คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ไม่ทราบเป็นอย่างไร เวลาได้เขียนเรื่องอาหารฉันจะคึกคักเป็นพิเศษทุกที โดยเฉพาะเมื่อนึกถึงเมนูข้าวกล่องหลากชนิดที่วางขายตามสถานีรถไฟญี่ปุ่นแล้ว ก็คิดถึงตอนอยู่ที่ญี่ปุ่นและบรรยากาศยามเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซ็นขึ้นมา
สมัยเด็ก ๆ ฉันเห็นตัวละครในการ์ตูนรับประทานข้าวกล่องบนรถไฟระหว่างเดินทางอย่างเอร็ดอร่อย ด้วยความที่เป็นสิ่งแปลกใหม่ฉันก็เลยสนอกสนใจ พลางจินตนาการว่ามันต้องอร่อยเหาะมากแน่ ๆ
ข้าวกล่องสถานีรถไฟที่ว่านี้เรียกกันว่า “เอกิเบ็น”(駅弁)เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชีวิตคนญี่ปุ่นมาร้อยกว่าปีแล้วค่ะ โดยมากเชื่อกันว่าสถานีอุสึโนะมิยะ จังหวัดโทจิกิ เป็นสถานที่ที่เริ่มขายเอกิเบ็นเป็นแห่งแรกในญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2428 จากนั้นก็เริ่มมีสถานีอื่น ๆ ในจังหวัดเดียวกันวางขายตาม จนสถานีเหล่านี้ถึงกับได้รับการขนานนามว่า “อาณาจักรแห่งเอกิเบ็น” เลยทีเดียว (แต่บางตำราก็ว่าสถานีแรกที่เริ่มคือสถานีอุเอโนะในกรุงโตเกียว บางตำราก็ว่าสถานีโกเบในจังหวัดเฮียวโงะ)
รถไฟญี่ปุ่นในยุคนั้นมีบทบาทอย่างยิ่งในการขนส่งเคลื่อนย้ายนายทหารและยุทโธปกรณ์ สถานีอุสึโนะมิยะซึ่งเริ่มขายเอกิเบ็นเป็นแห่งแรกในญี่ปุ่นก็เป็นสถานีศูนย์กลางการขนส่ง รวมทั้งยังมีหน่วยทหารตั้งอยู่ด้วย จึงมักมีทหารจากจังหวัดอื่น ๆ มารวมตัวกันที่นั่น ร้านขายเอกิเบ็นจึงได้รับออเดอร์สั่งทำข้าวกล่องเป็นจำนวนมาก คำว่า “กุมเบ็น” (軍弁)ซึ่งหมายถึงข้าวกล่องที่จำหน่ายแก่ทหารจึงถือกำเนิดขึ้น และเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงก็สลายหายไปตามกาลเวลา
ในช่วงสงครามที่ข้าวยากหมากแพง ข้าวสารหายาก ร้านเอกิเบ็นก็หาทางปรับเอาจากของกินที่มีอยู่มาใช้แทนข้าว เช่น หัวมัน หรือเส้นอุด้งกับผักสับละเอียด เรียกได้ว่าเป็นเอกิเบ็นคุณภาพเหลือทน แต่ช่วงเวลานั้นมีอะไรให้รับประทานก็ถือว่าดีกว่าไม่มี และนี่ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ประชาชนประทังชีวิตผ่านความแร้นแค้นในยุคนั้นมาได้
สำหรับเอกิเบ็นในยุคแรกเป็นของพื้น ๆ คือ เป็นข้าวปั้นไส้บ๊วยโรยเกลือและงาสองก้อน กับไชเท้าดองสีเหลืองสองแผ่น (ที่บ้านเราเรียกทับศัพท์ว่า “ตะก้วง” ภาษาญี่ปุ่นเรียก “ทะคุอัง” - 沢庵) ห่อด้วยใบไผ่ ราคา 5 เซ็น มาถึงสมัยนี้ว่ากันว่าเมนูเอกิเบ็นมีถึงหลายพันชนิดแล้ว สนนราคามีตั้งแต่หลักร้อยเยนไปจนถึงหลักแสนเยน!
