ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
“ยลศิลป์ยินญี่ปุ่น” คือมุมพิเศษมุมใหม่ที่มาแทน “สะดุดคำ” หลังจากที่ได้นำเสนอมาครบ 3 ปีเต็ม มุมนี้จะแนะนำญี่ปุ่นผ่านงานศิลปะเดือนละครั้ง ด้วยการบอกเล่าแง่มุมที่น่าสนใจในเชิงศิลปะ สังคม และเกร็ดประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการมองผ่านจิตรกรรมประเภทต่าง ๆ ของญี่ปุ่น ประกอบกับคำอธิบายสะท้อนภูมิหลังทางยุคสมัยในลักษณะที่หาอ่านที่อื่นได้ยาก
มีดอกไม้ที่ไหนมีความชื่นใจที่นั่น ดอกไม้ช่วยลดความกระด้างของบรรยากาศได้เสมอ พอรวมตัวกันยิ่งขับพลังออกมา เป็นพลังแห่งสีสันที่ดึงดูดหมู่แมลงและมวลมนุษย์ เป็นจุดพักสายตาให้คนได้ผ่อนคลาย ดอกไม้ย่อมต่างกันไปตามภูมิอากาศและความสูงของพื้นที่ แต่ ‘ความเป็นดอกไม้’ มีลักษณะอันเป็นสากลอยู่ในตัว คนทั่วโลกจึงเห็นดอกไม้เป็นของงามกันทั้งนั้น และอดไม่ได้ที่จะสัมผัส...ดอมดม...ชื่นชม...จ้องมอง...และจำลองมาไว้ใกล้ตัวในหลากหลายรูปแบบ เป็นลายบนผ้า เป็นกลิ่นในอาหาร เป็นภาพประดับ เราจึงได้เห็นลายดอกในทุกวัฒนธรรม ทั้งในงานศิลปะ บนภาชนะ เสื้อผ้า แม้กระทั่งอาหารก็มีดอกไม้แซม หรือรูปลักษณ์อาหารบางอย่างก็ผ่านกระบวนการประดิดประดอยให้เป็นรูปดอกไม้
ดอกไม้และนกคือเป้าหมายหลักบางส่วนของคนญี่ปุ่นในการชมทิวทัศน์มาแต่โบราณ จึงปรากฏเป็นคำสำคัญในสำนวนที่รวบรวมสัญลักษณ์แห่งธรรมชาติเอาไว้ คือ “คะ-โจ-ฟู-เก็ตสึ” ซึ่งสื่อสุนทรียภาพในการดื่มด่ำสิ่งที่อยู่รายรอบ แต่ละคำในสำนวนนี้คือตัวแทนความรื่นรมย์ที่มีรายละเอียดต่างกันตามช่วงเวลาของปี
“คะ”(花;ka หรือ hana) คือ ดอกไม้
“โจ” (鳥; chō หรือ tori) คือ นก
“ฟู”(風; fū หรือ kaze) คือ ลม
“เก็ตสึ” (月; getsu หรือ tsuki) คือ พระจันทร์
เมื่อเขียนอักษรคันจิรวมกัน จะได้ “花鳥風月” อันหมายถึง “ดอกไม้-นก-ลม-พระจันทร์” เป็นคำรวม ๆ ที่บ่งชี้ถึงความสวยงามในทัศนียภาพ และอันที่จริงก็กินความมากกว่าแค่สี่องค์ประกอบ คนญี่ปุ่นเฝ้าสังเกตลักษณะเด่นของสิ่งแวดล้อมตามฤดูกาลที่มีอุณหภูมิต่างกัน รู้สึกได้ทางผิวหนัง เห็นความเปลี่ยนแปลงได้ทางสายตาเมื่อมองต้นไม้ใบหญ้า
