ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
“ยลศิลป์ยินญี่ปุ่น” คือมุมพิเศษมุมใหม่ที่มาแทน “สะดุดคำ” หลังจากที่ได้นำเสนอมาครบ 3 ปีเต็ม มุมนี้จะแนะนำญี่ปุ่นผ่านงานศิลปะเดือนละครั้ง ด้วยการบอกเล่าแง่มุมที่น่าสนใจในเชิงศิลปะ สังคม และเกร็ดประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการมองผ่านจิตรกรรมประเภทต่าง ๆ ของญี่ปุ่น ประกอบกับคำอธิบายสะท้อนภูมิหลังทางยุคสมัยในลักษณะที่หาอ่านที่อื่นได้ยาก
ชีวิตศิลปินภาพพิมพ์แกะไม้ผู้ลึกลับคนหนึ่งของญี่ปุ่นเป็นปริศนามาจนทุกวันนี้ ภาพของเขาดัง แต่ไม่มีใครรู้ว่าตัวตนที่แท้จริงของผู้สร้างสรรค์คือใคร รู้เพียงว่าคนผู้นี้ผลิตงานได้มากมายในช่วงสั้น ๆ แล้วจู่ ๆ ก็หายตัวกะทันหัน แต่ในช่วงสองร้อยกว่าปีต่อมา ผลงานของจิตรกรปริศนาผู้นี้เป็นที่ชื่นชมทั่วญี่ปุ่น และประวัติชีวิตก็ยังคงเป็นประเด็นให้นักวิจัยพยายามค้นหาความกระจ่างจวบจนบัดนี้
ผู้คนรู้จักผลงานของศิลปินคนนี้และรู้ว่าชื่อโทชูไซ ชารากุ (東洲斎写楽;Tōshūsai Sharaku) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ชารากุ” ผลิตผลงานอยู่ในช่วงกลางสมัยเอโดะ แต่ไม่รู้ว่าเกิดเมื่อไรตายเมื่อไร เริ่มมีผลงานปรากฏครั้งแรกในปี 1794 (พ.ศ. 2337) ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมกราคมปีถัดมา แล้วหายวับไปจากวงการ รวมเวลาแล้วประมาณ 10 เดือน ขณะนี้ยืนยันได้ว่ามีผลงานของเขา 140 กว่าผลงาน บางภาพพบเห็นได้บ่อยจนชินตาทั้งในหมู่คนญี่ปุ่นหรือแม้แต่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แต่ผู้ชมอาจไม่รู้ว่าภาพนั้นมีความพิเศษอย่างไร
ปัจจุบันภาพที่รู้จักกันแพร่หลายที่สุดของชารากุคือ “โอตานิ โอนิจิ รุ่น 3 ในบทเอโดเบข้ารับใช้” (ชื่อภาพค่อนข้างยาว แต่ขอแจ้งเป็นภาษาต้นทางไว้ด้วยเผื่อมีผู้ประสงค์จะค้นคว้าเพิ่มเติม : 三世大谷鬼次の奴江戸兵衛 [Sansei Ōtani Oniji Oniji no Yakko Edobei]) ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น สมบัติสำคัญทางวัฒนธรรมประจำชาติของญี่ปุ่น
ภาพพิมพ์แกะไม้นี้มีขนาดราว 37 x 24 เซนติเมตร เก็บรักษาอยู่ในกรุสะสมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโตเกียว แต่ถึงแม้ไม่ได้เห็นในญี่ปุ่น ใครที่ได้ดูก็คงเดาถูกได้ไม่ยากว่านี่เป็นภาพของญี่ปุ่นเพราะมีเอกลักษณ์หลายอย่างที่ติดตาจากแหล่งอื่น ๆ มาปรากฏในภาพนี้ เช่น ทรงผม รายละเอียดของใบหน้า ตลอดจนลายเสื้อ และตัวอักษรแนวตั้งที่กำกับภาพแถบมุมขวาล่าง
คนในภาพนี้ไม่ใช่ลักษณะของคนทั่วไปที่เดินสวนกันตามถนนในชีวิตประจำวัน แต่เป็นนักแสดงละครคาบูกิ ซึ่งมีต้นกำเนิดในสมัยเอโดะช่วงต้นศตวรรษที่ 17 ทางเลือกด้านความบันเทิงของคนสมัยก่อนมีไม่มากอย่างในปัจจุบัน มหรสพบนเวทีคือแหล่งความบันเทิงหลัก และละครคาบูกิคือหนึ่งในนั้นที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่ประชาชน เมื่อปี 2551 ละครคาบูกิขึ้นทะเบียนยูเนสโกเป็น มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible cultural heritage) ประเภทเดียวกันกับโขนไทย (2561) ละครคาบูกิในสมัยแรกเริ่มมีทั้งชายและหญิงเป็นผู้แสดง แต่ต่อมามีเพียงผู้ชายซึ่งรับทุกบทรวมทั้งบทผู้หญิงด้วย และเป็นเช่นนั้นมาจนถึงตอนนี้
