xs
xsm
sm
md
lg

สถานะและพระนามของพระจักรพรรดิ หลังญี่ปุ่นผลัดแผ่นดิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หลังจากญี่ปุ่นผ่านพระราชพิธีสละราชสมบัติและขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิ ยังคงมีผู้คนบางส่วนไม่เข้าใจในสถานะของพระจักรพรรดิ และการเอ่ยพระนามของพระองค์ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบเกือบ 200 ปี

สื่อมวลชนจำนวนมากรวมทั้งชาวต่างชาติ มักจะคุ้นเคยกับการอ้างถึงพระจักรพรรดิของญี่ปุ่น โดยเอ่ยพระนาม คือ พระจักรพรรดิอากิฮิโตะ พระจักรพรรดินารูฮิโตะ แต่ตามขนบของญี่ปุ่นแล้ว คนญี่ปุ่นไม่เอ่ยพระนามของสมเด็จพระจักรพรรดิทั้งในชีวิตประจำวันและในสื่อมวลชน การกล่าวถึงพระองค์จะใช้คำว่า "สมเด็จพระจักรพรรดิ" 天皇陛下 เท่านั้น และก็จะไม่เอ่ยพระนามของพระจักรพรรดินีเช่นเดียวกัน โดยจะกล่าวถึงใช้ใช้คำว่า สมเด็จพระจักรพรรดินี 皇后さま  

แต่เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน จึงอาจมีสื่อมวลชนบางส่วนใช้คำว่า "สมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่"  เพื่อป้องกันความสับสนเป็นการชั่วคราว แต่หลังจากนี้จะมีเพียงพระจักรพรรดิพระองค์เดียวเท่านั้น

สำหรับสมเด็จพระจักรพรรดิ (อากิฮิโตะ) ที่สละราชสมบัติ จะดำรงพระสถานะเป็น "โจโก" 上皇ซึ่งในภาษาไทยมีคำว่า "พระเจ้าหลวง" และสมเด็จพระจักรพรรดินี จะทรงเป็น "โจโกโง"上皇后 หรือ "พระพันปี"

ส่วนภาษาอังกฤษ สำนักพระราชวังแห่งญี่ปุ่นบัญญัติคำว่า Emperor Emeritus และ Empress Emerita ตามลำดับ จากนี้ไปหากเอ่ยถึงพระองค์เป็นภาษาไทย คำที่เหมาะสมจึงน่าจะเป็น "สมเด็จพระจักรพรรดิพระเจ้าหลวง" และ "สมเด็จพระจักรพรรดินีพระพันปีหลวง"

นอกจากนี้ ถึงแม้ญี่ปุ่นจะเปลี่ยนจากรัชสมัย “เฮเซ” เข้าสู่รัชสมัย “เรวะ” แต่เป็นการไม่บังควรอย่างยิ่งที่จะใช้คำว่า “สมเด็จพระจักรพรรดิเฮเซ” เนื่องจากระหว่างที่พระจักรพรรดิยังมีพระชนม์ชีพอยู่ จะไม่นำชื่อสมัยมาเอ่ยถึงพระองค์ คำว่า "เฮเซ" จึงยังใช้กับสมเด็จพระจักรพรรดิไม่ได้ ตัวอย่างอื่น เช่น "จักรพรรดิเมจิ" หรือ "จักรพรรดิไทโช" นั้นพูดได้เพราะทั้งสองพระองค์สวรรคตแล้ว

ในส่วนของ เจ้าชายอากิชิโนะ จะทรงมีฐานะเป็นองค์รัชทายาทลำดับที่ 1 แต่เนื่องจากพระองค์เป็นพระอนุชาในสมเด็จพระจักรพรรดิ จึงไม่สอดคล้องที่จะใช้คำว่า “โคไทจิ” 皇太子 ซึ่งแปลว่ามกุฎราชกุมาร สำนักพระราชวังหลวงของญี่ปุ่นจึงเสนอให้ใช้นำคำว่า “โคจิ” 皇嗣 มาใช้ ซึ่งอาจแปลเป็นภาษาไทยว่า มกุฎราชราชอนุชา แต่ในภาษาอังกฤษใช้คำเดียวกันคือ Crown Prince ประกอบกับคำว่า มกุฎราชราชอนุชา ไม่เคยปรากฏมาก่อนในบริบทของไทย จึงอาจใช้คำว่ามกุฎราชกุมาร โดยอนุโลม

สถานะของพระจักรพรรดิมีเพียงหนึ่งเดียว

หลังจากพระราชพิธีขึ้นครองราชย์ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น (เจ้าชายนารูฮิโตะ) ทรงเป็นพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ โดยพระราชบิดาและพระราชมารดาจึงทรงเป็น "สมเด็จพระจักรพรรดิพระเจ้าหลวง" และ "สมเด็จพระจักรพรรดินีพระพันปีหลวง" ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของญี่ปุ่น

มีกระแสความกังวลอยู่บ้างว่าญี่ปุ่นอาจมีสัญลักษณ์ของประเทศ 2 พระองค์ แต่สำนักพระราชวังระบุว่าเรื่องเช่นนั้นจะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ปัจจุบัน จะทรงดำเนินพระราชภารกิจทางการทั้งหมดด้วยพระองค์เองในฐานะสัญลักษณ์ของประเทศ และคาดว่าสมเด็จพระจักรพรรดิพระเจ้าหลวงจะทรงปรากฏพระองค์ต่อสาธารณะเฉพาะในโอกาสที่สำคัญเท่านั้น

ส่วนเจ้าชายอากิชิโนะ พระอนุชาในสมเด็จพระจักรพรรดิ ทรงอยู่ในสถานะองค์รัชทายาทลำดับที่ 1 และจะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะมกุฎราชกุมาร.

อ่านเพิ่มเติมที่ https://www.bbc.com/thai/international-47793649


กำลังโหลดความคิดเห็น