xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางภาษีผู้บริโภคของญี่ปุ่นจาก 3% สู่ 10%

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


จากที่เคยนำเสนอภาพรวมของภาษีหลายประเภทในญี่ปุ่นไว้พักใหญ่ คราวนี้ถึงเวลาเจาะรายละเอียดเกี่ยวกับภาษีที่ไม่ได้ส่งผลต่อคนญี่ปุ่นเท่านั้น แต่จะกระทบถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติด้วย เพราะราคาสินค้าจะสูงขึ้น ภาษีที่ว่านี้คือ “ภาษีบริโภค” ซึ่งตามกำหนดในขณะนี้คือ จะขึ้นจาก 8% ในปัจจุบัน เป็น 10% ในเดือนตุลาคม

“ภาษี (การ) บริโภค” หรือ “ภาษีผู้บริโภค” ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “โชฮิ-เซ” (消費税; shōhi-zei) คนไทยรู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” ซึ่งเป็นภาษีทางอ้อมที่ผลักภาระให้แก่ผู้อื่นได้ และเก็บทั่วทั้งหมดโดยไม่แยกแยะว่ารายได้น้อยหรือมาก จึงเป็นภาษีที่ส่งผลต่อผู้บริโภคทุกคนอย่างเลี่ยงไม่ได้เพราะผู้ขายส่วนใหญ่พร้อมจะผลักภาระให้ผู้บริโภคอยู่แล้ว สำหรับรัฐบาลภาษีชนิดนี้ภาษีเก็บง่าย ถ้ามีการซื้อขายเมื่อไร เงินก็เข้าคลังเมื่อนั้น

ระบบภาษีของแต่ละประเทศมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันมาก จึงต้องมีวิชาเฉพาะทางสอนกันเป็นกิจจะลักษณะในสถาบันการศึกษา ในกรณีของญี่ปุ่น ถ้าย่อให้ง่ายที่สุดเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจภาษีบริโภค โครงสร้างสำคัญที่ควรรู้จักก่อนคือ “ภาษีประชาชาติ” (国税;koku-zei) กับ “ภาษีภูมิภาค” หรือ “ภาษีท้องถิ่น” (地方税;chihō-zei) ซึ่งเป็นลักษณะร่วมของหลายประเทศ กล่าวคือ ปลายทางของเงินภาษีแต่ละประเภทที่เก็บไปคือเกณฑ์แบ่งหมวด ถ้าเข้าคลังใหญ่ของประเทศ นั่นคือภาษีประชาชาติ หากกลายเป็นรายได้ของส่วนการปกครองท้องถิ่น นั่นคือภาษีภูมิภาค

ตัวอย่างภาษีประชาชาติของญี่ปุ่น เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ภาษีเงินได้นิติบุคคล, ภาษีสรรพสามิต (เหล้า และบุหรี่ส่วนใหญ่), ภาษีมรดก ส่วนภาษีภูมิภาคซับซ้อนกว่า เพราะระดับการปกครองท้องถิ่นมีตั้งแต่จังหวัด, อำเภอ (หรือเมือง), ตำบล, หมู่บ้าน แต่ละระดับมีการเลือกตั้งผู้นำระดับนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าการจังหวัด ผู้ว่าการเมือง หรือนายกเทศมนตรี ถือเป็นการปกครองท้องถิ่นทั้งในเชิงการเมืองและเชิงงบประมาณ ซึ่งได้มาจากภาษีบางประเภท เช่น ภาษีท้องที่ (สู่จังหวัดและส่วนการปกครองระดับย่อยลงไป), ภาษีอสังหาริมทรัพย์ (สู่ระดับอำเภอลงไป), ภาษีรถยนต์ (สู่ระดับจังหวัด)

