xs
xsm
sm
md
lg

ยามแรกสะใภ้ญี่ปุ่นเยือนอเมริกา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

เมื่อย้ายจากญี่ปุ่นมาอยู่อเมริกาแรก ๆ ฉันได้เจอกับ culture shock อยู่พอสมควร เวลานั้นเป็นเรื่องชวนเครียด แต่พอชินแล้วกลับรู้สึกเป็นเรื่องธรรมดา บางเรื่องกลายเป็นเรื่องน่าขัน บางเรื่องก็รู้สึกว่ามันออกจะเป็นเรื่องดีอยู่เหมือนกันเหมือนกัน

ฉันย้ายมาอยู่ฝั่งตะวันออกของอเมริกาในช่วงฤดูหนาว ทั้งหนาวเย็นจับใจ ทั้งท้องฟ้าเป็นสีเทา เห็นแล้วชวนหม่นหมองสำหรับคนที่ต้องจากถิ่นคุ้นเคยมาอยู่ในที่แห่งใหม่ ช่วงนั้นฉันไม่ได้อยากจากญี่ปุ่นมาเลย คิดดูสิคะว่าฉันต้องพลาดอะไรไปบ้าง ทั้งราเม็ง เนื้อย่าง หม้อไฟ ซูชิ ซาชิมิ และบรรดาของอร่อยอื่น ๆ ในญี่ปุ่นที่ฉันจะอดกินไปอีกนาน ยิ่งทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวแตกต่างจากที่ผ่านมาอย่างมาก ใจก็ยิ่งต่อต้าน ยิ่งคิดถึงญี่ปุ่นมากขึ้นเท่านั้น

ขนาดนิวยอร์กเคยเป็นที่ที่ฉันเคยใฝ่ฝันมานานแล้วว่าอยากลองไปอยู่ แต่การที่ฝันเป็นจริงในตอนที่ฉันไม่ได้สนใจแล้วก็ไม่นับว่าเป็นฝันดีเท่าไหร่ เหมือนโดนชีวิตบังคับให้ต้องพรากจากสิ่งที่รักไปสู่สิ่งที่ไม่ได้รักแทน ยิ่งมาเจอ culture shock หลายประการในช่วงแรก ๆ ก็ยิ่งเซ็ง

พอคุ้นชินกับวิถีชีวิตในญี่ปุ่นจนรู้สึก(ไปเอง) ว่านั่นคือมาตรฐานในการดำรงชีวิตแล้ว ช่วงที่มาอยู่อเมริกาใหม่ ๆ นั้น เพียงแค่พนักงานร้านกาแฟหรือพนักงานโรงแรมทักทายว่า “หวัดดี เป็นไงมั่ง” หรือ “ไง พรรคพวก” ฉันก็นึกอยากมีประตูสารพัดที่ของโดราเอมอน จะได้เปิดปุ๊บกลับญี่ปุ่นไปเลย เรื่องแค่นี้ก็ชวนโฮมซิกได้แล้วสำหรับฉันในเวลานั้น

ไม่ใช่อะไร คือปกติอยู่ญี่ปุ่นจะได้รับบริการแบบสุภาพนอบน้อมอย่างหาที่ติไม่ได้ (อย่างน้อยก็จนกระทั่งถึงเมื่อไม่กี่ปีมานี้) จึงเคยชินและคาดหวังบริการแบบนั้นไปโดยไม่รู้ตัว แม้จะไม่ได้หวังว่าทุกประเทศต้องเป็นแบบเดียวกัน แต่พอเจอความ “ชิลล์” แทนที่ความ “สุภาพนอบน้อม” เข้ากระทันหันก็เลยช็อกไปเสียอย่างนั้น ถ้าไม่ได้เจอกับตัวเองอาจคิดว่าโอเว่อร์ไม่เข้าเรื่อง

เหตุผลหนึ่งของการบริการที่สุภาพนอบน้อมอย่างยิ่งของญี่ปุ่นน่าจะมาจากการที่สังคมญี่ปุ่นมีการแบ่งลำดับความสูงต่ำอย่างเข้มงวด รวมทั้งแบ่งความเป็นคนนอก-คนในอย่างชัดเจน ในขณะที่คนอเมริกันเน้นความเท่าเทียมและความเป็นกันเอง สิ่งที่แสดงออกจึงต่างกันไปโดยปริยาย

ฉันสังเกตเห็นงานบริการของอเมริกาในหลายแห่งแล้วนึกถึงญี่ปุ่น มันมีเรื่องเล็กบางอย่างที่ญี่ปุ่นไม่ได้มองข้าม และเรื่อง(ที่ดูเหมือน)เล็กนี้เองที่สร้างความแตกต่างได้มาก

