xs
xsm
sm
md
lg

ความตระหนักเรื่องรูปลักษณ์ สังคมญี่ปุ่นยุค “ผู้ชายแต่งหน้า”

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


คนญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่ห่วงภาพลักษณ์และระวังเรื่องการแต่งตัวมาก บางทีอดรู้สึกไม่ได้ว่าเอ๊ะ...มันเกินไปหน่อยไหม? แต่เนื่องด้วยเป็นค่านิยมในสังคมที่ต่างกัน เรื่องแบบนี้ย่อมไม่ใช่สิ่งจะนำมาวิจารณ์ แต่ก็อยากนำมาเล่าสู่กันฟังเพราะมันเป็นความแตกต่างและแนวโน้มที่น่าสนใจ

มีอยู่วันหนึ่ง เมื่อผมเข้าห้องสอน เห็นนักศึกษาใส่หน้ากากอนามัยกันหลายคน ทั้งเด็กผู้หญิงและผู้ชาย ด้วยความที่อยู่ในช่วงอากาศหนาวและไข้หวัดใหญ่กำลังระบาด จึงถามไถ่เป็นภาษาไทยด้วยความห่วงใยว่า “ใส่หน้ากากมา ไม่สบายหรือครับ”

“เปล่าครับ/ค่ะ” คำตอบแรก ๆ เป็นเช่นนั้น

อ้าว...ไม่เป็นอะไรแล้วใส่ทำไม? ในฐานะอาจารย์ เราไม่หยุดแค่นั้น ต้องซักต่อ กระทั่งได้คำตอบว่า “ป้องกันไว้ก่อนค่ะ กลัวติดจากคนอื่น” อ้อ...อันนี้พอเข้าใจได้ เพราะเวลาขึ้นรถไฟหรืออยู่ในห้องที่มีพาหะก็อาจติดต่อได้โดยง่าย

ที่ถามน่ะไม่ใช่อะไรหรอก คือเกรงว่าถ้าเป็นหวัดหรือเจ็บคอและถูกอาจารย์เรียกให้ตอบตอนเรียนคงจะน่าสงสาร จึงอยากทราบอาการว่าหนักเบาแค่ไหน พอจะออกเสียงได้หรือไม่

เมื่อไปถึงคนสุดท้าย เด็กผู้หญิงคนนี้พูดงึมงำอะไรสักอย่างพร้อมกับส่ายหน้า แกคงขาดแคลนคำไทยที่จะนำมาอธิบายให้อาจารย์รู้เรื่อง ผมก็ไม่รู้เรื่องนั่นแหละเพราะมันไม่เป็นประโยคและอู้อี้อยู่หลังหน้ากาก ในที่สุด เพื่อให้เข้าใจกัน แกจึงพูดภาษาญี่ปุ่นออกมา ได้ความว่า “หนูไม่ได้แต่งหน้ามาค่ะ”

คนฟังชะงักไปสามวินาทีเพราะไม่เคยนึกถึงเหตุผลนี้ คนที่ตอบคือนักศึกษาหญิงปี 1 พอได้ยินคำตอบ จะขำก็ไม่ใช่ แปลกใจก็ไม่เชิง หลังจากหายอึ้งจึงได้แต่ถามยิ้ม ๆ ว่า “งั้นวันนี้หนูก็พูดได้สินะ ไม่เจ็บคอ?” แกพยักหน้าหงึกหงัก ผมไม่ได้ว่าอะไร โอเค...ถ้าไม่มั่นใจเพราะหน้าไม่มีสีและอยากจะซ่อนไว้ก็ไม่ว่ากัน

หลังจากวันนั้นยังมีนักศึกษาหญิงให้เหตุผลแบบเดียวกันอีกหลายคน สรุปว่าหน้ากากนอกจากมีไว้กันฝุ่นกันเชื้อโรคแล้วยังมีประโยชน์ด้านนี้ด้วย...นึกไม่ถึง นั่นคือความตกใจทางวัฒนธรรมที่จำได้แม่น ต่อมาจึงเข้าใจว่าการแต่งหน้าเป็นเรื่องใหญ่สำหรับสาวญี่ปุ่น ถึงกับต้องปิดบังไว้หากวันไหนตื่นสายและแต่งไม่ทัน

เด็กผู้หญิงญี่ปุ่นโตเป็นสาวเร็วในเรื่องการแต่งตัว หลายคนเริ่มแต่งหน้าตั้งแต่อยู่มัธยมปลายซึ่งต่างจากเด็กไทย สำหรับคนไทย เรามักรู้สึกว่านักเรียนกับการแต่งหน้ามันไม่ค่อยจะเข้ากัน แม้แต่นักศึกษามหาวิทยาลัยของไทยก็เถอะ หน้าสดมีปรากฏเยอะแยะ แต่ของญี่ปุ่นตรงกันข้าม

