xs
xsm
sm
md
lg

หวนบันทึกความทรงจำ “แผ่นดินไหวใหญ่”

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


ยิ่งอายุมาก คนเราก็ยิ่งรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็ว “แป๊บ ๆ ปี” จึงเป็นคำที่ได้ยินคนวัยผู้ใหญ่พูดกันบ่อย ๆ และดูเหมือนเป็นเช่นนั้นจริงเสียด้วยเพราะแป๊บ ๆ ก็ผ่านมา 8 ปีแล้วนับตั้งแต่ญี่ปุ่นประสบภัยพิบัติที่สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลกพร้อมกับทำให้ชื่อฟูกูชิมะติดหู

ครั้งนั้นแม้ผมไม่ได้อยู่ในพื้นที่ประสบภัยโดยตรง แต่ได้รับผลกระทบกับชีวิตประจำวันด้วย ได้ร่วมรับรู้ ได้เห็นบรรยากาศน่าสะพรึงกลัว น่าเสียใจ รวมทั้งได้เห็นจิตวิญญาณอันเข้มแข็งของคนญี่ปุ่นยามยากด้วย วันที่ 11 มีนาคมเวียนมาถึงอีกครั้ง อยากจะบอกเล่าเรื่องราวของวันนั้นไว้ตรงนี้ในฐานะคนที่ผ่านช่วงวิกฤติมากับคนญี่ปุ่น เพราะหาไม่แล้ว หากนานวันกว่านี้ เกรงว่าความทรงจำอาจผิดพลาดหรือความรู้สึกอาจจางลงจนนึกอะไรไม่ออก

วันนั้นผมตื่นสาย อยากจะตื่นให้เช้ากว่านั้น แต่อ่อนเพลียเกินปกติด้วยอิทธิพลละอองเกสรของต้นสนซูงิในฤดูใบไม้ผลิที่ทำให้เกิดอาการแพ้อย่างหนัก แผนการตื่นจึงล้มเหลว จากเดิมกะไว้ที่สิบโมงเช้าซึ่งก็ถือว่าสายแล้ว พอเอาเข้าจริงสายกว่านั้นอีก ตื่นหลอก ๆ ครั้งแรกตอนเที่ยง มาตื่นจริงอีกทีเกือบบ่ายสอง แผนเดิมที่ว่าจะเข้าเมืองแล้วกลับมาช่วงบ่ายเป็นอันต้องล้มเลิกโดยปริยาย เพราะคงใช้เวลานานเกินไป... ทำไมเราถึงมาอยู่ในที่ที่มันไกลปืนเที่ยงแบบนี้นะ ...แวบหนึ่งคิดแบบนั้น
พื้นที่ประสบภัย (แสดงระดับความเสียหายด้วยสีแดง)
ค่อย ๆ ลุกจากที่นอนบนชั้นสองของห้อง เดินลงมาที่ชั้นล่างแล้วเปิดโทรทัศน์ซึ่งมีมาให้พร้อมกับห้องที่เช่าอยู่ ได้เสียงมาเป็นเพื่อนพอให้คลายความสงัดลงได้บ้าง แต่พอหันไปอีกด้านหนึ่ง โอ๊ะ...แค่เห็นก็ท้อแล้ว เยอะขนาดนี้เมื่อไรจะจัดเสร็จ กล่องกระดาษลูกฟูกขนาดใหญ่ไม่ต่ำกว่าห้าสิบใบกองพะเนินเทินทึกสูงท่วมหัว เป็นกล่องบรรจุข้าวของโดยเฉพาะหนังสือจากบ้านเก่าในโตเกียวที่ถูกขนย้ายมายังที่อยู่ใหม่แห่งนี้

ก่อนหน้านั้นในเดือนกุมภาพันธ์ พอส่งดุษฎีนิพนธ์ปริญญาเอกเสร็จ ผมย้ายจากโตเกียวมายังเมืองยาจิโยะจังหวัดชิบะซึ่งก็อยู่ติดโตเกียวนั่นแหละ จะว่าไกลจากเมืองหลวงก็ไม่เชิง แต่ก็ไม่ใกล้ถึงขนาดจะเดินได้ทางสะดวก การเดินทางเข้าไปที่ใจกลางเมืองอย่างชินจูกุหรือชิบูยะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าชั่วโมงครึ่งในแต่ละเที่ยว ไปกลับก็สามชั่วโมง
ความเสียหายในจังหวัดอิวาเตะ
แต่จะกังวลไปทำไมในเมื่อเรียนจบแล้ว แค่รอสอบสัมภาษณ์เท่านั้น มหาวิทยาลัยก็ไม่ต้องไปบ่อย เหตุแห่งการเดินทางเหลือไม่มาก และตั้งใจว่าจะใช้ชีวิตในถิ่นบ้านนอกแบบนี้สักระยะ เรียบ ๆ ง่าย ๆ แล้วก็จะกลับเมืองไทย... หางานที่ญี่ปุ่นทำน่ะรึ? ว่าไงนะ?? งานบริษัท?