ดอกไม้จะบานในช่วงที่เหมาะกับลักษณะทางชีวภาพของมัน และเมื่อผูกติดกับเงื่อนเวลา จึงกลายเป็นดอกไม้ประจำช่วงเวลานั้น ๆ หากแบ่งเป็นฤดู ญี่ปุ่นมีดอกไม้ประจำฤดูทั้งสี่ คือ ใบไม้ผลิ ร้อน ใบไม้ร่วง และหนาว แต่จะแบ่งให้ละเอียดลงไปอีกก็ย่อมได้...กลายเป็นสิบสองเดือน แต่ละเดือนมีดอกไม้เด่นในช่วงนั้นอันเป็นที่มาของจิตรกรรมชุด “ภาพดอกไม้กับนกสิบสองเดือน” (十二ヶ月花鳥図; Jūni ka getsu kachō zu; 1823) นอกจากดอกไม้แล้ว ยังมีสัตว์ตัวจ้อยมาสร้างความกลมกลืนให้ด้วย ผลงานนี้ชุดหนึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักพระราชวัง
เนื่องจากสี่ฤดูของญี่ปุ่นมีอุณหภูมิต่างกันชัดเจน สิ่งมีชีวิตจึงสลับกันปรากฏออกมาตามเวลาที่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ และเมื่อรวบรวมดอกไม้กับสัตว์บางชนิดในช่วงนั้นมาเรียบเรียงเข้าชุดกัน ก็ช่วยตอกย้ำสัมผัสเชิงฤดูกาล ในงานชุดนี้ ชื่อก็บอกเป็นนัยอยู่แล้วว่าเกี่ยวกับเดือน องค์ประกอบหลักจึงสะท้อนโครงเรื่องร่วมกันคือดอกไม้กับนกและแมลงในสิบสองเดือน ส่วนใหญ่เดือนละดอก แต่บางเดือนไม่ใช่ดอกไม้ และบางเดือนมีมากกว่าหนึ่งชนิด
ศิลปินเจ้าของผลงานคือโฮอิตสึ ซากาอิ (酒井抱一;Sakai Hōitsu; 1761-1823) จิตรกรผู้นี้เกิดที่เอโดะ เป็นลูกชายของตระกูลนักรบ พ่อเป็นไดเมียว (เจ้าครองนคร/แคว้น) ผู้ครองปราสาทฮิเมจิ ซึ่งถือว่าเป็นปราสาทโบราณที่อลังการและมีสภาพสมบูรณ์ที่สุดขณะนี้ อยู่ที่จังหวัดเฮียวโงะในปัจจุบัน โฮอิตสึสนใจศิลปะและย้ายไปอยู่ที่เกียวโตซึ่งเป็นนครหลวงในขณะนั้นและเป็นแหล่งบ่มเพาะศิลปกรรมสำคัญ ๆ ของญี่ปุ่น โฮอิตสึศึกษาศิลปะตามสำนักต่าง ๆ และเมื่ออายุสามสิบปลาย ๆ ก็บวช ครองเพศบรรพชิตอยู่ยี่สิบกว่าปีจนสิ้นอายุขัย
คนญี่ปุ่นมีนิสัยอยู่อย่างหนึ่งคือ ชอบแบ่งหมวดหมู่และจัดอันดับ เป็นการวางระบบความคิดของตนให้เป็นระเบียบและกำหนดรูปธรรมให้แก่สิ่งต่าง ๆ เพื่อความเข้าใจง่าย เมื่อประกอบเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ ผลงานของคนญี่ปุ่นจึงมีทั้งความเป็นระเบียบ มีโครงเรื่องชัด และมีลักษณะเฉพาะ ถ้ายกตัวอย่างที่เข้าใจง่าย ๆ และคนต่างชาติคงจะร้องอ๋อ ก็อย่างเช่นการกำหนดให้ขบวนการมนุษย์ไฟฟ้าเข้าคู่กับสีบางสี จนสีแดงกลายเป็นภาพลักษณ์ที่สะท้อนความเป็นผู้นำ หรือการกำหนดลักษณะพิเศษบางอย่างให้เข้าคู่กับตัวละครอื่น ๆ ตลอดจนการทำสถิติของสามอันดับแรกไว้กับแทบทุกสิ่ง
