xs
xsm
sm
md
lg

บริษัทญี่ปุ่น "ถ้าย้ายไม่ได้ก็ลาออกไป!!" เป็นคุณจะออกไหม?!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

สวัสดีครับผม Mr.Leon มาแล้ว ช่วงนี้ที่ญี่ปุ่นนอกจากมีข่าวเกี่ยวกับปัญหาสังคมแล้วยังมีประเด็นทางเศรษฐกิจด้วย มีข่าวหนึ่งที่ผมติดตามอ่านและกำลังเป็นหัวข้อพูดคุยกันอย่างมากในโลกสังคมออนไลน์คือ หนุ่มลางานไปเลี้ยงลูกแล้วถูกบริษัทดังบีบออกแบบไม่จ่ายโบนัส

แต่จะมีเบื้องหลังหรือไม่ ใครผิดใครถูกนี่แหละที่ทุกคนคอยติดตามอ่านข่าวอยู่ บริษัทที่ว่านี้มีชื่อย่อว่า K เป็นบริษัทแบบ B to B คือมีสวัสดิการดี ผมเองยังอยากจะเข้าทำงานด้วยเลย ทำธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เคมี เช่น ผลิตเม็ดพลาสติกและเม็ดโฟม และอีกหลายธุรกิจถือว่าเป็นบริษัทใหญ่ มีสาขาตั้งอยู่ในหลายจังหวัดที่ญี่ปุ่นและต่างประเทศอีกหลายประเทศ เมื่อเกิดข่าวแบบนี้ขึ้นมาทำให้เป็นที่จับตามองจากหลายคน ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีผลกระทบต่อบริษัทอยู่เหมือนกันและอาจจะฉุดให้หุ้นของบริษัทตกลงอีกด้วย ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นนี้ถือว่าเป็นกรณีศึกษาที่ดีอีกเรื่องหนึ่งของชาวมนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ แต่คนไทยฟังแล้วอาจจะยังไม่เข้าใจมุมมองความคิดแบบนี้นัก ซึ่งผมจะอธิบายเพิ่มเติมให้ฟังสักนิดครับ

เรื่องที่บริษัทสั่งย้ายพนักงานคนหนึ่งจากสาขา Tokyo ไปประจำสำนักงานใหญ่ที่ Osaka ถ้าเทียบให้เห็นภาพขอยกตัวอย่างแบบสมมุตโดยแทนด้วยจังหวัดในประเทศไทยดังนี้ครับ บริษัทแม่อยู่ที่เชียงใหม่ และมีออฟฟิศสาขาอยู่กรุงเทพฯ ด้วย พนักงานชายคนหนึ่งของบริษัทปกติทำงานที่สาขาที่กรุงเทพฯ ชายคนนี้เขาลงหลักปักฐานและซื้อบ้านที่กรุงเทพฯ ครอบครัวเขามีภรรยาทำงานนอกบ้านเช่นเดียวกับเขา และลูกอีก 2 คน ลูกคนเล็กเพิ่งเกิดได้ไม่นาน คนโตเพิ่งจะ 2 ขวบ เริ่มเข้าเตรียมอนุบาลเอง ชายหนุ่มคนนี้ได้รับอนุญาตจากบริษัทให้ลาเลี้ยงลูกได้ 1 เดือนด้วยเหตุผลใดยังไม่มีรายละเอียดกล่าวถึงนัก แต่พอวันที่เขากลับมาทำงานอีกครั้ง ผ่านไปประมาณอาทิตย์กว่าบริษัทก็มีจดหมายมาถึงเขาว่า ให้ย้ายไปประจำสาขาแม่ที่เชียงใหม่!! คิดกันว่าเขาคงไม่อยากไปและเขาคงคุยกับบริษัทภายในอยู่เหมือนกันว่าไม่สามารถไปได้ อาจจะเพราะว่ามีลูกเล็กหรืออะไรก็ไม่รู้ล่ะ แต่บริษัทยื่นคำขาดว่า "ถ้าย้ายไม่ได้ก็ลาออกไป!!" และเขาคงยืนยันลาออกแต่จะขอลาออกหลังวันที่ 10 กว่าๆ ของเดือนมิถุนายนโดยขอใช้วันหยุดที่เหลือทบๆ ไปก็จะได้ลาออกที่เดือนมิถุนายนได้อยู่ ( เรื่องเกิดพฤษภาคม) แต่บริษัทให้ออก 31 พฤษภาคมเลย ทำให้เขาอดได้โบนัสกลางปีไปด้วย นี่คือใจความที่ภรรยาของเขามามาโพสในทวิตเตอร์ทำนองที่ว่า " สามีถูกบีบให้ออกจากบริษัท" และกล่าวถึงเรื่องลูกเล็กๆ ต่างๆ นานาในเบื้องต้นจึงทำให้คนในสังคมสงสารและเห็นใจเขามากๆ และโจมตีทางบริษัทแต่ก็มีคนอีกฝ่ายขุดคุ้ยที่มาที่ไปเพราะอาจจะมีประเด็นอะไรมากกว่านี้

