คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"
ฉันจำได้ว่าช่วงที่ต้องขึ้นรถไฟเองที่โตเกียวเป็นครั้งแรกนั้นเต็มไปด้วยความงุนงง แต่พออยู่จนชินก็ลืมไปเสียสนิท จนกระทั่งเพื่อนสนิทเล่าว่าปัญหาหนึ่งที่พบเวลาไปเที่ยวญี่ปุ่นก็คือขึ้นรถไฟไม่ถูก แม้ว่าเดี๋ยวนี้จะมีภาษาอังกฤษกำกับแล้วก็เถอะ
ขึ้นรถไฟอย่างไร
รถไฟที่วิ่งในโตเกียวมีหลายบริษัท โดยหลักได้แก่ บริษัท JR และรถไฟใต้ดินสองบริษัทคือ Tokyo Metro และ Toei และยังมีรถไฟของบริษัทอื่น ๆ แยกย่อยออกไปอีกซึ่งโดยมากจะออกไปนอกเมือง ในบทความนี้ขอพูดถึงเฉพาะรถไฟของสามบริษัทแรกซึ่งน่าจะใช้บ่อยที่สุดนะคะ
รถไฟของบริษัทหนึ่ง ๆ เองก็มีหลายสาย มีชื่อสายและสีประจำสายของตัวเอง และบางทีบริษัทต่างกันแต่มีสีประจำสายที่ซ้ำกันด้วย ดังนั้นนอกจากจะใช้วิธีจำสีแล้ว ควรจำชื่อสายด้วย เพราะถ้าหลงและต้องถามคนญี่ปุ่นก็จะได้เข้าใจตรงกัน และควรจำโลโก้สัญลักษณ์ของแต่ละบริษัทไว้ เผื่อเวลาอยู่ข้างนอกเดินหาสถานี จะได้หาได้ง่ายขึ้น
แน่นอนว่าก่อนเดินทาง สิ่งแรกที่ควรทำคือตรวจสอบเส้นทางให้ดีเสียก่อนจะได้ไม่สับสนภายหลัง ควรทราบว่าจุดที่เราต้องการไปอยู่ใกล้สถานีใด ต้องขึ้นรถไฟสายไหน ต้องต่อรถไฟหรือไม่ ต่อที่สถานีใด นั่งสายอะไรต่อ สมมติเราจะไปย่านกินซ่าก็มีหลายสถานีที่อยู่ในละแวกนั้น เช่น สถานีกินซ่า สถานีฮิงาชิกินซ่า สถานียูระคุโจ เป็นต้น สามารถไปได้ด้วยรถไฟหลายสายหลายบริษัท
บางทีสถานีเดียวกันมีรถไฟของหลายบริษัทหรือหลายสายวิ่งผ่าน และบางคราวชื่อสถานีเดียวกันแต่อาจอยู่คนละแห่งถ้าเป็นรถไฟคนละสาย ต้องดูให้ดีว่าเราต้องนั่งรถไฟของบริษัทไหน ชื่อรถไฟสายอะไร (หรือจำจากสี) จะได้ไม่ขึ้นผิดสายหรือเกิดความสับสนภายหลัง
ตัวอย่างสถานีรถไฟใต้ดิน Hongo-Sanchome มีทั้งรถไฟของ Tokyo Metro และ Toei วิ่งผ่าน แต่สถานีอยู่กันคนแห่ง
สมัยที่ฉันขึ้นรถไฟเองแรก ๆ ยังไม่มีสมาร์ทโฟนสะดวกโยธินอย่างสมัยนี้ จึงต้องคอยพกแผนที่รถไฟ รวมทั้งหนังสือแผนที่กรุงโตเกียวเล่มเล็ก ๆ ไว้เสมอ หรือไม่ก็อาศัยดูจากแผนทางเดินรถไฟจากสถานีที่จะขึ้นซึ่งอยู่ภายในบริเวณสถานีตรงเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติ เดี๋ยวนี้มีเว็บไซต์และแอพลิเคชันให้สืบค้นได้สะดวกว่าจะเดินทางอย่างไร เพื่อนฉันแนะนำ Hyperdia ซึ่งมีเว็บไซต์และแอพลิเคชันสำหรับ Android ด้วยค่ะ
วิธีซื้อตั๋วรถไฟ
