xs
xsm
sm
md
lg

"มารยาท" ที่รู้ไว้สบายใจเมื่อไปญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ภาพจาก http://www.metrocf.or.jp
คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

ไม่ทราบว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ในโลกหรือเปล่านะคะที่ใส่ใจเรื่องมารยาทสังคมสูงมาก เวลาอยู่ท่ามกลางผู้คนในญี่ปุ่นแล้ว บางทีก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกเหมือนมีครูเจ้าระเบียบแอบมองอยู่ที่ไหนสักแห่ง หลายเรื่องที่ดูแล้วอาจเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือหยวน ๆ กันได้ในบางสังคมอาจกลายเป็นเรื่องที่คนญี่ปุ่นตำหนิเอาได้ง่าย ๆ เลยทีเดียว

ปีที่ผ่านมารถไฟใต้ดินกรุงโตเกียว หรือ โตเกียวเมโทร ออกโปสเตอร์มารยาท(มีทุกปี) ที่เน้นให้ความรู้สำหรับคนต่างชาติเป็นพิเศษ ตัวการ์ตูนจึงเป็นรูปคนหลากเชื้อชาติ และยังมีภาษาอังกฤษกำกับมากขึ้นด้วย คงเพราะจำนวนคนต่างชาติที่มากขึ้นเป็นพิเศษในญี่ปุ่นนั่นเอง

อะไรบ้างที่คนญี่ปุ่นถือเป็นมารยาทสังคมและคาดหวังว่าทุกคนจะรู้และปฏิบัติตาม โดยหลักน่าจะรวมอยู่ในสามอย่างนี้คือ 1) การกระทำที่ไม่รบกวนหรือทำให้คนอื่นเดือดร้อน 2) รู้จักกาลเทศะ และ 3) ไม่ทำอะไรให้เป็นเป้าสายตา

ฉันรวบรวมรายละเอียดปลีกย่อยมาให้จำนวนหนึ่ง เผื่อจะเป็นประโยชน์เวลาไปญี่ปุ่นหรืออยู่ท่ามกลางกลุ่มคนญี่ปุ่นค่ะ

1.ลดระดับเสียงที่พูด
ภาพจาก http://www.metrocf.or.jp/
ภาพนี้มีเขียนภาษาอังกฤษด้วยว่าให้ระวังอย่าคุยเสียงดัง “Our voices may be louder than we realize, so let’s all be careful when we talk.” (เสียงของเราอาจจะดังกว่าที่คาดคิดไว้ โปรดระวังเวลาที่พูด)
และ “When talking on trains, please be mindful not to disturb the people around you.”  (เมื่อพูดคุยบนรถไฟ โปรดใส่ใจว่าจะไม่รบกวนผู้คนรอบข้าง)

โดยปกติแล้วคนญี่ปุ่นจะไม่ค่อยคุยกันเสียงดังเท่าใดนัก ยกเว้นวัยรุ่นบางคน คนเมา หรือลูกค้าร้านอิซากายะ(ร้านเหล้าแบบญี่ปุ่น) ส่วนมากจะคุยเบา ๆ พอให้ได้ยินกันเองเสียมาก จนบางทีก็คล้ายว่ากลัวคนอื่นจะได้ยินเลยทีเดียว ถ้าลืมไปว่าคนญี่ปุ่นไม่พูดกันเสียงดัง ก็อาจจะเผลอคุยกันเสียงปกติ แต่สำหรับคนญี่ปุ่นอาจดังเกินความเหมาะสม ฉันเคยเห็นคนต่างชาติที่คุยเสียงดังหรือตะโกนหากันแล้ว คนญี่ปุ่นรอบข้างมองด้วยสายตาที่ไม่เป็นมิตร ถ้าไม่อยากตกเป็นเป้าสายตาก็คุยกันให้เบาไว้ ถ้าจะเรียกคนที่อยู่ไกล ๆ ก็ให้โบกมือให้อีกฝ่ายเห็นหรือเดินเข้าไปหาแทน