เรื่องสั่งย้ายงาน บีบให้ลาออกแบบนี้คิดว่าคงไม่ค่อยเกิดขึ้นที่บริษัทไทยใช่ไหมครับ แต่ที่ญี่ปุ่น บริษัทญี่ปุ่นในสังคมญี่ปุ่นคือ เป็นที่รู้กันว่าพนักงานจะทำงานในบริษัทที่ตนสังกัดอยู่ไปตลอดจนกว่าจะเกษียณ ถ้าบริษัทสั่งให้ย้ายไปไหนประจำที่ไหนก็ปฏิเสธไม่ได้บางครั้งอาจโดนโยกย้ายไปคนละโซนกับเมืองที่ตนเองลงหลักปักฐานและมีครอบครัวตัวเองอยู่

ผมมีคำถามมาถามครับลองเดากันเล่นๆ ว่า ถ้าบริษัทใหญ่ๆ จะเลือกคนในบริษัทโยกย้ายไปประจำที่ท้องถิ่นในสาขาเปิดใหม่อันไกลโพ้น ห่างไกลจากบริษัทแม่มากๆ บริษัทเขาจะเลือกใครต่อไปนี้

1. คนที่เกิดที่เมืองท้องถิ่นที่สาขาเปิดใหม่กำลังจะเปิด เรียบจบแค่มัธยมปลาย ปัจจุบันทำงานที่สาขาหลัก ( ੭˙꒳˙)੭

2. คนเมืองหลวงแต่เคยเรียนและจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่เมืองท้องถิ่นที่สาขาเปิดใหม่กำลังจะเปิด ปัจจุบันทำงานที่สาขาหลัก(*゚-゚)

3. คนที่จบมหาวิทยาลัยที่โตเกียว แต่ทำงานผิดพลาดบ่อยๆ ปัจจุบันทำงานที่สาขาหลัก彡(癶)癶)

4. คนที่จบมัธยมปลาย นิสัยไม่ค่อยลงกับองค์กร ปัจจุบันทำงานที่สาขาหลัก ( ಠωಠ)、

เพื่อนๆ คิดว่าบริษัทจะเลือกใครครับ ปกติอาจจะคิดว่าต้องเลือกคนที่1, 2 ใช่ไหม แต่คนที่เขาจะเลือกคือคนที่ 3. และ 4. ครับ คือคนที่ทำงานผิดพลาดบ่อยๆ หรือนิสัยไม่ค่อยลงกับองค์กรจะถูกหมายหัวก่อนใคร ใช้มุมมองการเลือกแบบนี้ทั้งการโยกย้ายในประเทศและต่างประเทศ บางบริษัทมีสาขาที่อเมริกาใต้ด้วยบริษัทแม่ไม่ได้เลือกคนที่เก่งภาษาอังกฤษ/ภาษาสเปนอะไรเลยแต่เลือกคนที่บริษัทอยากเขี่ยออกไปให้ไปทำงานที่อื่นเท่านั้นเหมือนเป็นการกลั่นแกล้งเลยนะแบบทนไม่ได้ก็ออกไป อะไรแบบนี้และเป็นแบบนี้จริงๆ (อ้อ ยกเว้นแต่ระดับบริหารที่เขาจะคัดคนดีๆ เก่งๆ และจงรักภักดีต่อบริษัท คนที่ไม่ลาออกไปเองแน่ๆ ไปคุมตำแหน่งบริหารงาน เดี๋ยวย้ายเอาคนแย่ๆ ไปอยู่ซะหมดบริษัทก็เจ้งพอดี )

