xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นยุค "เรวะ" ดอกบ๊วยเหนือกว่าซากุระ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศักราชใหม่ของญี่ปุ่น ที่ใช้ชื่อว่า เรวะ มีที่มาจากบทกลอนชมดอกบ๊วยในสมัยโบราณ ขณะที่ผู้คนจำนวนมากคิดว่าญี่ปุ่นคือ “แดนซากุระ ” แต่ความจริงแล้วดอกบ๊วยเป็นสัญลักษณ์แห่งความสวยงามที่ท้าทายความยากลำบาก นี่คือนัยยะที่ญี่ปุ่นต้องการสื่อถึงยุคสมัยใหม่ของแดนอาทิตย์อุทัย

คำว่า “เรวะ” คัดเลือกมาจาก “มังโยชู” กวีนิพนธ์โบราณที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น โดยบทกลอนอันเป็นที่มาคือ “บทกวีดอกบ๊วย” มีความหมายโดยสังเขปคือ

“ ณ เวลานั้น ช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ ในเดือนอันน่ายินดี อากาศแจ่มใส ลมโชยนุ่มนวล ดอกบ๊วยบานงดงาม ดอกกล้วยไม้จรุงกลิ่นกำจร”
于時、初春令月、氣淑風和、梅披鏡前之粉、蘭薫珮後之香

อ่านเพิ่มเติมจาก “เรวะ” ศักราชใหม่ของญี่ปุ่น และ ภูมิหลัง

  

ทุกวันนี้ ผู้คนส่วนใหญ่อาจชื่นชมซากุระของญี่ปุ่น แต่ความจริงแล้ว ชาวญี่ปุ่นชื่มชมดอกบ๊วยบานมาก่อนดอกซากุระ ตั้งแต่สมัยนาระ (ค.ศ. 710-794) ก็มีเทศกาลชมดอกบ๊วยบานแล้ว ขณะที่ดอกซากุระเพิ่งได้รับความนิยมในสมัยเฮอัน (ค.ศ.794-1185)

ดอกบ๊วยสามารถบานสะพรั่งได้ท่ามกลางหิมะและอากาศที่หนาวเย็น ชาวแดนอาทิตย์อุทัยจึงรับค่านิยมมากจากจีน ว่าบ๊วยเป็นพืชที่เป็นสัญลักษณ์แห่งฤดูหนาวคู่กับต้นสนและไม้ไผ่ ซึ่งได้รับการขนานนามว่า “สามสหายแห่งเหมันตฤดู” 岁寒三友 ,松竹梅

ดอกบ๊วยมีหลากสีหลายสายพันธุ์ตั้งแต่สีแดงเข้ม, สีชมพู จนถึงสีขาว เมื่อบานสะพรั่งพร้อมกันจึงงดงามอย่างยิ่ง ดอกบ๊วยยังมีกลิ่นหอมหวาน เติมความสดชื่นในฤดูหนาวที่พืชพรรณอย่างอื่นล้วนแต่อยู่ในสภาพผลัดใบไร้ผล

บ๊วยผูกพันใกล้ชิดกับวัฒนธรรมและชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นมาก การชมดอกไม้ หรือ “โอะ-ฮะนะมิ” ในสมัยก่อนคือการชมดอกบ๊วย ไม่ใช่ดอกซากุระดังเช่นตอนนี้

แม้แต่ในประชุมโคลงกลอนญี่ปุ่น “มังโยชู” ที่เป็นที่มาของชื่อศักราช “เรวะ” ก็กล่าวถึงบ๊วย 118 บท แต่กล่าวถึงซากุระเพียงแค่ 42 บท

ชาวญี่ปุ่นยังเชื่อว่าต้นบ๊วยสามารถช่วยปกป้องบ้านเรือนจากภูตผีปีศาจ ดังนั้นจึงนิยมปลูกต้นบ๊วยไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้าน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นทิศที่ภูตผีเข้ามาหา และยังเชื่อกันว่าหากทานบ๊วยหลังอาหารเช้าจะช่วยปัดเป่าขจัดโรคร้ายได้ ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์ก็พบว่าบ๊วยมีผลดีต่อร่างกายจริง บ๊วยรสเปรี้ยวนั้นมีกรดซิตริกตามธรรมชาติอยู่มาก กรดซิตริกเป็นกรดที่บริโภคได้ การทานเป็นประจำจะช่วยให้ร่างกายสดชื่น ฟื้นตัวจากความอ่อนเพลีย และชะลอความชราได้

จากซากุระแสนบอบบาง หวนคืนสู่ดอกบ๊วยที่แข็งแกร่ง

ดอกซากุระสวยก็จริงแต่บอบบางและฉาบฉวย ซากุระบานเพียงแค่สัปดาห์เดียวก็จะร่วงโรย แต่ดอกบ๊วยเป็นดอกไม้เพียงไม่กี่ชนิดที่เบ่งบานท้าทายความหนาวเหน็บ ดอกบ๊วยจึงเป็นดอกไม้ที่ปรากฏในงานศิลปะบ่อยที่สุดชนิดหนึ่งของทั้งญี่ปุ่นและจีน เพื่อสื่อถึงความงดงามที่ทรหดและมุ่งมั่น

ดอกบ๊วยจึงเป็นสัญลักษณ์ของการดอกออกผลจากความอดทน เป็นความงามที่แข็งแกร่ง เป็นสัญลักษณ์ของผู้ชนะตัวจริง ไม่ใช่บ๊วยที่แปลว่า “ที่โหล่” ตามที่คนไทยเข้าใจกัน

ญี่ปุ่นเคยผ่านยุคที่รุ่งโรจน์เหมือนดั่งซากุระบาน แต่ก็ร่วงโรยอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจญี่ปุ่นซบเซานานกว่า 20 ปี แทบมองไม่เห็นอนาคตที่เบ่งบาน ความรุ่งเรืองที่ฉาบฉวยของญี่ปุ่นก็เหมือนซากุระที่บานแค่ชั่วครู่ชั่วยาม

การผลัดแผ่นดินสู่ยุค “เรวะ” ราชบัณฑิตที่เสนอชื่อศักราชใหม่นี้คงตระหนักว่าการจะกลับไปรุ่งเรืองเหมือนดั่งเดิมนั้นคงไม่ง่ายดายแล้ว แต่ชาวญี่ปุ่นต้องไม่หมดกำลังใจ ไม่ละความพยายาม ศักราช “เรวะ” ไว้ว่าจะเป็นยุคที่ชาวญี่ปุ่นทุกคนสามารถบรรลุความฝันของตนได้ด้วยความมุมานะ เหมือนดั่งดอกบ๊วยที่เบ่งบานท่ามกลางความหนาว.


กำลังโหลดความคิดเห็น