คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รัก ช่วงนี้คงได้ข่าวกันว่าญี่ปุ่นเริ่มล่าวาฬเชิงพาณิชย์แล้ว หลังญี่ปุ่นตัดสินใจออกจากคณะกรรมการล่าวาฬระหว่างประเทศ (IWC) เมื่อปีกลาย ซึ่งเหตุผลหนึ่งคาดว่าเป็นเพราะต้องการลดแรงกดดันจากนานาชาติ แต่ญี่ปุ่นกลับโดนประชาคมโลกไล่ต้อนไม่เลิกรา ทั้งตอนที่ยังเป็นสมาชิก ตอนออกจากการเป็นสมาชิก และตอนนี้ที่หันมาเริ่มล่าวาฬเพื่อการค้า เพราะอะไรญี่ปุ่นจึงดูเหมือนจะโดนเฉ่งหนักกว่าประเทศอื่น ๆ ที่ล่าวาฬกันนะ?
ญี่ปุ่นอ้างว่า “ประเทศอื่นอีกเกือบ 10 ประเทศก็ล่าวาฬเหมือนกันนั่นแหละ” แน่นอนว่าญี่ปุ่นไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่ล่าวาฬ มีอยู่สามประเทศที่โดนเพ่งเล็งหนักคือ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และญี่ปุ่น เนื่องจาก IWC มีมติระงับการล่าเชิงพาณิชย์อยู่แท้ ๆ แต่นอร์เวย์และไอซ์แลนด์ไม่สนใจ จะล่าเชิงพาณิชย์เสียอย่าง ส่วนญี่ปุ่นแม้จะอ้างว่า “เพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์” แต่การกระทำของญี่ปุ่นเต็มไปด้วยข้อกังขาจากนานาชาติอย่างยิ่ง ซึ่งเดี๋ยวจะเล่าต่อไป ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่เหลือล่าในเชิงวัฒนธรรมซึ่งได้รับการยกเว้นให้ล่าได้ และปริมาณที่ล่าก็น้อย
เรื่องอื่น ๆ ที่สามเกลอ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และญี่ปุ่นถูกวิพากษ์วิจารณ์คล้ายกัน ได้แก่ ความต้องการอุปโภคบริโภคปลาวาฬที่ลดลง และปัจจุบันจำกัดอยู่แค่ในหมู่คนส่วนน้อยนิดจนไม่จำเป็นต้องล่าปลาวาฬอย่างเอิกเกริก (นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และญี่ปุ่น) หรือการที่รัฐให้เงินอุดหนุนเพื่อส่งเสริมการล่าปลาวาฬ (นอร์เวย์และญี่ปุ่น) รวมทั้งการล่าปลาวาฬตั้งท้อง (นอร์เวย์และญี่ปุ่น) หรือการล่าปลาวาฬใกล้สูญพันธุ์ (ไอซ์แลนด์) เป็นต้น
แต่จากหลักฐานต่าง ๆ พบว่าญี่ปุ่นดูเหมือนจะทำเลยเถิดกว่าใครเพื่อนในหลายแง่ ซึ่งนี่เองน่าจะเป็นจุดที่ทำให้ญี่ปุ่นโดนประนามเรื่องล่าวาฬมากกว่าประเทศอื่น ประเด็นเหล่านั้นได้แก่
1.เหตุผล “เพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์” ฟังไม่ขึ้น
จุดนี้เป็นประเด็นที่ญี่ปุ่นโดนโจมตีหนักที่สุด โดยถูกหาว่าใช้ประโยชน์จากข้อยกเว้นของ IWC ที่ให้ล่าวาฬได้หากเป็นไปเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และเอาข้อนี้มาสร้างความชอบธรรมในการล่าวาฬให้ตัวเอง แต่ทั่วโลกมองว่าการล่าวาฬของญี่ปุ่นไม่ได้มีนัยทางวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด แถมปลายทางของการล่าวาฬ “เพื่อวิจัยทางวิทยาศาสตร์” ก็จบลงที่จานอาหาร ซึ่งบางคนก็กล่าวว่าไม่มีนักวิจัยที่ไหนเอาวัตถุดิบในการวิจัยมาเป็นอาหารกันหรอกนะ
ในขณะเดียวกันนอร์เวย์กับไอซ์แลนด์ชัดเจนตรงที่ไม่ยอมรับมติระงับล่าวาฬเชิงพาณิชย์ของ IWC และออกล่าอย่างเปิดเผย อย่างน้อยจึงถือว่าไม่ได้เอาข้ออ้างมาบังหน้าเพื่อให้ได้ล่าวาฬอย่างญี่ปุ่น เขาก็เลยยกความดีให้นอร์เวย์กับไอซ์แลนด์อยู่ข้อหนึ่งว่าอย่างน้อยก็จริงใจ!!
