xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นทำอย่างไรกับขยะพลาสติก

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


การรณรงค์ด้านพลาสติกโดยพยายามให้ “ลดการใช้ หมุนเวียนใหม่ รีไซเคิล” (Reduce, Reuse, Recycle) กำลังเป็นกระแสทั่วโลก เพราะปัญหาขยะพลาสติกในทะเลกำลังเข้าขั้นวิกฤติ แต่ถ้าเลิกใช้พลาสติกอย่างปัจจุบันทันด่วน ผู้คนคงเดือดร้อนไม่น้อย ตอนนี้ในประเทศต่าง ๆ จึงค่อย ๆ เกิดความเคลื่อนไหวเพื่อบรรลุเป้าหมายแก้ปัญหาขยะพลาสติก แต่ในญี่ปุ่น ถ้าถามถึงความตระหนักในระดับประชาชนตอนนี้ละก็ ยังถือว่าต่ำมาก อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นในฐานะประเทศที่มีบทบาทระดับแนวหน้าของโลกก็พยายามไม่นิ่งเฉย และได้แสดงภาวะผู้นำในการประชุมกลุ่มประเทศที่สำคัญและชาติที่เศรษฐกิจกำลังเฟื่องฟู 20 ชาติ หรือ G20

ที่ประชุม G20 ครั้งล่าสุดจัดที่นครโอซากาทางตะวันตกของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 28-29 มิถุนายน (ไทยไม่ใช่สมาชิก G20 แต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมในฐานะประธานอาเซียน) ญี่ปุ่นแสดงความเป็นผู้นำด้วยการออก “วิสัยทัศน์โอซากามหาสมุทรสีคราม” (Osaka Blue Ocean Vision) โดยเห็นพ้องกันว่าจะพยายามลดมลภาวะเพิ่มเติมที่เกิดจากขยะพลาสติกในทะเลให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 อีกทั้งวางกรอบงานให้แต่ละประเทศรายงานนโยบายและการปฏิบัติของตนอย่างสม่ำเสมอด้วย จากวิสัยทัศน์นี้ นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะของญี่ปุ่นประกาศว่า ญี่ปุ่นจะสนับสนุนความพยายามของประเทศกำลังพัฒนาในการสร้างสาธารณูปโภคเพื่อการกำจัดขยะ

เมื่อมองภาพรวมของขยะพลาสติกในระดับโลก โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ประเมินว่าปริมาณพลาสติกทั่วโลกในแต่ละปีคือ 400 ล้านตัน ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง เช่น ขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่ม ถุงพลาสติก หลอด พอเป็นขยะก็มีทั้งขยะที่ถูกเก็บรวบรวมกลับเข้าระบบบำบัด และขยะที่ไม่ได้กลับเข้าระบบ ส่วนหลังนี้อาจถูกฝน หรือพายุ หรือแม้แต่คน ทำให้กระจัดกระจายลงสู่แหล่งน้ำ

ในบรรดาขยะพลาสติกในทะเล ประเภทที่มีมากที่สุดคือ ก้นบุหรี่ (พลาสติกชนิดหนึ่ง ทำจากเซลลูโลสอะซิเทต) รองลงมาคือขวดพลาสติกและถุงพลาสติกตามลำดับ นอกจากนี้ ของบางอย่างก็กลายเป็นขยะโดยที่ผู้ใช้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ อย่างเช่นหญ้าเทียม เมื่อใช้ไปนาน ๆ จะเสื่อมสภาพและแตกร่วน พอถูกฝนชะ จะกระจายไปทั่วโดยไม่ได้ตั้งใจ และตกลงไปในแม่น้ำบ้าง ท่อระบายน้ำบ้าง หรือการทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทางก็ทำให้ขยะเกลื่อนไปทั่ว เมื่อเกิดสิ่งเหล่านี้มากขึ้นในหลายประเทศย่อมกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก สร้างมลภาวะแก่ทะเล และเป็นภัยต่อชีวิตสัตว์ดังเช่นกรณีผ่าท้องวาฬแล้วพบขยะพลาสติกหลายกิโลกรัม

