เรือนจำโตเกียวเป็นสถานที่คุมขังที่เข้มงวดที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น ผู้ที่เคยถูกควบคุมตัว ณ ที่นี่ ไม่เพียงแต่เป็นผู้ต้องโทษในคดีอาญาต่างๆ แต่ยังรวมถึงผู้ที่ถูกควบคุมตัวในระหว่างรอการพิจารณาคดีด้วย โดยหนึ่งในนั้นก็คือนายคาร์ลอส กอส์น อดีตผู้บริหารสูงสุดของบริษัทนิสสัน
เรือนจำโตเกียวได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมเมื่อต้นสัปดาห์นี้ตามคำขอ แต่การเยี่ยมชมครั้งนี้เป็นพื้นที่ซึ่งไม่มีผู้ต้องขังเท่านั้น
ห้องขังแต่ละห้องพื้นที่ราว 7.5 ตารางเมตร ภายในห้องมีเพียงห้องสุขา ที่นอนแบบพับได้ ชั้นวางของ และอ่างล้างหน้า บางห้องจะมีหน้าต่างบานเล็กให้พอให้แสงสว่างลอดเข้ามาได้ ผู้ต้องขังจะได้รับอาหารวันละ 3 มื้อ เป็นข้าวกับซุป พร้อมกับข้าวเป็นเนื้อหรือปลา ส่วนอาหารเช้ามักจะเป็นขนมปัง
ขณะนี้เรือนจำโตเกียวมีผู้ต้องขัง 1,758 คน ในจำนวนนี้ 1,216 คนถูกคุมขังในระหว่างรอการพิพากษาจากศาล แต่ไม่ได้รับการประกันตัว การคุมขังในลักษณะนี้ถูกวิจารณ์อย่างมากว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่นำผู้ที่ยังไม่ถูกพิจารณาโทษว่ามีความผิดมาคุมขังร่วมกับนักโทษ
ภายในเรือนจำยังมีพื้นที่ออกกำลังกาย ซึ่งล้อมรั้วอย่างแน่นหนา โดยนักโทษจะได้รับจัดสรรเวลาออกกำลังกายวันละ 30 นาที
นอกจากนี้ ยังมีร้านค้าขนาดเล็ก ซึ่งผู้ต้องขังและผู้ที่มาเยี่ยมสามารถซื้อของกินเล่น ผลไม้กระป๋อง และเครื่องใช้เล็กๆ น้อย ๆ
ภายในเรือนจำไม่มีโทรทัศน์ ผู้ต้องขังรับรู้ข่าวสารผ่านทางรายการข่าววิทยุช่วงเย็น ส่วนการอาบน้ำจะอาบได้สัปดาห์ละ 3 ครั้งในฤดูร้อน และสัปดาห์ละ 2ครั้งในฤดูหนาว ผู้ต้องขังจะต้องปฏิบัติตามตารางเวลาที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ตื่นนอนเวลา 7.00 น. และเข้านอนเวลา 21.00 น.
ผู้ควบคุมเรือนจำระบุว่า ต้องระวังเหตุ 3 อย่าง คือ ไฟไหม้, ผู้ต้องขังหลบหนี และการฆ่าตัวตาย สิ่งของที่มีมุมแหลมทุกอย่าง เช่น ขอบตู้ จะถูกลบเหลี่ยมให้มน และจะไม่มีราวหรือสิ่งที่อาจใช้เพื่อแขวนคอฆ่าตัวตายได้
ผู้คุมยังบอกว่า เรือนจำในญี่ปุ่นอาจยังมีสิ่งที่ต้องปรับปรุง ขณะที่กระแสของสาธารณชนก็ไม่ต้องการให้ผู้ต้องขังถูกมองว่ามีความเป็นอยู่ที่สบายเกินไป แต่เมื่อเทียบกันแล้ว เรือนจำในญี่ปุ่นไม่มีความรุนแรง เหมือนในหลายประเทศที่มักจะมี “ขาใหญ่” ประจำเรือนจำ หรือมีเหตุทะเลาะวิวาท จนถึงเสียชีวิตในคุกก็มี
ในเรือนจำโตเกียว มีผู้ต้องขังชาวต่างชาติราวร้อยละ 14 โดยราว 1 ใน 3 เป็นชาวจีน รองลงมาคือ ชาวเวียดนาม เกาหลีใต้ ส่วนผู้ต้องขังชาวอเมริกันมีอยู่ราวละร้อยละ 4
คดีที่กระทำผิดส่วนใหญ่เป็นคดีโจรกรรม คิดเป็นราว 1 ใน 5 รองลงมาคือ คดียาเสพติด ฉ้อโกง และปล้นทรัพย์
ระบบการดำเนินคดีของญี่ปุ่นถูกวิจารณ์อย่างมาก หลังจากกรณีของนายคาร์ลอส กอส์น เนื่องจากในหลายประเทศ ผู้ต้องสงสัยจะได้รับสิทธิ์ที่จะปรึกษากับทนายความ และจะต้องถูกปล่อยตัวภายในเวลา 72 ชั่วโมงหากไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา แต่ผู้ต้องสงสัยในญี่ปุ่นมักจะถูกสอบปากคำโดยไม่มีทนายความเข้าร่วมด้วย และอาจถูกควบคุมตัวได้ยาวนานถึง 23 วัน โดยรอการตั้งข้อกล่าวหา และเมื่อใกล้ครบกำหนด อัยการก็สามารถตั้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมเพื่อขยายเวลาการควบคุมตัวออกไปอีก พร้อมปฏิเสธการให้ประกันตัว โดยนายคาร์ลอส กอส์นถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำนานถึง 130 วันก่อนที่จะได้รับการประกันตัวในระหว่างดำเนินคดี.