xs
xsm
sm
md
lg

ว่าเรื่อง “ฮิงาชิโนะ เคโงะ” ซูเปอร์สตาร์นักเขียนญี่ปุ่นแห่งยุค

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


จากคำเชิญให้ไปร่วมเสวนาเรื่อง “ฮิงาชิโนะ เคโงะ” เนื่องด้วยระยะเวลาที่จำกัดบนเวที หลายเรื่องจึงยังไม่ได้พูดคุยกันตรงนั้น จึงขอนำมาเล่าขยายความตรงนี้เผื่อว่านักอ่านคนใดเห็นชื่อนี้บนปกหนังสือหลายต่อหลายเล่ม จะได้ทราบที่มาของนักเขียนญี่ปุ่นผู้เป็นที่นิยมอย่างสูงในเมืองไทยขณะนี้

หากถามหานักประพันธ์ของญี่ปุ่นที่โด่งดังถึงขั้นกล่าวได้ว่าเป็นนักเขียนแห่งยุค หนึ่งในนั้นจะต้องมี “ฮิงาชิโนะ เคโงะ” แน่นอน ชื่อนี้เริ่มปรากฏในวงการหนังสือไทยไม่ต่ำกว่าสิบปี ในช่วงแรก ๆ ที่มีการนำผลงานของนักเขียนคนนี้มาพิมพ์เป็นภาษาไทยนั้น ความแพร่หลายยังไม่มากเท่าตอนนี้ แต่ปัจจุบันทำนายได้เลยว่าชื่อนี้จะเป็นที่จดจำและกลายเป็นตำนานในวงการหนังสือไทยต่อไป พอ ๆ กับที่คนไทยคุ้นชื่อ อกาธา คริสตีของอังกฤษ หรือกิมย้งของจีน ซึ่งล้วนแต่มีนักอ่านเฉพาะกลุ่มที่เหนียวแน่นมาก

ฮิงาชิโนะ เคโงะเป็นคนโอซากะ เกิดเมื่อปี 1958 (พ.ศ. 2511) ในครอบครัวที่ฐานะไม่ค่อยดีนัก เคโงะเรียนจบวิศวกรรมไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยจังหวัดโอซากะ พอเรียนจบก็เริ่มทำอาชีพวิศวกร ระหว่างนั้นก็เขียนหนังสือไปด้วยและได้รับรางวัลเอโดงาวะรัมโปะ เมื่อปี 1985 ตอนอายุ 27 ปีจากผลงานเปิดตัว “หลังเลิกเรียน” (放課後;Hōkago) รางวัลนี้เป็นรางวัลใหญ่ในวงการวรรณกรรมแนวรหัสดคีของญี่ปุ่น และแน่นอนว่าผู้ได้รับรางวัลย่อมเกิดแรงฮึกเหิมต่อการสร้างผลงานต่อ และคงด้วยเหตุนี้ เคโงะจึงตัดสินใจออกจากงานประจำ มุ่งมั่นก้าวเข้าสู่เส้นทางนักเขียนเต็มตัว โดยย้ายที่พำนักจากโอซากะมายังโตเกียวอันเป็นแหล่งรวมโอกาสหลากหลายสำหรับชีวิต เพราะสำนักพิมพ์ใหญ่ ๆ ระดับประเทศอยู่ในโตเกียวแทบทั้งนั้น

ถึงแม้เคโงะได้รับรางวัลและได้เป็นนักเขียนตามที่ตั้งใจ แต่ก็ยังไม่ดังในช่วงแรก การจะสร้างชื่อในวงการหนังสือของญี่ปุ่นในฐานะนักเขียนใหญ่ต้องมีผลงานคุณภาพดีอย่างต่อเนื่อง คนญี่ปุ่นมีนิสัยรักการอ่านอยู่แล้ว อ่านมาก อ่านหลากหลายแนว และยิ่งเป็นเรื่องแนวสืบสวนสอบสวนด้วยแล้ว ยิ่งไม่ต้องพูดถึง คนญี่ปุ่นคุ้นชินกับงานแนวนี้มานานเพราะเริ่มมีพัฒนาการมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้นงานที่จะอยู่ทนต้องเป็นงานที่มีคุณภาพเท่านั้น เคโงะฝ่าด่านนั้นเข้ามาได้ในเบื้องต้นในฐานะนักเขียนหน้าใหม่ แต่ผ่านไปสิบกว่าปี ชื่อยังไม่ค่อยติดตลาด ผลงานไม่ค่อยได้พิมพ์ซ้ำ จนกระทั่งมาถึงเรื่องที่ทำให้มีชื่อเสียงทะยานขึ้นมาคือ “ความลับ” (1998) ได้รับ รางวัลสมาคมนักเขียนรหัสคดีแห่งญี่ปุ่น ในปี 1999 ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่ในวงการ อีกทั้งยังดัดแปลงเป็นหนัง (1999) และละคร (2007) ด้วย