เรื่องทำนองนั้นไม่ได้อยู่ในหัว เพราะเท่าที่ได้เห็นพนักงานบริษัทญี่ปุ่นโหนรถไฟแออัดยัดเยียดจนได้กลิ่นลมหายใจของคนอื่นทุกเช้าแล้ว บอกว่าตัวเองว่าชีวิตแบบนั้นไม่ใช่ทางของเรา เอาเป็นว่าหลังจากเรียนมานาน ขอพักเหนื่อยและทำงานประเภทฟรีแลนซ์สักพักก็จะกลับบ้าน ถ้าจะเข้าเมือง อย่างมากคงแค่อาทิตย์ละสองครั้ง ไม่ใช่เรื่องหนักหนาอะไร

พอลงมาที่ชั้นล่าง แหงนดูนาฬิกาติดผนังซึ่งเป็นสิ่งแรก ๆ ที่เอาออกจากกล่อง เลยบ่ายสองแล้ว ยังไม่ได้กินอะไร แต่เดี๋ยวสักพักจะเดินไปซูเปอร์มาร์เกตใกล้ ๆ หรือไม่ก็คงไปซื้อขนมปังที่เบเกอรี่ฝั่งตรงข้าม พอทรุดตัวลงนั่งหลังพิงกล่องลูกฟูกพลางดูโทรทัศน์ไปเรื่อยเปื่อย จู่ ๆ พื้นเริ่มสั่นเล็กน้อย และแรงขึ้นในช่วงสามสี่วินาที อ้อ...แผ่นดินไหว? รู้สึกได้ แต่ไม่กลัว ตัวไม่ขยับ ไม่ลุกหนีจากจุดที่นั่งแช่เพราะชินแล้ว แต่อีกแค่อึดใจเดียว แรงขึ้นอีก...ชักเอะใจ คราวนี้ตัดสินใจลุกยืน

ปั้ก ๆ ๆ ปั้ก ๆ ๆ

เสียงอะพาร์ตเมนต์ลั่นทั้งแถบ สภาพภายในห้องคือ ล้อตู้กระจกสำหรับวางโทรทัศน์หมุนตามแรงเหวี่ยง ดีที่โทรทัศน์ไม่ล้มคว่ำลงมา แต่ประตูตู้เปิดผาง ไม่ได้การละ ต้องวิ่ง!
ความเสียหายในจังหวัดมิยางิ
สิบก้าวก็ถึงประตู เปิดพรวดออกไป ด้านหน้าของอะพาร์ตเมนต์เป็นที่ดินโล่งกว้าง เจ้าของคงใช้ปลูกผักเป็นพัก ๆ ที่มุมหนึ่งมีไม้ใหญ่ยืนต้นอยู่ แผ่นดินสั่นแรงเหมือนมีใครเขย่า ตัวเองยืนเกาะรั้วไว้ หันกลับมามองแนวอะพาร์ตเมนต์แบบสองชั้นซึ่งมีอยู่หกเจ็ดห้องติดกันเป็นเรือนแถว ลมสงบ แต่สิ่งปลูกสร้างโยกไหวเหมือนอยู่กลางพายุ มันสั่นน่ากลัว จะพังหรือไม่นั้นไม่ได้ใส่ใจ ห่วงอยู่อย่างเดียว ถ้ามันพัง มันจะทับเราหรือไม่

