xs
xsm
sm
md
lg

เงิน 20 ล้านเยนหลังเกษียณ พอไหมสำหรับคนญี่ปุ่น?

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


“ชีวิตหลังเกษียณควรมีเงินเท่าไรถึงจะดำรงชีวิตได้?”

คำถามนี้มีมาพักใหญ่แล้วในญี่ปุ่น แต่กลายเป็นเรื่องใหญ่ ‘เป็นพิเศษ’ ไม่นานนี้หลังจากกลุ่มปฏิบัติงานประจำสำนักงานการเงิน (金融庁;Financial Serviced Agency) ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญที่วิเคราะห์และสนองนโยบายการเงินการคลังของรัฐบาลได้จัดทำรายงานโดยระบุว่าเงิน 20 ล้านเยนอาจไม่เพียงพอสำหรับครอบครัวสามีภรรยาหลังเกษียณ

เรื่องนี้ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ไปทั่ว ทางด้านรัฐมนตรีคลังซึ่งอยู่ในฐานะผู้ดูแลหน่วยงานนี้ด้วยก็ไม่ยอมรับรายงานฉบับนั้น ถึงกับระบุว่า “ใช้ถ้อยคำสำนวนที่ไม่เหมาะสม” ทางด้านนักวิจารณ์การเงินบางคนก็ร่วมด้วยช่วยต้านโดยระบุว่า “20 ล้านเยน มันก็น่าจะพอ” ว่าแต่ทำไมถึงเป็นประเด็น? เหตุผลง่าย ๆ คือตัวเลขนั้นสร้างความหวั่นไหวให้แก่การวางแผนชีวิตของคนญี่ปุ่นซึ่งมีอายุยืนยาวกว่าเดิม

ถ้าพิจารณาจากสายตาคนนอก อาจมองไม่ออกว่าทำไมแค่นี้ถึงกลายเป็นเรื่องเป็นราวระดับประเทศ และตัวเลขนั้นไม่น่าจะเป็นปัญหาสำหรับคนญี่ปุ่นซึ่งมีรายได้สูงหรือเปล่า แต่ทว่าความเป็นจริงคือ 1) คนญี่ปุ่นซึ่งมีลักษณะนิสัยยึดมั่นในความมั่นคง มักมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่ส่อเค้าว่าจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่ ‘นิ่ง’ หรือมีเสถียรภาพอยู่แล้ว, 2) การมีเงินเก็บ 20 ล้านเยนไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคนในประเทศนี้ และถือว่าเป็นเรื่องยากด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าติดตามในรายละเอียด

ตัวเลข 20 ล้านเยนหมายถึง “เงินเก็บ” เท่านั้น โดยยังคงมีรายได้จาก “เงินสำรองเลี้ยงชีพ” ทุกเดือนหลังจากหยุดทำงานประจำแล้ว โดยเมื่อแปลงเป็นเงินไทยในขณะนี้คือประมาณ 6.5 ล้านบาท ดู ๆ ไปเหมือนไม่มากหากเทียบกับราคาบ้านหรือคอนโดหลายแห่งในกรุงเทพฯ แต่อย่าลืมว่าคนญี่ปุ่นไม่ได้รวยกันทั้งประเทศ แม้มีรายได้สูง แต่ค่าครองชีพก็สูง และมีรายจ่ายสารพัด

เมื่อย้อนไปดูรายงานต้นสายปลายเหตุ จะพบข้อความที่เป็นตัวอย่างการคำนวณจากสถานการณ์ทั่วไป มีใจความว่า สำหรับคู่สามีภรรยาที่ไม่มีอาชีพและดำรงชีวิตอยู่ด้วยเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหลังเกษียณเท่านั้น สมมุติว่าสามีอายุ 65 ปีขึ้นไป และภรรยาอายุ 60 ปีขึ้นไป เมื่อคำนวณรายจ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนแล้ว แต่ละเดือนจะชักหน้าไม่ถึงหลังประมาณ 5 หมื่นเยน ถ้าประเมินว่าจะมีชีวิตต่อไปอีก 20-30 ปี ก็จำเป็นต้องมีเงินมามาชดเชยส่วนนั้น 13 – 20 ล้านเยน ซึ่งหมายถึงเงินเก็บนั่นเอง

คำพูดของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง เมื่อทางการประกาศเรื่องเงินไม่พอใช้หลังเกษียณ สิ่งที่ถูกตั้งคำถามคือ 1) ระบบประกันสังคมทำไมไม่จ่ายเงินให้พอใช้ล่ะ, 2) จะหาเงินอย่างไรให้พอสำหรับชีวิตหลังเกษียณ สิ่งเหล่านี้มีแต่สร้างความสั่นคลอนแก่ชีวิต แต่ถ้าถามหาวิธีแก้ละก็ แม้แต่รัฐบาลญี่ปุ่นก็ไม่มีคำตอบให้ มีแต่วิธี ‘เอาตัวรอด’

ระบบประกันสังคมของญี่ปุ่นมีแต่จะแย่ลงทุกวัน เพราะเป็นระบบที่นำเงินของคนวัยทำงานไปเลี้ยงดูคนชราหลังเกษียณ (บวกกับเงินสะสมของคนชราเองที่เคยจ่ายไว้ในวัยทำงาน และเงินสนับสนุนบางส่วนจากบริษัท) เมื่อคนเกิดน้อยลง คนวัยทำงานก็น้อยลง เห็นภาพได้ง่าย ๆ ว่าเงินที่จะนำไปอุ้มคนชราย่อมลดลงเป็นธรรมดา แนวโน้มการเอาตัวรอดของญี่ปุ่นในขณะนี้คือ ยืดระยะการเริ่มมีสิทธิ์รับเงินสำรองเลี้ยงชีพออกไปอีก หรือเปลี่ยนวิธีคำนวณเสียใหม่เพื่อจ่ายน้อยลง

ระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของญี่ปุ่นค่อนข้างซับซ้อน สรุปโดยย่อคือในวัยทำงานทุกคนจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือพนักงานเอกชนหรือเจ้าของธุรกิจส่วนตัว (สำหรับผู้ที่ไม่มีรายได้ ส่วนใหญ่คู่สมรสจ่ายให้) เพื่อสะสมไว้ตามจำนวนปีที่กำหนดจนกว่าจะเกษียณ ก็จะได้รับเงินนั้นมาใช้เป็นรายเดือนไปจนกระทั่งเสียชีวิต เงินที่จะได้รับคืนมาใช้นั้นมากน้อยแล้วแต่คน ขึ้นอยู่กับรายได้เดิม จำนวนเงินที่ตัวเองเคยจ่ายไป และต้นสังกัดขณะที่ทำงานอยู่ว่ามีข้อกำหนดอย่างไร เมื่อคำนวณตัวอย่างเงินสำรองเลี้ยงชีพที่จะได้รับโดยสังเขปเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นจะได้ดังนี้

สมมุติว่าได้สักประมาณ 2 ล้านเยนต่อปี เฉลี่ยแล้วจะได้เดือนละประมาณ 160,000 เยน หรือราว 50,000 บาท จริง ๆ แล้วก็น่าจะพอแม้จะต้องอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ยบ้าง แต่ในเมื่อระบบประกันสังคมกำลังแย่ ต่อไปก็ไม่แน่ว่าจะได้รับเท่านี้หรือไม่ จึงกลายเป็นความกังวลขึ้นมา

ส่วนเรื่องวิธีหาเงินให้พอสำหรับชีวิตหลังเกษียณนั้น เป้าหมายแรกที่คนญี่ปุ่นมองคือ “เงินสะสมเมื่อเกษียณ” บริษัทและองค์กรของญี่ปุ่นแทบทุกแห่งมีระบบเงินสะสมที่จะจ่ายให้เป็นก้อนเมื่อพนักงานเกษียณอายุ แน่นอนว่าตัวเงินย่อมแตกต่างกันออกไปตามฐานเงินเดือนและองค์กร ตัวอย่างการข้อมูลเงินสะสมมีดังนี้

