ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
ค่าบริการสาธารณูปโภคพื้นฐานประจำบ้านของคนญี่ปุ่น หลัก ๆ มี 3 อย่างคือ ค่าไฟ ค่าแก๊ส (ที่ปล่อยมาตามท่อเพื่อทำน้ำอุ่นหรือใช้หุงต้มในครัวเรือน) และค่าน้ำประปา ค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่แพงที่สุดคือค่าไฟ รองลงมาคือแก๊ส และถูกที่สุดคือน้ำ ค่าไฟกับค่าน้ำมีแนวโน้มเหมือนของไทย แต่แก๊สนั้นเราไม่เดินระบบทั่วประเทศเพราะไม่ใช่เมืองหนาว
ในญี่ปุ่นเกิดความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับรูปแบบการบริหารน้ำประปา เป็นข่าวดังมาตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว แต่คงเพราะบรรยากาศคึกคักปลายปี เรื่องน้ำประปาจึงดูเหมือนถูกกลบ ๆ ไป ความเคลื่อนไหวที่ว่านั้นก็คือญี่ปุ่นปรับแก้กฎหมายเพื่ออนุญาตให้บริษัทเอกชนเข้ามาบริหารจัดการน้ำประปาได้แล้วแทนที่จะปล่อยให้ทางท้องถิ่นดำเนินการต่อไปตามที่เป็นมานาน ขณะเดียวกันก็มีเสียงต่อต้านด้วย เพราะการทำเช่นนี้ก็คล้าย ๆ กับการแปรรูปกิจการของรัฐให้เป็นเอกชน (จริง ๆ ไม่ใช่เสียทีเดียว) และประชาชนเกรงว่าค่าน้ำจะแพงขึ้น ในวันนี้จะได้นำประเด็นมาขยายความและจับตาดูกันต่อไป เพราะนี่อาจเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จหรือความล้มเหลวเอาไว้อ้างอิงในอนาคตได้
ก่อนอื่นมาดูภาพกว้าง ๆ ของการใช้น้ำประปาในญี่ปุ่นกัน ผู้ที่ใช้ชีวิตคนเดียวในห้องขนาด 6 เสื่อหรือประมาณ 10 ตารางเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่นักศึกษาหรือคนโสดนิยมเช่าอยู่นั้น ค่าใช้จ่ายสำหรับสาธารณูปโภคพื้นฐาน 3 อย่าง เฉลี่ยแล้วคือประมาณ 10,000 เยน หรือ 3,000 บาท (ญี่ปุ่นนิยมวัดความกว้างของห้องด้วยเสื่อทาตามิที่ตรึงติดพื้น เป็นเสื่อสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดประมาณ 0.9 ม. x 1.8 ม.และมีขนาดแตกต่างกันเล็กน้อยตามภูมิภาค) แบ่งเป็นค่าไฟ 40%+, ค่าแก๊ส 30%+, และค่าน้ำ 20%+ ค่าน้ำมีสัดส่วนน้อยที่สุด แต่ค่าน้ำประปาในญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยมาในช่วง 30 ปีนี้ โดยมีอัตราเฉลี่ยรายเดือนในระดับครัวเรือน (ใช้เดือนละ 20 ลูกบาศก์เมตร) เพิ่มจาก 2,419 เยนเมื่อปี 2530 มาเป็น 3,227 เยนในปี 2560
ลักษณะสำคัญของโครงสร้างบริการน้ำประปาในญี่ปุ่นคือ 1) ทางการท้องถิ่นเป็นผู้บริหารจัดการระบบน้ำประปามาแต่เดิม ญี่ปุ่นเริ่มใช้กฎหมายน้ำประปาตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน ปี 2500 ตามกฎหมายนี้ทางการท้องถิ่นคือผู้บริหารจัดการระบบน้ำประปา กระทั่งมีการปรับแก้กฎหมายเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วเพื่อเปิดทางให้เอกชนเข้ามาจัดการตรงนี้ได้ และด้วยความที่ทางการแต่ละที่มีนโยบาย ค่าดำเนินการ ตลอดจนการบำรุงรักษาของตนเป็นเอกเทศ ต้นทุนกิจการน้ำประปาจึงไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ นั่นหมายความว่าประชาชนญี่ปุ่นจ่ายค่าน้ำประปาถูกแพงไม่เท่ากัน กรุงโตเกียวไม่ใช่พื้นที่ที่ค่าน้ำแพงที่สุด หรือแม้แต่ในกรุงโตเกียวเอง ค่าน้ำก็ไม่เท่ากันทุกเขต โดยเฉพาะโตเกียวรอบที่ไม่ใช่ 23 เขตใจกลางกรุง
2) ค่าน้ำประปาของญี่ปุ่นมี 2 ส่วน ได้แก่ ค่าน้ำใช้ และค่าน้ำทิ้ง โดยทั่วไปค่าน้ำในญี่ปุ่นจะเก็บทุก 2 เดือน ในค่าน้ำจะประกอบด้วยค่าน้ำที่เราใช้จริง โดยคำนวณจากค่าบริการพื้นฐานซึ่งเป็นค่าตายตัว (ถูกหรือแพงขึ้นกับขนาดของท่อ) บวกกับค่าน้ำที่เปิดไหลออกมาใช้จากท่อส่ง ซึ่งคิดตามอัตราก้าวหน้า อย่างในกรุงโตเกียว ค่าบริการพื้นฐานต่ำสุดคือ 860 เยน ค่าน้ำต่อหน่วยสำหรับ 6-10 ลบ.ม. = 22 เยน, 11-20 ลบ.ม. = 128 เยน เป็นต้น