ทางด้านหลังมีเสียงซ้าด ๆ แซ้ก ๆ ติดกัน อ้อ...เสียงใบไม้เสียดสีกันอย่างแรง วูบวาบไม่หยุดเหมือนมีพายุโหมต่อเนื่องทั้ง ๆ ที่ไร้ลม ลำต้นโอนเอนเหมือนมีมือยักษ์จากที่ไหนผลักมันไปมา และมีเสียงอื่นเข้าแทรกอีก คราวนี้คือเสียงหลังคาร้านขนมปังฝั่งตรงข้าม พนักงานในร้านกรูออกมารวมตัวอยู่ที่ด้านหน้าแล้ว งั้น...ทฤษฎีที่บอกว่าถ้าเกิดแผ่นดินไหวให้มุดใต้โต๊ะ คงใช้ไม่ได้เสมอไปสินะ ทีแรกนึกว่าตัวเองฝ่าฝืนข้อปฏิบัติ แต่ที่ไหนได้ คนญี่ปุ่นก็พากันวิ่งหนีออกมาด้านนอกเช่นกัน และเหลียวมองทางขวาปรากฏว่ามีพ่อแม่คู่หนึ่งอุ้มลูกเล็ก ๆ วิ่งออกจากห้องที่อยู่ถัดไปสามสี่ห้องออกมายืนด้านหน้าเหมือนเรา เออ...เราคงคิดถูกแล้วที่วิ่ง

“เป็นอะไรหรือเปล่าครับ”

ผมตะโกนถาม บอกตามตรง ที่ถามไม่ใช่เพราะห่วง แต่เพราะต้องการเพื่อน ต้องการเสียงคนมาช่วยสร้างความอุ่นใจ ครอบครัวนั้นไม่ได้ตอบเป็นคำพูด แต่หันมาพยักหน้าน้อย ๆ พร้อมกับสายตาที่สื่อความกังวล เป็นอันว่าต่างคนต่างดูแลตัวเองกันต่อไป น่าจะประมาณสิบถึงสิบห้าวินาทีกระมังที่เกิดแรงสั่น ตั้งแต่อยู่ญี่ปุ่นจนถึงตอนนั้นคือสิบปี นี่คือแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุด

พอแรงสั่นสงบลง สิ่งแรกที่ทำทันทีคือโทรศัพท์กลับเมืองไทย ซึ่งทำเป็นปกติอยู่แล้วเกือบทุกครั้งที่เกิดแผ่นดินไหว การโทร.ฟรีด้วยไลน์หรือเฟซบุ๊กไม่ต้องพูดถึง สมัยนั้นสมาร์ทโฟนยังไม่แพร่หลาย เพราะฉะนั้นจึงไม่มีทางเลือก ก็โทร.ระหว่างประเทศจากมือถือนี่แหละ...แม่รับ

“แผ่นดินไหวนะแม่ คราวนี้แรงมาก เดี๋ยวคงมีข่าว แต่ไม่เป็นไรนะ ทางนี้ปลอดภัย” ผมรายงานเรื่อย ๆ และตอนที่บอกว่า “แรงมาก” ก็ไม่รู้ว่าแรงแค่ไหน ได้แต่เดาเอา แม่รับทราบตามปกติ ไม่มีท่าทีตระหนกแต่อย่างใดเพราะชินกับการรายงานแบบนี้แล้วเหมือนกัน

โทร.เสร็จก็เดินเข้าบ้าน ขยับโทรทัศน์ที่เปิดเครื่องคาอยู่ให้เข้าที่เข้าทาง เออดีนะที่กล่องไม่โค่นลงมาทับเรา เหลือบมองดูจอโทรทัศน์ มีข่าวด่วนแจ้งขึ้นมา “เกิดแผ่นไหวที่....” ถ้าจำไม่ผิด รายงานแรก ๆ ประกาศว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้ “แมกนิจูด 8” ถือว่าแรงมาก

ค่อย ๆ ย่อตัวลงนั่งพิงกล่องเหมือนเดิมเพื่อจะฟังข่าวเพิ่มเติม ปั้ก ๆ ๆ ปั้ก ๆ ๆ ปั้ก ๆ ๆ

วิ่งสิ...รออะไร ระลอกสองมาแล้ว เกิดความสั่นสะเทือนรุนแรงอีก จึงวิ่งออกไปนอกบ้านโดยเร็ว ยกโทรศัพท์ขึ้นมา หมายจะรายงานอีกทีว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้คงไม่ปกติเสียแล้ว มันแรงผิดธรรมดา แต่โทรศัพท์ไม่ติดอีกแล้ว หลังจากนั้นแรงสั่นสะเทือนระลอกที่สามก็ตามมา แต่รู้สึกได้ว่าเบาลง สามระลอกที่รุนแรงที่สุดในชีวิตเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ในจังหวัดชิบะ

