xs
xsm
sm
md
lg

ตามไปดู! หาหมอในญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ภาพจาก https://nurse.toho-u.ac.jp/ohashi/rookie/index.html
คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน มีท่านใดที่เวลาไม่สบายก็จะไปหาหมอเป็นประจำบ้างไหมคะ ที่ผ่านมาฉันเองก็เป็นแบบนั้น และก็มีคนญี่ปุ่นจำนวนมากเช่นกันที่ไปหาหมอเวลาไม่สบาย ฉันอนุมานเอาเองว่าการแพทย์ของญี่ปุ่นน่าจะเจริญและปลอดภัย รวมถึงค่ารักษาพยาบาลก็นับว่าไม่แพงเลยเมื่อมีประกันสุขภาพ

ที่ญี่ปุ่นนั้น คนส่วนใหญ่จะมีประกันสุขภาพซึ่งที่บริษัทจะออกเบี้ยประกันให้ครึ่งหนึ่ง เราออกอีกครึ่งหนึ่ง แต่ละคนจะจ่ายเบี้ยประกันมากน้อยไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับฐานเงินเดือน และถ้าคู่สมรสรายได้ต่อปีไม่ถึง 1.3 ล้านเยนก็สามารถเข้าประกันสังคมของบริษัทของคู่สมรสอีกคนได้โดยไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับอายุด้วย

หรือถ้าไม่ได้เป็นพนักงานบริษัทก็สามารถไปเข้าระบบประกันสุขภาพแห่งชาติเอาเอง โดยเบี้ยประกันขึ้นอยู่กับฐานรายได้เช่นกัน เมื่อไปหาหมอครั้งหนึ่งก็มีค่าใช้จ่ายแค่ 30% ต่อครั้ง ที่เหลือระบบประกันจะแบกรับภาระค่าใช้จ่ายให้ ถ้าอายุ 70 ปีขึ้นไปและไม่ได้ทำงานแล้วจะจ่ายค่ารักษาพยาบาล 20% และเมื่ออายุ 75 ปีขึ้นไปและไม่ได้ทำงานแล้วก็จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพียง 10% เท่านั้น

สมัยฉันยังหางานอยู่ก็ใช้ประกันสุขภาพของบริษัทสามี แต่พอได้งานแล้ว ที่ทำงานฉันไม่มีการทำเรื่องประกันสุขภาพให้ อันที่จริงถ้าจะทำเสมือนว่ายังเป็นแม่บ้านแล้วใช้ประกันสุขภาพของสามีต่อไปฟรี ๆ ก็คงไม่มีใครทราบ แต่ฉันว่ามันคงไม่เหมาะสมเท่าไหร่ ตัวฉันเองแม้จะเป็นคนต่างชาติ แต่ก็ได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครองจากรัฐมากมาย ซึ่งเหล่านี้ล้วนมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น เมื่อตัวเองมีรายได้รับผิดชอบตัวเองได้แล้ว ก็ควรมีส่วนร่วมในต้นทุนอันนี้ด้วย ไม่ใช่ดี๊ด๊าตักตวงโลด ก็เลยรายงานรัฐไปว่าฉันมีงานทำ แล้วก็จ่ายเบี้ยประกันสุขภาพ ประกันบำนาญ และภาษีเงินได้ แม้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มจากเดิมชวนให้แอบเสียดายเงินที่ตีปีกบินพั่บ ๆ ออกไปจากกระเป๋า แต่ก็ได้ความโล่งอกสบายใจว่าไม่ได้เอาเปรียบใคร และไม่ต้องหลบซ่อน พอคิดว่าเงินที่จ่ายเป็นค่าต่าง ๆ เหล่านี้รัฐนำไปใช้ทำประโยชน์แก่สังคมจริงเหมือนที่เขาให้เรา ก็รู้สึกแน่ใจและสบายใจขึ้นมาอีกคำรบหนึ่ง

ฉันคิดว่าความสบายใจเป็นของแพง หาซื้อที่ไหนก็ไม่ได้ ระยะหลังมานี้ฉันเริ่มคิดขึ้นมาจริง ๆ จัง ๆ ว่าสิ่งใดทำแล้วไม่สร้างความกังวล ไม่รู้สึกถึงใจมืด ๆ ข้างในตัวเอง รู้แน่ชัดว่าไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับตัวเองหรือคนอื่นทั้งในปัจจุบันหรืออนาคต สิ่งนั้นน่าจะทำแล้วดี พอคิดและทำแบบนี้มาเรื่อย ๆ แล้วรู้สึกว่าชีวิตง่ายขึ้น สบายใจดีนะคะ
ภาพจาก https://epark.jp/epark-report/kusuri
กลับมาเรื่องหาหมอต่อดีกว่า ประกันสุขภาพของญี่ปุ่นสามารถใช้ได้กว้างขวางมาก จะหาหมออะไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้ และยังใช้กับค่ายาที่หมอสั่งให้ได้ด้วยเช่นกัน

