xs
xsm
sm
md
lg

ใครว่าญี่ปุ่นดี: การ์ตูนสะท้อนสังคมด้านมืดญี่ปุ่นค้ายา เงินกู้ ขายตัว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

สวัสดีครับผม Mr.Leon มาแล้ว คิดว่าเพื่อนๆ น่าจะเคยอ่านหนังสือการ์ตูนมังงะญี่ปุ่นกันมาบ้างแล้ว อาจจะเป็นความทรงจำดีๆ ของเพื่อนๆ หลายคนในวัยเด็ก รวมทั้งผมด้วย หนังสือการ์ตูนมังงะญี่ปุ่นนั้น แม้ว่าจะยังไม่มีกฎหมายจัดระเบียบมังงะอย่างชัดเจนมากนักและนักวาดการ์ตูนในญี่ปุ่นก็มีเสรีภาพจำกัดอยู่บ้างที่จะเขียนมังงะออกมาได้ตามใจคิด แต่การ์ตูนมังงะญี่ปุ่นก็มีเนื้อหาที่หลากหลายมีทุกแนวที่เหมาะกับผู้อ่านในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย และมีหลายคนใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียนการ์ตูนมากเพราะนักเขียนการ์ตูนส่วนใหญ่คือได้รับการยกย่อง เป็นบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์และไอเดียบรรเจิด ปกติแล้วหนังสือการ์ตูนรายสัปดาห์ในญี่ปุ่นจะมีการตีพิมพ์มังงะหลาย ๆ เรื่องพร้อมกัน โดยมังงะแต่ละเรื่องอาจจะมีประมาณ 10 ถึง 30 หน้าต่อฉบับ มังงะเรื่องหนึ่งๆ อาจจะได้รับการตีพิมพ์ยาวนานหลายปีโดยเฉพาะถ้าได้รับความนิยมสูง มีผู้อ่านติดตามมากก็จะยิ่งนานขึ้นไปอีก อาจจะเห็นได้ว่าตามสถานีรถไฟหรือถังขยะจะมีนิตยสารการ์ตูนวางทิ้งไว้ คือบางคนซื้อมาเพื่ออ่านเรื่องที่ตัวเองติดตามแค่สิบแผ่นยี่สิบแผ่นก็พอ ส่วนผมเองก็เคยซื้อนิตยสารการ์ตูนเพื่อตามอ่านเนื้อหาข้างในแค่ไม่กี่เรื่องครับ และมังงะเรื่องใดมีชื่อเสียงมากๆ อาจจะได้รับการรวบรวมเพื่อตีพิมพ์เป็นหนังสือการ์ตูน "ฉบับพิเศษ" หรือนำมาสร้างเป็นการ์ตูนอนิเมะต่อไปครับ

สำหรับวันนี้ผมอยากแนะนำการ์ตูนมังงะสักเรื่องหนึ่งครับ อาจจะไม่ได้ลงรายละเอียดอะไรมาก แต่เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ที่จริงผมอยากจะเขียนเกี่ยวกับการ์ตูนเรื่องนี้มาหลายครั้งแล้ว แต่ไม่ได้เขียนสักทีครับ นั่นคือเรื่อง 闇金ウシジマくん Ushijima the Loan Shark หนังสือการ์ตูนมังงะที่เขียนมายาวนานกว่า 15 ปี โดย 真鍋昌平先生 Shohei Manabe ณ ตอนนี้การ์ตูนเรื่องนี้ก็น่าจะจบเรื่องแล้วด้วยครับและมีแคมเปญออกมาให้ร่วมสนุกกัน โดยมีขบวนรถบรรทุกตกแต่งด้วยสีสันที่ฉูดฉาด ติดเครื่องเสียงและอุปกรณ์ส่องสว่าง มีการเคลือบสีประดับโคมไฟและเพ้นท์ลายแนวเดียวกับธีมของเนื้อหาของการ์ตูนเรื่องนี้เลยทีเดียว รถจะวิ่งไปรอบเมืองโตเกียวสร้างสีสันและความเฮฮามากๆ เรียกว่า "デコトラ Deco tora(Decoration track)" ขับไปทั่วเมือง ให้คนถ่ายรูปด้วยและมีรางวัลให้