โดยทั่วไปแล้วเมนูของเอกิเบ็นจะไม่เหมือนข้าวกล่องทั่วไป รวมทั้งมีราคาสูงกว่าข้าวกล่องตามร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านขายข้าวกล่องโดยเฉพาะด้วย
การทำเอกิเบ็นนิยมใช้วัตถุดิบหรืออาหารเด่นดังประจำท้องถิ่นมาทำเมนูเรียกลูกค้า เช่น เอกิเบ็นของจังหวัดฮอกไกโดจะเน้นอาหารทะเล เช่น ข้าวหน้าปู-หอยเม่น-ไข่ปลาแซลมอน หรือปลาหมึกยัดไส้ข้าว เอกิเบ็นของเมืองโกเบจะเน้นเนื้อวัว เช่น ข้าวหน้าเนื้อย่าง ข้าวหน้าลิ้นวัวย่าง เอกิเบ็นของฮิโรชิม่าเน้นหอยนางรม มีข้าวหน้าหอยนางรมหลากรูปแบบ เป็นต้น โดยมากเอกิเบ็นจะราคาเกือบ 1 พันเยนหรือสูงกว่า ในขณะที่ข้าวกล่องทั่วไปจะราคาประมาณ 300 เยนขึ้นไป
เวลาเดินทางด้วยรถไฟข้ามจังหวัดนานหลายชั่วโมง การได้ซื้อเอกิเบ็นไปรับประทานระหว่างนั่งรถไฟไปชมวิวไปถือเป็นความเพลิดเพลินอย่างหนึ่งสำหรับคนญี่ปุ่นจำนวนมาก เพราะรู้สึกว่าโอกาสจะได้รับประทานข้าวกล่องที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นไม่ได้มีกันบ่อย ๆ บางคนชอบมากถึงขนาดซื้อกลับไปรับประทานที่บ้านด้วยเลยทีเดียว
ครั้งแรกที่ฉันซื้อเอกิเบ็นมารับประทานด้วยความตื่นเต้น ก็ต้องพบกับความผิดหวัง เมื่อทราบว่าเอกิเบ็นเหล่านี้ไม่ใช่ข้าวกล่องร้อน ๆ ควันฉุยอย่างที่คาดไว้ แต่เป็นข้าวกล่องที่ออกจะเย็น ๆ
อาจเพราะฉันไม่คุ้นกับการรับประทานอาหารเย็นชืดมาก ๆ แบบนี้ และเคยชินกับการรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ๆ หรืออุ่นร้อน ส่วนตัวก็เลยไม่ค่อยจะรู้สึกว่าเอกิเบ็นอร่อย แทนที่จะซื้อเอกิเบ็น เวลาจะเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซ็น ฉันก็เลยไปซื้อข้าวกล่องจากร้านทำข้าวกล่องเสร็จใหม่ ๆ หรือไม่ก็ข้าวหน้าเนื้อใส่กล่อง ราคาถูกกว่ากันเท่าหนึ่งหรือมากกว่า การได้รับประทานอาหารที่ยังอุ่น ๆ สำหรับฉันรู้สึกมีความสุขกว่ามาก แต่ฉันก็เปลี่ยนความคิดหลังจากได้หาข้อมูลมาเขียนเรื่องนี้ เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังต่อไปนะคะว่าทำไม
เมนูเอกิเบ็นนี้คนญี่ปุ่นก็ช่างคิดไปได้ร้อยแปด บางทีก็เป็นอาหารจีนทั้งกล่อง บางทีก็เป็นเนื้อวัวชั้นเลิศ หรือเนื้อหมูดำอย่างดีจากสเปน หรือมีอาหารถึง 50 ชนิดในกล่องเดียว แล้วแต่ว่าเอกิเบ็นชนิดนั้นจะโฆษณาตัวเองว่าอย่างไร อย่างหลังนี้ฉันเคยซื้อมาด้วยความดีใจว่าจะได้รับประทานอาหารครบทุกหมู่ เมื่อเปิดกล่องดูอาหารพลางเทียบกับใบรายการที่แนบมาด้วยในกล่อง ก็พบว่าเขานับแต่ละชิ้นเป็น 1 อย่าง ไม่ว่าจะถั่วเม็ดเดียว แครอทแว่นเดียว เรื่อยไปจนครบ 50 อย่าง เห็นแล้วเศร้าใจพิกล แต่จะให้มีปริมาณมากกว่านั้นก็คงไม่ได้อยู่ดีเพราะคงได้ล้นกล่องเป็นแน่
เดี๋ยวนี้ความต้องการซื้อเอกิเบ็นลดน้อยลง อย่างในช่วง 15 ปีระหว่าง พ.ศ. 2543- 2558 จำนวนร้านเอกิเบ็นลดลงเหลือเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นเมื่อเทียบกับช่วงทศวรรษ พ.ศ. 2440 ซึ่งเป็นยุคที่เอกิเบ็นขายดิบขายดีที่สุด ที่เป็นอย่างนั้นไม่ทราบว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องแข่งกับร้านสะดวกซื้อภายในสถานีหรือชานชาลาหรือเปล่านะคะ ทำให้ผู้โดยสารมีทางเลือกในการซื้อขนมปังหรือข้าวปั้นรับประทานง่าย ๆ ราคาก็ถูกกว่าเอกิเบ็นมาก
