xs
xsm
sm
md
lg

ยลศิลป์ยินญี่ปุ่น : “อาจิไซ” ดอกไม้หน้าฝน

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

“อาจิไซ” พิพิธภัณฑ์อาดาจิ
ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


“ยลศิลป์ยินญี่ปุ่น” คือมุมพิเศษมุมใหม่ที่มาแทน “สะดุดคำ” หลังจากที่ได้นำเสนอมาครบ 3 ปีเต็ม มุมนี้จะแนะนำญี่ปุ่นผ่านงานศิลปะเดือนละครั้ง ด้วยการบอกเล่าแง่มุมที่น่าสนใจในเชิงศิลปะ สังคม และเกร็ดประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการมองผ่านจิตรกรรมประเภทต่าง ๆ ของญี่ปุ่น ประกอบกับคำอธิบายสะท้อนภูมิหลังทางยุคสมัยในลักษณะที่หาอ่านที่อื่นได้ยาก

ภาพสีนวล ๆ ชวนให้พักสายตา แถบมุมขวามีไม้ดอกทรงพุ่มยื่นออกมาเป็นกระจุก...นับแล้วมีสี่ช่อ เลยช่วงกลางค่อนไปทางซ้ายหน่อยมีอีกหนึ่งช่อชูเด่น คล้ายเป็นการหยอกเย้าเจ้าผีเสื้อตัวจ้อยที่คอยบินวนเวียนอยู่ใกล้ ๆ...เป็นภาพเรียบง่าย สบายตา และน่ามองนาน ๆ มีชื่อว่า “อาจิไซ” นี่คือผลงานปี 1902 (พ.ศ. 2445) อยู่ในสมัยเมจิของญี่ปุ่นซึ่งเป็นช่วงที่กำลังปรับประเทศสู่ความทันสมัย


“อาจิไซ” (紫陽花;Ajisai) คือดอกไม้ของญี่ปุ่น คนไทยส่วนใหญ่รู้จักในชื่อ “ไฮเดรนเยีย” (Hydrangea) ตามภาษาอังกฤษ แต่ว่ากันว่า จริง ๆ แล้วต้นกำเนิดดั้งเดิมคือญี่ปุ่นก่อนจะแพร่หลายออกไปทางตะวันตกในภายหลัง จนมีการพัฒนาพันธุ์แตกแขนงหลากหลาย และนำพันธุ์ใหม่ ๆ ย้อนกลับเข้าสู่ญี่ปุ่นด้วย อาจิไซเป็นดอกไม้หน้าฝน ช่วงปลายเดือนห้าย่างเข้าเดือนหกขณะที่ฝนเริ่มตกถี่ ดอกไม้ชนิดนี้จะเริ่มผลิบาน สีที่พบเห็นเป็นหลักคือสีม่วงหรือน้ำเงินเข้ม แต่สีขาวก็มี หรืออีกหลายสีก็เป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดินที่ใช้ปลูก

ชื่ออาจิไซมีหลักฐานปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกใน “มังโยชู” ซึ่งเป็นหนังสือประชุมกลอนโบราณของญี่ปุ่น โดยปรากฏสองแห่ง ในกลอนสองบท แต่เขียนด้วยตัวอักษรไม่เหมือนกันและไม่เหมือนกับตัวอักษรที่ใช้ในปัจจุบันด้วย เนื่องจากเป็นดอกไม้ที่เปลี่ยนสีไปเรื่อย จึงถูกนำมาเปรียบกับคนที่ปลิ้นปล้อนหลอกลวงโดยปรากฏเป็นกลอนบทหนึ่งในนั้น