ในกรณีของญี่ปุ่น หากลองใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นสักพักจะรู้สึกได้ทันทีว่าญี่ปุ่นใช้พลาสติกเยอะมาก การซื้อของตามร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาร์เกตมีถุงพลาสติกให้ฟรี ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (มีบ้างที่ต้องจ่ายเงินซื้อถุง แต่ก็น้อยมาก) ในขณะที่บางประเทศไม่ให้ถุงหรือบางประเทศใช้ถุงกระดาษ นอกจากนี้ ตู้ขายน้ำบรรจุขวดพลาสติกก็มีอยู่ทั่วไปตามริมถนน แม้ญี่ปุนมีระบบระเบียบด้านการทิ้งและแยกขยะ แต่การเก็บขวดพลาสติกคืนสู่ระบบก็ทำไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยทำได้ 92% แต่ที่เหลืออีก 8% นั้นไม่มีใครรู้ว่าตกหล่นไปที่ไหน ซึ่งเป็นไปได้สูงว่าส่วนหนึ่งกระจายลงสู่ทะเล

แต่ละปีญี่ปุ่นมีขยะพลาสติกประมาณ 9 ล้านตัน ในจำนวนนี้นำไปรีไซเคิล 84% ผ่าน 3 แนวทางหลัก คือ 1) แปรรูปเป็นวัสดุอื่น เช่น นำไปทำเก้าอี้นั่งตามสถานีรถไฟ ญี่ปุ่นใช้วิธีการนี้ประมาณ 23% แต่เมื่อหมุนเวียนมาก ๆ คุณภาพพลาสติกจะยิ่งลดลงและใช้ได้ยากขึ้น จึงต้องฝากความหวังไว้กับเทคโนโลยีขั้นต่อไป, 2) รีไซเคิลทางเคมี คือ การนำไปสลายโมเลกุลให้เป็นวัตถุดิบพลาสติกอีก แต่ขั้นนี้ก็ดำเนินการได้ยาก และปัจจุบันทำแค่เพียง 4% เท่านั้น, 3) เปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อน คือ การส่งเข้าเตาเผาและนำความร้อนไปใช้ประโยชน์ เช่น ผลิตไฟฟ้า ให้ความอุ่นแก่สระน้ำ ญี่ปุ่นทำส่วนนี้ 57% ของปริมาณทั้งหมดที่รีไซเคิล

สำหรับการแปรรูปเป็นวัสดุอื่น เรื่องไม่จบแค่นั้น เพราะญี่ปุ่นไม่ได้ทำเองทั้งหมด แต่หมายรวมถึงการส่งออกขยะพลาสติกไปยังต่างประเทศเป็นจำนวนไม่น้อยถึงปีละประมาณ 1.5 ล้านตัน ประเทศที่รับไปจะดำเนินการอย่างไรก็แล้วแต่สภาพของประเทศนั้น ซึ่งตรวจสอบควบคุมได้ยาก แต่เมื่อออกไปจากญี่ปุ่นแล้ว ย่อมไม่ใช่ภาระหน้าที่ของญี่ปุ่น

การรีไซเคิลในญี่ปุ่นนั้น ถึงแม้จะทำได้ แต่มีค่าใช้จ่ายและบางกระบวนการก็ยุ่งยาก เมื่อมองจากต้นทุนด้านแรงงาน ส่วนไหนที่ดูท่าว่าไม่คุ้ม ญี่ปุ่นจะส่งไปยังที่ที่ต้นทุนค่าแรงถูกกว่า ซึ่งไม่ใช่ที่อื่นไกล บ้านใกล้เรือนเคียงนี่แหละ ได้แก่ จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทย มาเลเซีย เวียดนามนี่เอง แต่จีนซึ่งเคยรับขยะพลาสติกเข้าประเทศมากที่สุดในโลกได้ประกาศห้ามนำเข้าขยะพลาสติกเมื่อปลายปี 2017 แน่นอนว่าญี่ปุ่นย่อมเดือดร้อน (ประเทศอื่นอย่างอังกฤษและอเมริกาที่ส่งออกขยะไปยังจีนก็ด้วย) ปริมาณจึงถูกโยกมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ภาพรวมคร่าว ๆ ของการส่งออกขยะพลาสติกจากญี่ปุ่นมีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีดังนี้