นอกจากการแต่งหน้าแล้ว เรื่องการแต่งตัวก็เป็นที่รู้กันว่าคนญี่ปุ่นช่างสรรหา เรื่องพวกนี้จะเผยตัวออกมาชัดเจนตอนเข้ามหาวิทยาลัย เพราะโรงเรียนมัธยมของญี่ปุ่นบังคับให้ใส่เครื่องแบบนักเรียนตลอด เด็กที่ไม่ได้สนใจแฟชั่นมาแต่เดิมก็มีไม่น้อย แต่พอเข้ามหาวิทยาลัย ทั้งผู้หญิงและผู้ชายจะถูกสิ่งแวดล้อมกดดันให้แปลงโฉมเข้าสู่โหมดแฟชั่น และมีแนวโน้มกว้าง ๆ ที่แบ่งแยกกันค่อนข้างชัดระหว่างมหาวิทยาลัยเอกชนกับรัฐบาล

การเลือกมหาวิทยาลัยของนักศึกษาญี่ปุ่นนอกจากมีปัจจัยด้านชื่อเสียงของสถาบันเป็นตัวกำหนดแล้ว ฐานะการเงินของครอบครัวก็มีผลด้วย และแน่นอนว่าค่าเล่าเรียนของมหาวิทยาลัยเอกชนแพงกว่าของรัฐ กลุ่มนักศึกษาที่เรียนในสถาบันเอกชนจึงอยู่ในข่ายครอบครัวรายได้สูง อยู่ในแวดวงที่ใช้ของมีราคา และยอมเสียเงินให้กับการแต่งตัว ดังนั้น ถ้าไปเดินในมหาวิทยาลัยที่มีคุณหนูมากหน่อย เช่น อาโอยามา-กากูอิง (Aoyama Gakuin), ริกเกียว (Rikyo), เคโอ (Keio), กากูชูอิง (Gakushuin) ก็จะอยู่ในหมู่คนสวยหล่อ แต่ถ้าไปเดินในมหาวิทยาลัยโตเกียว (Tokyo), โอซากะ (Osaka) บรรยากาศจะเป็นอีกแบบ

แนวโน้มแบบนี้มีมานานแล้ว ปัจจุบันยังเป็นเช่นนั้นอยู่ ถามว่าถ้าบังเอิญเป็นคนไม่สนใจแฟชั่น แต่ต้องเข้าไปเรียนในสถาบันที่มีแต่คนแต่งตัวเก่งล่ะ จะทำยังไง? คำตอบคือ วัยรุ่นญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะถูกสิ่งแวดล้อมลากไปทางนั้นด้วยในเบื้องต้น พอผ่านช่วงทดลองแฟชั่นประมาณ 1 ภาคการศึกษา จะถึงช่วงตัดสินใจว่าจะลุยต่อหรือขอเลิก นักศึกษาหญิงส่วนใหญ่ลุย ส่วนนักศึกษาชายมักทำเท่าที่เท่าได้ ไม่ถึงกับทุ่มเททุกคน ทั้งหมดนี้เพราะความแคร์สายตาของคนอื่น กลัวว่าตัวเองจะแปลกแยก

เด็กหนุ่มรุ่นน้องคนหนึ่งจบจากอาโอยามา-กากูอิง เล่าให้ฟังว่า ตอนเข้าไปเรียนปีแรก ตัวเขาเองและเพื่อนผู้หญิงต่างตกใจเมื่อเห็นรุ่นพี่ผู้หญิงแต่งตัวเฉิดฉาย เสื้อผ้าหน้าผม เล็บ กระเป๋า รองเท้า เฟี้ยวฟ้าวไปหมด อดสงสัยไม่ได้ว่ากว่าจะออกจากบ้านต้องแต่งนานเท่าไร น้อง ๆ ผู้หญิงพูดถึงรุ่นพี่ด้วยน้ำเสียงชื่นชมผสมความขมขื่นใจว่าทำไมตัวเองดูต่ำต้อย

คล้อยหลังไม่ถึงสองเดือน พอเพื่อน ๆ ได้เจอกันอีกที ปรากฏว่าเด็กผู้หญิงปีหนึ่งพวกนั้นพรั่งพร้อมด้วยแฟชั่นเต็มตัวไม่ต่างจากรุ่นพี่ ส่วนเด็กหนุ่มรุ่นน้องผมพยายามอยู่สักพักเหมือนกัน คอยดูนิตยสารแฟชั่นว่าอะไรมาแรง ไปหาซื้อเสื้อผ้าแปลก ๆ ตามชิบูยะ เซ็ตทรงผมทุกวัน แต่หนักเข้าก็ไม่ไหวเพราะมันไม่ใช่ทาง แล้วน้องคนนี้ก็ยินดีทำตัวแปลกแยกโดยที่ไม่ได้สูญเสียอะไรในชีวิตนอกจากโอกาสใช้เงิน