ถ้าเทียบกับดอกซากุระและดอกบ๊วย ในสมัยโบราณอาจิไซไม่ใช่ดอกไม้ยอดนิยม จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเป็นที่สนใจมากขึ้นในฐานะสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะถ้าปลูกไว้มาก ๆ เมื่อออกดอกก็แลดูสวยงามละลานตา ปัจจุบันมีแหล่งชมอาจิไซชื่อดังหลายแห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ ถ้าไปวัดญี่ปุ่นมักจะพบเห็นอาจิไซถึงขั้นเรียกได้ว่าเป็นดอกไม้ประจำวัดเลยทีเดียว สาเหตุที่เป็นเช่นนี้คือ สมัยก่อนอาจิไซคือดอกไม้ที่นำมาใช้ในการไว้อาลัยผู้เสียชีวิต ในหน้าฝน สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ผู้คนล้มป่วยและเสียชีวิตไม่น้อย การนำอาจิไซซึ่งบานในหน้าฝนมามอบให้แก่ผู้เสียชีวิตจึงกลายเป็นขนบไว้อาลัย ตามวัดต่าง ๆ จึงปลูกอาจิไซไว้

สำหรับจิตรกรรม “อาจิไซ” ดูเหมือน “ฮิชิดะ ชุนโซ” (菱田春草; Hishida Shunsō) เจ้าของผลงานได้คำนวณองค์ประกอบกับการใช้สีไว้อย่างถี่ถ้วน ส่วนที่โดดเด่นคือดอกอาจิไซสีสดใส ขณะเดียวกันก็สร้างบรรยากาศเหงา ๆ ออกมาได้ดี ความสอดประสานระหว่างดอกไม้แม่บทกับพื้นหลังอย่างเนียนกริบทำให้ไล่สายตามองตามจุดต่าง ๆ ได้ราบรื่นโดยไม่สะดุด จุดเด่นนั้นไม่ถึงขนาดพุ่งปะทะสายตาแรง ๆ แต่จะว่าจมหายไปกับพื้นหลังก็ไม่ใช่ โดยรวมแล้วมีความลื่นไหลแบบเงียบ ๆ เรียบ ๆ แต่ไม่จืดนัก ความกลมกลืนนี้ได้มาจากทักษะฝีมือที่ชุนโซพัฒนาขึ้นอีกขั้นจากเทคนิค “โมโรไต” (朦朧体; moro-tai) ที่เคยถูกวิจารณ์ในยุคนั้น
ฮิชิดะ ชุนโซ (1874-1911; สิริอายุ 37 ปี)
“โมโรไต” (朦朧体; mōrō-tai) หมายถึง “รูปทรงมัวซัว” เป็นแนวทางการวาดภาพญี่ปุ่น เริ่มแพร่หลายในสมัยเมจิโดยจิตรกรกลุ่มหนึ่งรวมทั้งชุนโซด้วย กล่าวคือ เส้นกรอบของรูปทรงส่วนใหญ่จะวาดให้แลดูมัว ๆ จมหายไปกับพื้นหลัง ใช้วิธีการไล่โทนสีเพื่อแสดงตัวตนขององค์ประกอบ เส้นร่างไม่เด่นชัด ทำให้เกิดบรรยากาศเคว้งคว้างล่องลอยกลืนกันไปหมด ตอนนั้นถือว่าแปลกแหวกขนบ (ในทางไม่ดี) และถูกเรียกด้วยน้ำเสียงดูแคลนว่า “มัวซัว” ซึ่งคนพูดคงหมายถึง “มั่ว” นั่นแหละ แต่ต่อมาได้กลายเป็นลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งของภาพเขียนญี่ปุ่น
“ทิวทัศน์ฤดูใบไม้ร่วง” (秋景;Shūkei) ตัวอย่างการใช้เทคนิคโมโรไตของชุนโซ
“อาจิไซ” (54.5 × 112.2 ซม.) ผลงานของฮิชิดะ ชุนโซ
ชุนโซไม่ได้เพิกเฉยคำวิจารณ์ แต่นำมาพิจารณาและหาวิธีปรับให้ดีขึ้น ในเบื้องต้นชุนโซตระหนักว่า “โมโรไต” ใช้ได้ดีกับภาพบางลักษณะเท่านั้น เช่น ฉากยามเช้า ฉากยามเย็น ต่อมาจึงเริ่มแก้ไขจุดอ่อน โดยเพิ่มน้ำหนักเส้นร่างให้ชัดขึ้น ทำให้ภาพไม่ดูล่องลอย แต่ก็ไม่ทิ้งบรรยากาศความสลัว ภาพจึงไม่ถึงกับ ‘ทิ่มตา’ หากนึกถึงภาพเขียนของตะวันตกไปด้วย จะยิ่งรู้สึกได้ชัดว่าเทคนิคภาพเขียนญี่ปุ่นแบบนี้มีความเรียบง่ายกว่ามาก อีกทั้งสีสันไม่ฉูดฉาดนัก และสำหรับภาพ “อาจิไซ” กล่าวได้ว่าเป็นผลของการปรับเทคนิค “โมโรไต” ให้แลดูมีเป้าหมายและน้ำหนักมากขึ้น ซึ่งกลายเป็นรูปแบบทั่วไปของภาพเขียนญี่ปุ่นยุคใหม่