แต่ทว่าคนญี่ปุ่นจำนวนมากนำเงินก้อนนี้ไปจ่ายหนี้เงินกู้เพื่อซื้อที่พักอาศัย เป็นการเพื่อปลดหนี้ก้อนสุดท้าย ส่วนใหญ่จะอยู่แถว ๆ 10 ล้านเยน ดังนั้นแม้ตัวเลขที่ได้รับนั้นอาจดูเยอะ แต่เอาเข้าจริงมักจะเหลือไม่เท่าไร พอทางการประกาศตัวเลข 20 ล้านเยนสำหรับชีวิตหลังเกษียณออกมา จึงกลายเป็นปัจจัยแห่งความกดดันนั่นเอง

และแล้วเมื่อรัฐมนตรีคลังไม่ยอมรับข้อมูล 20 ล้านเยน และกระแสสังคมก็ต่อต้าน จึงมีการเสนอข้อมูลวิธีคำนวณแบบอื่นออกมา อย่างเช่นสถาบันวิจัย NLI ได้ให้รายละเอียดไว้และหนังสือพิมพ์ Mainichi นำมาเผยแพร่ต่อ ตัวเลขที่ออกนั้นเป็นไปในทำนองว่า ถ้าคุณยอมลดมาตรฐานการใช้ชีวิตลงนิดหน่อยจากตอนนี้ เช่น 5%-10% ก็อาจเครียดน้อยลงและมีทางเลือกมากขึ้นดังนี้

ทั้งหมดนี้คือสถานการณ์โต้กันกลับไปกลับมาและพยายามหักล้างกันว่าด้วยเงินเก็บหลังเกษียณ ถ้าถามผม ผมมองว่าสำนักงานการเงินคงไม่ได้มีเจตนาร้ายที่จะสร้างความหวั่นไหวให้เกิดแก่ประชาชนแต่อย่างใด แต่บังเอิญว่านี่เป็นความจริงที่คนจำนวนมากไม่รู้ว่าจะตั้งรับอย่างไร จึงเกิดกระแสตื่นตระหนกมากมาย หากจะตำหนิคงต้องบอกว่าทางสำนักงานฯ อาจยังให้ข้อมูลไม่มากพอในด้านทางเลือกว่าควรจะใช้ชีวิตอย่างไรให้อยู่ได้ และไม่ได้มีการคำนวณแบบทางเลือกดังที่เอกชนทำออกมา

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์แบบนี้คงจะเป็นสัญญาณให้ญี่ปุ่นปรับตัวระลอกใหญ่ด้านการเงินการคลังและอาจรวมไปถึงด้านการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องความรู้การบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคลของประชาชนที่จะครอบคลุมไปถึงการลงทุนด้านต่าง ๆ ด้วย ผมเห็นว่าควรจัดทำเป็นวิชาแล้วบรรจุลงในหลักสูตรตั้งแต่ระดับมัธยมปลายไปจนถึงมหาวิทยาลัย เพื่อให้ประชาชนเอาตัวรอดได้เมื่อไม่มีเรี่ยวแรงจะลงแต่ยังพอมีทุน ซึ่งญี่ปุ่นก็ยังไม่ได้ปรับตัวในส่วนนี้ และสถานการณ์แบบเดียวกันนี้ก็กำลังเกิดขึ้นกับประเทศไทยด้วย ในช่วงสองสามปีมานี้เริ่มมีการพูดถึงเงินเก็บตอนเกษียณกันมากขึ้น แต่ความรู้และการเตรียมพร้อมของประชาชนไทยในการตั้งรับต่อไปอีกสิบหรือสิบห้าปีข้างหน้ายังไม่ค่อยเป็นรูปเป็นร่างเท่าไร

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น