คลินิกหลายแห่งที่ฉันไป เวลาเข้าไปต้องเปลี่ยนรองเท้าให้เป็นรองเท้าแตะสำหรับเดินในอาคารซึ่งเขาจัดเตรียมไว้ให้ แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลก็ไม่ต้อง ภายในคลีนิกหรือโรงพยาบาลมักติดโปสเตอร์ให้ความรู้เรื่องโรคเอาไว้ เวลาเข้าห้องตรวจก็มีตระกร้าให้วางกระเป๋าเหมือนตามร้านอาหารเลย

โดยปกติเวลาขึ้นเดือนใหม่ เจ้าหน้าที่จะขอดูบัตรประกันสุขภาพเพื่อตรวจสอบว่ายังใช้ประกันเดิมไหม คือบางทีหากย้ายที่ทำงาน หรือสามีย้ายที่ทำงาน(สำหรับคนที่ใช้ประกันสุขภาพบริษัทสามี) ประกันสุขภาพก็จะเปลี่ยนไป หรือกระทั่งประกันสุขภาพหมดอายุจากการออกจากงาน หากนำบัตรประกันสุขภาพที่หมดอายุไปใช้ ก็จะได้รับบิลแจ้งให้จ่ายค่าใช้จ่ายเต็มจำนวนในภายหลังกันหัวโต กรณีอย่างนี้ได้ยินว่ามีไม่น้อยเหมือนกันเพราะเจ้าตัวไม่ทราบว่าประกันสุขภาพก็หมดอายุได้
ภาพจาก https://latte.la/column/15970371
สังเกตว่าเวลาไปหาหมอ พยาบาลจะเรียกเราด้วยชื่อนามสกุลลงท้ายว่า “ซัง” (คุณ) แทนที่ลงท้ายว่า “ซาหมะ” (ท่าน) เหมือนตามร้านอาหารหรือโรงแรม ฟังแล้วรู้สึกเหมือนกลับมาอยู่ในโลกความเป็นจริงมากกว่าเวลาโดนเรียก “ท่าน” ตามร้านอาหารหรือโรงแรมที่ให้ความรู้สึกปลอม ๆ

คราวหนึ่งฉันไปหาหมอเพราะลมพิษขึ้น ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติสำหรับฉัน แต่ดูเหมือนคนญี่ปุ่นคงไม่ค่อยมีคนเป็นลมพิษ ตอนพยาบาลถามว่าวันนี้เป็นอะไรมา แล้วฉันตอบว่าเป็นลมพิษ (ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “จินมะชิน” - 蕁麻疹)พยาบาลก็ทำตาโต ตอนที่จะเข้าไปพบหมอ ปกติพยาบาลจะมาเรียก แต่คราวนั้นหมอออกมาเองเลย และบอกให้พยาบาลคนอื่น ๆ เห็นว่าอาการอย่างนี้เรียกว่าลมพิษนะ ฉันเห็นความไม่รู้จักลมพิษของเหล่าพยาบาลแล้ว ก็ทำให้คิดว่าตอนแรกพวกเขาคงกลัวว่ามันเป็นโรคติดต่ออะไรแน่เลย ที่จริงตอนเห็นหมอออกมา ฉันก็แอบเกรง ๆ แบบไม่มีเหตุผล กลัวว่าเขาจะคิดว่ามันเป็นโรคร้ายแรงแล้วโยนฉันออกไปจากคลีนิก แต่สุดท้ายก็ไม่เกิดอะไรแบบนั้น หมอก็ฉีดยาให้ตามปกติ