เป็นที่กล่าวกันว่า การวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับวาฬไม่จำเป็นต้องใช้การฆ่าก็ได้ และงานวิจัยที่ได้จากประเทศล่าวาฬและประเทศไม่ล่าวาฬ ก็แทบไม่ต่างกันอีกด้วย
2.เป็นประเทศเดียวที่รุกล้ำเข้าไปในน่านน้ำอื่น ๆ
ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ล่าวาฬกันในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตัวเอง ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวที่ออกไปล่านอกเขตของตนเอง โดยเข้าไปยังน่านน้ำสากลและเขตแดนของประเทศอื่น ๆ ทั้งซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ นับว่าเป็นการล่าวาฬที่กินบริเวณกว้างขวางกว่าประเทศอื่น ๆ มาก
3.เข้าไปล่าวาฬถึงเขตอนุรักษ์
ในปี พ.ศ. 2537 IWC ประกาศให้น่านน้ำในซีกโลกใต้เป็นเขตอนุรักษ์และห้ามไม่ให้มีการล่าวาฬ แต่ญี่ปุ่นก็คัดค้านและยังคงเดินหน้าล่าวาฬต่อ ในที่สุดเมื่อปี พ.ศ. 2557 ศาลโลกก็ตัดสินว่าการล่าวาฬในซีกโลกใต้ของญี่ปุ่นผิดกฎหมาย และไม่มีความจำเป็นอันใดต่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ด้วย ญี่ปุ่นยอมเลิก แต่ในปีถัดมาก็หันกลับมาล่าในเขตอนุรักษ์ตามเดิม
ในน่านน้ำซีกโลกใต้ที่ว่านี้มีวาฬ Minke อุดมสมบูรณ์ (และเป็นพันธุ์ที่ญี่ปุ่นล่ามากที่สุด) ญี่ปุ่นอ้างว่าการล่าวาฬของตนเป็นไปเพื่อพิสูจน์ว่า ประชากรวาฬมีมากพอที่จะให้กลับมามีการล่าเชิงพาณิชย์อีกครั้งหรือไม่ ฟังแล้วพิกลนะคะ คือถ้าไม่แน่ใจว่ามันมีปริมาณมากพอไหมก็น่าจะระงับการล่า รอให้วาฬขยายพันธุ์ให้เต็มที่ แล้วค่อยล่า แต่กลับทำตรงกันข้ามแล้วพูดไปเสียอีกอย่าง
4.ล่าวาฬจำนวนมากที่สุด
จากข้อมูลของ IWC พบว่า หลังมีมติระงับการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ฤดูกาล พ.ศ. 2528-2529 เป็นต้นมาจนถึง พ.ศ. 2558 ญี่ปุ่นล่าวาฬไปทั้งสิ้นประมาณ 21,000 ตัว จากทั้งสิ้นประมาณ 52,000 ตัวที่ถูกล่าทั่วโลก รองลงมาคือนอร์เวย์ ซึ่งล่าไปทั้งสิ้นเกือบ 13,000 ตัว ส่วนไอซ์แลนด์นั้น แม้จะล่าในเชิงพาณิชย์แต่จำนวนก็อยู่ที่เกือบ 1,700 ตัว (แต่ทั้งนี้ก็ไม่มีข้อมูลการล่าวาฬในช่วง 10 ปีที่ไอซ์แลนด์ออกจากการเป็นสมาชิก IWC)
ญี่ปุ่นอ้างว่าตนไม่ได้ล่าวาฬที่ใกล้สูญพันธุ์ รวมทั้งประชากรวาฬพันธุ์ที่ตนล่าก็ยังอุดมสมบูรณ์ ไม่ก่อให้เกิดปัญหาแต่อย่างใด ทั้งยังตอบโต้ว่า IWC ไม่รักษาคำพูดที่ว่า หากประชากรวาฬอุดมสมบูรณ์ขึ้นแล้วจะอนุญาตให้มีการล่าวาฬเชิงพาณิชย์อีก ซึ่งว่ากันว่าปัจจุบันประชากรวาฬก็เพิ่มขึ้นกว่าเมื่อก่อนแล้ว
5.ล่าวาฬอย่างทารุณ?
