ญี่ปุ่นกำลังจะเข้าสู่รัชสมัยใหม่ที่ใช้ชื่อว่า “เรวะ” ตามการเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ การผลัดแผ่นดินครั้งสำคัญ สะท้อนถึงความฝันของแห่งชาติญี่ปุ่นตั้งแต่ราชวงศ์จนถึงประชาราษฎร์ หลังจากแดนอาทิตย์อุทัยต้องเผชิญกับภาวะ“อัสดง” มานานกว่า 20 ปี
ชื่อศักราช เรวะ 令和 มีความหมายคือ “ความสอดผสานอันปีติ” นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ขยายความโดยบอกว่าชื่อนี้สื่อความว่า “ท่ามกลางการประสานใจกันอย่างงดงามของผู้คน วัฒนธรรมจะก่อกำเนิดและเติบโต” พร้อมแสดงความหวังว่าในยุคเรวะ ชาวญี่ปุ่นทุกคนจะสามารถบรรลุความฝันได้ด้วยความพยายามของตน เหมือนกับดอกบ๊วยที่ผลิบานท่ามกลางอากาศที่หนาวเหน็บ
ญี่ปุ่นหยิบคำว่า “เรวะ” มาจากประชุมกลอนโบราณที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่นที่ชื่อว่า “มังโยชู” 万葉集 และเป็นครั้งแรกที่เลือกมาจากวรรณกรรมของญี่ปุ่น ไม่ใช่วรรณกรรมคลาสสิกของจีน สะท้อนเจตนาว่าญี่ปุ่นต้องการยกย่องวัฒนธรรมของตนเอง สลัดพ้นจากอิทธิพลของต่างชาติ แม้ว่ารากฐานทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นจะมาจากจีนก็ตาม
“สมานฉันท์” คำสำคัญแห่งบูรพา
คำว่า 和 “วะ” ในชื่อรัชสมัยใหม่ของญี่ปุ่น หรือในภาษาจีนอ่านว่า “เหอ” มีความหมายเดียวกันคือ ความสอดผสาน ความกลมกลืน ซึ่งอาจเป็นเรื่อง(ไม่) บังเอิญที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ได้ประกาศคำว่า 和谐 หรือ สมานฉันท์ ให้เป็นนโยบายหลักของจีนตั้งแต่ปี 2004
การใช้คำว่า 和 ในบริบทของจีนและญี่ปุ่นอาจต่างกันในบริบท แต่จุดมุ่งหมายใกล้เคียงกันอย่างยิ่ง
ในกรณีของจีน ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงตระหนักว่าหลังจากจีนใช้นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศจนสร้างความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจได้อย่างน่ามหัศจรรย์นั้น แต่ก็ได้สร้างความบีบคั้นให้กับชาวจีนที่ไล่ตามการแข่งขันไม่ทัน จนกลายเป็นความแตกต่างทางสถานะและความไม่เท่าเทียม และก่อเกิดการต่อต้านจากประชาชนชาวจีนบ่อยครั้ง
ผู้นำจีนยังรู้ดีว่ายิ่งเมื่อเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอย่างมาก ก็ยิ่งมีความเสี่ยงจะเกิดความไม่สงบในสังคมได้มากขึ้น จึงหยิบปรัชญาของขงจื๊อขึ้นมาเรียกร้องให้ประชาชนปรองดอง สมานฉันท์ และเป็นหลักในการชี้นำการพัฒนาเศรษฐกิจให้ถ้วนทั่ว จึงอาจพูดได้ว่าจีนใช้นโยบาย 和 มาก่อนญี่ปุ่น