ความต้องการที่ลดลงทำให้เจ้าของกิจการเอกิเบ็นหาทางปรับตัวให้อยู่ได้ท่ามกลางการแข่งขัน ต้องสร้างจุดขายที่แตกต่างจากข้าวกล่องราคาถูก บางทีก็อาศัยการปรับแต่งหรือเพิ่มเติมอะไรนิดหน่อยจากเมนูข้าวกล่องธรรมดาเพื่อสร้างจุดเด่น หรือหาทางขยับขยายแหล่งขายนอกเหนือจากตามสถานีรถไฟ เช่น ไปตั้งบูธประจำในห้างสรรพสินค้า หรือสนามกีฬาใหญ่ ๆ เป็นต้น
ปัจจุบันมีการจัดงานแสดงเอกิเบ็นตามห้างสรรพสินค้า แล้วแต่ว่าจะเน้นธีมอะไร เช่น เอกิเบ็นร้านดังจากทั่วประเทศ หรือเอกิเบ็นของเมืองใดหรือจังหวัดใดเป็นแห่ง ๆ ไป ดูเผิน ๆ คงคล้ายงานแสดงสินค้าอาหารโอท็อปบ้านเรา บางงานได้รับความนิยมมากถึงขนาดทำคู่มือสำหรับลูกค้าหน้าใหม่ด้วย เช่น แนะนำวิธีการเลือกซื้อเอกิเบ็นในงานอย่างไรให้ไม่พลาด หรือถ้าพลาดร้านดังเพราะขายหมดแล้วจะมองหาอะไรอื่นแทนอย่างไรให้ได้ของดี เวลาไหนที่เหมาะจะมาซื้อ เป็นต้น
ก็นับว่าเป็นความสนุกและน่าสนใจอย่างหนึ่งสำหรับคนที่ชอบอาหารท้องถิ่นของแต่ละแห่งนะคะ เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศสำหรับคนที่มาซื้ออาหารกลางวันไปรับประทานในที่ทำงาน หรือซื้อกลับบ้านหลังเลิกงานได้ด้วย
ส่วนเหตุผลที่เอกิเบ็นตั้งราคาไว้สูงกว่าข้าวกล่องทั่วไปมีหลายปัจจัย อย่างแรกคือมีต้นทุนสูงกว่า เพราะนิยมใช้วัตถุดิบภายในประเทศญี่ปุ่นเองซึ่งเป็นของดีมีราคา ในขณะที่ข้าวกล่องทั่วไปจะใช้วัตถุดิบนอกประเทศ ซึ่งราคาถูกและคุณภาพด้อยกว่า
อีกอย่างคือ เอกิเบ็นไม่สามารถลดราคาขายเมื่อใกล้หมดอายุได้เพราะต้องขายตามราคาที่ได้รับอนุญาตไว้ อีกทั้งเอกิเบ็นก็เก็บไว้ในอุณหภูมิปกติ อายุอาหารจึงสั้น ได้แต่รอทิ้งอย่างเดียวเมื่อใกล้กำหนดวันเวลาหมดอายุที่ระบุบนหน้ากล่องอาหาร ในขณะที่ร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาร์เก็ตสามารถลดราคาข้าวกล่องเมื่อใกล้หมดอายุได้ รวมทั้งข้าวกล่องเหล่านี้ก็แช่เย็นไว้ จึงมีอายุอาหารนานกว่าเอกิเบ็น
ราคาที่สูงของเอกิเบ็นทำให้บางคนคิดว่าร้านคงได้กำไรมาก แต่จริง ๆ แล้วเอกิเบ็นส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม บางเจ้าก็เป็นสามีภรรยาช่วยกันทำอยู่แค่สองคน วันหนึ่งอาจทำได้ไม่เกิน 20 ชุดเท่านั้น อีกทั้งแหล่งขายโดยทั่วไปก็จำกัดเพียงแค่ในสถานีใดสถานีหนึ่ง หรือสถานีตามเส้นทางเดินขบวนรถไฟเฉพาะสาย
ได้ทราบเหตุผลอย่างนี้แล้ว ก็ทำให้นึกอยากสนับสนุนเอกิเบ็นเวลาเดินทางด้วยรถไฟไปต่างจังหวัดคราวหน้า จะได้ส่งเสริมการใช้สินค้าที่ผลิตในท้องถิ่น และอุดหนุนผู้ประกอบการรายย่อยให้ประกอบอาชีพต่อไปได้ด้วย ส่วนข้าวกล่องทั่วไปที่วางขายข้างนอกเอาไว้รับประทานโอกาสอื่นได้
สุดท้ายนี้ก่อนจากกันไป ฉันอยากขอบคุณเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่านที่ติดตามอ่านบทความกันเสมอ ๆ นะคะ บางคราวได้รับคำขอบคุณ หรือได้ทราบว่าบทความพอจะมีประโยชน์ หรืออ่านสนุกอยู่บ้าง ฉันก็ดีใจมากเลยค่ะ ทุกกำลังใจเป็นพลังให้ฉันเขียนบทความต่อไปได้ และมีแรงใจที่จะสรรหาเรื่องราวต่าง ๆ มาเล่าสู่กันฟังอีก ขอบคุณจริง ๆ ค่ะ ❤️❤️
ขอให้เพื่อนผู้อ่านได้รับกำลังใจและความเป็นมิตรจากคนรอบข้างเหมือนกับที่ได้ให้แก่ฉันเสมอมานะคะ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.