ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
ช่วงต้นปีมักมีประเด็นใหญ่ระดับภูมิภาคหรือระดับโลกเป็นที่จับตามอง หนึ่งในเรื่องใหญ่ที่ญี่ปุ่นมีบทบาทเต็มตัวและมีแววว่าไทยจะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยคือ “(อดีต) ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Trans-Pacific Partnership Agreement) เรียกสั้น ๆ ว่า TPP (ชื่อเปลี่ยนเป็น CPTPP แล้ว แต่หลายคนยังเรียก TPP ติดปาก ซึ่งจะได้ขยายความต่อไป) และเริ่มมีผลมาเดือนเศษ แม้ยังประเมินผลไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ช่วงเริ่มต้นย่อมเป็นเวลาที่เหมาะสำหรับการเริ่มสังเกต จะได้เข้าใจผลกระทบในตลาดญี่ปุ่นนับจากนี้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เรื่อง TPP มีข้อปลีกย่อยมาก แต่ในที่นี้จะเล่าแบบบ้าน ๆ ให้เห็นภาพง่ายที่สุด โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับญี่ปุ่น
การเจรารวมกลุ่มการค้าระดับภูมิภาคมีมานานแล้ว แนวโน้มหลักในระยะหลังคือ “เพื่อลดหรือเลิกภาษีศุลกากรที่เก็บจากสินค้านำเข้า” อันจะนำไปสู่การค้าเสรีอย่างแท้จริง คำว่า “เสรี” หมายถึง การไม่มีข้อกีดกันทางการค้า ซึ่งหลัก ๆ คือกำแพงภาษี และ TPP คือ ข้อตกลงการค้าเสรีในทำนองนั้นฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เจรจากันนาน ถ้านับตั้งแต่การรวมตัวเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ของ 4 ประเทศ (บรูไน ชิลี นิวซีแลนด์ สิงคโปร์) เมื่อปี 2005 ก็ไม่ต่ำกว่า 10 ปี รายละเอียดมีมาก ประเทศที่เกี่ยวข้องหรืออยากจะข้องเกี่ยวจึงต้องตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ รวมทั้งไทยด้วย อีกทั้งมีงานวิจัยระดับประเทศและระดับโลกวิเคราะห์ออกมาจนไม่รู้ว่าจะเชื่องานไหนดี แต่ท้ายสุดลงเอยที่การขยายวง เป็น 12 ประเทศในเบื้องต้น โดยรวมออสเตรเลีย, แคนาดา, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เม็กซิโก, เปรู, สหรัฐ และเวียดนาม กับอีกหลายประเทศที่สนใจ
เมื่อมีประเทศเข้าร่วมเยอะ มูลค่าจึงสูงขึ้นเป็นธรรมดา แต่พอมากประเทศ ก็ยิ่งตกลงกันยาก เพราะแต่ละคนมีสินค้าที่ตัวเองอยากจะขายให้ประเทศอื่น ใครถนัดอะไรก็ผลิตได้ดี ถ้าไม่โดนสกัดด้วยภาษีศุลกากรของประเทศผู้นำเข้าย่อมขายได้ในราคาถูก แข่งขันได้ดี และขายได้เยอะ ส่วนในมุมของผู้บริโภค การแข่งขันจะทำให้เกิดอรรถประโยชน์สูงขึ้น แน่นอนว่าคนซื้อชอบใจที่ซื้อของได้ถูกลง แต่โลกนี้ไม่ได้มีอะไรตรงไปตรงมาขนาดนั้น ถ้าของนำเข้าถูกกว่า ผู้ผลิตภายในย่อมขายของไม่ได้ เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อไปอีก ประเทศไหน ๆ จึงไม่ค่อยมีใครยอมกันง่าย ๆ และพยายามจะปกป้องผู้ผลิตภายในไม่ให้ถูกสินค้าจากภายนอกเบียดตกตลาด จึงเกิดการต่อรอง ถ้าฉันลดภาษีนี้ คุณต้องยกเลิกภาษีนั้น เมื่อการค้าระหว่างประเทศไม่ได้มีรายการค้าขายแค่หลักสิบ แต่มีเป็นร้อยหรือหลายร้อย กว่าจะเคลียร์แต่ละอย่างกับแต่ละประเทศได้จึงใช้เวลา
