ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
ระยะเวลาแห่งสมัยเฮเซเหลือน้อยลงทุกทีขณะที่พระราชพิธีสละราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดิในวันที่ 30 เมษายน 2562 กำลังใกล้เข้ามา บัดนี้ในเดือนสุดท้ายแห่งรัชสมัย เอกสารไปเริ่มพิมพ์คำว่า “เรวะ” อันเป็นชื่อศักราชใหม่เพื่อรอวันใช้จริงกันแล้ว พร้อมกันนี้ก็เกิดบรรยากาศมองย้อนเฮเซราวกับเพื่อบอกลาช่วงเวลา “ความสงบทั่วแผ่นดิน” ภาพเหตุการณ์ใหญ่ในช่วงสามทศวรรษแห่งเฮเซหมุนเวียนมาปรากฏบนพื้นที่สื่อเป็นระยะ และ ณ ตรงนี้ก็เช่นกัน จะร่วมมองย้อนถึงภาพกว้างของสถาบันจักรพรรดิที่ผ่านช่วงต่าง ๆ มาจนถึงสมัยเฮเซ
สถานะศักดิ์สิทธิ์ที่ผูกโยงกับเทพเจ้าเคยเอื้อให้จักรพรรดิญี่ปุ่นทรงกำหนดศักดิ์และสิทธิ์ทางสังคมได้เอง ทว่าในช่วงเวลากว่าพันปี สถาบันนี้ผ่านการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างด้วยปัจจัยทางการเมืองมาหลายครั้ง จนกระทั่งวันที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามใหญ่ เมื่อนั้นจักรพรรดิทรงประกาศว่าความศักดิ์สิทธิ์ในฐานะสมมุติเทพหาได้มีอีกต่อไปไม่ และท้ายที่สุดก็มาถึงยุคที่ศักดิ์กับสิทธิ์นั้นกลายเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญ นี่คือลักษณะโดยรวมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของสถาบันจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น
เมื่อครั้งโบราณกาล สถาบันจักรพรรดิสร้างความชอบธรรมโดยอิงพลังของเทพเจ้าซึ่งถือว่าเป็นต้นสายของตระกูลจักรพรรดิ อันที่จริง ความเชื่อเรื่องเจ้าป่าเจ้าเขาในธรรมชาติมีมานานแล้ว ขณะที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แถบลาวและบางส่วนของไทย ความเชื่อแบบนั้นพัฒนาเป็นศาสนาผี แต่ที่ญี่ปุ่นพัฒนาเป็น “ศาสนาชินโต” ซึ่งให้เกียรติผีโดยให้ดีขึ้นว่า “เทพ” ความเชื่อเป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วไป คนที่รู้จักนำความเชื่อมาชูและใช้และบอกเล่าซ้ำ ๆ เป็นคนแรก ๆ มักกลายเป็นผู้นำในสังคม จุดเริ่มต้นของสถาบันจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นก็เข้าข่ายนั้น
ญี่ปุ่นทำเรื่องนี้สำเร็จเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเมื่อมีอารยธรรมตัวอักษรจีนเข้ามา การสร้างประวัติศาสตร์แห่งความศักดิ์สิทธิ์ได้รับการตอกย้ำเป็นรูปธรรม สถานะของจักรพรรดิกับศาสนาชินโตที่นับถือเทพเจ้าจึงสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดทั้งในแนวคิดและในตัวอักษร ยังผลให้พิธีต่าง ๆ ของราชสำนักญี่ปุ่นจัดขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าตามขนบที่มีมาแต่โบราณจนถึงทุกวันนี้