แต่ทว่า ในกรณี “ภาษีบริโภค” ไม่อาจชี้ชัดได้ว่าอยู่ในหมวดใดหมวดหนึ่งเพราะเงินไปตกที่ปลายทางทั้งสองแห่ง เงินที่ผู้บริโภคในญี่ปุ่นจ่ายเป็นภาษีบริโภคเมื่อซื้อของ ส่วนใหญ่จะเข้าคลังประเทศ ส่วนที่เหลือจะกลายเป็นภาษีท้องถิ่น เป็นรายได้ให้แก่การปกครองระดับจังหวัด และถ้ามีการประกาศว่าจะเก็บหรือจะขึ้นภาษีบริโภคเมื่อไรมักมีคนต่อต้านเสมอ เพราะโดยธรรมชาติแล้ว ประชาชนไม่ถูกกับภาษี เดิมญี่ปุ่นตั้งท่าจะเก็บภาษีบริโภคมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 แต่ตอนนั้นทำไม่สำเร็จ มาสำเร็จจริง ๆ ในปี 1989 (พ.ศ. 2532) โดยเริ่มเก็บตั้งแต่เดือนเมษายนซึ่งเป็นเดือนเริ่มต้นปีงบประมาณ

เมื่อย้อนกลับไปดูเส้นทางจะพบว่า ปลายทศวรรษ 1970 ญี่ปุ่นขาดดุลงบประมาณ นายกรัฐมนตรีมาซาโยชิ โอฮิระซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วง 2 ปีสุดท้ายของทศวรรษ เป็นผู้สนับสนุนให้รัฐบาลเริ่มนำระบบภาษีบริโภคมาใช้ ผู้นำคนนี้เคยทำงานที่สำนักงานสรรพากรหลายปีและเข้าใจเรื่องภาษีดี พอผันตัวมาเป็นนักการเมืองสังกัดพรรคเสรีประชาธิปไตยจนได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็ตระหนักดีว่า ถ้าปล่อยให้ขาดดุลต่อไปแบบนี้ไม่ดีแน่ จึงพยายามผลักดันให้เก็บภาษีบริโภคเพื่อนำเงินมาฟื้นฟูสภาพการคลัง

เรื่องนี้หารือกันในระดับคณะรัฐมนตรี แต่ปรากฏว่าเกิดกระแสต่อต้านจากภายในพรรค จากฝ่ายค้าน และจากประชาชนทั่วไป สะท้อนออกมาในผลการเลือกตั้งทั่วไปปลายปี 1979 ที่ผู้สมัครจากพรรคนี้ได้รับเลือกน้อยลง ต่อมาอีกประมาณ 10 ปีในสมัยนายกรัฐมนตรีโนโบรุ ทาเกชิตะ ญี่ปุ่นถึงได้ออกกฎหมายภาษีบริโภคสำเร็จในปลายปี 1988 โดยมีผลตั้งแต่เดือนเมษายน 1989 เป็นอันว่าญี่ปุ่นเริ่มเก็บภาษีบริโภค 3% มาตั้งแต่ปีนั้น

ผ่านมาอีก 5 ปี ดูเหมือนรายได้ชักจะไม่พอ อยากจะขอขึ้นอีกนิด จึงผ่านกฎหมายออกมาเมื่อปลายปี 1994 ขึ้นภาษีเป็น 5% ในเลขตัวนี้มีภาษีประชาชาติอยู่ 4% และอีก 1% คือภาษีภูมิภาค มีผลตั้งแต่เดือนเมษายน 1997 และอยู่ที่ระดับนี้ไม่ต่ำกว่า 10 ปี แต่ในระหว่างนั้นก็มีกระแสเรียกร้องจากฝ่ายการคลังเป็นระยะว่าน่าจะขึ้นภาษีอีก แน่นอนว่าทุกครั้งที่มีข่าวแบบนี้ ประชาชนก็บ่นทุกที และการแตะต้องภาษีโดยเฉพาะภาษีบริโภคซึ่งเกี่ยวข้องกับคนทั้งประเทศ มักนำความเสี่ยงมาสู่นักการเมืองแม้ว่าจะเป็นผู้มีความหวังดีต่อสภาพการคลังของประเทศก็ตาม ดังที่เคยปรากฏกับนายกรัฐมนตรีมาซาโยชิ โฮฮิระมาแล้ว และดังที่เห็นได้ชัดอีกครั้งในกรณีนายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คัง ซึ่งเผชิญกับการตกฮวบของคะแนนนิยมเมื่อเสนอให้ขึ้นภาษีบริโภคจาก 5% เป็น 10% ตอนกลางปี 2010