ตั๋วรถไฟสามารถหาซื้อได้ด้วยเงินสดจากเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติในสถานี จะมีแผนทางเดินรถไฟพร้อมราคาบอกไว้ให้ดูประกอบได้ง่าย เราหาสถานีปลายทางให้เจอก็จะทราบว่าตั๋วราคาเท่าใด ต้องนั่งไปอย่างไร
อย่างที่บอกค่ะว่าบางสถานีอาจมีรถไฟของหลายบริษัทปะปนกัน เราจึงต้องทราบด้วยว่าเราจะขึ้นรถไฟของบริษัทใด จะได้ไม่ซื้อตั๋วผิด ฉันเคยจะซื้อตั๋วรถไฟใต้ดิน Tokyo Metro แต่ไปยืนอยู่หน้าเครื่องขายตั๋วของ Toei ซึ่งอยู่ภายในสถานีเดียวกัน ฉันยืนมองแผนทางเดินรถไฟอยู่นานก็ไม่เจอชื่อสถานีที่ตัวเองต้องการลง แถมแผนทางเดินรถไฟและราคาก็ดูแปลกจากปกติ ครู่หนึ่งถึงทราบว่าฉันมาผิดที่ และต้องเดินไปหาเครื่องขายตั๋วของ Tokyo Metro ซึ่งอยู่อีกที่หนึ่งแทน
เคยเจอคนฝรั่งคู่หนึ่งที่ซื้อตั๋วเสร็จแล้วสอดตั๋วเข้าเครื่อง แต่เครื่องไม่รับตั๋ว พอลองเข้าไปคุยด้วยจึงได้ทราบว่าเขาซื้อตั๋วผิดของบริษัทรถไฟสายอื่น เราจึงเดินไปบอกเจ้าหน้าที่ของบริษัทตั๋วที่ซื้อผิดมาและขอคืนเงิน เจ้าหน้าที่ก็มีแก่ใจถามว่าจะเอาเงินคืนแยกเป็นของใครของมันไหม หรือจะรวมกัน ละเอียดสมกับเป็นคนญี่ปุ่นจริง ๆ ค่ะ
ขอบอกให้ทราบว่าตั๋ว JR Pass ไม่สามารถใช้ได้กับรถไฟทุกสาย แต่ใช้ได้เฉพาะรถไฟของบริษัท JR ชิงคันเซ็นบางประเภท รถเมล์บางสาย และเรือบางประเภทเท่านั้น ไม่ได้ใช้ได้กับทุกสายอย่างที่มีบางคนเข้าใจผิดนะคะ สำหรับรายละเอียดขอให้ศึกษาให้ดีก่อนซื้อได้จากเว็บไซต์ทางการของ JR Pass
รถไฟแต่ละบริษัทจะมีขายตั๋ววันซึ่งสามารถนั่งรถไฟกี่รอบก็ได้ภายในวันนั้น แต่มีหลายประเภท คือ 1) นั่งรถไฟได้เฉพาะบริษัทใครบริษัทมัน 2) นั่งรถไฟใต้ดินของ Tokyo Metro และ Toei ได้ 3) นั่งรถไฟ JR และรถไฟใต้ดินทั้ง Tokyo Metro และ Toei ได้ ซึ่งราคาของตั๋ววันแต่ละแบบก็จะไม่เท่ากัน ต้องลองเทียบดูว่าวันหนึ่ง ๆ เราจะนั่งรถไฟกี่รอบ ถ้าซื้อปลีกราคาแต่ละรอบคือเท่าใด และรถไฟที่จะนั่งของบริษัทใดบ้าง
ฉันไม่เคยซื้อตั๋ว JR Pass และตั๋ววันเลย เพราะเมื่อนำมาเทียบกับแผนการเดินทางแล้วไม่คุ้มบ้าง ไม่สะดวกบ้าง หากอยู่ในกรุงโตเกียวหลายวันแล้วเดินทางด้วยรถไฟบ่อย วิธีที่สะดวกที่สุดคือซื้อบัตรแบบเติมเงินได้ซึ่งสามารถใช้ขึ้นได้ทั้งรถไฟของ JR และรถไฟใต้ดินทั้งสองสาย บัตรเติมเงินมีสองแบบคือ Suica ซึ่งสามารถหาซื้อได้จากเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติตามสถานี JR (สถานีสีเขียวใบตองอ่อน) และ Pasmo ซึ่งหาซื้อได้จากเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติตามสถานี Tokyo Metro จะมีค่ามัดจำบัตรซึ่งขอคืนได้เมื่อคืนตั๋วให้กับเจ้าหน้าที่ที่เคาน์เตอร์