แม้จะใช้เวลานาน แต่ TPP ก็ทำท่าว่าจะลุล่วง ช่วงสองสามปีมานี้ในไทยเริ่มมีการวิเคราะห์ว่าเราควรจะไปร่วมกับเขาด้วยเพราะจะได้ประโยชน์มหาศาล (จุดนี้จริง ๆ แล้วยังถกกันไม่เลิก) แต่ปรากฏว่าอเมริกาประกาศถอนตัวอย่างปัจจุบันทันด่วนเมื่อเดือนมกราคม 2017 โดยฝีมือคุณโดนัลด์ ทรัมป์หลังจากเป็นประธานาธิบดีของอเมริกาได้ไม่นาน ทุกฝ่ายตกใจกับการถอนตัวซึ่งกลายเป็นข่าวมโหฬารไปทั่วโลก TPP เริ่มสั่นคลอน ทำท่าจะล้ม เพราะมองกันว่าถ้าไร้ตลาดใหญ่อย่างอเมริกา ผลประโยชน์คงตกฮวบ ซึ่งเป็นเช่นนั้นจริง จากเดิม 12 ประเทศ ถ้ารวมผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) คือประมาณ 40% ของทั้งโลก มูลค่าการค้า 26% พอเหลือ 11 ประเทศโดยไม่มีอเมริกา GDP รวมประมาณ 13% มูลค่าการค้า 15% ของทั้งโลก
แต่ก็ช่วยไม่ได้ เมื่ออเมริกาไม่อยู่ ประเทศที่เหลือก็ฮึดสู้ ขอคุยกันใหม่ เดือนพฤษภาคมปีนั้นจึงได้ข้อสรุปว่า เราจะเดินหน้าโดยไร้อเมริกา ไม่ใช่ว่าไม่ง้อ แต่รอไม่ไหว ขอไปต่อโดยเปลี่ยนชื่อจาก TPP เป็น CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership—ความตกลงฉบับครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) หรือบางทีเรียกว่า TPP11 เพราะมี 11 ประเทศ โดยลงนามกันเมื่อเดือนมีนาคม 2018
CPTPP มีข้อกำหนดว่าหลังจากลงนามแล้ว ขั้นต่อไปถ้าให้สัตยาบันครบ 6 ประเทศเมื่อไร นับจากนั้นไป 60 วัน ควากตกลงจะเริ่มมีผล (การให้สัตยาบัน คือ การยืนยันรับรองว่าสนธิสัญญาที่ประเทศนั้นเข้าไปเกี่ยวข้องมีความถูกต้องสมบูรณ์ โดยผ่านกระบวนการในประเทศ เช่น ผ่านรัฐสภา หรือการลงพระปรมาภิไธยของกษัตริย์ หรือไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา เช่น สิงคโปร์ ซึ่งระยะเวลาและขั้นตอนของแต่ละประเทศอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับกฎหมาย) และแล้วออสเตรเลียก็กลายประเทศที่ 6 ที่ให้สัตยาบันเรียบร้อย เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2018 พอนับไปอีก 60 วัน CTPP จึงเริ่มมีผลตั้งแต่ 30 ธันวาคม 2018 ใน 6 ประเทศแรก ได้แก่ เม็กซิโก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ แคนาดา และออสเตรเลีย ส่วนเวียดนามกำลังตามมา (ให้สัตยาบันไปเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2018)
หันมาดูเรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นกันบ้าง โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวกับปากท้อง ผู้บริโภคน่าจะมีทางเลือกมากขึ้นขณะที่สินค้าบางอย่างถูกลงเพราะกำแพงภาษีลดลงจนหมดไป เช่น เนื้อวัวจากแคนาดาเคยถูกเก็บภาษีสูงถึง 38.5% แต่จากนี้ไปจะค่อย ๆ ลดลง สำหรับตัวอย่างอื่นประมวลได้ดังตารางนี้