เมื่อย้อนพิจารณาดอกอาจิไซโดยทั่วไปในเชิงจิตรกรรม ย่อมพบว่ามีพื้นที่ไม่มากเท่าซากุระหรือบ๊วย การหาภาพเขียนญี่ปุ่นที่มีดอกไม้ชนิดนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย หรือเท่าที่มีก็อาจไม่งดงามสะดุดเป็นที่จดจำ ในบรรดาผลงานไม่มากเหล่านั้น ชุนโซสร้างงานจิตรกรรมขนาดใหญ่ที่มีอาจิไซเป็นองค์ประกอบสำคัญไว้ก่อนหน้า “อาจิไซ” ด้วย

ผลงานที่ว่านี้เกิดขึ้นในปี 1897 (พ.ศ. 2440) สารที่จิตรกรอยากสื่อคือเงาสตรีที่สะท้อนอยู่บนผิวน้ำอันเปรียบเสมือนกระจกเงา ภาพจึงได้ชื่อว่า “กระจกน้ำ” (水鏡;Mizu-kagami) ซึ่งแม้ไม่มีอาจิไซอยู่ในชื่อ แต่อาจิไซก็เป็นส่วนที่เติมเต็มภาพให้สมบูรณ์ทั้งด้านความงามและความหมาย
“กระจกน้ำ” (257.8 × 170.8 ซม.) มหาวิทยาลัยศิลปะโตเกียว
สตรีกลางภาพคือเทพธิดา ชุนโซคิดว่าความงามของสตรีนั้นไม่เที่ยง ต่อให้เป็นนางฟ้านางสวรรค์ซึ่งใคร ๆ คิดว่าเพียบพร้อมด้วยรูปสมบัติก็หลีกหนีความร่วงโรยไปมิได้ แนวคิดนี้สะท้อนออกมาในภาพ แต่ไม่ได้บอกเล่าตรงไปตรงมา เพราะหากจะวาดออกมาให้เห็นเป็นใบหน้าเสื่อมโทรมหรือเสื้อผ้าซอมซ่อประจักษ์แก่สายตา เมื่อมองภาพแล้วก็เข้าใจความหมายได้ทันที เป็นอันว่าจบแค่นั้น ไม่ต้องคิดต่อ แต่พอสื่อผ่านสัญลักษณ์อย่างที่ชุนโซทำในภาพนี้ จึงมีอะไรให้คิดไปได้อีกชั้นสองชั้น นี่คือเสน่ห์อย่างหนึ่งของงานศิลป์