ขึ้นลงรถไฟและเปลี่ยนสาย
เมื่อซื้อตั๋วแล้ว ที่เหลือคือขึ้นรถไฟให้ถูกสาย ก่อนผ่านช่องตรวจตั๋วขอให้มองดูเพื่อความแน่ใจสักนิดว่าเรากำลังจะขึ้นรถไฟถูกสายหรือไม่ มีคนขึ้นผิดอยู่เรื่อย ๆ เพราะไม่ทันมอง โดยเฉพาะคนที่ใช้บัตรเติมเงิน ลองดูรูปตัวอย่างข้างล่างนะคะ จะเห็นว่าหน้าตาทางเข้าออกช่องตรวจตั๋วเพื่อขึ้นรถไฟของสองบริษัทไม่เหมือนกัน
ถ้าแน่ใจแล้วก็เดินเข้าไปเลยค่ะ
ที่ช่องตรวจตั๋วจะมีไฟขึ้น เป็นรูปลูกศร ตัวอักษร IC และรูปวงกลมสีแดงมีขีดตรงกลาง ที่เป็นรูปลูกศรคือใช้ได้ทั้งตั๋วกระดาษและบัตรเติมเงิน (แตะบัตร) ถ้าเป็นตัวอักษร IC จะใช้ได้เฉพาะตั๋วเติมเงินเท่านั้น ส่วนรูปวงกลมสีแดงมีขีดตรงกลางหมายถึงห้ามเข้า
ถ้าใช้ตั๋วกระดาษก็สอดตั๋วเข้าที่ด้านบนของช่องตรวจตั๋วที่มีรูปลูกศร อย่าลืมเอาตั๋วคืนด้วยเพราะเดี๋ยวต้องสอดเข้าช่องตรวจตั๋วอีกครั้งที่สถานีปลายทาง ถือดี ๆ อย่าให้หายนะคะ (หายกันมาหลายคนแล้ว) ถ้าเป็นบัตรเติมเงิน เมื่อแตะบัตร ที่ช่องตรวจตั๋วจะขึ้นตัวเลขบอกว่ามีเงินคงเหลือในบัตรเท่าใด และเวลาถึงสถานีปลายทางแล้วก็ต้องแตะบัตรกันอีกรอบหนึ่งเพื่อหักค่าโดยสารออกจากบัตร
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือเราต้องรู้ว่ารถไฟขบวนที่เราจะขึ้นมีปลายทางอยู่สถานีใด จะได้ทราบว่าต้องขึ้นชานชาลาฝั่งไหน หมายเลขใด ไม่อย่างนั้นหากขึ้นผิดฝั่งก็จะไปกันคนละทาง สถานีรถไฟใต้ดินบางแห่งจะมีทางเข้าชานชาลาอยู่คนละฝั่งถนนซึ่งรถไฟจะวิ่งไปในทิศทางตรงกันข้าม หากผ่านช่องตรวจตั๋วแล้วเพิ่งรู้ตัวว่าเข้าผิด ก็สามารถบอกเจ้าหน้าที่ได้ เจ้าหน้าที่จะให้ออกและคืนเงินให้หากระบบของช่องตรวจตั๋วคิดเงินไปแล้ว
นอกจากนี้ รถไฟบางสายอาจมีบางขบวนเป็นรถด่วนซึ่งจะไม่จอดบางสถานี แบ่งได้ดังนี้
Local (普通 หรือ 各駅停車) จอดทุกสถานี
Rapid (快速) ไม่จอดบางสถานี
Express (急行) ไม่จอดหลายสถานี (มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม)
Limited Express (特急) จอดเฉพาะสถานีหลักเท่านั้น (มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม)