ลักษณะดังกล่าวส่งอิทธิพลไปถึงการจับคู่เดือนกับดอกไม้ ซึ่งอันที่จริงโฮอิตสึไม่ใช่คนแรกที่ทำ แต่ในบรรดาจิตรกรรมดอกไม้ที่ใช้ช่วงเวลาเป็นแกน “ภาพดอกไม้กับนกสิบสองเดือน” ของโฮอิตสึคือกลุ่มที่ได้รับความนิยมกว้างขวางที่สุดด้วยความลงตัวทางสมดุลระหว่างพื้นที่ของดอกหรือพืชอันเป็นตัวเอกกับพื้นที่ว่างรอบ ๆ ซึ่งศิลปะญี่ปุ่นให้ความสำคัญแก่ส่วนนี้ไม่น้อยเช่นกัน ภาพชุดนี้วาดในแนวตั้ง ดูเรียบง่าย สวยในแบบสบายตา และไม่ต้องสังเกตมากก็เห็นได้ว่าเป็นพืชคนละชนิดในทุกภาพ บ้างสีอ่อน บ้างสีเข้ม แต่จะลองสังเกตดูดี ๆ ก็ได้...จะเห็นสัตว์ตัวน้อยในบางภาพ...นกใช่ไหม? อ้อ...บางตัวใช่ แต่บางตัวเป็นแมลง พวกมันเกาะกิ่งก้านบ้าง บินบ้าง
ดอกไม้ใบหญ้าบางชนิดในกลุ่มนี้คนไทยคุ้นชื่อดี เช่น ซากุระ และบ๊วย แต่ก็มีอีกหลายชนิดที่อาจไม่คุ้นตา รวมทั้งนกบางชนิดในบางภาพ หากได้ไล่เลียงไปทีละส่วน นอกจากจะได้รู้ว่าญี่ปุ่นมีพืชและสัตว์ชนิดนั้นแล้ว ก็จะได้เห็นค่านิยมด้านการชมธรรมชาติด้วย ในแต่ละเดือนมีอะไรบ้าง ลองมาดูกัน
ฤดูใบไม้ผลิ
มีนาคม “ซากุระกับไก่ฟ้า”, เมษายน “โบตั๋นกับผีเสื้อ”, พฤษภาคม “ไอริสญี่ปุ่นกับนกอัญชัน”
วัฒนธรรมญี่ปุ่นมีที่สำหรับดอกซากุระเสมอ ไก่ฟ้านั้นเป็นที่จดจำได้แม่นยำในนิทาน “โมโมตาโร” ผู้ได้ไก่ฟ้าเป็นเพื่อนร่วมทางไปปราบยักษ์ ส่วนโบตั๋นแลดูคล้ายซากุระ งดงามไม่แพ้กัน และปรากฏในเรื่องผี “โคมโบตั๋น” ที่สร้างความสยองขวัญผสมกับความเซ็กซี่ตามท้องเรื่อง ผีเสื้อนั้นเป็นที่ชื่นชอบในญี่ปุ่น มีการศึกษาอย่างจริงจังและมีการประชุมวิชาการด้านผีเสื้อกันเป็นประจำ
ดอกไอริสญี่ปุ่น เรียกตามเจ้าของภาษาว่า “คากิตสึบาตะ” (燕子花;kakitsubata) อาจไม่เป็นที่พูดถึงกว้างขวางนักในฐานะดอกไม้ของญี่ปุ่น แต่ถ้าว่ากันถึงภาพ ถือว่าเป็นตัวเอกที่เด่นมากในงานศิลป์ โดยเฉพาะในภาพบนฉากฝีมือของโองาตะ โคริง ส่วนนกอัญชันก็ปรากฏในวรรณกรรมโบราณ ว่ากันว่าส่งเสียงร้องเหมือนเสียงเคาะประตู กิริยาการร้องของนกชนิดนี้จึงไม่เรียกว่า “ร้อง” แต่เรียกว่า “เคาะ”
ฤดูร้อน
มิถุนายน “ฉัตรทองและไฮเดรนเยียกับแมลงปอ”, กรกฎาคม “ข้าวโพดและดอกผักบุ้งกับกบสีเขียว”, สิงหาคม “พระจันทร์กับหญ้าใบไม้ร่วงและแมลง”