ความเสื่อมสลายเพราะกาลเวลาสื่อออกมาสองทาง ได้แก่ เงาที่สะท้อนในน้ำ กับดอกอาจิไซ ชุนโซวาดเงาเทพธิดาในน้ำให้ออกหม่น ๆ เป็นโทนสีเทา น้ำนั่นเล่าก็มิได้ใสกระจ่างส่องสะท้อนเต็มร่าง แต่มีบางช่วงขาดหาย เป็นการบอกว่าอะไร ๆ ก็อยู่ไม่ทนหรอก มันต้องเปลี่ยนแปลงร่อยหรอไปตามกาล นอกจากนี้ สองด้านซ้ายขวาก็มีอาจิไซขนาบ หากสังเกตให้ดี สีดอกไม้ก็ผันแปรแห้งเหี่ยวกลายเป็นสีออกเทา ๆ แสดงถึงความร่วงโรย เป็นการนำดอกไม้มาเป็นสัญลักษณ์ตอกย้ำความไม่เที่ยงตามความคิดของจิตรกร

นอกจากภาพอาจิไซของชุนโซในยุคที่เทคนิค “โมโรไต” กำลังเป็นรูปเป็นร่างแล้ว อีกสองผลงานว่าด้วยอาจิไซที่ควรเอ่ยไว้เพื่อให้ครบชุด คือ “นกนางแอ่นกับอาจิไซ” และ “อาจิไซกับไก่สองตัว” โดยฝีมือของศิลปินคนละคนในสมัยเอโดะ ซึ่งวาดไว้ในคนละบรรยากาศ

“นกนางแอ่นกับอาจิไซ” (紫陽花に燕; Ajisai ni tsubame) เป็นฝีมือของคัตสึชิกะ โฮกูไซ ศิลปินสมัยเอโดะที่สร้างผลงานไว้มากมาย โดยเฉพาะภาพพิมพ์แกะไม้ อาจิไซของโฮกูไซมีสีชมพูอ่อนกับสีน้ำเงิน ลดความเหงาด้วยการวาดนกนางแอ่นโผมาโฉบช่อดอก ซึ่งเป็นทัศนีภาพที่แทบไม่ค่อยได้เห็นในความเป็นจริง ภาพนี้แม้ไม่ใช่งานเด่น แต่ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานที่ช่วยยืนยันว่า แทบไม่มีอะไรรอบตัวที่ปรมาจารย์โฮกูไซไม่เอามาวาด
“นกนางแอ่นกับอาจิไซ” ผลงานสมัยเอโดะ โดยคัตสึชิกะ โฮกูไซ
ส่วน “อาจิไซกับไก่สองตัว” (紫陽花双鶏図; Ajisai sōkei-zu) เป็นผลงานของอิโต จากูจู ศิลปินสมัยกลางเอโดะที่สร้างผลงานไว้มากมายเช่นกัน จิตรกรผู้นี้ชอบวาดภาพสัตว์เป็นพิเศษ และภาพที่ผู้คนจดจำได้มากที่สุดจำนวนหนึ่งคือไก่ ซึ่งก็ปรากฏตัวในภาพนี้เช่นกัน โดยมีพุ่มอาจิไซชูสลอนเป็นพื้นหลัง ลักษณะเด่นคือลายเส้นกับการเล่นสีสดใสแผ่อิทธิพลเต็มกรอบ สร้างบรรยากาศอีกแบบหนึ่งที่ต่างจากของชุนโซ
“อาจิไซกับไก่สองตัว” ผลงานสมัยเอโดะ โดยอิโต จากูจู
อันที่จริง คนญี่ปุ่นไม่ถือว่าหน้าฝนเป็นหนึ่งในสี่ฤดูของประเทศ เป็นแค่เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ที่แทรกอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากฤดูใบไม้ผลิเป็นฤดูร้อน และเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างน่าเบื่อ แม้กระนั้นก็ตาม หน้าฝนอันเฉอะแฉะเพราะฝนพร่ำแทบทุกวันก็ยังดีที่มีดอกไม้สีสดใสเป็นสิ่งประโลมใจตามหัวมุมถนนหรือในวัด และสำหรับหน้าฝนปีนี้ก็เช่นกัน หวังให้อาจิไซทั้งในภาพและในความเป็นจริงเป็นสิ่งที่ใช้พักสายตา มากกว่าจะเป็นดอกไม้แห่งความอาลัยของใคร ๆ เหมือนเมื่อในอดีต

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น