สมัยนี้ดารานักร้องคนไหนดังก็ถ่ายรูปหรือทำอัลบั้มรวมภาพออกมาขายได้ไม่ยาก แต่สมัยที่ไม่มีเทคโนโลยีก็ต้องใช้มือมนุษย์นี่แหละ...พิมพ์บ้าง วาดบ้าง ผลิตออกมาจำหน่ายให้แก่นักสะสมหรือพ่อยกแม่ยกทั้งหลาย นักแสดงคาบูกิคือแม่บทที่สำคัญอย่างหนึ่งในวงการภาพพิมพ์แกะไม้ของญี่ปุ่น ผลงานภาพนักแสดงเหล่านี้ได้รับการขนานนามเป็นกลุ่มเฉพาะว่า “ภาพนักแสดง” (役者絵;yakusha-e) ซึ่งโดยมากหมายถึงภาพพิมพ์มากกว่าภาพวาด และศิลปินที่โดดเด่นที่สุดในการสร้างสรรค์ภาพแนวนี้ด้วยวิธีการพิมพ์คือชารากุ
องค์ประกอบหลักของ “ภาพนักแสดง” คือ การเน้นรูปลักษณ์ผู้แสดง มีทั้งแบบครึ่งตัวและเต็มตัว แบบเดี่ยวและหลายคน และไม่ใช่แค่เพียงภาพคน แต่มีอีกไม่น้อยที่ใส่องค์ประกอบอื่นลงไปด้วยอย่างอุปกรณ์ประกอบการแสดงขนาดใหญ่น้อย ซึ่งสะท้อนชีวิตประจำวันและสิ่งแวดล้อมของสมัยนั้น นอกจากผลงานของชารากุแล้ว ญี่ปุ่นยังมีภาพแนวนี้อยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้เห็นได้ว่านอกจากคนญี่ปุ่นชอบจดบันทึกสิ่งต่าง ๆ เป็นตัวอักษรแล้ว ยังถ่ายทอดเป็นภาพด้วย ทำให้คนปัจจุบันทำความเข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าชีวิตสมัยก่อนเป็นอย่างไร ถือเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าอย่างหนึ่ง
ย้อนกลับมาดูภาพ “โอตานิ โอนิจิ รุ่น 3 ในบทเอโดเบข้ารับใช้” ผลงานนี้คือภาพนักแสดงภาพหนึ่ง และเป็นชนิดครึ่งตัว ชื่อนำประจำภาพคือชื่อนักแสดง “โอตานิ โอนิจิ รุ่น 3” ต่อด้วยชื่อบทบาทในละคร ในที่นี้คือบทคนรับใช้ชื่อ “เอโดเบ” มาจากละครคาบูกิ “Koi nyōbō somewake tazuna” (恋女房染分手綱) ซึ่งเปิดแสดงที่โรงละครคาวาราซากิซะในเอโดะช่วงเดือนห้าในปี 1794 บุคคลที่ชื่อเอโดเบในฉากที่ชารากุนำมาถ่ายทอดเป็นภาพนี้ให้ความรู้สึกว่ากำลังแผ่รังสีอำมหิตด้วยสาเหตุอะไรบางอย่าง ถือว่าเป็นผลงานที่สร้างสรรค์ออกมาได้อย่างมีพลังและแปลกตา
ละครคาบูกิเรื่องนี้เกี่ยวกับความรัก โศกนาฏกรรม และปัญหาครอบครัว เรื่องมีอยู่ว่าตัวเอกโยซากุผู้เป็นบริวารของตระกูลยูรูงิ ต้องนำเงินไปไถ่ตัวเกอิชาซึ่งเป็นคนรักของเจ้านายหนุ่ม แต่ปรากฏว่าเงินถูกขโมย ซ้ำร้ายความรักหลบ ๆ ซ่อน ๆ จนถึงขั้นตั้งท้องระหว่างตนกับหญิงสาวในตระกูลก็ถูกเปิดเผย ตัวเองจึงถูกไล่ออกจากตระกูลนี้ ทางพ่อของฝ่ายหญิงก็ฆ่าตัวตายด้วยการคว้านท้องเพราะรู้สึกผิดที่ลูกสาวตนเป็นสาเหตุทำให้เกิดเรื่องวุ่นวาย แต่ฝ่ายหญิงได้รับการอภัยและกลายเป็นหญิงรับใช้ในตระกูลเจ้าหญิง หลังจากนั้น นางได้พบกับเด็กคนหนึ่งซึ่งเป็นคนดูแลม้า และรู้ว่านั่นคือลูกของตนที่เกิดกับอดีตชายคนรัก แต่นางก็จากไปโดยไม่บอกลูกว่านางคือแม่ (ช่วงนี้คือส่วนที่ดังที่สุด) ต่อมาพวกตัวร้ายถูกเปิดโปงความชั่ว แล้วนางกับชายคนรักก็ได้รับการยอมรับจากครอบครัวเดิมที่เคยอยู่ด้วย