เราสามารถสังเกตได้ว่ารถไฟที่กำลังจะมาเป็นรถไฟแบบไหน โดยดูจากป้ายเหนือชานชาลา และก่อนที่รถไฟจะมาจะมีเสียงประกาศบอกด้วยว่าเป็นรถไฟแบบไหน และบนขบวนรถหรือภายในขบวนเองก็จะมีระบุไว้ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ บางคราวจะมีการเปลี่ยนสายรถไฟระหว่างทางด้วย ถ้าสายรถไฟที่จะต่อเป็นของ Tokyo Metro เหมือนกันและระหว่างเปลี่ยนสายต้องผ่านช่องตรวจตั๋ว ถ้าเป็นบัตรเติมเงินจะเข้าช่องไหนก็ได้ แต่ถ้าใช้ตั๋วกระดาษ ให้มองหาช่องตรวจตั๋วสีส้ม สอดตั๋วเข้าเครื่อง เครื่องจะคืนตั๋วเพื่อให้เราใช้ขึ้นรถไฟต่อ แต่ถ้าเผลอไปเข้าช่องเข้าออกปกติก็จะโดนกินตั๋วไป ซึ่งอาจต้องไปซื้อตั๋วใหม่
ทำอย่างไรถ้าค่าโดยสารไม่พอ
เมื่อจะออกจากสถานี พอสอดตั๋วหรือแตะบัตรเติมเงินแล้วเครื่องส่งเสียง “ตึ๊ง-ดึ่ง” ก็เป็นไปได้ว่าตั๋วที่เราซื้อมามีค่าโดยสารต่ำกว่าที่ใช้จริง หรือเหลือเงินไม่พอในบัตรเติมเงิน ก็ไม่ต้องตกใจนะคะ คนญี่ปุ่นเองที่ต้องปรับค่าตั๋วมีเป็นประจำ ไม่ต้องกลัวด้วยว่าจะหาเครื่องไม่เจอเพราะอยู่ใกล้เคียงกับช่องตรวจตั๋วนั่นเอง สามารถไปจ่ายเงินเพิ่มได้จากเครื่องซึ่งจะมีเขียนป้ายบอกว่า “のりこし” หรือ “Fare Adjustment” เสียบตั๋วเข้าเครื่อง แล้วเครื่องจะบอกเองว่าเราต้องจ่ายเพิ่มเท่าไหร่
ก่อนออกจากสถานี
เมื่อลงรถไฟที่สถานีปลายทางแล้ว ขอให้ตรวจสอบว่าเราต้องออกทางออกใด ซึ่งภายในชานชาลาเองจะมีป้ายบอกคร่าว ๆ และเมื่อเดินผ่านช่องตรวจตั๋วออกไปแล้วจะเห็นแผนที่ติดไว้ใกล้ ๆ ให้ตรวจสอบได้อีก สถานีส่วนใหญ่จะมีทางออกมากกว่าหนึ่งทาง บางสถานีอาจมีทางออกมากกว่าสิบแห่ง ถ้าไม่อยากหลงทางให้หัวเสียหรือเสียเวลาแล้ว ก็ตรวจดูทางออกให้แน่ใจเสียก่อน เพราะพอออกผิดไปแล้วมักสับสน ไปต่อไม่ถูก
พอได้ลองเดินทางด้วยรถไฟเองสักสองสามครั้งก็จะพอคุ้นเคยเอง แล้วจะพบว่าเดินทางด้วยรถไฟในญี่ปุ่นนั้นแสนง่ายและสะดวก เพราะเขาวางระบบมาดีมาก แถมมาตรงเวลาเป๊ะ เว้นแต่จะเกิดเหตุไม่คาดฝัน
ถ้าเดินทางพร้อมกระเป๋าเดินทางขอแนะนำว่าให้เลี่ยงชั่วโมงเร่งด่วนทั้งเช้าเย็นเพราะคนแน่นมาก และไม่เหมาะกับการมีสัมภาระเป็นอย่างยิ่ง
หากตกหล่นอะไรไปหรืออยากให้แนะนำอะไรอีกบ้าง ลองบอกมาได้นะคะ เผื่อถ้าพอมีข้อมูลหรือหาข้อมูลเพิ่มได้ก็จะมาเขียนให้อ่านกันค่ะ
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีค่ะ.
"ซาระซัง" สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.