ตัวเองมีดีก็ต้องไม่ทำตัวเด่น เพราะอาจตกเป็นเป้าของการโดนกลั่นแกล้งหรืออัปเปหิออกจากกลุ่มได้
ฉันอ่านเจอบทความของคนญี่ปุ่นคนหนึ่งที่ไปอยู่ต่างประเทศ เธอเล่าว่าสมัยอยู่ในญี่ปุ่น เธอไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าตัวเองมีสิทธิ์เลือกทางเดินชีวิตของตัวเองได้ นึกว่าจะต้องทำเหมือนคนอื่น ๆ เช่น ต้องเรียนกวดวิชาเพื่อสอบเข้าโรงเรียนดี ๆ เข้ามหาวิทยาลัยแล้วก็ต้องรีบหางานให้ได้แต่เนิ่น ๆ เข้าทำงานแล้วต้องอยู่อย่างน้อยสามปี พออายุใกล้สามสิบก็ต้องแต่งงานมีลูก ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครเขาก็ทำกันเสมือนว่าเป็นทางเลือกที่ปิดตาย ไม่มีทางอื่นให้เดินนอกเหนือจากนี้ พอเธอได้ออกมาจากสังคมญี่ปุ่นถึงได้มองเห็นว่าโลกนี้กว้างใหญ่นัก ชีวิตมีทางเลือกและความเป็นไปได้มากมาย ไม่จำเป็นว่าต้องทางใดทางหนึ่งเท่านั้น
เธอยังกล่าวด้วยว่า คนญี่ปุ่นทั่วไปจะอยู่ฝ่าย “เสียงข้างมาก” พอทำตามสิ่งที่คนส่วนใหญ่เขาทำกันก็นึกว่าทัศนคติของตัวเองถูกต้อง พลอยยัดเยียดคนอื่นว่าควรทำอย่างนั้น ควรเป็นอย่างนี้ตามไปด้วย โดยที่ไม่มีการตั้งคำถามว่าทำไม พอกระแสส่วนใหญ่มองว่า “ต้องอย่างนั้นอย่างนี้” จึงทำให้คนที่เดินออกนอกกรอบถูกมองว่าเป็นตัวประหลาด เข้ากับคนอื่นไม่ได้ คนประเภทนี้จึงอยู่ยาก
ถ้าเพื่อนผู้อ่านเคยดูละครหรือการ์ตูนเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งในโรงเรียนญี่ปุ่น คงจะมองภาพออกว่ากระแสของการทำตามกันและความกลัวการถูกขับออกจากกลุ่ม(สังคม)มีความรุนแรงขนาดไหนต่อจิตวิทยาคนญี่ปุ่น
ฉันเคยสัมภาษณ์นักเรียนมัธยมญี่ปุ่นเกี่ยวกับเรื่องการกลั่นแกล้งในโรงเรียน เขาเล่าให้ฟังว่า “การกลั่นแกล้งมันเหมือนพายุ พอเริ่มก่อตัวขึ้นปุ๊บ ทุกคนที่แวดล้อมจะถูกดึงมาข้องเกี่ยวกันหมด” นั่นก็คือหากใครถูกหมายหัวขึ้นมาแล้ว คนอื่น ๆ แม้จะไม่อยากร่วมวงด้วยก็ต้องพลอยเออออห่อหมกให้เข้ากับกระแส คอยแกล้งคนที่เป็นเป้าหมายไปด้วย เพื่อจะได้ไม่ถูกเพ่งเล็งว่าทำตัวนอกคอกและโดนกลั่นแกล้งไปด้วยอีกคน
ตามธรรมชาติของคนแล้ว ช่วงวัยรุ่นจะเป็นวัยที่ติดเพื่อนและแสวงหาการยอมรับจากกลุ่ม ลองคิดดูว่าพัฒนาการของเด็กวัยนี้จะเป็นไปเช่นไรหากไม่มีเพื่อนหรือไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมญี่ปุ่นที่มองเห็นความมีตัวตนของคนคนหนึ่งผ่านการเป็นสมาชิกของกลุ่มที่สังกัด ไม่ใช่มองโดยเห็นคุณค่าของคนคนหนึ่งโดยความเป็นปัจเจกชนแล้ว การถูกโดดเดี่ยวในสังคมญี่ปุ่นน่าจะเรียกได้ว่าเป็น "หายนะของชีวิต" เลยทีเดียว