สำหรับญี่ปุ่น คำว่า 和 ที่ถูกใช้ในชื่อรัชสมัย “เรวะ” อาจสะท้อนถึงยุคใหม่ของญี่ปุ่น ที่จะมีชาวต่างชาติมายังญี่ปุ่นจำนวนมาก ทั้งจากการท่องเที่ยวและมาทำงาน เนื่องจากญี่ปุ่นเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนักจากสังคมผู้สูงอายุ จนรัฐบาลญี่ปุ่นต้องปรับปรุงกฎหมายควบคุมคนเข้าเมือง เปิดทางให้ชาวต่างชาติหลายแสนคนมาทำงานในญี่ปุ่น ซึ่งถูกเปรียบเป็นการเปิดประเทศครั้งใหม่ของแดนอาทิตย์อุทัย
เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นเกาะ ชาวญี่ปุ่นภูมิใจในอัตลักษณ์ของตนอย่างยิ่งยวด ถึงขนาดที่ยุคหนึ่งชาวญี่ปุ่นบางคนเคยคิดว่าตนเองเหนือกว่าชาติเอเชียอื่นๆ และก่อสงครามเพื่อตั้ง “วงศ์ไพบูลย์แห่งมหาบูรพา” สังคมญี่ปุ่นจนถึงทุกวันนี้จึงมี “กำแพงทัศนคติ” ต่อชาวต่างชาติที่สูงมาก จนแม้แต่สมเด็จพระจักรพรรดิยังต้องมีพระราชดำรัสถึงในวันคล้ายวันพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ปีที่แล้วว่า
“ คนเชื้อสายญี่ปุ่นอาศัยอยู่ที่ประเทศอื่นในฐานะสมาชิกผู้แข็งขันของสังคมนั้นโดยได้รับความช่วยเหลือจากประเทศนั้น ๆ ข้าพเจ้าก็หวังว่าประชาชนญี่ปุ่นจะสามารถต้อนรับผู้มาทำงานในญี่ปุ่นในฐานะสมาชิกของสังคมเราได้อย่างอบอุ่นด้วย
นอกจากนี้ จำนวนชาวต่างชาติที่มาเยือนญี่ปุ่นก็กำลังเพิ่มขึ้นทุกปี ข้าพเจ้าหวังว่าผู้มาเยือนเหล่านี้จะได้เห็นญี่ปุ่นด้วยสายตาของตนเองและเข้าใจประเทศเราลึกซึ้งยิ่งขึ้น และหวังว่าความปรารถนาดีกับมิตรภาพจะได้รับการส่งเสริมระหว่างญี่ปุ่นกับนานาประเทศ”
จาก “เฮเซ” สู่ “เรวะ”
ยุค "เฮเซ" ของสมเด็จพระจักรพรรดิปัจจุบัน มีความหมายถึง "สันติภาพทั่วทุกทิศ" สะท้อนปณิธานของญี่ปุ่นในการฟื้นฟูสัมพันธภาพกับนานาชาติ และลบรอยบาดแผลจากสงคราม
แต่ในยุค “เรวะ” ญี่ปุ่นเผชิญกับทั้งการเติบใหญ่ของมหาอำนาจใหม่อย่างจีน ขณะที่ในบ้านตัวเองก็จำต้องเปิดรับผู้มาเยือนจากต่างชาติมากขึ้น ชาวญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องใคร่ครวญและปรับตัวที่จะอยู่ร่วมกับคนที่แตกต่างจากตัวเองอย่าง “สมานฉันท์” ....นี่อาจเป็นแรงบันดาลใจหนึ่งของการคัดเลือกคำสำคัญมาเป็นชื่อรัชสมัย “เรวะ”
ถึงแม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะบอกว่า “เรวะ” มาจากกวีนิพนธ์โบราณของญี่ปุ่น แต่ใน “หลุนอวี่” คัมภีร์โบราณของจีนได้บันทึกประโยคสำคัญไว้ว่า 万事以和为贵 หรือ ความกลมกลืนคือหัวใจของสรรพสิ่ง
ในยุค “เรวะ” ญี่ปุ่นจึงต้องเลือกว่าจะยึดถือค่านิยมหลักแห่งบูรพาที่เน้นความสมานฉันท์ หรือจะยังยึดติดกับการช่วงชิงเพื่อเป็น “นัมเบอร์วัน” เหมือนที่ผู้นำบางคนประกาศว่าต้องการสร้างชาติตัวเองให้ Great again !