สิ่งที่ฉันเห็นบ่อยในอเมริกาคือตามร้านรวงหรือเคาน์เตอร์ให้บริการนั้น ถ้ามีลูกค้ามายืนรอคิวกันอยู่ ก็ไม่ค่อยจะเห็นพนักงานคนอื่นรีบมาช่วยเปิดเคาน์เตอร์เพิ่มเพื่อบริการลูกค้าไม่ให้ต้องรอนาน เคยเห็นพนักงานเดินมาอยู่เหมือนกันค่ะ แต่มาทำงานอะไรจิปาถะที่เคาน์เตอร์ต่อหน้าลูกค้า ซึ่งดูแล้วไม่น่ามีความสำคัญเร่งด่วนที่ต้องรีบในเวลานั้น บางทีก็ยืนคุยกันโดยปล่อยให้ลูกค้ารออยู่นาน แต่ก็มีบางร้านเช่นกันที่บริการดี แล้วแต่ว่าจะเจอแบบไหน

หากเป็นญี่ปุ่น ส่วนใหญ่แล้วพนักงานคนอื่นที่ไม่ได้อยู่ที่เคาน์เตอร์จะคอยสังเกตว่ามีลูกค้ามายืนต่อแถวรออยู่หรือเปล่า ถ้ามีก็จะรีบผละจากงานที่กำลังทำอยู่มาที่เคาน์เตอร์ทันทีเพื่อให้บริการ ไม่ปล่อยให้ลูกค้าต้องรอนาน พอเห็นความกุลีกุจอเต็มใจบริการแบบนี้ ลูกค้าก็ไม่เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อร้านนั้น

คาดว่าญี่ปุ่นคงจะเน้นความสำคัญของลูกค้ามาเป็นอันดับหนึ่ง และสอนพนักงานให้ทำงานได้หลายอย่าง และทำงานแทนกันได้เพื่อให้บริการลูกค้าให้ดีที่สุด ที่น่าสนใจคือมันเป็นแนวคิดที่ปฏิบัติกันทั่วไปทั้งประเทศเสียด้วย ไม่ว่าจะเป็นร้านเล็กร้านใหญ่ ส่วนมากต่างก็มีอัธยาศัยในการให้บริการคล้ายกันหมด อาจเพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศเล็ก มีแนวทางของกลุ่มที่ทำตามกัน และมักมีแนวคิดพัฒนาต่อยอดให้ดีกว่าเดิมอยู่เสมอก็เป็นได้

ความเป็นแบบแผนเดียวกันของญี่ปุ่นนี้เองที่ทำให้การใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นอาจเป็นเรื่องง่ายในแง่มุมหนึ่ง เพราะถ้าเราเรียนรู้ว่าสังคมญี่ปุ่นคาดหวังพฤติกรรมและคำพูดแบบไหนจากคนในสังคม และเรารู้แกวแล้วว่าในสถานการณ์แบบนี้เราต้องพูดแบบนี้ทำแบบนี้ หรือไม่พูดไม่ทำแบบนี้ เราก็ทำตัวถูกได้ในแทบทุกสถานการณ์ พออยู่ญี่ปุ่นชิน เราจะรู้เองว่าคนอื่นคาดหวังอะไรจากเราไปพร้อม ๆ กับการที่เราพลอยคาดหวังสิ่งเดียวกันจากคนอื่นไปโดยไม่รู้ตัว

และคงเพราะชินกับอะไรอย่างนั้น พอมาอยู่นิวยอร์กแรก ๆ ฉันเลยรู้สึกเหมือนระเบิดลงไม่เว้นแต่ละวัน นิวยอร์กไม่มีแบบแผนสังคมที่เป็นแนวทางเดียวกันอย่างชัดเจนแบบญี่ปุ่น และยังเป็นศูนย์รวมแห่งแตกต่างของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกใบนี้มาผสมอยู่ในที่เดียวกัน ไม่ว่าจะคนต่างเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม ค่านิยม ทั้งยังมีประชากรใหม่จากที่อื่นเข้ามาอยู่อาศัยตลอดเวลา จึงเรียกว่าน่าจะเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้คนที่นี่เข้าใจและยอมรับอะไรไปในทางเดียวกันได้มากนัก แต่ละวันจึงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนพร้อมใจตุ้ม ๆ ต่อม ๆ ว่านี่วันนี้เราจะเจออะไรอีก

นอกจากเรื่องการให้บริการแล้ว เวลาขึ้นรถไฟทีไร ฉันจะนึกถึงญี่ปุ่นทุกที ที่นิวยอร์กไม่มีการขีดเส้นแบ่งแถวไว้ และคนก็แย่งกันขึ้นเป็นประจำ ในขณะที่ญี่ปุ่นจะสุดโต่งไปอีกข้างหนึ่งคือพยายามจัดระเบียบมาก บางแห่งจะมีเส้นแบ่งแถวไว้เลยว่าแถวนี้สำหรับขึ้นขบวนที่กำลังจะมา แถวต่อไปสำหรับขึ้นอีกขบวนหนึ่ง(ที่อาจเป็นคนละสายกัน) อะไรอย่างนี้ หรือต้องยืนเป็นสองหรือสามแถว และฉันแทบไม่เคยเห็นคนแซงคิวในญี่ปุ่นเลย นาน ๆ ทีอาจจะมีบ้างจนจำไม่ได้ถนัดว่าเคยเจอไหม