จะว่าไปก็ไม่เชิงว่าญี่ปุ่นล่าวาฬทารุณกว่าประเทศอื่น คือการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ในปัจจุบัน นิยมใช้วิธียิงฉมวกติดระเบิดออกจากเรือ พอฉมวกปักลึกลงไปในตัววาฬถึงประมาณ 1 ฟุตก็จะระเบิดภายในตัววาฬ ทำลายสมองหรือทำให้สลบภายในไม่กี่วินาที
แต่ใช่ว่าฉมวกระเบิดจะโดนตำแหน่งนี้ได้ทุกครั้งไป หากวาฬยังไม่ตายก็จะยิงฉมวกระเบิดนัดสองหรือปืนไรเฟิล จากนั้นค่อยลากมายังเรือด้วยเชือกที่ติดอยู่กับฉมวกนั้นเอง ด้วยความที่ยังมีลูกระเบิดคาอยู่ในร่าง หากวาฬยังไม่สลบหรือตายก็จะเจ็บปวดแสนสาหัสอยู่หลายนาทีหรือหลายชั่วโมง มีคนกล่าวไว้ว่าหากวาฬร้องได้ คงร้องโหยหวนไปทั่วคุ้งน้ำจนไม่มีใครคิดกล้าล่าวาฬอีกเลย
อย่างไรก็ดี มีรายงานว่าอัตราความแม่นยำในการฆ่าวาฬให้ตายทันทีของญี่ปุ่นยังต่ำกว่านอร์เวย์ ซึ่งใช้อุปกรณ์ทันสมัยและราคาสูงกว่า อีกทั้งญี่ปุ่นยังมีการใช้ฉมวกแบบดั้งเดิมในการฆ่าวาฬบางส่วนด้วยหากไม่ตายด้วยฉมวกติดระเบิดในคราวแรก ซึ่ง IWC ได้ห้ามการใช้ฉมวกแบบดั้งเดิมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 แล้ว
บางคนเข้าใจว่าวิธีล่าวาฬของญี่ปุ่นโหดกว่าประเทศอื่น นั่นอาจเป็นเพราะเราเห็นญี่ปุ่นตกเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง ยิ่งกลุ่มอนุรักษ์ตีแผ่ภาพที่ดูโหดร้ายของการล่าวาฬโดยญี่ปุ่นในเขตอนุรักษ์วาฬ รวมถึงการล่าวาฬแม่ลูกอ่อนหรือวาฬตั้งท้องไปเป็นจำนวนมาก จึงยิ่งโดนโลกตั้งกระทงเพิ่มอีกดอกว่า "ทารุณกรรมสัตว์"
แต่ใช่ว่าการล่าวาฬเชิงวัฒนธรรมจะไม่โหดนะคะ เผลอ ๆ จะดูป่าเถื่อนยิ่งกว่า อย่างเทศกาลล่าวาฬของเกาะฟาโร ที่ไล่ต้อนฝูงวาฬขนาดเล็ก(จัดเป็นโลมาชนิดหนึ่งด้วย) ให้มาเกยตื้น แล้วเชือดหมู่พร้อมกันจนน้ำทะเลกลายเป็นสีแดงฉานไปทั่วบริเวณ คนต่อต้านกันมากถึงความทารุณและไม่จำเป็นของการฆ่า ทั้งยังมีนักวิทยาศาสตร์และแพทย์กล่าวว่าเนื้อเหล่านี้มีสารพิษ ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายในระดับสูงและขอให้เลิกประเพณีนี้เสียที แต่ก็ไม่สำเร็จ
โดยสรุปแล้วก็คงไม่แปลกที่ญี่ปุ่นจะโดนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องล่าวาฬอย่างหนาหู เพราะในขณะที่กระแสโลกออกจะเป็นไปในทางอนุรักษ์วาฬ แต่ญี่ปุ่นดูจะไม่ระย่อต่อความพยายามจำกัดการล่าวาฬเลยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นอกจากจะล่าต่อไปเรื่อย ๆ ล่าเยอะกว่า และในพื้นที่กว้างกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ แล้ว ยังบอกว่าล่าเพื่อการวิจัย แต่กลับขายทอดตลาดเป็นอาหาร ครั้นพอโดนนานาชาติประณามก็อ้างว่า เพื่อรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิม ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันคนที่บริโภควาฬมีน้อยมาก มีเฉพาะคนรุ่นเก่าบางส่วนเท่านั้น ในขณะที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่เคยรับประทานเนื้อวาฬด้วยซ้ำไป
บางคนตั้งข้อสังเกตว่าญี่ปุ่นโดนประเทศตะวันตกเหยียดชาติพันธุ์หรือเปล่า ถึงได้โดนถล่มเยอะนัก ข้อนี้ฉันคิดว่าคงไม่ใช่ น่าจะเพราะแหล่งข่าวของตะวันตกมีเยอะ กลุ่มอนุรักษ์ส่วนใหญ่ก็เป็นประเทศตะวันตก องค์กรระหว่างประเทศก็มักก่อตั้งโดยเริ่มจากประเทศตะวันตกอีก เลยอาจดูเหมือนญี่ปุ่นโดนชาติตะวันตกรังแก
อย่างไรก็ตาม การที่ญี่ปุ่นออกจาก IWC และหันมาล่าวาฬเชิงพาณิชย์อาจจะเป็นเรื่องดี ตรงที่ในที่สุดญี่ปุ่นก็เลิกอ้างเรื่องการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เสียที และสามารถล่าวาฬได้จำกัดเฉพาะภายในน่านน้ำของตัวเองเท่านั้น
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.