แต่เนื่องจากบางส่วนหรือหลายส่วนเป็นสิ่งที่ ‘ถูกสร้าง’ บางอย่างจึงยืนยันไม่ได้ อย่างเช่น ตำนานระบุว่าจักรพรรดิองค์แรกของญี่ปุ่นคือจักรพรรดิจิมมุ สืบสายจากหลานของสุริยเทวี ทรงเป็นจักรพรรดิอยู่ในช่วงประมาณ 660 – 585 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งปราศจากหลักฐานใดมายืนยัน ถึงแม้ฟังดูเหลือเชื่อ แต่เนื่องจากมีพระนามปรากฏในบันทึกใน “โคจิกิ” กับ “นิฮงโชกิ” ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ยุคแรกของญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นจึงมักนับให้เป็นจักรพรรดิรัชกาลแรก รวมทั้งในข้อมูลที่สำนักพระราชวังนำออกเผยแพร่ในปัจจุบันด้วย อย่างไรก็ตาม หลักฐานเกี่ยวกับจักรพรรดิญี่ปุ่นในยุคแรกมีไม่มาก นักประวัติศาสตร์จึงมีความเห็นว่าอย่างน้อยเก้ารัชกาลแรกคงเป็นเพียง จักรพรรดิในตำนาน เท่านั้น
ในระยะแรก คำที่หมายถึง “จักรพรรดิ” นั้น ภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ใช้คำว่า “เท็นโน” (天皇;Tennō) อย่างในปัจจุบัน แต่ใช้คำว่า “โอกิมิ” (大王;Ōkimi) แปลตามตัวอักษรได้ว่า “มหาราชา” หรือ “พระมหากษัตริย์” พอเทียบกับคำว่า “จักรพรรดิจีน” หรือ “ฮ่องเต้” หรือ “โคเต” (皇帝;Kōtei) ตามเสียงญี่ปุ่นแล้ว ถือว่ามีศักดิ์ต่ำกว่า ต่อมาในช่วงราชวงศ์สุยและถังของจีน ญี่ปุ่นก็เปลี่ยนคำเรียกประมุขจาก “โอกิมิ” มาเป็น “เท็นโน” (ฟ้า/สวรรค์ + ผู้มีอำนาจสูงสุด/ยิ่งใหญ่) ให้เทียบเท่ากับฮ่องเต้ของจีน และนำระบอบจีนที่ใช้กฎหมายอาญาและกฎหมายปกครองในการบริหารประเทศโดยมีจักรพรรดิเป็นศูนย์กลางมาใช้ ช่วงนี้จักรพรรดิญี่ปุ่นจึงเป็น จักรพรรดิผู้มีอำนาจเต็มที่และได้รับการเทิดทูนในฐานะเทพ
พอระบบขยายตัวขึ้นพร้อมกับเวลาที่ผ่านไปจนมาถึงสมัยเฮอัน (794-1185) ผู้คนแวดล้อมจักรพรรดิย่อมมากขึ้นเป็นธรรมดา ประกอบกับปัจจัยทางการเมือง ทำให้ขุนนางมีพลังอำนาจมากขึ้น ในยุคนี้ตระกูลฟูจิวาระมีอิทธิพลอย่างสูงและนำไปสู่ “การเมืองโดยผู้แทนพระองค์” เหล่าขุนนางและผู้แทนพระองค์มีอำนาจในการบริหารบ้านเมือง จักรพรรดิถูกลดบทบาททางการเมือง ลง และกลายเป็นว่าจักรพรรดิองค์ก่อนซึ่งสละราชสมบัติไปแล้วหรือออกบวชก็กลายเป็นผู้มีอำนาจอยู่เบื้องหลังด้วย
จากช่วงปลายสมัยเฮอัน เข้าสู่คามากูระ-มูโรมาจิ ชนชั้นนักรบหรือ “ซามูไร” มีอิทธิพลมากขึ้นและเป็นผู้ใช้อำนาจในนามของจักรพรรดิ ตำแหน่งสำคัญสูงสุดอย่าง “อัครมหาเสนาบดี” ซึ่งเดิมจักรพรรดิทรงแต่งตั้งให้เชื้อพระวงศ์รับหน้าที่ก็ตกเป็นของขุนนาง ฮิเดโยชิ โทโยโตมิ ซามูไรคนสำคัญในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นก็ได้รับตำแหน่งนี้ด้วย สถาบันจักรพรรดิอยู่ในช่วงที่กล่าวได้ว่าเป็น ยุคซามูไรครองเมือง เรื่อยมาจนเข้าสู่สมัยเอโดะ