เมื่อดูเหมือนระลอกใหญ่ ๆ ผ่านไปแล้ว ทีนี้ได้นั่งดูข่าวอย่างละเอียด คำเตือนสึนามิเริ่มมา ภาพจากที่ต่าง ๆ เริ่มถูกส่งมาออกอากาศ กลายเป็นข่าวใหญ่ทันที ในขณะที่โทรศัพท์ใช้ไม่ได้ โชคดีที่อินเทอร์เน็ตยังดีอยู่ การติดต่อแจ้งข่าวทางคอมพิวเตอร์จึงพอทำได้บ้าง ได้รู้ว่าข่าวแพร่ออกไปทั่วโลกแล้วว่าญี่ปุ่นกำลังเผชิญภัยพิบัติครั้งใหญ่ ขอบข่ายความเสียหาย ณ ตอนนั้นยังไม่รู้ชัด แต่ต่อมาประมาณครึ่งชั่วโมง ภาพสึนามิสีดำ ๆ อันน่าสะพรึงกลัวถูกเผยแพร่ บ้านเรือนถูกน้ำพัดพา รถบัสขับหนีคลื่น ควันดำ ๆ พวยพุงในพื้นที่บางจุด...นี่มันเกิดอะไรขึ้น

คนพวกนั้นเขาเอาชีวิตรอดกันอย่างไร? เราดูหนังอยู่หรือเปล่า? สามจังหวัดที่ได้รับความเสียหายหนักคือ อิวาเตะ มิยางิ ฟูกูชิมะ และตอนหลังมีการประเมินใหม่ด้วยว่า แรงสั่นสะเทือนครั้งนี้คือ “แมกนิจูด 9” หนักหนากว่าที่ใคร ๆ คิดทีแรก
แผนผังโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิ (ที่มา : http://w3land.mlit.go.jp/WebGIS/)
ผมไม่เป็นไร แต่ใช้ชีวิตลำบากขึ้น เมื่อหายตื่นเต้น สิ่งแรกที่คิดคือ เออวันนี้ดีที่เราตื่นสาย ไม่อย่างนั้น ถ้านั่งรถไฟเข้าเมืองไปละก็ คงไม่ได้กลับบ้านอีกสองสามวันเป็นแน่ เพราะรถไฟภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางรวมทั้งในกรุงโตเกียวหยุดวิ่ง บางคนเดินเกือบยี่สิบชั่วโมงจากโตเกียวเพื่อกลับบ้านที่โยโกฮามะ ในสถานการณ์แบบนี้ ไม่มีที่ไหนอุ่นใจเท่าบ้านเราอีกแล้ว ต่อให้ดั้นด้นเดินขนาดนั้นก็ยอมทำ...เรื่องแบบนี้เป็นที่เข้าใจได้ อีกเรื่องที่คิดคือ เออโชคดีที่เราย้ายมาอยู่ในห้องที่กว้างขึ้น ไม่อย่างนั้นพวกตู้สูง ๆ กับกองหนังสือในห้องเดิมตอนอยู่โตเกียวอาจถล่มลงมาทับจนบาดเจ็บก็เป็นได้

ข่าวออกไปทั่วโลกแล้ว และเมื่อเวลาผ่านไปอีกพักใหญ่ พอโทร.กลับเมืองไทย คราวนี้แม่เป็นห่วงมาก สาเหตุมาจากคนรอบข้างและภาพข่าว มีญาติพี่น้องในเมืองไทยดูข่าวและเป็นห่วงเป็นใยผม จึงโทร.ไปถามแม่กันใหญ่ จากทีแรกที่แม่เฉย ๆ พอถูกถามบ่อยเข้า จึงอดไม่ได้ที่จะหวั่นไหว

“พื้นที่มันอยู่ห่างกันแม่ ไม่ต้องห่วง ทางนี้ไม่เป็นไร เดี๋ยวอีกไม่กี่วันก็จะมาเมืองไทยแล้ว”

ผมเตรียมตัวกลับเมืองไทยระยะสั้น ๆ หลังเรียนจบ จึงซื้อตั๋วเครื่องบินไว้ก่อนแล้ว และมาเกิดภัยพิบัติแบบนี้ขึ้นก่อนเดินทางราว 1 สัปดาห์ ลำพังแผ่นดินไหวกับสึนามิก็หนักอยู่แล้ว อีกไม่กี่วันต่อมามีข่าวโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิ รัฐบาลแถลงทุกวัน วันละหลายรอบ ทีแรกบอกว่า “ไม่เป็นไร” แต่ที่บอกเช่นนั้นเพราะยังไม่รู้แน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นกับโรงไฟฟ้าแห่งนั้น ที่แน่ ๆ คือการผลิตไฟฟ้าหยุดชะงักลงและทำให้ญี่ปุ่นขาดแคลนไฟฟ้า