กลุ่มนี้ไม่ได้มีแค่ดอกไม้เท่านั้น แต่มีข้าวโพดและหญ้าด้วย และไม่มีนก แต่มีแมลงกับกบ สำหรับดอกฉัตรทองของเดือนมิถุนายน เป็นดอกไม้ที่ปรากฏในวรรณกรรมสำคัญอย่างประชุมกลอนโบราณ “มังโยชู” และนิยายขนาดยาว (มาก) “เก็นจิโมโนงาตาริ” คนญี่ปุ่นใช้ดอกกับรากของฉัตรทองเป็นยามานานแล้ว ในภาพเดียวกันมีอาจิไซ (紫陽花;Ajisai) หรือไฮเดรนเยีย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของช่วงฝนชุกก่อนเข้าสู่หน้าร้อนเต็มตัว
ถัดมาคือต้นข้าวโพดที่ยื่นใบเรียว ๆ มาล้อกับดอกของพืชจำพวกผักบุ้งชนิดหนึ่ง ซึ่งคนญี่ปุ่นคุ้นเคยกันตั้งแต่เด็ก ๆ เรียกว่า “อาซางาโอะ” (朝顔; Asagao) แปลตามตัวอักษรว่า “ใบหน้ายามเช้า” เป็นพืชที่ปลูกง่าย ตามโรงเรียนประถมมีให้เห็นทั่วไป สีที่พบเห็นบ่อยคือม่วง/น้ำเงิน และต่อมาในเดือนสิงหาคม ซึ่งแม้จะยังร้อนอยู่ แต่จิตรกรได้ใส่ “หญ้าประจำฤดูใบไม้ร่วง” ลงไป และส่วนที่ต่างจากภาพอื่นคือพระจันทร์โดดเด่น ส่วนสัตว์ 2 ชนิดในภาพ ได้แก่ กบและแมลง อยู่หนใดกันเล่า คงต้องกวาดตามองกันให้ดี
ฤดูใบไม้ร่วง
กันยายน “เบญจมาศกับนกน้อย”, ตุลาคม “พลับกับนกจับคอนตาขาว”, พฤศจิกายน “อ้อกับนกกระยาง”
ดอกเบญจมาศคือดอกไม้สัญลักษณ์ของราชวงศ์ญี่ปุ่น มีหลายสี ที่ปรากฏในนี้คือขาว เหลือง และแดง ลายดอกเบญจมาศพบเห็นได้ทั่วไปบนชุดกิโมโน ถ้วยชาม หรือแม้แต่บนเงินเหรียญห้าสิบเยนของญี่ปุ่น ส่วนภาพของเดือนตุลาคมไม่ใช่ไม้ดอก แต่เป็นไม้ผลประจำฤดูใบไม้ร่วง...“ลูกพลับ” นั่นเอง ปัจจุบันนี้ พลับไม่ได้เป็นแค่ผลไม้เท่านั้น แต่กลายเป็นขนม เป็นกลิ่น เป็นสบู่ชั้นดีแพร่หลายอยู่ในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นด้วย
ต่อมาคือหญ้าจำพวกอ้อหรือแขมที่มักขึ้นริมน้ำ เป็นพืชที่ใกล้ชิดกับมนุษย์เพราะนำมาใช้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น ทำกระดาษ มุงหลังคา ทั้งยังปรากฏในสุภาษิต คือ “ส่องหลังคาจากไส้ต้นอ้อ” หมายถึงการจ้องมองผ่านช่องกลวงกลางลำต้นอ้อที่แคบ ๆ แล้วคิดไปเองว่ามองเห็นหลังคาได้ทั่วถึง เป็นการเปรียบเปรยผู้ที่มีความรู้หรือวิสัยทัศน์แคบ ๆ และคิดเข้าข้างตัวเองว่ามีความรู้มาก