หนังสือการ์ตูนมังงะเรื่อง 闇金ウシジマくん Ushijima the Loan Shark นี้แม้จะไม่ใช่เรื่องที่ผมชอบที่สุด แต่ผมคิดว่าเป็นมังงะที่ยอดเยี่ยมเกือบจะที่สุดเลยก็ว่าได้ ถ้ามีคนถามว่าผมชอบหนังสือการ์ตูนมังงะเรื่องอะไรมากที่สุด ผมคงตอบยากมาก เพราะตอบไม่ได้จริงๆ มันมีเยอะมากและหลากหลาย แต่ถ้าถามว่าเรื่องไหนยอดเยี่ยมที่สุด ผมคงตอบว่าหนังสือการ์ตูนมังงะ เรื่องนี้นั่นเอง ไม่แน่ใจว่าคนไทยอ่านแล้วจะชอบหรือไม่แต่สำหรับญี่ปุ่นแล้วคนเขียนและการ์ตูนเรื่องนี้ดังมาก มีชื่อเสียงมากครับ

ถ้าพูดถึงหนังสือการ์ตูนมังงะเรื่อง 闇金ウシジマくん Ushijima the Loan Shark นี้เล่มที่หนึ่งจะมีเนื้อหาที่สื่อให้เห็นมุมมืดต่างๆ เหล่านี้มากมายกว่าเล่นอื่นๆ ทำให้เพื่อนๆ หรือคนที่ไม่ชอบอาจจะไม่อยากตามอ่านต่อแล้วเพราะอ่านแล้วอาจจะรู้สึกไม่ใช่แนว และรุนแรงเกินไป แถมรูปภาพที่สื่อในเรื่องก็ออกแนวหมดหวัง น่ามึน แต่อยากแนะนำให้อดทนอ่านต่อไปให้เกินเล่มหนึ่ง ตั้งแต่เล่มสองไปเหตุการณ์จะเริ่มคลี่คลายและไม่รุนแรงหมดหวังเหมือนเล่มหนึ่ง ถ้าท่านใดยังไม่เคยอ่านการ์ตูนเรื่องนี้ แต่อาจจะเคยดูซีรีย์เรื่อง 闇金ウシジマくん Yamikin Ushijima kun ซีรี่ย์ญี่ปุ่นเรื่องนี้จะมีโครงเรื่องเดียวกันคือสะท้อนสังคมด้านมืดของญี่ปุ่นออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน ตีแผ่สังคมด้านมืด สันดานคน เพื่อน การงาน และความสัมพันธ์หลายอย่าง คือตีแผ่สังคมจริงๆ เลยทีเดียว เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเอกของเรื่องที่เปิดบริษัทปล่อยเงินกู้นอกระบบ カウカウファイナンス cow cow finance โดยต้องเจอกับลูกหนี้สารพัดรูปแบบ แล้วเขาต้องรับมือกับลูกนี้ที่คิดจะเบี้ยวเงินกู้ ที่ผมจะยกตัวอย่าง อาทิเช่น

" ...Takada คุงเป็นพนักงานใหม่ย้อนกลับไปก่อนที่เขาจะเดินเขามาสัมภาษณ์งานที่ カウカウファイナンス cow cow finance เขาเคยเป็นโฮสต์มาก่อน หลอกสาวให้หาเงินมาให้ ทำให้สาวๆ ม ต้นต้องขายตัวเอาเงินมาใช้หนี้ค่าใช้จ่ายค่าเปิดเหล้าให้เขาจำนวนมาก เป็นวงจรอยู่อย่างนี้เมื่อเขาก็ทำให้สาวต้องเป็นหนี้และขายตัวอีก สาวน้อยคนนั้นก็เริ่มไม่ไหวและตัดสินใจกระโดดตึกฆ่าตัวตาย ทำให้เขารู้สึกผิดเลิกทำอาชีพโฮสต์และจิตใจย่ำแย่ถดถอยจนต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน หมดอาลัยตายอยากในชีวิต ก่อนนี้สาวน้อยคนนั้นเคยไปกู้เงินนอกระบบจาก cow cow finance เพื่อมาใช้หนี้ให้เขา ทำให้ Ushijima kun ตัวเอกของเรื่องรู้จัก Takada เมื่อ Takada ท้อแท้ในชีวิตกลายเป็นคนไร้บ้าน ทาง Ushijima kun จึงชักชวนมาทำงานด้วย วันแรกที่เข้ามาในบริษัทก็เจอลุงคนหนึ่งนั่งคุกเขาใส่กางเกงในตัวเดียวในห้อง แบบมีความเครียดตัวสั่น Takada ก็ตกใจถามว่าอะไรเนี่ย ก็ได้คำตอบว่า ติดหนี้อยู่กำลังลงโทษ ต้องให้เหลือแต่ตัวจะได้หนีไม่ได้ และเรื่องการทวงหนี้ต่างๆ นานา ส่วนตอนอื่นๆ จากการ์ตูนมังงะเล่มที่ 1 โดยเฉพาะตอนที่หลายคนลงความเห็นว่าเป็นตอนที่โหดร้ายมากๆ 3 อันดับคือ