เรื่องนี้มีพล็อตแนว “บุพเพสันนิวาส” หรือ “พรพรหมอลเวง” ของไทย คือ วิญญาณออกจากร่างเดิมแล้วไปเข้าร่างใหม่ แต่เคโงะเน้นประเด็นที่เล่นกับความรู้สึก จึงตรึงคนอ่านได้ตลอดเล่ม เมื่อนำมาสร้างภาพยนตร์ นักแสดงก็ได้รับรางวัลอีกมากมาย บางประเด็นก็ง่าย ๆ ใกล้ตัว แต่น่ากระอักกระอ่วน เช่น เมื่อวิญญาณแม่เข้าไปอยู่ในร่างของลูกสาว ฝ่ายพ่อนั้นรู้ว่าเนื้อในคือภรรยาตัวเอง แต่ร่างกายไม่ใช่ เมื่อสามีนอนกับภรรยาและจะร่วมรัก...จะตัดสินใจอย่างไร ในเมื่อร่างที่เห็นนั้นคือลูกสาวตัวเอง และจากเรื่องนี้ย่อมเห็นได้ว่าพล็อตของเรื่องราวในโลกนี้อาจซ้ำ ๆ กัน แต่วิธีการนำเสนอและการพลิกแพลงให้น่าสนใจนั้นขึ้นอยู่กับฝีมือของนักเขียน

หลังจาก “ความลับ” เคโงะเป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น แต่ก็พูดได้ไม่เต็มปากว่าเป็นนักเขียนดัง จนกระทั่งมีผลงานเรื่อง “กลลวงซ่อนตาย” ออกมาเมื่อปี 2006 และได้รับ รางวัลนาโอกิ ในปีเดียวกัน เรื่องนี้มีนักสืบชื่อยูกาวะ มานาบุเป็นผู้สืบคดี และป็นผลงานเรื่องที่ 3 ในชุดกาลิเลโอ (ฉายาของยูกาวะนักฟิสิกส์) เรื่องนี้โด่งดังมาก สร้างเป็นภาพยนตร์ (2008) ในญี่ปุ่นทำรายได้กว่า 4,900 ล้านเยน อีกทั้งนำไปผลิตเป็นฉบับเกาหลีใต้ (2012) และจีน (2017) ด้วย เมื่อมาถึงจุดนี้แล้ว กล่าวได้ว่าฮิงาชิโนะ เคโงะขึ้นแท่นนักเขียนชั้นแนวหน้าอย่างไร้ข้อกังขา จากนั้นมาไม่ว่าเคโงะจะมีผลงานอะไรก็มักจะติดอันดับหนังสือขายดีในญี่ปุ่นทุกครั้ง และผลงานเดิม ๆ ที่ออกมาก่อนหน้านั้นก็เป็นที่จับตามองมากขึ้น มีการนำมาพิมพ์ซ้ำใหม่มากมาย

เมื่อมีชื่อ “รางวัลนาโอกิ” ปรากฏขึ้นมา ควรขยายความไว้ตรงนี้ด้วยเพราะเป็นสัญลักษณ์สำคัญทั้งสำหรับวรรณกรรมและนักเขียนญี่ปุ่นด้านความสำเร็จ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีรางวัลวรรณกรรมอยู่มาก แต่มีไม่กี่รางวัลที่ประชาชนจำได้แม่น “รางวัลนาโอกิ” คือหนึ่งในนั้น เป็นรางวัลเก่าแก่ที่เริ่มมอบมาตั้งแต่ปี 1935 โดยหลักการแล้ว มอบให้แก่นวนิยายที่เป็นวรรณกรรมมวลชน สร้างสรรค์โดยนักเขียนผู้ยังไม่มีชื่อเสียง หรือนักเขียนหน้าใหม่ หรือนักเขียนระดับกลาง ๆ โดยนิยามนี้ ณ ปี 2006 เคโงะคือนักเขียนระดับกลาง ๆ ที่ผลิต “กลลวงซ่อนตาย” ในฐานะวรรณกรรมมวลชน และจากนั้นมาก็กลายเป็นนักเขียนใหญ่ที่ดังในญี่ปุ่นและเป็นที่รู้จักในอีกหลายประเทศ อย่างฉบับแปลไทยมีไม่ต่ำกว่า 30 เรื่อง ทว่าหากย้อนกลับไปนับตั้งแต่ผลงานแรก จะพบว่าเคโงะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปีถึงจะได้ก้าวสู่สถานะนักเขียนซูเปอร์สตาร์ เรื่องฝีมือนั้น อันที่จริงเคโงะฝีมือดีมาตั้งแต่ช่วงแรก ๆ แล้ว แต่คนเรานอกจากจะต้องมีฝีมือแล้ว จังหวะของชีวิตกับโชคชะตาก็มีผลเช่นกัน

