xs
xsm
sm
md
lg

8 ปีหลังสึนามิถล่มญีี่ปุ่น....อยากลืมกลับจำ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ในปี 2554 คลื่นสึนามิได้ซัดสูงถึงชั้นสูงสุดของอาคารเรียนที่มี 4 ชั้น
เหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิถล่มญี่ปุ่นผ่านไป 8 ปีแล้ว แต่ผู้ประสบภัยจำนวนมากยังคงอยู่บนทางแพร่งระหว่างการก้าวข้ามผ่านความทรงจำอันปวดร้าว กับการระลึกถึงมหาภัยพิบัติที่ทำให้ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
รถยนต์คันหนึ่งที่ถูกคลื่นซัดจนมาอยู่ที่ชั้นที่ 3 ของอาคารเรียน
โรงเรียนมัธยมเคเซ็นนูมะ โคโย ที่จังหวัดมิยางิ ที่เสียหายอย่างหนักจากคลื่นสึนามิเมื่อปี 2554 ได้เปิดต่อสาธารณะอีกครั้งในฐานะอนุสรณ์สถาน เพื่อเตือนใจผู้คนถึงภัยจากคลื่นสึนามิเนื่องจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติกำลังเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ

ในปี 2554 คลื่นสึนามิได้ซัดสูงถึงดาดฟ้าของอาคารเรียนที่มี 4 ชั้น ห้องเรียนต่าง ๆ ยังคงมีข้าวของต่าง ๆ และหนังสือกระจัดกระจายอยู่ รถยนต์คันหนึ่งที่ถูกคลื่นซัดจนมาอยู่ที่ชั้นที่ 3

แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่ซัดถล่มเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 16,000 คน หายสาบสูญกว่า 2,500 คน นอกจากนี้ยังมีผู้ประสบภัยอีกกว่า 3,700 คน ที่เสียชีวิตในช่วงหลายปีหลังจากนั้น เนื่องจากปัญหาสุขภาพ หรือเรื่องแทรกซ้อนอื่นที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ

เจ้าชายอากิชิโนะได้เสด็จฯ เข้าร่วมพิธีรำลึกที่รัฐบาลญี่ปุ่นจัดขึ้นที่กรุงโตเกียว พระองค์ทรงแสดงความห่วงกังวลไปยังผู้คนที่ไม่สามารถกลับบ้านเกิดได้ ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่ายังคงมีผู้อพยพถึงกว่า 50,000 คน

จดจำหรือลืมเลือน หนทางที่ไม่อยากจะเลือก

หลังมหาภัยพิบัติผ่านไป 8 ปี บรรดาผู้ประสบภัยและทางการจำต้องเลือกว่า จะทำอย่างไรกับซากปรักหักพัง ที่แสดงให้เห็นถึงขนาดของการทำลายล้างอย่างรุนแรงของภัยพิบัติครั้งนี้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2554 ระหว่างการคงสภาพสถานที่ไว้เพื่อเป็นอนุสรรณ์เตือนใจ หรือว่าจะรื้อสร้างเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ใหม่

สถานีโทรทัศน์ NHK ได้ทำการสำรวจโดยได้ถามความคิดเห็นของผู้คนจำนวนกว่า 4,400 คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ประสบภัยที่จังหวัดอิวาเตะ จังหวัดมิยางิ และจังหวัดฟูกูชิมะ และผู้คนที่จำต้องอพยพออกจากบ้านเรือนเพราะอุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าในฟูกูชิมะ 1,608 คนตอบการสำรวจนี้

ร้อยละ 60.7 ของผู้ตอบการสำรวจบอกว่า ภัยพิบัติครั้งนี้กำลังเลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คนทั่วไป ขณะที่ร้อยละ 19.1 บอกว่าไม่คิดอย่างนั้น
โรงเรียนมัธยมเคเซ็นนูมะ โคโย ที่เสียหายยับเยิบจากคลื่นสึนามิถูกเปลี่ยนเป็นอนุสรณ์สถาน
ผู้ตอบการสำรวจมีความคิดเห็นแตกต่างกันต่อข้อถามที่ว่า ควรอนุรักษ์สถานที่ที่อยู่ในสภาพพังเสียหายหรือไม่เพื่อให้เป็นสิ่งเตือนใจ ร้อยละ 28.2 ตอบว่า จำเป็นต้องอนุรักษ์สถานที่ภัยพิบัติเอาไว้ ขณะที่ร้อยละ 35.4 ตอบว่า ไม่เห็นด้วย

ผู้ที่สนับสนุนให้อนุรักษ์พื้นที่บอกว่าจำเป็นที่จะต้องเล่าภัยพิบัติและประสบการณ์ของตัวเองให้คนรุ่นหลังฟัง ขณะที่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยบอกว่า ไม่อยากให้เตือนใจให้นึกถึงความเสียหายภัยพิบัติอีก

ความสูญเสียเป็นเรื่องที่ปวดร้าว ขณะที่การเรียนรู้เพื่อรับมือไม่ให้ความเสียหายเกิดซ้ำรอยก็เป็นสิ่งสำคัญ ความทุกข์ทนที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก แต่เพราะบุคคลเหล่านั้นยังคงอยู่ในความทรงจำอย่างมิอาจลืมเลือนได้.



กำลังโหลดความคิดเห็น