2.ไม่คุยโทรศัพท์บนรถไฟหรือรถโดยสารสาธารณะ
เรื่องนี้เป็นหนึ่งในเรื่องที่คนญี่ปุ่นถือมากถึงมากที่สุด ฉันเคยนั่งอยู่บนรถโดยสารที่วิ่งข้ามจังหวัด มีสาวญี่ปุ่นคนหนึ่งนั่งคุยโทรศัพท์อยู่ แม้จะไม่ได้เสียงดังแต่ก็รบกวนคนอื่น ๆ จำได้ว่าคนขับรถเดินมาหาถึงที่ และบอกว่าถ้าจะคุยโทรศัพท์ก็ลงจากรถไป อาจเพราะอย่างนี้คนญี่ปุ่นจึงมักติดต่อกันด้วยข้อความมาตั้งแต่สมัยก่อนที่จะมีพวกแอพลิเคชันสำหรับแชทบนสมาร์ทโฟนแล้ว
เขียนว่า “เจ้าคนไร้มารยาท! รักษามารยาทหน่อย นี่มันบนรถไฟนะ”
3.ปิดเสียงโทรศัพท์มือถือเอาไว้เสมอ
จะว่าไปแล้วฉันยังไม่เคยเจอคนญี่ปุ่นคนไหนที่เปิดเสียงโทรศัพท์มือถือเลยแม้แต่คนเดียว และในบรรดาผู้คนชาติอื่น ๆ ที่ทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่นก็จะปิดเสียงมือถือเช่นกัน ไม่ว่าจะขึ้นรถไฟหรือรถโดยสารสาธารณะ อยู่ที่บริษัท อยู่ข้างนอก หรืออยู่กับเพื่อน ๆ ก็ตาม (แต่ก็แปลกดีที่ในมือถือโดยเฉพาะรุ่นก่อน ๆ มีริงโทนมากมาย หรืออาจเอาไว้ใช้ตั้งปลุกเท่านั้นก็ไม่ทราบ) และถ้าต้องรับโทรศัพท์ก็จะลุกไปคุยนอกห้องหรือนอกอาคาร ยังไม่เคยเห็นคนที่รับสายต่อหน้าคนอื่น ๆ แล้วบอกว่าเดี๋ยวโทรกลับด้วยเช่นกัน

4.ไม่เดินไปกินไป
สมัยเด็ก ๆ ที่โรงเรียนฉันจะสอนไว้เสมอว่าให้นั่งลงแล้วค่อยกิน ไม่ให้เดินไปกินไป แต่ร้านขนมญี่ปุ่นหลายแห่งก็มีเพียงเคาน์เตอร์ให้ซื้อแต่ไม่มีที่นั่งให้ อย่างเช่น ร้านเครป หรือร้านไอศกรีมโคน เป็นต้น ทำให้ฉันเผลอเข้าใจผิดว่าขนมเหล่านี้สำหรับเดินไปกินไปได้

จนกระทั่งวันหนึ่งฉันกับเพื่อนอเมริกันแวะซื้อโอเด้งเสียบไม้กันคนละชิ้นในแหล่งท่องเที่ยว แล้วเดินไปกินไปโดยไม่ได้คิดอะไร ได้ยินเสียงคนญี่ปุ่นที่เดินตามมาข้างหลังนินทา ฉันถึงเพิ่งเอะใจ แล้วก็นึกได้ว่าคนที่ซื้อขนมตามร้านเหล่านี้มักจะยืนกินกันหน้าร้าน ทำไมฉันถึงลืมนึกข้อนี้ไปได้ก็ไม่ทราบเหมือนกัน คุณครูก็อุตส่าห์สอนไว้แล้วเชียวค่ะ
ภาพจาก https://news.yahoo.co.jp/byline/usuimafumi/
5.ไม่แต่งหน้าในที่สาธารณะ
สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เพื่อนคนไทยสาวสวยผมยาวคนหนึ่งมักจะพกแปรงไว้แปรงผมให้เห็นอยู่เสมอ ตอนไปโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระยะสั้นที่ญี่ปุ่นเธอก็หยิบแปรงขึ้นมาแปรงผมบ่อย ๆ เพื่อนคนญี่ปุ่นถามว่าคนไทยปกติจะแปรงผมกันในที่สาธารณะหรือ? แล้วแต่งหน้ากันบนรถเมล์รถไฟด้วยหรือเปล่า เพราะที่ญี่ปุ่นเขาไม่ทำกันต่อหน้าคนอื่น ๆ