" ตอน 奴隷くん Slave-kun ทาสการพนัน เป็นเรื่องปกติที่จะเห็นบรรดาทาสการพนันตู้เกมส์ปาจิงโกะมายืนรอร้านเปิด กลุ่มนักพนันเหล่านี้ไม่ได้มีเงินมีทองมากมายหรอกนะ บางคนมาเสี่ยงดวงโดยกู้เงินจาก cow cow finance แล้วไม่ใช่กู้ธรรมดา จะปล่อยกู้จำกัดแค่คนละ 5 หมื่นเยนต่อวัน เขียนในสัญญาเงินกู้ว่า 5 หมื่นแต่จะให้เงินจริงแค่ 3 หมื่น ถ้าคืน 5 หมื่นเยนได้ภายในวันนั้นก็จะสามารถยืมเงินได้อีก หนึ่งในคนที่มายืนรอนั้นมีหญิงสาวคนหนึ่งมารอกู้เงินด้วย แต่เธอเล่นพนันหมดในเวลาไม่นาน จึงอยากขอกู้เงินเพิ่ม แต่ Ushijima kun ไม่ให้กู้เพิ่มล่ะแถมทวงเงินคืน ถ้าไม่คืนทบต้นทบดอกรายวันไปเรื่อยๆ นี่ยึดบ้านยึดรถกันได้เลยทีเดียว แต่ในแหล่งเสื่อมโทรมนั้นมันทำงานกันเป็นวงจร ถ้าไม่มีเงินจ่ายคืนก็จะถูกแนะนำให้ไปทำออรัลเซกส์ให้ลูกค้าที่ต้องการซื้อบริการ แล้วทำให้เธอได้เงินจากการทำออรัลเซกส์ครั้งล่ะ 4,000 เยน เพื่อหาเงินมาคืนให้ได้เท่าที่กู้เงินไป..."



" ตอน 若い女くん Young woman kun สาวที่เป็นตัวเอกในตอนนี้เป็นคนที่อยู่ในกลุ่มเพื่อนที่ใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อ ใช้เงินเกินตัวอย่างมาก มักจะไปกู้เงินที่ cow cow finance มาซื้อของแบรนด์เนมแข่งกัน เมื่อดอกเบี้ยมหาโหดมันทบต้นทบดอกจนบานปลายจ่ายไม่ทัน เธอก็จนหนทาง ทาง Ushijima kun จึงแนะนำให้ไปทำงานเสริมที่ร้านนวดอิโรติก ถึงแม้เธอจะทำงานเสริมที่ร้านนวดแต่เงินกู้ก็ไม่ได้ลดลงเลยกลับพอกพูนมากกว่าเดิม แถมยังโดนคนกลั่นแกล้งแจ้งให้บริษัทที่เธอทำงานอยู่รู้ว่าเธอมารับงานเสริมที่ร้านนวดอิโรติก จึงทำให้เธอต้องถูกไล่ออกจากงาน ทำให้สิ้นหวังในชีวิตอย่างมาก พอมีคนชวนให้ลองยาเสพติดทำให้เธอติดยาเข้าไปอีกและเดินเร่ขายตัวตามชินจูกุ..."