ผู้บริโภคคงดีใจที่ได้ประหยัด แต่ผู้ผลิตในประเทศก็ยากที่จะเลี่ยงผลกระทบ รัฐบาลญี่ปุ่นเป็นห่วงเรื่องนี้มานาน ดังที่เห็นได้จากตารางว่าเท่าที่ผ่านมาญี่ปุ่นเก็บภาษีศุลกากรหนักอยู่ แต่ต่อไปผลิตภัณฑ์เกษตรประมาณ 2,100 รายการหรือราว 82% ของทั้งหมดจะไม่ถูกเก็บภาษีศุลกากร ถามว่าญี่ปุ่นได้อะไรตอบแทน คำตอบคือญี่ปุ่นจะได้ประโยชน์จากภาคที่ตัวเองเก่งกาจ คือ การผลิตรถยนต์ และเครื่องจักรอุตสาหกรรม โดยเล็งว่า ถ้าเปิดเสรีเมื่อไร สินค้าเหล่านี้จะซื้อง่ายขายคล่องในประเทศภาคี
ส่วนภาคการเกษตรนั้น เพื่อไม่ให้บอบช้ำเกินไป รัฐบาลเตรียมการมาพักใหญ่แล้ว โดยมีมาตรการหลายอย่างตั้งแต่ปี 2015 และคงพอเป็นแนวทางสำหรับประเทศอื่นที่มีภาคเกษตรได้บ้างหากตั้งใจจะเข้าร่วม CPTPP เช่น ในกรณีของข้าว เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวที่ผลิตในประเทศราคาตก รัฐบาลญี่ปุ่นจะรับซื้อ (ถ้าญี่ปุ่นทำก็ค่อนข้างมั่นใจในความโปร่งใส แต่ในกรณีของไทย หากจะทำคงต้องนำบทเรียนโครงการรับจำนำข่าวที่ยังเก็บกวาดไม่เรียบร้อยดีมาพิจารณาด้วย ถ้ากลไกยังหละหลวม ก็น่าหวั่นใจว่าอาจเกิดเหตุด่วนเหตุร้ายขึ้นอีก) หรือส่วนที่เกษตรกรขาดทุนจะมีมาตรการช่วยเหลือภายในกรอบที่ทำได้ นอกจากนี้ยังพยายามลดต้นทุนการผลิตข้าวโดยขยาย/รวมพื้นที่ให้กว้างเพื่อให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำลง ปรับระบบชลประทานให้ดีขึ้น ส่งเสริมอุปกรณ์การเกษตร ในกรณีผลไม้ รัฐบาลส่งเสริมการใช้อุปกรณ์ระบุความหวานสำหรับผักผลไม้ที่ตั้งเป้าไว้ที่มูลค่าเพิ่ม เพื่อให้นำออกขายได้ทันที เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า จาก TPP จนถึง CPTPP ใช้เวลานานกว่าจะเริ่มมีผล ระหว่างนั้นแต่ละประเทศก็กลับไปหาวิธีป้องกันความเจ็บตัว ญี่ปุ่นเตรียมอย่างน้อย 3 ปีและเห็นผลเป็นรูปธรรม โดยลดต้นทุนการผลิตข้าวลงได้ประมาณครึ่งหนึ่ง ส่วนผักผลไม้มียอดขายเพิ่มขึ้น 13% การส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตรไปต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 15% (นับถึงตุลาคมปีที่แล้ว)
เมื่อมองในระดับจุลภาคไปที่กระเป๋าสตางค์ของแต่ละครัวเรือน ในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่ง ผมกำลังตั้งตารอคอยดูความเปลี่ยนแปลงที่คงจะค่อย ๆ ปรากฏชัดในอีกไม่นาน โดยเฉพาะสินค้าที่ซื้อประจำจากซูเปอร์มาร์เกตใกล้บ้าน ได้แก่ องุ่นไร้เมล็ดซึ่งนำเข้าจากชิลี (ราคาพวงละประมาณ 400 เยน) กับปลาทูน่าจากเม็กซิโก (ขีดละประมาณ 700 เยน) และจะจับตาดูต่อไปว่าการค้าเสรีจะช่วยให้เราประหยัดได้มากขึ้นจริงหรือไม่ ส่วนในระดับมหภาค ตอนนี้เพิ่งเริ่มต้น ยังไม่เห็นผลกระทบอันเกิดจากสินค้าภายนอกที่หลั่งไหลเข้ามา แต่ก็อุ่นใจได้ในระดับหนึ่งว่ารัฐบาลญี่ปุ่นไม่ทอดทิ้งภาคที่อ่อนแอกว่าแล้วหันไปมุ่งทำเงินในภาคที่แข็งแกร่งเพียงอย่างเดียว และหากไทยคิดจะเข้าร่วม CPTPP จริง ๆ ควรจะมีมาตรการชัดเจนออกมารองรับการแข่งขันสำหรับผู้ผลิตในประเทศที่อ่อนแอ และรอดูผลอย่างน้อยสองสามปีดังที่ญี่ปุ่นทำ
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com