นกที่ปรากฏ มีนกเล็ก ๆ คือ นกจับคอนตาขาว ลำตัวมีขนสีเขียว ส่วนชื่อได้มาจากลักษณะของตาซึ่งมีพื้นที่สีขาวมาก และนกอีกชนิดหนึ่งเป็นนกขนาดใหญ่หน่อย คือ นกกระยาง ในความเป็นจริง เนื่องจากนกกระยางใช้ชีวิตเป็นกลุ่ม จึงสร้างความเดือดร้อนแก่คนญี่ปุ่น เช่น มูล กลิ่นเหม็นเน่าของเหยื่อกับลูกนก และเสียงร้อง แต่ศิลปกรรมของญี่ปุ่นมีนกกระยางปรากฏบ่อยเพราะสีขาวแลดูสวยงามและท่าบินดูสง่าเวลากางปีก มาถึงตรงนี้แล้วอดนึกถึงโคลงโลกนิติของไทยไม่ได้ “ยางขาวขนเรียบร้อยดูดี [...] กินสัตว์เสพปลามีชีวิต เฉกเช่นชนชาติร้าย นอกนั้นนวลงาม”
ฤดูหนาว
ธันวาคม “สนฮิโนกิกับนกหัวขวาน”, มกราคม “บ๊วยและคามิเลียกับนกกระจ้อย”, กุมภาพันธ์ “เรปกับนกจาบฝน”
ญี่ปุ่นมีต้นสนหลายชนิดและมีชื่อเรียกต่างกัน ชนิดที่เป็นปรปักษ์กับคนญี่ปุ่นมากที่สุดคือ “สนซูงิ” เพราะละอองเกสรทำให้เกิดอาการแพ้ทั่วประเทศ สนในภาพเดือนธันวาคมคือ “ฮิโนกิ” (檜; Hinoki) พบเห็นได้ทั่วไปตามป่าเขา คนที่แพ้ละอองสนฮิโนกิก็มีเช่นกัน แต่ไม่รุนแรงเท่าสนซูงิ
บ๊วยเป็นดอกไม้ทรหดที่บานก่อนดอกไม้ชนิดอื่นแม้อากาศยังหนาวอยู่ ด้วยคุณสมบัติแบบนี้จึงถือว่าเป็นดอกไม้มงคล ส่วนคามิเลีย เรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “สึบากิ” (椿;Tsubaki) ได้รับฉายา “กุหลาบเหมันต์” พบเห็นโทนสีแดง/ชมพูได้บ่อย คนญี่ปุ่นนำน้ำมันสึบากิมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่สมัยโบราณ และสึบากิได้กลายเป็นยี่ห้อยาสระผมชื่อดังด้วย สุดท้ายคือ “ดอกเรป” หรือ “นาโนฮานะ” (菜の花; Nano-hana) พบเห็นดอกสีเหลืองได้บ่อยที่สุด เป็นดอกไม้อีกชนิดหนึ่งที่คนญี่ปุ่นคุ้นเคยกันมาก นำต้นมาทำเป็นอาหารและนำมาสกัดน้ำมัน เมื่อปลูกรวมกันเป็นทุ่งจะแลดูละลานตาและเป็นจุดท่องเที่ยว
ในบรรดานก 3 ชนิด ได้แก่ นกหัวขวาน นกกระจ้อย และนกจาบฝน ชื่อที่คนญี่ปุ่นคุ้นหูที่สุดน่าจะเป็น “นกจาบฝน” หรือ “ฮิบาริ” (雲雀;hibari) เพราะนักร้องหญิงซึ่งคนญี่ปุ่นยกย่องว่ามีน้ำเสียงเป็นอมตะระดับตำนานแม้ล่วงลับไปแล้ว...“ฮิบาริ มิโซระ” มีชื่อพ้องกับนกชนิดนี้ และแน่นอนว่านกจาบฝนญี่ปุ่นมีเสียงร้องเพราะพริ้งเป็นเอกลักษณ์ อีกทั้งยังเป็นเสียงสัญญาณต้อนรับการมาของฤดูใบไม้ผลิอีกด้วย
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com