สมัยนั้นฉันเห็นคนไทยมักเอาแป้งพัฟขึ้นมาโปะหน้าหรือใช้กระดาษซับมันในที่สาธารณะเป็นเรื่องปกติ และไม่เห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่ทำให้ใครเดือดร้อน เลยแปลกใจที่คนญี่ปุ่นถือเรื่องนี้พอสมควรถึงขนาดมีโปสเตอร์แปะไว้ว่าไม่ให้ทำเลยทีเดียว แต่กระนั้นก็ยังมีสาวใจกล้าให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ บนรถไฟญี่ปุ่น

6.ไม่เปิดเพลงเสียงดัง
ดูเหมือนในญี่ปุ่นจะมีคนฟังเพลงเสียงดังอยู่เรื่อย ๆ แม้จะใส่หูฟังแล้วก็ตาม จึงมักมีโปสเตอร์เตือนเรื่องนี้ให้เห็นอยู่เสมอ ถ้าเป็นที่อเมริกานี่จะเจอบ่อย บางคนถึงขนาดถือเครื่องขยายเสียงขนาดพกพาเปิดให้คนอื่นฟังทั้งบนรถไฟหรือในที่สาธารณะเลยทีเดียว แปลกดีค่ะ

ถ้าเป็นที่ญี่ปุ่นต้องระวังมากหน่อยเพราะอาจรบกวนคนอื่นได้มาก บางทีฉันเปิดเพลงเสียงดังขึ้นก็กลัวว่าจะเสียงจะเล็ดรอดออกมาจากหูฟังเหมือนกัน ก็จะใช้วิธีถอดหูฟังออกมาถือไว้ แล้วฟังดูว่ามีเสียงเล็ดรอดออกมาไหม ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องห่วงว่าจะมีเสียงรบกวนคนอื่น ๆ
ภาพจาก http://www.metrocf.or.jp/
7.ไม่สั่งน้ำมูกต่อหน้าคนอื่น
มีคนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยที่ถือเรื่องเสียงสั่งน้ำมูก รวมทั้งกลัวไปจนถึงว่าคนสั่งน้ำมูกจะเอาทิชชูไปทิ้งที่ไหนต่อ แต่บางคนก็บอกว่ายังดีกว่าสูดน้ำมูกไม่เลิก โดยสรุปแล้วทางออกที่กลาง ๆ ที่สุดคือ ถ้าจำเป็นต้องสั่งน้ำมูกก็ให้สั่งให้เบาที่สุด แต่ที่ดีที่สุดคือเลี่ยงไปอยู่ในที่ปลอดคนหรือในห้องน้ำ

ฉันจำได้ว่าในหนังสือสอนเรื่องมารยาทสมัยเรียนมัธยมต้นที่ไทยมีระบุไว้ด้วยว่า ไม่ควรสั่งน้ำมูก(รวมทั้งผายลม) ระหว่างรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ถ้าจะทำก็ให้ไปทำในห้องน้ำ จะว่าไปแล้วมารยาทของไทยก็มีส่วนคล้าย ๆ กับของญี่ปุ่นอยู่หลายข้อเหมือนกันนะคะ

