ถึงแม้สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นจะถูกกำหนดให้เป็นเพียง “สัญลักษณ์” ของประเทศ แต่ในรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นก็ได้กำหนดพระราชภารกิจไว้อย่างชัดแจ้ง ภารกิจเหล่านี้มีมากมายถึงขนาดที่พระองค์สามารถหยุดพักผ่อนได้เพียงแค่ปีละราว 77 วันเท่านั้น
สำนักพระราชวังของญี่ปุ่นเคยเปิดเผยว่า พระจักรพรรดิทรงมีวันหยุดประมาณ 77- 80 วันต่อปีเท่านั้น ซึ่งหากเทียบกับคำทำงานคนทำงานทั่ว ๆ ไปที่มีวันหยุดเสาร์อาทิตย์ และไม่นับวันหยุดนักขัตฤกษ์ คนทั่วไปก็ได้หยุดมากกว่าถึง 100 วันแล้ว แสดงให้เห็นว่าภารกิจของพระองค์ทรงหนักหนาเพียงใด
ภารกิจของพระจักรพรรดิแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ รัฐกิจหรืองานของบ้านเมือง และงานสาธารณะ นอกจากนี้ยังมีพิธีต่างๆ ของวังหลวง ซึ่งเป็นราชพิธีต่าง ๆ อีกด้วย
รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นมาตรการ 7 ระบุถึงรัฐกิจของพระจักรพรรดิ 10 เรื่องได้แก่ ลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายต่างๆ, เรียกประชุมรัฐสภา, ยุบสภาผู้แทนราษฎรตามคำแนะนำของนายกฯ, ประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา, แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ตุลาการ หรือให้พ้นจากตำแหน่ง, พระราชทานอภัยโทษและลดโทษ, เป็นประธานในงานต่าง ๆ, แต่งตั้งเอกอัครราชทูตและลงพระปรมาภิไธยในเอกสารด้านต่างประเทศ, รับการถวายสารตราตั้งเอกอัครราชทูตของแต่ละประเทศ, เป็นประธานการประชุมต่าง ๆ
หากพิจารณาเฉพาะการลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายต่างๆ ที่คณะรัฐมนตรีส่งมา ก็มีปีละมากกว่า1,000 ฉบับ นอกจากนี้ยังมีเอกสารของสำนักพระราชวัง ที่พระองค์ทรงต้องพิจารณาและลงพระปรมาภิไธยอีก แต่ละปีมากกว่า 1,500 ฉบับ
นอกจากงานของบ้านเมืองตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้แล้ว สมเด็จพระจักรพรรดิยังทรงปฏิบัติงานสาธารณะในฐานะ “ศูนย์รวมใจ” ของประชาชน เช่นการเสด็จฯ เยี่ยมเยือนประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ รวมทั้งการเสด็จออกให้พสกนิกรได้เข้าเฝ้าฯ และประทานพรวันปีใหม่ ซึ่งในทุกปีจะเสด็จออกที่พระสีหบัญชรและมีพระราชดำรัส 5-6 รอบทั้งวัน ตั้งแต่เช้าจรดเย็น
นอกจากนี้ ยังทรงมีพระราชดำริจัดงานต่าง ๆ เพื่อเสริมความใกล้ชิดระหว่างคณะรัฐมนตรีและบุคคลสำคัญกับราชวงศ์ เช่น งานทรงดนตรี งานแนะนำบทกวีที่ทรงประพันธ์ งานพระราชทานเลี้ยงในอุทธยานหลวง ซึ่งจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง โดยเชิญแขกบ้านแขกเมืองและทูตานุทูต ซึ่งเชิญผู้เข้าร่วมงานมากถึง 2,000 คน โดยถึงแม้งานเหล่านี้จะดำเนินการโดยสำนักพระราชวัง แต่ก่อนจะเสด็จฯ ก็ต้องทรงรับฟังสรุปประวัติของผู้ที่จะเข้าร่วมงาน เพื่อจะได้ทรงมีพระราชปฏิสันถารได้
สมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ปัจจุบันยังทรงเป็น “มิ่งขวัญ” ของประชาชน ทรงเสด็จฯ ไปให้กำลังใจในยามเกิดภัยพิบัติแทบทุกครั้ง ในเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิถล่มเมื่อปี 2554ทรงเสด็จไปยังพื้นที่ฟูกูชิมะหลังเกิดเหตุได้ไม่นาน ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะคัดค้าน เพราะมีการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี แต่ก็ทรงเฮลิคอปเตอร์ไปยังพื้นที่เกิด เพราะทรงตระหนักว่าผู้ประสบภัยต้องการขวัญกำลังใจ
ทั้งงานหลวง งานราษฎร์เช่นนี้ ทำให้พระจักรพรรดิทรงมีเวลาส่วนพระองค์เหลือไม่มากนัก แม้แต่การเสด็จฯ เยือนต่างประเทศ ในระยะหลังก็ลดลงอย่างมาก ในช่วงก่อนที่จะสละราชสมบัตินั้น ทรงมีพระราชดำริว่าจะเสด็จฯ เยือนเฉพาะประเทศที่เคยได้รับผลกระทบจากสงครามที่ญี่ปุ่นเป็นผู้ก่อขึ้น เพื่อสานพระปณิธานส่งท้ายรัชสมัย “เฮเซ” ที่มีความหมายว่า “สันติภาพทั่วดินแดน”
สำนักพระราชวังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ในการเสด็จฯ เยือนเวียดนามเมื่อเดือนมีนาคม 2560 ซึ่งเป็นหนึ่งในการเสด็จฯ ต่างประเทศครั้งท้ายหลังสุดของพระองค์ สมเด็จพระจักรพรรดิทรงแสดง “พระประสงค์ส่วนพระองค์” ที่จะเสด็จฯ ประเทศไทยด้วย เพื่อถวายพระราชสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
มนุษย์ที่เหนื่อยกว่าเทพ ทำงานไร้วันเกษียณ
ถึงแม้พระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นจะเปลี่ยนสถานะจากสมมุติเทพ มาเป็นคนธรรมดาที่มีความรู้สึก มีเกิดแก่เจ็บตาย แต่ทรงอุทิศพระองค์กว่ามากกว่าที่จะทรงอยู่อย่างสุขสบาย พระองค์ต้องทำงาน และการทำงานนี้ไม่มีเกษียณ!
ถึงแม้สื่อญี่ปุ่นจะไม่มีข่าวพระราชสำนักเป็นประจำ ประชาชนหลายคนอาจสงสัยว่าทรงงานอะไรกันบ้างหรือ? แต่หากพิจารณาเยี่ยงสามัญชนแล้ว ผู้สูงวัยคนหนึ่งที่พละกำลังถดถอย แต่กลับมิอาจจะพักผ่อนได้ พระองค์ไม่สามารถมีพระราชดำรัสโดยตรงได้ว่า “ต้องการสละราชสมบัติ” เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ให้ทำได้ จึงทรงใช้คำว่า จะมีพระราชดำรัสว่าด้วย “ความรู้สึก” ของพระองค์ และท้ายสุดยังทรงตรัสว่า “เราหวังอย่างยิ่งว่าจะได้รับความเข้าใจจากพสกนิกร”.
ขอบคุณบทความจากเพจ บูรพาไม่แพ้