xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องธรรมดาของญี่ปุ่นที่ต่างชาติว้าว!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

สวัสดีค่ะเพื่อนผู้อ่านที่รักทุกท่าน คนส่วนใหญ่ที่ได้ไปเยือนญี่ปุ่นแล้วต่างก็มีความรู้สึก “ว้าว!” กับอะไรต่อมิอะไรที่เป็นวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น และคิดอยากกลับมาอีก หรือไม่ก็อยากให้ประเทศตนมีอะไรที่ชวนว้าว!แบบนั้นบ้าง สิ่งเหล่านี้บางอย่างก็ทำให้คนญี่ปุ่นเองรู้สึกว่าดีจังที่มีอย่างนี้อย่างนั้น แต่ก็อาจจะไม่ถึงขนาดตื่นตาตื่นใจมากเพราะเป็นเรื่องที่คนญี่ปุ่นเจออยู่เป็นปกติ

เรื่องนี้ทำให้ฉันนึกถึงคำในภาษาญี่ปุ่นสองคำที่เกี่ยวข้อง ในภาษาญี่ปุ่นมีคำว่า อาริงาไต้” (ありがたいซึ่งใช้ในความหมายว่า “รู้สึกขอบคุณ” อย่างเช่น รู้สึกขอบคุณที่เรายังมีกินมีใช้ รู้สึกขอบคุณที่ได้รับน้ำใจ เป็นต้น อ้อ! แต่คำนี้ต้องระวังห้ามเอาไปใช้กับผู้ใหญ่นะคะเพราะจะกลายเป็นแสดงว่าเรามีศักดิ์สูงกว่า เพื่อความปลอดภัยก็เอาไว้ใช้พูดถึงสิ่งอื่นที่ไกลตัวออกไปดีกว่า ตัวฉันเองก็ไม่เคยพูดคำนี้กับใครโดยตรง จะเลี่ยงไปใช้คำอื่นแทน

ขณะเดียวกันก็จะมีคำว่า “อาตาริมาเอะ” (当たり前)ซึ่งหมายความใกล้เคียงกับ “Take it for granted” หรือถ้าเป็นภาษาไทยก็น่าจะหมายความว่า “เป็นของตาย” “มองข้าม” “ไม่เห็นคุณค่า” “เป็นเรื่องปกติธรรมดา” ทำนองนี้

หลายสิ่งหลายอย่างที่ฉันเจอทุกเมื่อเชื่อวันจากการใช้ชีวิตในญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นความสะอาดของบ้านเมือง หรือบริการที่สุภาพนอบน้อมและเต็มไปด้วยความใส่ใจ ต่างก็เป็นสิ่งที่พบเห็นจนเคยชิน กระทั่งรู้สึกไปว่าสิ่งเหล่านี้ “อาตาริมาเอะ” (เป็นของตาย) คือรู้สึกว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว เลยไม่รู้สึกถึงคุณค่าและความสำคัญของมันมากนัก

จวบจนกระทั่งฉันไม่ได้อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นอีก จึงได้เห็นว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่ฉันมองข้ามคุณค่าของมันหาได้เฉพาะในญี่ปุ่น จากที่เคยคิดว่ามัน “อาตาริมาเอะ” (เป็นของตาย) เลยกลายเป็นความรู้สึก “อาริงาไต้” (รู้สึกขอบคุณ) ที่คนญี่ปุ่นมีแก่ใจสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาจนกลายเป็นมาตรฐานในชีวิตประจำวัน ซึ่งมันคงไม่ได้เกิดขึ้นเองลอย ๆ แต่ผ่านการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านหน้าที่และความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น และความมุ่งมั่นที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ให้ดีกว่าเดิมอยู่เสมอ

เพื่อนผู้อ่านที่รักเคยไปรับประทานอาหารนอกบ้านแล้วรู้สึกลำบากใจกับการไม่มีที่วางของหรือวางกระเป๋าบ้างไหมคะ ตัวฉันเองแทบจะลืมความไม่สะดวกแบบนี้ไปเลยเมื่ออยู่ญี่ปุ่น เพราะเวลาไปตามร้านอาหารส่วนมากจะมีตะกร้าอยู่ใต้โต๊ะหรือข้างโต๊ะเพื่อให้วางกระเป๋าได้ หรือถ้าไม่มี ก็จะมีเก๊ะหรือที่แขวนกระเป๋าไว้ให้ใต้เคาน์เตอร์ที่นั่งของเรา บางแห่งจะทำเก้าอี้นั่งแบบมีร่องที่พนักพิงเพื่อให้แขวนกระเป๋าได้ พอเจอแบบนี้บ่อย ๆ ก็จะรู้สึกว่าบริการที่ใส่ใจแบบนี้มัน “อาตาริมาเอะ” (เป็นของตาย)