สำหรับความคิดเห็นของผมเกี่ยวกับประเด็นนี้นั้น จากประเด็นที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในขณะนี้เป็นที่น่าสนใจมากส่วนบุคคล ส่วนตัวแล้วผมรู้สึกสนใจมากสืบเนื่องมาจากปัญหาการดูแลเด็ก โดยทั่วไป บริษัทญี่ปุ่นมักจะโอนย้ายพนักงานที่อาจจะทำงานไม่เก่งหรือคนที่มีทัศนคติที่ไม่ดีไปทำงานที่อื่น อาจจะสาขาที่อยู่ต่างจังหวัดต่างประเทศบ้าง ก็ถือว่าเป็นการลงโทษ เป็นเรื่องที่ร้ายกาจอยู่ไม่น้อยเลย คนที่ทำงานในสังคมญี่ปุ่นค่อนข้างจะเข้าใจดี บางคนอาจจะไม่เชื่อว่าจะมีมุมมองเช่นนี้จริง แต่มันเป็นปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัดถ้าทำงานในสังคมญี่ปุ่น ผมรู้สึกว่านี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องที่เขาทำกันจนเป็นปกติทั่วไปเท่านั้น จากกรณีของชายคนนี้นั้นบอกกันว่าลาหยุดไปดูแลลูก วันที่มาทำงานวันแรกคงเริ่มมีประเด็นที่คุกรุ่นขึ้นและกลับเป็นเหตุให้ถูกบีบออกจากงาน อย่างไรก็ตามจากเนื้อหาของเอกสารจากด้านของบริษัทอ่านๆ ดูแล้ว สามารถจะคาดเดาว่ามีสถานการณ์ที่อาจจะมีมากกว่าแค่เรื่องวันหยุดก็ได้ เพราะนายคนนี้ยอมออกไปเลยแทนที่จะแจ้งกฏหมายแรงงานก็ไม่แจ้งขอความคุ้มครอง เพราะการลาออกแบบกรณีนี้บริษัทอาจจะผิดกฎหมายแรงงานก็ได้ บางคนจึงวิจารณ์กันว่าเขาอาจจะมีการคอรัปชั่นภายในก็ได้ งั้นบริษัทไม่สั่งปลดหรอก หรืออาจจะทำงานไม่เป็นสมองช้าหรือเปล่าถ้ายอมย้ายไปอยู่โอซาก้าสักเดือนค่อยลาออกเองยังจะได้รับโบนัสของเดือนหกด้วย แต่นี้ยอมออกไปก่อนรับโบนัสเฉยๆ ซะอย่างนั้น

หัวข้อพูดคุยกันอย่างมากในโลกสังคมออนไลน์จากคนที่ไปขุดคุ้ยข้อมูลมาบอกว่า ก่อนหน้านี้ภรรยาของพนักงานคนนี้ทวิตใน Twitter ว่า "สามีกำลังเตรียมความพร้อมสำหรับเป็นผู้ประกอบการในปีนี้" แม้จะลบออกในภายหลังแต่มันเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็อ่านเจอได้เป็นอาจจะเป็นหนึ่งในประเด็นที่โดนให้เด้งออกไป เป็นการโพสที่ค่อนข้าง "คิดน้อย" ไปสักหน่อย