รัฐบาลต้องออกมาประกาศ “ขอให้ช่วยกันประหยัดไฟ” และ “กำหนดเขตระงับการจ่ายไฟ” หมายความว่า จะเวียนตัดไฟในพื้นที่ต่าง ๆ ตามเวลาที่กำหนดเพราะไฟฟ้าไม่พอใช้ พื้นที่ในภาคกลางได้รับผลกระทบทั้งหมด รวมทั้งอะพาร์ตเมนต์ที่ผมอยู่ด้วย ร้านค้าลดการใช้ไฟ คนญี่ปุ่นใช้ชีวิตในความมืดสลัวกันเป็นแรมเดือน

การเดินทางไปไหนมาไหนต้องเผื่อเวลาให้นานขึ้นเพราะแผ่นดินไหวระลอกเล็กยังตามมาอีกเป็นร้อยครั้ง รถไฟวิ่งเร็วก็ไม่ได้ วิ่งไปหยุดไปเมื่อจับคลื่นไหวสะเทือนได้ ถ่านไฟฉายขาดตลาด ของในซูเปอร์มาร์เกตขายหมดเกลี้ยง มีการขึ้นป้ายว่า “ขอความกรุณาซื้อน้ำเพียงแค่คนละ 1 ขวด”

พอถึงกำหนดจะเดินทางกลับเมืองไทย ผมไปสนามบินนาริตะล่วงหน้าหนึ่งคืนโดยตั้งใจไปนอนที่เก้าอี้สนามบิน พอตื่นเช้าจะได้ขึ้นเครื่องบินได้เลย เพราะเกรงว่าถ้ารถไฟวิ่งไม่สม่ำเสมออาจไปไม่ทันเครื่องบิน ไปล่วงหน้าดีกว่า นั่นคือวันที่มีข่าวร้ายออกมาว่าเกิดการระเบิดที่โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิจิ

เท่านั้นแหละ...เกิดความโกลาหลอลหม่านทันที หลังจากที่ผมใช้เก้าอี้สนามบินเป็นที่นอนหนึ่งคืน พอตื่นขึ้นมาก็พบกับภาพที่ไม่เคยเห็นมาก่อน สนามบินนาริตะเนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่พยายามจะบินออกจากญี่ปุ่นให้เร็วที่สุด แน่นไม่รู้จะแน่นยังไง เบียดเสียดอย่างกับรถไฟญี่ปุ่นในชั่วโมงเร่งด่วน และคนส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่มีตั๋วเครื่องบิน คงหวาดกลัวกัมมันตภาพรังสีแน่นอน ผมคิดเช่นนั้น เออโชคดีที่เรามีตั๋วกลับ แต่จริง ๆ แล้ว ถ้าไม่ได้มีแผนว่าจะกลับอยู่แล้ว ผมก็คงไม่กลับ เพราะเข้าใจดีว่าชิบะห่างจากฟูกูชิมะพอสมควร ไม่ได้รู้สึกหวาดกลัวกัมมันตภาพรังสี

แต่คนเราคิดไม่เหมือนกัน...ความโกลาหลไม่ได้หยุดอยู่ที่นาริตะ เมื่อสนามบินตรงนี้และเที่ยวบินเต็มหมด และเมื่อมองแผนที่โตเกียวกับชิบะ...เอ...ดูแล้วมันใกล้ ๆ กับฟูกูชิมะยังไงชอบกล? คนที่คิดแบบนี้มีไม่น้อย เป็นเหตุให้ผู้คนแห่ไปที่สนามบินคันไซที่อยู่ในแถบโอซากะกันเลยทีเดียว บ้างนั่งรถไฟ (ซึ่งก็ลำบากและมีน้อยเต็มที) บ้างนั่งรถบัส มุ่งไปขึ้นเครื่องที่บินที่คันไซ ทำยังไงก็ได้ให้ออกจากญี่ปุ่นได้เร็วที่สุด นั่นคือทางเลือกของคนต่างชาติในญี่ปุ่น แต่คนญี่ปุ่นล่ะ?