8.ไม่ชี้นิ้วแต่ให้ผายมือแทน
ตอนที่ฉันทำงานพิเศษในร้านอาหาร ระหว่างที่เพื่อนร่วมงานกำลังสอนอะไรให้ฉันอยู่นั้น ฉันก็ชี้นิ้วไปทางหนึ่งเพื่อถามเธอว่าหมายถึงทางโน้นใช่ไหม เธอรีบจับมือฉันลดลงและบอกอย่างใจดีว่า “ไม่ชี้นิ้วนะ ให้ผายมือแบบนี้” แล้วทำท่าแบมือหันไปในทิศทางที่หมายความถึง

ถ้าลองนึกดูจะพบว่าเวลาคนญี่ปุ่นบอกทางหรือต้องการระบุตัวใคร มักจะใช้การผายมือเอาเสมอ ไม่เคยเห็นคนไหนใช้นิ้วชี้เอา ขนาดสามีฉันนอนละเมอบอกว่ามีสมุดโน้ตนะ ฉันถามว่าไหนล่ะ เขาก็ผายมือไปยังเครื่องปรับอากาศบอกว่า “นั่นไง” ไม่ได้เอานิ้วชี้เอา

9.เดิน/ยืนฝั่งใดฝั่งหนึ่ง
ภาพจาก https://papa-enta.blog.so-net.ne.jp
เวลาเดินตามทางเท้าให้เลือกเดินชิดซ้ายหรือชิดขวาตามที่คนอื่นเดิน ไม่เดินสวนกับคนอื่นในฝั่งเดียวกันหรือเดินเรียงหน้ากระดาน บางทางเท้าจะระบุไว้ว่าให้ชิดด้านไหน หรือระบุเลนสำหรับจักรยานกับเลนสำหรับคนเดินแยกจากกัน ถ้าเป็นบันไดเลื่อน หากเป็นกรุงโตเกียวจะยืนชิดฝั่งซ้ายและเดินฝั่งขวา หากเป็นโอซากาหรือเกียวโตจะยืนชิดฝั่งขวาและเดินฝั่งซ้าย ไม่ไปยืนกีดขวางฝั่งคนเดิน ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ไม่แน่ใจ ลองทำตามคนอื่น ๆ ดูนะคะ

10.เข้าแถวซื้อของให้ถูกช่อง
ร้านที่มีเคาน์เตอร์จ่ายเงินหลายจุด เช่น ร้านหนังสือ ร้านเสื้อผ้า ร้านสะดวกซื้อ และร้านขายยา มักไม่ให้ลูกค้าไปเลือกต่อแถวตามแต่ละเคาน์เตอร์ แต่ใช้วิธีการต่อแถวเดียว แล้วพอเคาน์เตอร์ไหนว่าง พนักงานก็จะเรียกลูกค้าที่อยู่ในคิวถัดไป ถ้าเป็นร้านสะดวกซื้อหรือร้านขายยา ให้มองหาลูกศรที่พื้นซึ่งจะบอกว่าแถวอยู่ที่ไหน

11.อย่าผิดนัดและอย่าไปสาย
ความตรงต่อเวลาสามารถสร้างความเชื่อถือให้แก่บุคคลได้ฉันใด การไม่ตรงต่อเวลาก็บั่นทอนเกียรติและความน่าเชื่อถือให้บุคคลได้ฉันนั้น ยิ่งเป็นคนญี่ปุ่นแล้วยิ่งไม่ยอมปล่อยให้คนอื่นต้องมารอตน การตรงต่อเวลาอย่างเคร่งครัดจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก และยากจะได้ยินใครยกเรื่องรถติดหรือติดธุระอื่นมาเป็นข้ออ้างเวลามาสาย โดยเฉพาะเมื่อระบบโดยสารสาธารณะของญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องความตรงต่อเวลามาก เว้นแต่จะมีเหตุสุดวิสัยจริง ๆ

หวังว่าจะพอเป็นประโยชน์บ้างนะคะ แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.




"ซาระซัง"
สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น