เท่าที่ฉันจำได้ เวลาไปโรงพยาบาลจะได้รับยามาเลย แต่ถ้าเป็นคลีนิก หมอจะให้ใบสั่งยามา เอาไปซื้อยาได้จากร้านขายยาที่ติดป้ายไว้ว่า 処方せん受付 (รับใบสั่งยา) ส่วนมากร้านขายยาก็จะอยู่ติด ๆ กันนั่นเอง เขาจะขอดูบัตรประกันสุขภาพ แล้วก็ถามว่าจะรับยาสามัญ (generic drugs) ไหม คือเป็นตัวยาเดียวกันแต่ไม่ใช่ยี่ห้อต้นแบบและราคาถูกกว่า ร้านขายยาจะถามด้วยว่ามี おくすり手帳 (สมุดบันทึกยาที่กิน) หรือยัง สมุดนี้เขาจะแจกให้พร้อมกับสติกเกอร์ที่มีรายละเอียดชื่อยา ให้กินตอนไหน ปริมาณต่อครั้งเท่าใด ยาออกฤทธิ์อย่างไร และมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง ซึ่งมันดีมากคือทำให้เรารู้จักยาชนิดนั้น และได้เก็บข้อมูลว่ากินยาอะไรไปแล้วบ้าง กินยาอะไรอยู่
ตัวอย่างสมุดบันทึกยาที่กิน บัตรประกันสุขภาพ และใบสั่งยา
ส่วนเวลาไปหาหมอฟัน ไม่ว่าจะเป็นคลีนิกหรือโรงพยาบาลที่ฉันไปต่างก็ไม่มีห้องหมอฟันแยกเป็นห้อง ๆ เหมือนเมืองไทย แต่เตียงคนไข้จะเรียงรายอยู่ในบริเวณเดียวกัน อาจจะมองเห็นกัน หรือไม่ก็มีคอกกั้นเอาไว้ หมอจะไม่ยอมรักษาฟันที่มีปัญหาครั้งละหลายซี่ในคราวเดียว แต่จะรักษาแค่ซี่สองซี่ แล้วผัดผ่อนให้มารับการรักษาคราวต่อ ๆ ไปสำหรับที่เหลือ โดยตอนจ่ายค่ารักษา เจ้าหน้าที่จะถามเสมอว่าจะนัดคราวหน้าเมื่อไหร่ จนวันหนึ่งก็รักษาครบทุกซี่แล้วก็ยังถามอีกว่าจะนัดอีกทีเมื่อไหร่ ฉันเอะใจเลยถามว่า "มีความจำเป็นอะไรที่ฉันต้องนัดคราวหน้าด้วยหรือคะ" เจ้าหน้าที่ยิ้มค้างตอบไม่ถูก ฉันเลยตอบให้แทนว่า "ไม่น่าจะต้องมานะคะ" 

คงเพราะค่ารักษาพยาบาลและค่ายาถูกมากจากการมีประกันสุขภาพ ส่วนใหญ่จะอยู่ที่หลักร้อยเยน บางทีก็พันเยนเศษ ๆ ฉันเลยเผลอได้ใจ ไม่สบายใจทีไรก็หาหมอ วันหนึ่งได้รับจดหมายจากระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ มีเนื้อหาสรุปได้ว่า “ระบบประกันสุขภาพเป็นของทุกคน กรุณารักษาสุขภาพให้ดี ๆ” ประมาณว่ากรุณาอย่าหาหมอให้มันบ่อยนัก เปลืองงบประมาณสังคม ว่างั้นเถอะ

ฉันตกใจมาก เวลานั้นรู้สึกไม่เข้าใจ เพราะตัวเองและสามีจ่ายค่าเบี้ยประกันสุขภาพเดือนหนึ่ง ๆ เป็นจำนวนไม่น้อย และสามีแทบไม่เคยหาหมอเลย จึงคิดว่าการไปรับการรักษาก็คือการใช้สิทธิอันพึงได้ไม่ใช่หรือ แต่จริง ๆ แล้วค่าใช้จ่ายทางการแพทย์จริงอีก 70-90% ที่เรามองไม่เห็นสูงมาก เงินที่คนทั้งประเทศเอามารวมกันเป็นกองกลางในรูปของเบี้ยประกันสุขภาพไม่พอที่จะครอบคลุมส่วนนี้ ที่เหลือคือตกเป็นภาระของรัฐที่ต้องเอางบประมาณมารองรับค่าใช้จ่ายเหล่านั้นให้ ลองนึกภาพดูว่าหากทุกคนหาหมอกันบ่อย ๆ ล่ะก็จะเกิดอะไรขึ้น รัฐบาลคงกุมขมับมืดแปดด้าน แล้วสุดท้ายประชาชนก็จะเดือดร้อนเองเพราะเขาคงต้องเพิ่มภาษีหรือเบี้ยประกันสุขภาพให้มากขึ้นเพื่อหางบประมาณมาโปะ แค่ในปัจจุบันนี้ภาระค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ของญี่ปุ่นก็สูงมากพอแล้วจากการมีผู้สูงอายุเยอะขึ้นเรื่อย ๆ

อันที่จริงการหาหมอบ่อยก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องดี การรักษาและการให้ยาบางอย่างเป็นสิ่งไม่จำเป็นและไม่ก่อให้เกิดผลดีด้วยซ้ำ ไว้สัปดาห์หน้าฉันจะเล่าให้ฟังนะคะว่าการหาหมออาจเป็นโทษได้อย่างไรบ้าง แล้วพบกันใหม่ สวัสดีค่ะ.




"ซาระซัง"
สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น