แต่พอไปอยู่ประเทศอื่นแล้ว บางทีเข้าร้านอาหารก็เผลอมองหาตะกร้า แล้วงงว่าทำไมถึงไม่มี หันไปถามเพื่อนแบบงง ๆ ว่าทำไมร้านนี้ไม่มีตะกร้าให้ คราวนี้เพื่อนเลยมึนงงแทนว่าฉันพูดถึงอะไร สมองฉันสับสนอยู่ครู่หนึ่งจึงเอะใจว่ามันมีให้เฉพาะที่ญี่ปุ่น พอที่อื่นไม่มีอะไรอย่างนี้ก็รู้สึกว่ามันไม่สะดวกเลย โดยเฉพาะร้านที่โต๊ะเล็กนิดเดียวและมีเก้าอี้ให้เพียงคนละตัว ทำให้ต้องเอาของมาวางบนตักหรือวางกับพื้น รู้สึกลำบากใจมากจนเผลอนึกด้วยความน้อยอกน้อยใจว่าใยไม่คิดถึงจิตใจลูกค้าตาดำ ๆ บ้างหนอ

ในที่อื่น ๆ โดยทั่วไปเวลาลูกค้าเข้าร้านอาหาร แม้จะมากันแค่ไม่กี่คนแต่ก็มักจะอยากนั่งโต๊ะใหญ่ ที่เป็นอย่างนั้นอาจเป็นเพราะอยากได้พื้นที่ว่างเยอะขึ้นจะได้รู้สึกไม่แออัด แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญคือเพื่อจะได้มีที่วางของ ดังนั้นหากมีตระกร้าให้วางของไว้ใต้โต๊ะเลยก็จะทำให้ลูกค้าไม่รู้สึกถึงความจำเป็นว่าจะต้องนั่งโต๊ะใหญ่เท่าไหร่ เพราะได้สิ่งที่ต้องการแล้วคือที่สำหรับวางของ

นอกจากนี้ ถ้าไปตามร้านราเม็ง หลายแห่งจะมีกระดาษสำหรับใช้แทนผ้ากันเปื้อนให้ บางทีพนักงานก็ถามว่าจะเอาไหม บางแห่งก็อาจต้องขอ หรือบางแห่งก็จะวางไว้ให้หยิบเอง บางทีสวมเสื้อสีดำไม่น่าจะต้องห่วงน้ำซุปกระเด็นเปื้อนเสื้อแต่พนักงานก็ยังมีแก่ใจถามว่าจะเอาไหม บางแห่งมีกระทั่งยางผูกผมสำหรับคนผมยาวให้ด้วยซ้ำไปจะได้รับประทานราเม็งได้สะดวกโยธิน ส่วนร้านเนื้อย่างหรือร้านหม้อไฟบางแห่ง พนักงานจะเอาผ้าคลุมมาให้คลุมเสื้อโค้ทหรือกระเป๋า หรือไม่ก็ให้เป็นถุงพลาสติกใบใหญ่มาใส่เสื้อโค้ทหรือกระเป๋าลงไปเพื่อไม่ให้กลิ่นอาหารติดไปด้วย ฉันแอบคิดเล่น ๆ ในใจว่า แหม...อยากให้แจกหมวกคลุมผมจัง หัวจะได้ไม่เหม็น แต่มองไปกินไปคงได้นั่งหัวเราะไปสำลักไปแน่เลย

ในญี่ปุ่น เวลาเดินบนทางแล้วเจอบางจุดกำลังซ่อมแซมอะไรกีดขวางทางอยู่ นอกจากเขาจะทำทางเดินชั่วคราวให้แล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่มาคอยโบกคอยโค้งให้คนที่เดินผ่านไปมาพร้อมกล่าวขอโทษที่สร้างความเดือดร้อนให้ คนที่เดินผ่านไปมาก็จะโค้งตอบบ้างเป็นมารยาท ทางเท้าบางแห่งจะเป็นทางเข้าออกของที่จอดรถ