สิ่งเหล่านี้สะท้อนค่านิยมของคนญี่ปุ่นด้านหน้าตาว่าต้องดูดี เป็นที่ศรัทธา ไม่ด้อยกว่าใคร เจริญหูเจริญตา ความตระหนักด้านนี้ดูเหมือนกำลังขยายวงกว้างกว่าเดิม จนเกิดสิ่งที่น่าจะเรียกได้ว่าแปลกใหม่ขึ้นมาด้วย กล่าวคือ ตามปกติเรามักมองว่าผู้หญิงรักสวยรักงามกว่าผู้ชาย ผู้หญิงกับการแต่งหน้าจึงเป็นของคู่กัน แต่ปัจจุบันผู้ชายเริ่มแต่งหน้ากันแล้ว และกำลังเป็นช่องทางธุรกิจใหม่ในญี่ปุ่น

ผู้ชายแต่งหน้าในที่นี้ไม่ได้หมายถึงนักร้องนักแสดง แต่หมายถึงคนทั่วไป เป็นผู้ชายทำงานธรรมดา ๆ นี่แหละ เหตุผลง่ายมากคือ เพราะผู้ชายก็ต้องการให้ตัวเองดูดีเช่นกัน หากระบุเป็นรูปธรรมก็เช่น ต้องการปกปิดหนวดเคราเขียว ปกปิดรอยสิว ปิดรูขุมขนที่เริ่มขยายกว้าง ซึ่งล้วนเป็นเหตุผลเดียวกันกับที่ผู้หญิงใช้เครื่องสำอาง และตอนนี้ตลาดเครื่องสำอางสำหรับผู้ชายในญี่ปุ่น (หมายรวมถึงรองพื้นไปจนถึงผลิตภัณฑ์บำรุงผิว) ขยายตัวขึ้นทุกปี ยี่ห้อเครื่องสำอางชายของญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่จับตาตอนนี้ คือ FIVEISM × THREE (อ่านว่า ไฟว์อิซึม บาย ทรี) และจริง ๆ แล้วไม่ใช่เฉพาะญี่ปุ่น ยี่ห้อดังอย่าง CHANEL ก็ผลิตเครื่องสำอางชายออกมาพักใหญ่แล้ว

ในกลุ่มผู้ชายญี่ปุ่นที่ใช้เครื่องสำอาง พบว่าช่วงอายุ 20 และ 30 ปีมียอดลดลง แต่ยอดไปเพิ่มในกลุ่มคนอายุ 40-49 ปี กลุ่มคนวัยนี้ โดยเฉพาะช่วงต้น 40 คือคนที่เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานตอนเศรษฐกิจฟองสบู่ของญี่ปุ่นแตกพอดี เป็นกลุ่มที่ได้ชื่อว่า “รุ่นที่หายไป” เพราะเศรษฐกิจตกวูบ งานหายากขึ้น เมื่อมาถึงวัยนี้ต้องฝ่าฟันความลำบากมามาก กว่า 70% คิดว่า “ตัวเองเป็นที่พึ่งของผู้อื่น” และคิดว่าการสร้างแบรนด์ให้แก่ตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ สิ่งที่ใส่ใจเป็นพิเศษคือ “ระวังกลิ่นตัว” และ “แต่งตัวให้ดี” อีกทั้งให้ความสำคัญต่อการดูแลผิวพรรณ (มากกว่าการเปลี่ยนทรงผม) (Diamond Online, 20 ธันวาคม 2018) และพนักงานชายบางคนถึงกับไปเรียนแต่งหน้าอย่างการทารองพื้นและการกันคิ้วเขียนคิ้ว โดยเฉพาะคนที่ทำงานด้านการขายหรือการนำเสนอผลงาน

อย่างไรก็ตาม ในญี่ปุ่นช่วงแรก ๆ นี้ยังมีคนที่รับไม่ได้อยู่ เคยเกิดกรณีเจ้านายสั่งลูกน้องชายว่า “ห้ามแต่งหน้ามาทำงาน!” แต่ทนายตีความว่าเจ้านายไม่มีสิทธิ์สั่งเช่นนั้น โดยยกตัวอย่างคดีคนขับรถชายตัดผมสั้นและย้อมเป็นสีทอง ต่อมาถูกไล่ออกจากงานเพราะการกระทำนั้น ศาลตัดสินว่าการไล่ออกนั้นกระทำไม่ได้ เพราะหากจะจำกัดสิทธิเสรีภาพของคนงาน ต้องบ่งชี้เหตุแห่งความจำเป็นต่องานให้ชัดเจน

นอกจากความตระหนักด้านรูปลักษณ์ตามค่านิยมในสังคมญี่ปุ่นแล้ว แนวโน้มการดูแลสุขภาพก็มีมาพักใหญ่ทั้งหญิงชาย แนวโน้มต่อไปคงจะเป็นเรื่องผู้ชายแต่งหน้า อย่าว่าแต่ในญี่ปุ่นเลย อาจกลายเป็นเรื่องปกติไปทั่วโลกก็ได้...ใครจะรู้ เมื่อถึงวันนั้น ชักจะเริ่มหวั่นใจแล้วว่า ถ้าเห็นลูกศิษย์ผู้ชายคาดหน้ากากอนามัยเข้ามา จะกล้าถามไหมว่าหน้ากากนั้นท่านคาดไว้ทำไม

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น