ด้วยความเดือดร้อนของญี่ปุ่นด้านการกำจัดขยะพลาสติกประกอบกับกระแสโลก ญี่ปุ่นไม่อาจนิ่งเฉยได้ต่อไป “วิสัยทัศน์โอซากามหาสมุทรสีคราม” ในการประชุม G20 จึงเป็นหมุดหมายสำคัญของการรณรงค์และการคลี่คลายของญี่ปุ่นไปในคราวเดียวกันด้วย สืบเนื่องจากวิสัยทัศน์นี้ ญี่ปุ่นได้วางแนวทางที่เป็นรูปธรรมออกมามากขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “MARINE Initiative” (“มารีนอินนิชิเอทีฟ”—แนวคิดริเริ่มเพื่อทะเล) อันประกอบด้วย (1) Management of wastes—การจัดการขยะ, (2) Recovery of marine litter—การเก็บขยะในทะเล, (3) Innovation—นวัตกรรม, (4) Empowerment—การเสริมสร้างพลัง และญี่ปุ่นจะดำเนินการผ่าน 3 ช่องทางหลัก (ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น)

1) ให้ความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมทั้งความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (ODA) แบบทวิภาคี และความช่วยเหลือผ่านองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ฝึกอบรมบุคลากรด้านการกำจัดขยะ 10,000 คนทั่วโลกภายในปี 2025 และตอกย้ำความตระหนักเรื่องพลาสติกด้วยนโยบาย “3R” (Reduce, Reuse, Recycle) หรือ “ลดการใช้ หมุนเวียนใหม่ รีไซเคิล”

2) ดำเนินการระหว่างประเทศผ่านบริษัทญี่ปุ่น องค์กรภาคเอกชน และทางการท้องถิ่นของญี่ปุ่น เช่น ส่งออกเทคโนโลยี สร้างสถานที่ด้านการกำจัดขยะ

3) เผยแพร่และแบ่งปันการปฏิบัติที่ได้ผลสูงสุดตามแนวทางภาครัฐและเอกชนของญี่ปุ่นเกี่ยวกับการจัดการขยะ การเก็บขยะในทะเล และนวัตกรรม โดยดำเนินการผ่านการประชุมระหว่างประเทศ อีกทั้งร่วมมือกับอาเซียนเพื่อจัดตั้ง “ศูนย์ความรู้ระดับภูมิภาคว่าด้วยขยะพลาสติกในทะเล”

อันที่จริง ความเคลื่อนไหวเชิงนโยบายระดับประเทศในญี่ปุ่นเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่าสองสามปีแล้ว มีรายการโทรทัศน์และบทความตีพิมพ์นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาขยะพลาสติกออกมาเป็นระยะ แต่การใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นยังเหมือนเดิม ความตระหนักไม่แพร่หลาย ส่วนหนึ่งคงเพราะประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง และอีกส่วนหนึ่งคงเพราะญี่ปุ่นมองว่าระบบกำจัดขยะ (รวมทั้งขยะพลาสติก) ของตนนั้นมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเท่าที่ผ่านมาก็มีพื้นที่รองรับขยะพลาสติกของตนอยู่ในต่างประเทศหลายแห่ง ทว่าจากนี้ไปสถานการณ์จะไม่เหมือนเดิม คงต้องดูกันว่าการรณรงค์ของญี่ปุ่นจะได้ผลมากน้อยเพียงใด และจะปรับตัวอย่างไรเมื่อหาที่ทิ้งขยะนอกประเทศได้ยากขึ้น

โรงกำจัดขยะในย่านอิเกบูกูโร กรุงโตเกียว (ภาพโดย kakidai)
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น