ถ้าเป็นประเทศอื่น ๆ ที่ฉันเคยเห็นมา สังเกตว่าเจ้าหน้าที่จะพยายามทำให้คนที่ใช้บริการที่จอดรถได้รับความสะดวกก่อน คือกันคนเดินทางเท้าออกไปไม่ให้ขวางทางรถ แต่ที่ญี่ปุ่นดูเหมือนเขาจะมองกลับกันคือ ให้ผู้สัญจรไปมาทางเท้าได้รับความสะดวกก่อน เท่าที่เคยเห็นคือเขาจะกันไม่ให้รถออกมาจนกว่าจะมีการขาดช่วงคนเดินบนทางเท้าจริง ๆ แล้วค่อยให้รถออกได้ พอตอนที่รถออกไปแล้ว เจ้าหน้าที่จะหันมาขอโทษขอโพยที่ทำให้คนเดินบนทางเท้าด้วยที่ต้องให้มายืนรอเพราะพวกเขา

การแสดงออกซึ่งความรู้สึกรับผิดชอบผ่านคำขอโทษแบบนี้ ทำให้คนไม่ถือสาหาความหรือรู้สึกหงุดหงิดติดใจกลับไป เรื่องแบบนี้ถือเป็นเรื่องที่ “อาตาริมาเอะ” (เป็นของตาย) ในญี่ปุ่น ถ้ามีที่ไหนไม่ทำแบบนี้อาจจะกลายเป็นเรื่องแปลก อาจจะถูกตำหนิก็เป็นได้ พอฉันไม่ได้อยู่ญี่ปุ่น ก็ไม่เจออะไรที่มีความละเอียดอ่อนอย่างนี้ เลยรู้สึกว่ายิ่ง “อาริงาไต้” (ขอบคุณ) กับความละเอียดอ่อนและคิดถึงความรู้สึกคนอื่นของญี่ปุ่นมากกว่าเดิม

ถ้าดูเผิน ๆ จากภายนอกแล้วอาจจะคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นไปเพื่อสร้างความประทับใจ แต่ฉันคิดว่าความใส่ใจของญี่ปุ่นไม่ได้เป็นไปเพียงเพื่อสร้างความประทับใจอย่างเดียวโดด ๆ แต่น่าจะมีรากฐานมาจากความรู้สึก “รับผิดชอบ” ที่จะต้องทำหน้าที่และการกระทำของตัวเองให้ดีที่สุด และทำให้ดีกว่าเดิมด้วย ถ้าจะทำอะไรลวก ๆ หรือผักชีโรยหน้าก็จะรู้สึกบกพร่องในหน้าที่ เหมือนทำอะไรไม่เรียบร้อยสมบูรณ์ กลายเป็นความไม่สบายใจ

ฉันคิดว่าถ้าคนเราสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยความรับผิดชอบ และไม่ใช่แค่คิดว่าจะทำให้ดีที่สุด แต่คิดอยู่เสมอว่าจะทำอย่างไรให้ดีกว่านี้อีกล่ะก็ ความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ เราจะได้ลับสมองให้คมอยู่บ่อย ๆ น่าลองออกนะคะ แถมในระยะยาวเราก็น่าจะได้เห็นพัฒนาทางการคิดอ่านและความเจริญทางสังคมที่ก้าวไกลควบคู่ไปกับความเจริญด้านอื่น ๆ แทนที่จะเป็นความเจริญทางวัตถุอย่างเดียว

จะว่าไปแล้ว การที่ญี่ปุ่นสามารถทำเรื่องที่ชวนให้ “อาริงาไต้” (รู้สึกขอบคุณ) ให้กลายเป็นเรื่อง “อาตาริมาเอะ” (ของตาย) ได้ในแทบทุกบริบทและเป็นมาตรฐานได้ทั้งประเทศแบบนี้ นับว่าเป็นเรื่องที่หาได้ยากในที่อื่นในโลก และจุดนี้เองที่ฉันคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นแตกต่างอย่างโดดเด่นจากหลายประเทศ ไม่แปลกเลยที่ญี่ปุ่นจะมีแต่เรื่องให้ชวนว้าว!อยู่เสมอ

ที่จริงยังมีเรื่องประทับใจอีกมากแต่เนื้อที่มีจำกัด ให้เพื่อน ๆ ผู้อ่านที่รักเล่าสู่กันฟังบ้างดีกว่าค่ะว่าอะไรบ้างที่ญี่ปุ่นว้าว! และเราจะเอามาปรับใช้กับบ้านเราได้อย่างไรบ้าง สำหรับสัปดาห์นี้ขอลาไปก่อนนะคะ สวัสดีค่ะ.



"ซาระซัง"
สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น