ฉันจำได้ว่าสมัยก่อนตอนอยู่ญี่ปุ่นแรก ๆ จะไม่ชอบรถไฟในชั่วโมงเร่งด่วนตรงที่ทุกคนพยายามเบียดเสียดกันให้ตัวเองได้ขึ้นรถไฟ แถมเจ้าหน้าที่ยังมาช่วยดันคนเข้าไปเสียอีกทั้ง ๆ ที่สภาพภายในตู้โดยสารก็แทบจะกลายเป็นปลาทูน่ากระป๋องอยู่แล้ว พอมาอยู่แถวนิวยอร์ก เห็นรถไฟตอนเช้า ๆ ไม่ได้แออัดกันขนาดนั้น แต่คนก็ยอมรอขบวนต่อไป ทำให้ฉันมักคิดในใจด้วยความเสียดายว่า “โธ่ แบบนี้น่าจะยังอัดเข้าไปได้อีกตั้งตู้ละยี่สิบคน”

แม้นิวยอร์กจะมีอะไรที่ชวนเซ็งสำหรับฉันในช่วงแรกเพราะเพิ่งจากญี่ปุ่นมาหมาด ๆ แต่พอเวลาผ่านไปก็พบว่าความผสมผสานปนเปกันของนิวยอร์กมีข้อดีซ่อนอยู่มาก ที่เห็นได้ชัดคือความหลากหลายสุดขั้วของนิวยอร์กเองเป็นตัวหล่อหลอมให้คนที่นี่เคยชินและยอมรับความแตกต่างของคนได้ง่ายกว่า ต่างจากสังคมที่มีคนกลุ่มเดียวกันอยู่เยอะอย่างญี่ปุ่นหรือกระทั่งบางรัฐในอเมริกาเองที่พอเห็นคนต่างชาติ คนต่างสีผิว หรือคนที่พูดภาษาอื่น ก็จะมองด้วยสายตาอีกแบบ หรือมองว่าเป็นคนละพวกกัน

และคงเพราะความหลากหลายเกินบรรยายจนยากจะหามาตรฐานร่วมกันแบบชัดเจนได้ จึงไม่ค่อยเห็นคนนิวยอร์กคาดหวังอะไรจากกันมากนัก หากเจอเรื่องไม่ถูกใจ ไม่สมบูรณ์แบบบ้างก็ปล่อยผ่านไป ถือว่าคิดไม่เหมือนกัน และต่างคนต่างมีสิทธิ์คิดต่าง ทำต่าง ถ้าไม่ใช่เรื่องใหญ่โตจนสร้างความเดือดร้อนก็ไม่ค่อยจะเก็บเอามาคิดเล็กคิดน้อยให้มากความ

ในขณะที่มาตรฐานของญี่ปุ่นโดยรวมนั้นเรียกได้ว่าสูงกว่าที่อื่น ๆ เป็นส่วนใหญ่ และอาจเพราะเป็นมาตรฐานที่คนส่วนใหญ่ทราบและยอมรับร่วมกันโดยดุษฎี ความคาดหวังระหว่างกันจึงพลอยสูงตามไปด้วย

ก่อนมาอยู่อเมริกา พี่ฉันบอกว่าอยู่ประเทศที่สมบูรณ์แบบอย่างญี่ปุ่นมานาน ไปอยู่ประเทศอื่นท่าจะลำบาก อันที่จริงการย้ายถิ่นฐานไม่ว่าจะจากประเทศไหนไปประเทศไหนต่างก็มีความท้าทายแรกอยู่ที่การปรับตัวอยู่แล้วเป็นเรื่องธรรมดา แต่การย้ายจากประเทศที่มีแบบแผนอะไรชัดเจนจนไม่ค่อยมีเซอร์ไพรส์ แล้วไปอยู่ในประเทศที่ “แล้วแต่ดวงของท่านวันนี้” นับว่าเป็นความท้าทายที่แท้ทรู

สัปดาห์นี้ขอลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้านะคะ สวัสดีค่ะ.

ป.ล. เนื่องจากความกว้างใหญ่ของสหรัฐอเมริกาทำให้วิถีชีวิตและสังคมในแต่ละรัฐมีลักษณะต่างกัน เมื่อกล่าวถึงประสบการณ์ชีวิตของผู้เขียนในอเมริกา ส่วนใหญ่จึงเอ่ยถึงเฉพาะ “นิวยอร์ก” ซึ่งคุ้นเคยมากกว่า “อเมริกา” ซึ่งหมายรวมถึงทั้งประเทศ




"ซาระซัง"
สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา ติดตามคอลัมน์ “เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น” ที่ MGR Online ทุกวันอาทิตย์.


กำลังโหลดความคิดเห็น