xs
xsm
sm
md
lg

อึไม่ใช่เรื่องเล็ก! ญี่ปุ่นพบท้องผูกส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผลการวิจัยของญี่ปุ่นพบว่า อาการท้องผูกส่งไม่เพียงผลต่อสุขภาพ แต่ยังมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน และสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่า 690,000 เยนต่อปี

การวิจัยจากมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์เฮียวโงะและสถาบันอื่น ซึ่งนำเสนอในงานประชุมเรื่องโรคระบบทางเดินอาหารที่สหรัฐ พบว่า ปัญหาเรื่องการขับถ่ายส่งผลให้สมาธิในการทำงานถดถอยลง และผู้ที่มีอาการท้องผูกเรื้อรังจะลางานมากกว่าผู้ที่ไม่มีปัญหาถึง 2.3 เท่าตัว โดยลางานเฉลี่ยร้อยละ 8.8 ต่อสัปดาห์

การวิจัยดังกล่าวศึกษากลุ่มตัวอย่างชาวญี่ปุ่น 30,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการท้องผูกเรื้อรัง 963 คน โดยกลุ่มผู้ที่มีปัญหาการขับถ่ายจะมีประสิทธิภาพการทำงานลดลงถึงร้อยละ 33.2 และน้อยกว่าผู้ที่สุขภาพปกติถึง 1.7 เท่าตัว

จากข้อมูลดังกล่าว คณะผู้วิจัยได้ประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากอาการท้องผูก โดยอิงจากค่าจ้างเฉลี่ยของชาวญี่ปุ่นที่ 1.22 ล้านเยนต่อปี และพบว่าการลางานและประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงทำให้ผู้ที่มีปัญหาการขับถ่ายสูญเสียรายได้ถึง 690,000 เยนต่อปี โดยหากมีอาการยิ่งหนักก็จะยิ่งส่งผลต่อสุขภาพและการทำงานมากขึ้น อาจต้องลางานเพราะปวดท้อง หรือขาดสมาธิในการทำงาน

อาการท้องผูกเรื้อรังหมายถึง มีการขับถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือขับถ่ายได้ยากเฉลี่ย 1 ใน 4 ครั้งของการขับถ่ายทั้งหมด และอาการเช่นนี้เป็นต่อเนื่องหลายเดือน

อย่างไรก็ตาม อาการท้องผูกไม่ถือเป็นโรค แต่เป็นความผิดปกติของร่างกาย แต่คุณภาพชีวิตของผู้ที่ระบบขับถ่ายไม่ดีจะย่ำแย่ ไม่ต่างกับผู้ที่มีอาการกรดไหลย้อน ซึ่งอาจทำให้หลอดอาหารอักเสบได้

ศาสตราจารย์ฮิโรโตะ มิวะ แพทย์ด้านทางเดินอาหาร มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์เฮียวโงะ ระบุว่า ผู้ที่มีปัญหาการขับถ่ายควรได้รับการบำบัดรักษา เพราะว่าส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต โดยแนะนำให้ดื่มน้ำและทานอาหารที่มีกากใยมากขึ้น โดยในกรณีที่จำเป็นอาจจะต้องใช้ยาระบาย แต่ก็เตือนว่าการใช้ยาอย่างต่อเนื่องก็จะส่งผลให้ระบบขับถ่ายแปรปรวนเช่นเดียวกัน.


กำลังโหลดความคิดเห็น