ใบหน้าเอโดเบในภาพของชารากุฉายแววเอาเรื่องผ่านดวงตาและท่าทาง ดูเหมือนกำลังโกรธแค้นใครหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่ บรรยากาศแลดูเขม็งเกลียวด้วยกรอบตาเฉียง จมูกงุ้มโดดเด่นสะดุดตา แนวริมฝีปากเกือบตรง และโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย แต่หากสังเกตให้ดีจะพบสัดส่วนใบหน้าที่ใหญ่ และพอไล่สายตาลงมาด้านล่างจะพบว่ามือมีขนาดเล็ก ออกจะไม่สมส่วน สองมือที่มีรูปลักษณ์ผิดส่วนนี้ดูท่ากำลังจะพุ่งออกไปคว้าอะไรสักอย่างหรืออาจจะกำลังสั่น ส่วนนี้ช่วยขับความปองร้ายออกมา และอันที่จริง ว่ากันว่ามือสองข้างนี่เองที่ทำให้ภาพมีชื่อเสียง ส่วนสายตาที่มองไปอีกฟากนั้นเหมือนกับประจันหน้าอยู่กับใครสักคน...ใช่ คงต้องมีใครอยู่ที่อีกฝั่งเป็นแน่
ภาพของชารากุจำนวนไม่น้อยปรากฏเป็นคู่ หรือเป็นชุดในโครงเรื่องเดียวกัน สันนิษฐานว่าภาพเอโดเบก็มีลักษณะเช่นนั้น ส่วนภาพคู่กันที่อยู่อีกฟากหนึ่งคาดว่าน่าจะเป็น “อิปเป” ซึ่งเป็นลูกน้องของโยซากุและกำลังจะถูกเอโดเบปล้น ทั้งสองอยู่ในภาวะเผชิญหน้ากัน
ชารากุวาดอิปเปโดยให้มือขวากำด้ามดาบ จ้องไปทางซ้าย หมายจะห้ำหั่นกับเอโดเบ นักแสดงผู้รับบทนี้คืออิจิกาวะ โอเมโซ รุ่นแรก ภาพจึงได้ชื่อว่า “อิจิกาวะ โอเมโซ รุ่นแรก ในบทอิปเปข้ารับใช้” (初代市川男女蔵の奴一平;Shodai Ichikawa Omezō no Yakko Ippei) และเป็นสมบัติสำคัญทางวัฒนธรรมประจำชาติของญี่ปุ่นเช่นเดียวกับภาพเอโดเบ อย่างไรก็ตาม แม้เป็นภาพที่น่าจะอยู่คู่กัน แต่ภาพอิปเปพบเห็นไม่บ่อยเท่ากับภาพเอโดเบ
ทั้งหมดนี้คือเบื้องหลังที่อธิบายว่าเหตุใดภาพโจร (?) ภาพตัวร้าย (?) ภาพผู้ชายที่ไม่หล่อตามสมัยนิยม (?) จึงปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะบนผนังในสนามบินนาริตะ บนปกสมุด หรือบนป้ายอะไรสักอย่าง ภาพศิลปะของญี่ปุ่นที่ปรากฏอยู่ตรงไหนสักแห่งนั้น บอกได้เลยว่ามันไปอยู่ตรงนั้นด้วยเหตุผลบางอย่าง ไม่ใช่แค่แลดูสวยจึงถูกฉวยไปแปะไว้งั้น ๆ
มรดกที่ชารากุสร้างไว้ได้รับการตีค่าในฐานะเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นที่จะช่วยดึงดูดสายตานักท่องเที่ยวตั้งแต่ก้าวแรก ๆ ที่ย่างสู่ญี่ปุ่นเลยทีเดียว ดังที่เห็นได้จากการมีภาพเอโดเบประดับไว้อย่างใหญ่โตที่สนามบินนาริตะในอาคารผู้โดยสารหมายเลข 1 คนญี่ปุ่นคิดดีแล้วและภูมิใจนำเสนอภาพพิมพ์แกะไม้ภาพนี้เพื่อให้ผู้ที่ใช้สนามบินได้ใกล้ชิดงานศิลปะขึ้นชื่อ ใครที่เดินทางไปญี่ปุ่น ขอให้ลองเหลียวซ้ายแลขวา แล้วท่านอาจพบว่ามีภาพโจรเอโดเบในฐานะงานศิลป์โดยศิลปินลึกลับรอต้อนรับท่านอยู่ และท่านอาจยิ้มมุมปากให้กับภาพหลังจากอ่านถึงบรรทัดนี้...เพราะในที่สุดข้าก็รู้แล้วว่าเจ้าเป็นใคร
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com