ช่วงนั้นโชกุนมีอำนาจทางการเมืองมาก บางครั้งจักรพรรดิก็ขัดแย้งกับโชกุน อย่างกรณีของจักรพรรดิโกโตบะซึ่งขึ้นครองราชย์ขณะที่มีพระชนมายุ 3 พรรษา แน่นอนว่าต้องมีผู้สำเร็จราชการแทน พอพระชนมายุได้ 19 พรรษาทรงถูกโชกุนบีบให้สละราชสมบัติ ต่อมาเมื่อขัดแย้งกับโชกุนอีกก็ทรงถูกเนรเทศไปประทับยังเกาะห่างไกลและสวรรคตที่นั่น นอกจากนี้ ช่วงเกือบ 60 ปี ตั้ง 1336-1392 เป็นยุคที่ญี่ปุ่นมีจักรพรรดิควบคู่กันสององค์ด้วยเพราะสภาพบ้านเมืองตกอยู่ในยุคขัดแย้ง ราชสำนักแบ่งออกเป็นฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ แต่ละฝ่ายมีจักรพรรดิของตน ฝ่ายเหนือมีที่ตั้งที่เกียวโต ฝ่ายใต้มีที่ตั้งที่โยชิโนะอันเป็นส่วนหนึ่งของเมืองนาระ ท้ายที่สุดฝ่ายใต้ยอมจำนนต่อฝ่ายเหนือเมื่อปี 1392 แต่ฝ่ายเหนือก็ตกอยู่ใต้อำนาจของโชกุนเสียเป็นส่วนใหญ่
สมัยเอโดะ (1603-1868) นครหลวงของญี่ปุ่นยังอยู่ที่เกียวโต แต่ศูนย์กลางการเมืองอยู่ที่เอโดะโดยมีโชกุนตระกูลโทกูงาวะบริหาร ช่วงปลายสมัย อิทธิพลจากตะวันตกแผ่มาถึงญี่ปุ่นมากขึ้น มีผู้ไม่พอใจการบริหารของโชกุนรวมตัวกันล้มล้างรัฐบาลโชกุนและทำสำเร็จในปี 1868 ถือเป็นการดึงอำนาจกลับมาสู่สถาบันจักรพรรดิได้ อย่างน้อยก็ในเชิงสัญลักษณ์ จักรพรรดิทรงย้ายที่ประทับจากเกียวโตมายังเอโดะ และชื่อเมืองก็เปลี่ยนเป็นโตเกียว เจ้าชายมุตซึฮิโตะทรงขึ้นครองราชย์ ญี่ปุ่นเข้าสู่สมัยเมจิ มีรัฐธรรมนูญมหาจักรวรรดิญี่ปุ่น จักรพรรดิคืนสู่สภาพการเป็นประมุขของประเทศ เกิดบรรยากาศของการเชิดชูจักรพรรดิในฐานะเทพเจ้า และเชื่อมโยงไปสู่ ยุคทหารนิยม ต่อมา และยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่าจริง ๆ แล้วสถาบันจักรพรรดิตกเป็นเครื่องมือของกองทัพจนนำไปสู่สงครามครั้งใหญ่หลายครั้งกระทั่งญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945 ใช่หรือไม่
ญี่ปุ่นแพ้สงครามในสมัยโชวะ จักรพรรดิโชวะมีพระราชดำรัสต่อประชาชนในสมัยนั้นโดยออกอากาศทางวิทยุว่าญี่ปุ่นต้องยอมรับสภาพที่ยอมรับได้ยาก (หมายถึงความพ่ายแพ้) และจักรพรรดิคือคนธรรมดา ไม่ใช่เทพ อเมริกาเข้ามาจัดการระบบต่าง ๆ ของญี่ปุ่นเสียใหม่ รวมทั้งสถานะของจักรพรรดิด้วย ญี่ปุ่นมีรัฐธรรมนูญฉบับหลังสงคราม หมวดจักรพรรดิคือหมวดแรกสุดในทั้งหมดสิบเอ็ดหมวด โดยประกอบด้วย 8 มาตรา มาตราแรกบัญญัติไว้ชัดเจนว่า จักรพรรดิทรงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่น และด้วยความพ่ายแพ้หลังสงครามกอปรกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สถาบันจักรพรรดิก็อยู่เหนือการเมืองตลอดมา