ในสังคมอื่นนอกเหนือจากโรงเรียนก็มีเรื่องของการทำตามกลุ่มด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสังคมแม่บ้านหรือสังคมที่ทำงาน เช่น บรรดาคุณแม่มักจะซื้อของใช้ลูกแบบเดียวกับที่บ้านอื่นใช้กัน เลี้ยงดูลูกด้วยแนวคิดแบบเดียวกันคือให้ทำตามคนอื่น ๆ ฉันเคยเห็นบรรดาคุณแม่เด็กอนุบาลโรงเรียนแห่งหนึ่งที่คุณแม่แต่งตัวด้วยชุดคล้ายคลึงกัน สีโทนเดียวกันหมด ใส่รองเท้าส้นสูงหุ้มข้อ ราวกับเป็นชุดเครื่องแบบผู้ปกครอง ดูสวยงามภูมิฐานเหมือนจะไปร่วมงานอะไรสักอย่าง แต่จริง ๆ คือแค่ไปรับส่งลูกเท่านั้นเอง
ส่วนในสังคมที่ทำงานก็จะมีคู่มือปฏิบัติงานให้ศึกษาเพื่อให้ทุกคนทำเป็นแบบแผนเดียวกันหมด หรือเวลาจะกลับบ้านตอนเลิกงานก็ต้องร่ำลาทุกคนว่าขอเสียมารยาทที่จะกลับก่อน แต่อย่างไรก็ตามคนจำนวนมากก็ไม่กล้าเอ่ยปากกลับก่อนอยู่ดี เพราะรู้สึกว่าคนอื่น ๆ ยังขยันทำงานกันอยู่ ทำให้บางคนเสร็จงานแล้วก็นั่งทำอะไรต่อไปเสมือนมีงานทำอยู่ ไม่ค่อยอยากทำตัวโดดเด่นแปลกแยกไปจากคนส่วนใหญ่
ว่ากันว่าปัจจุบันมีคนญี่ปุ่นที่ยอมรับความต่างได้มากขึ้น แต่บางคราวก็ยังสับสนอยู่ว่าจะปฏิบัติต่อคนที่ทำตัวต่างไปจากคนส่วนใหญ่อย่างไรดี ฟังแล้วอดไม่ได้ที่จะนึกถึงความเป็นมนุษย์คู่มือของคนญี่ปุ่น รวมทั้งค่านิยมการทำตามกันและความกลัวที่จะแตกต่างว่า เป็นตัวปิดกั้นไม่ให้คนญี่ปุ่นกล้าคิดหรือทำอะไรด้วยตัวเองมากเพียงใด
ถ้าสังคมญี่ปุ่นเปิดโอกาสให้คนเป็นตัวของตัวเองได้มากกว่านี้ บางทีญี่ปุ่นอาจจะขับเคลื่อนและพัฒนาไปจากจุดที่เป็นอยู่ได้มาก เพราะปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ก็มีพร้อมแทบทุกอย่างแล้ว โดยเฉพาะคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์
สรุปแล้วการมีอะไรพร้อมในชีวิตก็ไม่ได้การันตีว่าจะทำให้คนรู้สึกมีความสุขเสมอไป แถมอาจมีส่วนทำให้หาความสุขยากกว่าเดิม และมองข้ามคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ และไม่ว่าที่ไหน ๆ ก็ล้วนแต่มีปัญหาให้เผชิญในแบบฉบับของมัน หรือไม่ก็ใจเราเองที่ให้ค่ากับสิ่งต่าง ๆ เกินพอดีจนทำให้ตัวเองเป็นทุกข์มากไป
เคยได้ยินเรื่องนี้ไหมคะ มีรถหรูคันหนึ่งแล่นผ่านทุ่งนา ชาวนาเห็นรถหรูก็นึกในใจว่า “ถ้าเรารวย มีรถอย่างนั้นขับคงมีความสุข” ส่วนชายผู้นั่งอยู่ในรถคันนั้นเห็นชาวนาก็คิดในใจว่า “ถ้าเรามีชีวิตที่เรียบง่ายอย่างชาวนาคนนั้นเราคงมีความสุข ไม่ต้องมากลัดกลุ้มอยู่กับหนี้สินที่แบกอยู่”
เรามักจะมองว่าหญ้าของเพื่อนบ้านเขียวกว่าหญ้าบ้านเรา แต่ความเป็นจริงมันอาจจะไม่ใช่อย่างนั้นก็ได้ เหมือนที่คนจำนวนไม่น้อยคิดว่าถ้าได้อยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีสาธารณูปโภคเพียบพร้อม มีสวัสดิการที่ดี รายได้ที่ดี ชีวิตปลอดภัยเหมือนเช่นญี่ปุ่น น่าจะมีชีวิตที่เป็นสุข แต่ผลการสำรวจข้างต้นก็ได้แสดงเห็นแล้วว่า ความสุขกับความเจริญอาจจะไม่ใช่ของคู่กันเสมอไป
แล้วความสุขของเพื่อนผู้อ่านอยู่ที่ไหนกันบ้างคะ.
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.