เคโงะเป็นนักเขียนที่ผลิตงาน “วรรณกรรมมวลชน” คำนี้ไม่คุ้นหูคนเท่าไรเพราะเป็นการแบ่งประเภทตามเกณฑ์ของญี่ปุ่น กล่าวคือ ญี่ปุ่นแบ่งนวนิยายออกเป็น 2 ประเภทตามลักษณะเนื้อหาและศิลปะการสร้างสรรค์ ได้แก่ “วรรณกรรมมวลชน” และ “วรรณกรรมแท้” เกณฑ์คร่าว ๆ คือ จุดมุ่งหมายกับกลวิธี ถ้าผลงานไหนแต่งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความบันเทิงเป็นหลัก ถือว่ามีแนวโน้มเป็นวรรณกรรมมวลชน เช่น วรรณกรรมสืบสวนสอบสวน วรรณกรรมชิงรักหักสวาท แต่ถ้ามีจุดมุ่งหมายชวนให้ขบคิดลึกซึ้ง ตีแผ่นัยทางสังคม หรือวิจารณ์ โดยมีโครงสร้างและวรรณศิลป์ซับซ้อน ถือว่ามีแนวโน้มเป็นวรรณกรรมแท้ ถ้าเทียบกับของไทยคือผลงานที่ได้รับรางวัลซีไรต์ทั้งหลาย อย่างไรก็ตาม นวนิยายบางเรื่องก็เป็นได้ทั้งวรรณกรรมมวลชนและวรรณกรรมแท้ เพราะเกณฑ์ที่ว่ามานี้เป็นหลักกว้าง ๆ และมีความเป็นอัตวิสัยสูง

เมื่อพิจารณางานของเคโงะจะเห็นได้ชัดเจนว่าจุดประสงค์ของการเขียนคือเพื่อความบันเทิง และส่วนใหญ่เป็นแนวรหัสคดี ลักษณะเด่นคือมักมีประเด็นทางสังคมเข้ามาโยงกับเรื่อง นี่คือเสน่ห์สำคัญที่ทำให้คนอ่านรู้สึกว่างานของเคโงะไม่ใช่การสืบสวนเท่านั้น แต่เป็นการมองภาพคนและสังคมในชีวิตประจำวัน ทำให้คนอ่านรู้สึกมีส่วนร่วมไปด้วย อย่างเรื่อง “กลลวงซ่อนตาย” อันเป็นหมุดหมายสำคัญนั้น ประเด็นเริ่มจากปัญหาครอบครัว เมื่อสามีที่เลิกรากับตัวเอกหญิงไปแล้วยังตามรังควานอยู่ ตัวเอกหญิงกับลูกสาวจึงป้องกันตัวจนถึงขั้นก่อเหตุฆาตกรรม พอเรื่องดำเนินต่อไป ประเด็นความรักของคนที่ยื่นมือเข้ามาช่วยก็เริ่มชัดขึ้น มุมหนึ่งคือนวนิยายสืบสวน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกมุมหนึ่งคือนวนิยายชีวิต หรือประเด็นอื่นที่พบเห็นได้ในเรื่องอื่น เช่น การประหารชีวิต ความทะเยอทะยานอันส่งผลไปสู่ความตาย ความไม่ยุติธรรมชองโชคชะตา

เคโงะผลิตงานหลากหลายประเภท ทั้งในนวนิยายขนาดยาว รวมเรื่องสั้น วรรณกรรมเยาวชน หนังสือภาพ ความเรียง เรื่องสั้นรวมเล่มกับนักเขียนอื่น ทั้งหมดนี้รวมแล้วไม่ต่ำว่า 100 ผลงาน สำหรับนวนิยายขนาดยาวนั้น แทบทุกเรื่องนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์หรือละครแล้วทั้งนั้น และทุกวันนี้ไม่มีคนญี่ปุ่นคนใดที่ไม่เคยได้ยินชื่อฮิงาชิโนะ เคโงะ ในฐานะนักเขียนผู้เป็นความภาคภูมิใจของญี่ปุ่นคนหนึ่ง เคโงะสร้างความบันเทิงและตรึงใจคนญี่ปุ่นได้อย่างไร...ลองเข้าร้านหนังสือแล้วเลือกมาอ่านสักเล่ม คำตอบอยู่ในนั้น

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น