ญี่ปุ่นมีจักรพรรดิจนถึงสมัยเฮเซ 125 รัชสมัย (หรือรุ่น) แต่มีจำนวน 123 พระองค์ เพราะบางองค์ครองราชย์ซ้ำหลังจากสละราชสมบัติไปแล้ว (หรือหากนับช่วงที่มี 2 องค์พร้อมกันในยุคราชสำนักเหนือ-ใต้จะถือว่ามี 128 องค์) จากสมัยโชวะ เข้าสู่สมัยเฮเซ และเริ่มสมัยเรวะ สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงแล้วกว่า 70 ปี เป็นเจ็ดทศวรรษที่สถานภาพของสถาบันจักรพรรดิเปลี่ยนไปมากเมื่อเทียบช่วงแรก
นอกจากการอยู่เหนือการเมือง หรือพูดอย่างตรงไปตรงมาคือห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมืองแล้ว เสรีภาพก็ถูกจำกัดอยู่ไม่น้อย รวมทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายด้วย ปัจจุบันทรัพย์สินที่จะใช้กับสถาบันจักรพรรดิแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ส่วนแรกคือ ค่าใช้จ่ายสำหรับราชวงศ์ ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์ (324 ล้านเยนในปีงบประมาณ 2560 เป็นต้น) ค่าใช้จ่ายสำหรับพระบรมวงศนุวงศ์ และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับวัง ส่วนที่สอง คือค่าใช้จ่ายสำนักพระราชวัง (11,470 ล้านเยนในปีงบประมาณ 2560) ทั้งหมดนี้มีกฎหมายกำกับ มิใช่การบริหารโดยพระราชประสงค์ และเมื่อมีประเด็นใดที่เกี่ยวข้องกับสถาบันนี้ ผู้ที่จะเป็นคนคิดแทนคือคณะรัฐมนตรีกับผู้เชี่ยวชาญ อย่างการสละราชสมบัติก็เช่นกัน สมเด็จพระจักรพรรดิทรงไม่สามารถดำเนินการได้โดยอิสระ สิ่งที่พระองค์ทรงทำได้คือ การแสดงพระราชประสงค์เท่านั้น ส่วนผู้ที่ตัดสินอย่างเป็นทางการคือรัฐบาล ซึ่งต้องออกกฎหมายและเตรียมการต่าง ๆ นานาดังที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับสถาบันจักรพรรดิตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากไม่ว่ากับเรื่องใด ยิ่งเป็นระบอบที่ยืนยาวพันกว่าปีด้วยแล้วย่อมเลี่ยงไม่พ้น สถาบันจักรพรรดิของญี่ปุ่นผ่านความเปลี่ยนแปลงมาหลายระลอก ทั้งจักรพรรดิยุคตำนาน ยุคอำนาจตามพระราชประสงค์ ยุคขุนนางครองเมือง ยุคซามูไร ยุคทหารนิยม มาจนถึงยุคสัญลักษณ์สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนผ่านมากี่ยุคกี่สมัยก็กล่าวได้ว่าสถาบันนี้จะยังเป็นความภูมิใจของคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ต่อไปอีกนานแน่นอน
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com