และตามกฏของบริษัทญี่ปุ่นไม่สามารถสั่งให้พนักงานที่ตนไม่ต้องการออกได้ง่ายๆ จึงใช้วิธีบีบให้กดดันต่างๆ นานาหรือที่เรียกว่ากลั่นแกล้ง ที่ญี่ปุ่นนั้นถ้าต้องการเลิกจ้างใครวิธีการหนึ่งที่ใช้คือการโอนย้ายพนักงานคนนั้น เพราะมันเป็นเรื่องยากมากที่เปลี่ยนแปลงกฏการจ้างงาน การแยกระหว่างเงินเดือนมูลฐานและค่าความสามารถ เป็นไปไม่ได้เรื่องการลดเงินเดือนความสามารถในขณะที่อายุมากขึ้นเงินเดือนก็สูงขึนทุกปี แต่ความสามารถการทำงานกลับสวนทาง ดังนั้นจึงสั่งโอนย้ายเท่านั้น

บริษัทประเภท ブラック企業 Black kigyō บางบริษัทก็ใช้วิธีการกดดันหรือรวมกันกลั่นแกล้งบีบให้พนักงานเป้าหมายขอลาออกไปเองเช่นกัน ซึ่งวิธีการเหล่านี้ก็อาทิ เช่น

・มีเปลี่ยนแปลงและโอนย้ายงาน

・มีการการกลั่นแกล้งอย่างเป็นทางการ เช่น

☁จำกัดห้องทำงานแคบๆ ไม่มีหน้าต่าง ให้นั่งทำงานรวมๆ กันหลายสิบคน โดยมีอุปกรณ์ออฟฟิศที่จำกัด แต่ทุกคนต้องทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ทันเวลา

☁ให้นั่งเขียนเอกสารต่างๆ ที่หนาเป็นเล่มๆ โดยใช้มือเขียน ไม่ให้พิมพ์และไม่สามารถเซฟไฟล์เอกสารไว้ใช้ต่อ

☁ให้ไปยกของในโกดังสต๊อกเก็บสินค้าซึ่งเป็นงานคนละหน้าที่กับที่ตนเองรับผิดชอบอยู่

☁ให้เดินทางไปกลับสาขาที่ไกลจากที่พักของตนเองมากๆยากลำบากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

☁หรือการใช้ให้ทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานที่ต้องรับผิดชอบเลย

☁หรือเป็นถึงหัวหน้าฝ่ายขายแต่ถูกสั่งจากผู้ใหญ่ให้ไปถอนหญ้าที่สนามเทนนิสบริษัทเช่นนี้ เป็นต้น

กรณีดังกล่าวที่ยกตัวอย่างไปข้างบนนั้นมีผลต่อจิตใจของพนักงานเหล่านั้นมากเพราะเกิดความกดดันและยากลำบากจิตใจก็ห่อเหี่ยวลงทุกที คนที่จำต้องทนก็พยายามทำงานให้หนักขึ้น บางคนก็ไม่ไหวก็อาจจะขอลาออกไปเอง หรือบางกรณีก็มีข่าวฆ่าตัวตายเพราะความเครียดบ่อยๆ นี่ก็คือการบีบให้พนักงานขอลาออกไปเองจากบางบริษัทละครับ

ทำให้ปัจุบันมีคนทำงานแบบเต็มเวลาลดน้อยลง ซึ่งระบบเช่นนี้กำลังจะเป็นเรื่องที่หนักหนาและยากลำบากในสังคมญี่ปุ่น ความสัมพันธ์ระหว่างการจ้างงานตลอดชีพและการโอนย้ายคือการ Trade-Off นั้นแปลว่า การแลกเปลี่ยนได้อย่างเสียอย่างการต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้อย่างหนึ่งก็ต้องเสียอีกอย่างหนึ่ง ระบบงานแบบญี่ปุ่นๆ นี่ก็เครียดจริงๆ วันนี้สวัสดีครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น