ต่างคนต่างก้มหน้าสู้กับความยากลำบากกันต่อไป และช่วงนี้เองที่โลกได้เห็นความเป็นระเบียบ การเคารพสิทธิของกันและกัน ความซื่อตรงของคนญี่ปุ่น (ไม่ขโมยของในร้านค้า) ไม่เอาเปรียบกัน และถ้าใครยังจำได้ เงินเยนก็แข็งขึ้นด้วย! ค่าไม่ได้ตกเพราะถูกภัยพิบัติกระหน่ำ แต่มีการส่งเงิน (เยน) กลับไปช่วยญี่ปุ่นมากมาย

ผมกลับมาถึงเมืองไทยโดยสวัสดิภาพ แม่มารับที่สนามบิน พอเห็นหน้ากัน แม่ก็โผเข้ามาหา รู้ได้ทันทีว่าแม่เป็นห่วงมาก ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเพราะอิทธิพลของข่าวสาร ต้องพยายามอธิบายว่า “ไม่เป็นไรหรอกแม่ ห่างกันเยอะ” และพออยู่เมืองไทยประมาณสิบวันจนถึงวันกำหนดกลับ แม่ยังบอกว่า “ไม่กลับไปได้ไหม”

หัวอกคนเป็นแม่...เราก็เข้าใจนะ แต่ “สัญญาไว้กับทางโน้นแล้วว่าจะกลับ มีงานรออยู่ ก็ควรจะกลับไป ไม่เป็นไรหรอกครับ” พอกลับมาถึงญี่ปุ่น คนทางญี่ปุ่นก็แทบจะโผเข้ามาหาด้วยความดีใจเหมือนกัน ด้วยเหตุผลที่ว่า “ไม่นึกว่าจะกลับมา เพราะในเวลาแบบนี้ ใคร ๆ ก็ต้องห่วงตัวเองทั้งนั้น”

คนเราคิดไม่เหมือนกัน...ความจริงคือผมไม่ได้รู้สึกอะไรมากมายเกี่ยวกับอันตรายจากกัมมันตภาพรังสี เพราะรู้ว่าระยะทางขนาดนี้มันไม่เป็นไรจริง ๆ

“ไม่หนีครับ ผมสัญญาไว้” ผมก็บอกไปตามจริง “แต่แม่ห้ามไว้ ไม่อยากให้กลับมา ฮ่า ๆ ๆ”

สงสารก็แต่คนในจังหวัดฟูกูชิมะที่ต้องย้ายออกจากพื้นที่อันตราย เพราะมีบางจุดที่อันตรายจริง ๆ หลังจากที่แท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ในโรงไฟฟ้าหลอมละลายและปล่อยกัมมันตภาพรังสีออกมา

ชีวิตผมหลังจากภัยครั้งนั้นในช่วงครึ่งปีก็วนเวียนแปลข่าว อ่านข่าว นำเสนอข่าวเกี่ยวกับฟูกูชิมะตลอด บัดนี้ผ่านมา 8 ปีแล้ว คนนอกญี่ปุ่นอาจจะเลือน ๆ กันไปบ้างแล้ว แต่ในญี่ปุ่นมีการจัดพิธีไว้อาลัยทุกปีสำหรับผู้เสียชีวิตและสูญหายราวสองหมื่นชีวิต

อย่างไรก็ตาม แม้ตอนนี้ข่าวคราวโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะไดอิชิไม่ค่อยมีออกมา แต่ไม่ได้หมายความว่าญี่ปุ่นจัดการเรียบร้อยแล้ว ยัง...ยังไม่เรียบร้อย เพียงแต่ไม่เป็นข่าวเท่านั้น มีน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีอยู่มากมาย มีพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่เข้าไม่ถึงอีกหลายจุด มีอันตรายหลงเหลืออยู่มากจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้

ขอฝากบันทึกความทรงจำไว้เพียงเท่านี้ และอยากตั้งข้อสังเกตว่า ในภัยพิบัติครั้งนี้ แผ่นดินไหวกับสึนามิก็ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งซึ่งไม่น่าเกิดก็คืออุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ นี่จึงเป็นอุทาหรณ์ว่าขนาดญี่ปุ่นซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความรอบคอบก็ยังคุมโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ไม่อยู่ แล้วประเทศอื่นล่ะ? ถ้าคิดจะนำมาใช้ มีใครรับประกันความปลอดภัยได้บ้าง

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น