" ตอน バイトくん Byte-kun หนุ่มที่คิดว่าตัวเองเก่งมีดี จึงลาออกจากวิทยาลัยมาใช้ชีวิตในร้านตู้เกมส์ปาจิงโกะ โดยกู้เงินจาก cow cow finance จนดอกเบี้ยเยอะมากต้องถูกยึดบ้านและกลายเป็นคนไร้บ้าน ใช้ชีวิตในร้านเกมส์จนเข้าวัยกลางคน .." เป็นต้น

คนญี่ปุ่นหลายคนชอบเพราะว่าอะไร เพราะมันสนุกมาก ตีแผ่สังคนด้านมืดจริงแบบไม่กลัวใครทั้งเรื่องการกู้นอกระบบ หมอนวด โฮสต์ การเล่นพนัน เรื่องค้ายา มันเป็นเรื่องดาร์กมาก แต่ก็มีสอนเทคนิคการเอาตัวรอดจากด้านมืดอยู่ด้วย และที่สำคัญที่จริงแล้วการ์ตูนเรื่องนี้ต้องการสอนให้ส่งเสริมการทำความดีประนามการทำความชั่ว คือถ้าทำดีได้ดีตามมา ถ้าทำชั่วความชั่วตามมา อนึ่งถ้าพูดถึงประเทศญี่ปุ่นเพื่อนๆ เคยนึกถึงด้านมืดของสังคมญี่ปุ่นบ้างไหมครับ ด้านมืดของญี่ปุ่นมีมากเหมือนกันครับตามที่การ์ตูนนำเสนอเลย อาทิเช่น

■คนปล่อยเงินกู้ คือผิดกฎหมาย ยืมแค่สิบวันก็จะโดนดอกเบี้ย 50% เขาไม่ได้เป็นยากุซ่าแต่ก็ไม่ใช่ประชาชนตาดำๆ ธรรมดา มีแบบทวงโหดด้วย แก๊งทวงหนี้เงินกู้นอกระบบแก๊งทวงหนี้โหด มีบุกพังข้าวของลูกหนี้ ทำนาบนหลังคนจน

■ปาจิงโกะ สุดยอดการพนันที่ฮิตสุดๆ ในญี่ปุ่น パチンコ Pachinko เป็นตู้เครื่องเล่นคล้ายๆ ตู้สล็อตแมชชีน มีเอาไว้สำหรับเล่นการพนัน แต่ละร้านก็จะมีเครื่องเล่นหลายแบบ คนติดปาจิงโกะก็ทิ้งบ้านทิ้งลูกทิ้งเมีย เฝ้าอยู่ที่ร้านงอมแงม บางคนเป็นหนี้เป็นสินก็ต้องไปกู้นอกระบบ เป็นวงจรเถื่อนต่อไป

■สาวญี่ปุ่นที่ขายตัวเพื่อหาเงินซื้อของแบรนด์เนม และใช้ชีวิตโดยสิ้นคิดก็มีอยู่ในสังคม และสาวๆ ญี่ปุ่นนี่ช็อปแบรนด์กันเป็นว่าเล่นเลย กระเป๋าแบรนด์เนมหิ้วกันให้พรึ่บ

■ปัญหาการใช้สารกระตุ้นประสาทและยาเสพติด การค้ายาก็มีอยู่

■สลัมในญี่ปุ่นและปัญหาคนไร้บ้าน คนไร้บ้านหลายคนเคยเป็นพนักงานบริษัทที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมทั่วปึ่งปัญหาคนไร้บ้าน กลายเป็นหนึ่งในปัญหาสังคมใหญ่ๆ ของญี่ปุ่นด้วย ฯลฯ

และนี่คือการสะท้อนสังคมญี่ปุ่นในอีกมุมหนึ่งผ่านทางสื่อหนังสือการ์ตูนที่ได้รับความนิยมอย่างมากในยุคนี้ สื่อมีบทบาทมากในการชี้นำสังคม การ์ตูนคือสื่อทางความคิดที่ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพ ซึ่งเป็นศิลปะชนิดหนึ่งและเข้ามามีบทบาทสําคัญในชีวิตด้วย และที่สำคัญอย่าลืมครับว่าเราควรส่งเสริมการทำความดีประนามการทำความชั่ว การทำดีจะได้ดีตามมา ถ้าทำชั่วความชั่วตามมา วันนี้สวัสดีครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น