อย่างไรก็ตาม การขึ้นภาษีบริโภคดูเหมือนเป็นหนทางที่ญี่ปุ่นเลี่ยงได้ยาก หลัก ๆ แล้วเพราะต้องหาเงินไปใช้ด้านสวัสดิการสังคมในขณะที่มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปีและภาษีเงินได้มีแนวโน้มลดลง ในหนังสือพิมพ์และรายการโทรทัศน์มีผู้เชี่ยวชาญพยายามออกมาชี้ถึงความจำเป็นที่ต้องทำเช่นนั้น และยกข้อมูลระดับนานาชาติมาเปรียบเทียบด้วยว่า ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว คนญี่ปุ่นจ่ายภาษีทางอ้อม (ประกอบด้วยภาษีบริโภคเป็นหลัก) น้อยกว่าประเทศอื่นหลายประเทศ บอกเป็นนัยว่าถ้าอยู่ในกลุ่มประเทศร่ำรวยละก็ จ่ายมากกว่านี้อีกหน่อยก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีคนค้านว่าน่าจะมีวิธีที่ดีกว่านั้น หลังจากสู้กันทางความคิดอยู่พักใหญ่จึงได้ข้อสรุปว่าจะขึ้นภาษีบริโภคเป็นช่วง ๆ ระลอกแรกคือ 8% เกิดขึ้นในปี 2014 ระลอกต่อมาคือ 10% ถูกกำหนดไว้ที่เดือนตุลาคม 2015 แต่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะประกาศเลื่อนไปเป็นเมษายน 2017 แล้วก็เลื่อนอีก 2 ปีครึ่งเป็นตุลาคม 2019 ตารางสรุปอัตราภาษีบริโภคของญี่ปุ่นเท่าที่ผ่านมาประมวลได้ดังนี้

ทั้งนี้โครงสร้างรายได้จากภาษีทั้งหมดของญี่ปุ่นปีล่าสุด 2018 คือ ภาษีสินทรัพย์ 14.1%, ภาษีเงินได้นิติบุคคล 21.5%, ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 31.5%, ภาษีบริโภค 32.9% ส่วนหลังสุดนี้สั่งเพิ่มได้ง่ายสุดและเห็นผลเร็ว ในระยะสิบกว่าปีมานี้จึงเห็นได้ชัดว่าส่วนนี้เพิ่มขึ้นจริง อย่างน้อย 1.4 จุดจากเมื่อ 7 ปีก่อน

บัดนี้ถึงปี 2019 และใกล้วันขึ้นภาษีบริโภคเป็น 10% แล้ว แต่เมื่อวิเคราะห์จากการเลื่อนกำหนดการมา 2 ครั้ง ย่อมเห็นได้ว่านายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะระมัดระวังต่อการตัดสินใจเรื่องนี้มากเพราะตระหนักดีว่า ถ้าวันนั้นมาถึงจริง ๆ ประชาชนต้องได้รับผลกระทบแน่นอน สิ่งที่จะเป็นปัจจัยต่อการตัดสินใจเดินหน้าสู่เป้าหมาย 10% คือกำลังซื้อของประชาชน ซึ่งจะสะท้อนออกมาในผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ด้วย หากกำลังซื้อยังผันผวน การขึ้นภาษีบริโภคอาจทำให้เศรษฐกิจหดตัว ถ้าเป็นเช่นนั้น แทนที่รัฐบาลจะมีรายได้เข้าคลังมากขึ้น ผลอาจออกมาตรงกันข้าม

จากตัวเลข GDP เบื้องต้นของไตรมาสเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2019 พบว่าโดยรวมแล้ว GDP ขยายตัว แต่กำลังซื้อของประชาชนลดลงเล็กน้อย และตัวเลขของไตรมาสต่อไปคงจะเป็นอีกส่วนหนึ่งของการพิจารณาด้วย จึงเป็นที่น่าจับตาดูต่อไปว่าจะเลื่อนอีกไหม หรืออาจจะถึงเวลาต้องเตรียมเงินเตรียมใจไว้จ่ายหนักกว่าเดิมแล้วก็เป็นได้

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น