นอกจากค่าน้ำใช้แล้ว ยังค่าน้ำทิ้งอีก น้ำที่ใช้ในชีวิตประจำวัน หลังจากถูกส่งลงท่อระบายน้ำแล้ว ไม่ใช่ว่าจะไหลลงสู่แม่น้ำได้ทั้งอย่างนั้น น้ำจากห้องน้ำ การซักล้าง และการทำอาหาร ล้วนมีสิ่งสกปรกเจือปนทั้งสิ้น จึงต้องนำไปบำบัดก่อน ซึ่งแน่นอนว่ามีต้นทุน และผู้บริโภคคือผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ซึ่งก็คือค่าบำบัดน้ำเสียนั่นเอง และในทำนองเดียวกันคือ แต่ละพื้นนี้คิดค่าน้ำทิ้งไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างต่อหน่วยของเขตใจกลางกรุงโตเกียวได้ดังนี้ คือ 0-8 ลบ.ม. = 560 เยน, 9-20 ลบ.ม. = 110 เยน, 21-30 ลบ.ม. = 140 เยน โดยทั่วไปค่าน้ำทิ้งจะถูกกว่าค่าน้ำใช้ และในใบแจ้งหนี้จะแจกแจงให้ดูว่าส่วนไหนคืออะไร
ดังที่เกริ่นไว้ว่ากรุงโตเกียวไม่ได้คิดค่าน้ำประปาแพงที่สุดในประเทศ แล้วที่ไหนล่ะแพงที่สุด? จากการประมวลของสมาคมน้ำประปาแห่งญี่ปุ่นพบว่า พื้นที่ที่น้ำประปาแพงที่สุด 5 อันดับแรกกระจุกตัวอยู่ในฮอกไกโด (คำนวณจาก 20 ลบ.ม.) ดังนี้
1) เมืองยูบาริ จังหวัดฮอกไกโด6,841 เยน
2) เมืองยูนิ จังหวัดฮอกไกโด6,379 เยน
3) เมืองราอูซุ จังหวัดฮอกไกโด6,360 เยน
4) เมืองเอซาชิ จังหวัดฮอกไกโด/6,264 เยน
4) เมืองคามิอามากูซะ จังหวัดคูมาโมโตะ6,264 เยน
ที่มา: สมาคมน้ำประปาแห่งญี่ปุ่น (การสำรวจนับถึงวันที่ 4 เมษายน 2560)
สาเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนั้นคือ ในแถบอากาศหนาวและมีประชากรเบาบาง เมื่อถึงฤดูหนาว น้ำจะกลายเป็นน้ำแข็งและส่งสร้างความเสียหายต่ออุปกรณ์ได้ง่ายกว่า ต้นทุนการแบกรับภาระของผู้บริโภคจึงสูงกว่า ค่าน้ำประปาจึงแพงกว่าที่อื่น การเก็บค่าน้ำในอัตราแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ของญี่ปุ่นนั้นเป็นที่เข้าใจได้ แต่การยอมให้เอกชนเข้ามาร่วมบริหารจัดการก็ได้ก่อให้เกิดความวิตกกันว่า ค่าน้ำจะแพงกว่าตอนอยู่ในมือของรัฐบาล ซึ่งเป็นสภาพที่ผู้คนมักหวั่นเกรงเสมอเมื่อเอกชนเข้าสู่ตลาด เพราะเอกชนมุ่งแสวงผลกำไร
ทว่าการเปิดทางให้แก่เอกชนครั้งนี้ ทางภาครัฐก็มีเหตุผลของตนและนี่ไม่ใช่การแปรรูปให้เป็นเอกชนทั้งหมดตามที่คนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยก็ยังงง ๆ อยู่ แต่เข้าข่ายระบบสัมปทาน ซึ่งภาษาญี่ปุ่นเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “คนเซ็สชอง” (コンセッション;concession) กล่าวคือ ทางการจะขายสิทธิ์การบริหารให้แก่บริษัทเอกชน ซึ่งจะเป็นผู้ดูแลจัดการจ่ายน้ำไปสู่ประชาชน แต่อุปกรณ์หลัก ๆ และสถานที่ก็ยังอยู่ในกรรมสิทธิ์ของทางการซึ่งจะคอยสอดส่องดูแล ส่วนเหตุผลของการดึงเอกชนเข้ามาก็เป็นเรื่องพื้น ๆ ตามหลักเศรษฐศาสตร์ทั่วไป คือ ต้องการยกระดับประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้ดีขึ้น
แต่ทุกครั้งที่มีการแปรรูปของสาธารณะให้เป็นเอกชนไม่ว่าจะร้อยเปอร์เซ็นต์หรือบางส่วนก็ตาม มักจะเกิดเสียงคัดค้านเสมอ ในกรณีน้ำประปาของญี่ปุ่นก็เช่นกัน ทางรัฐบาลให้เหตุผลว่า สังคมผู้สูงอายุของญี่ปุ่นกำลังขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ รายได้จากกิจการน้ำประปาลดลง อีกทั้งบุคลากรที่จะมาทำงานด้านนี้ก็ลดลง นอกจากนี้อายุการใช้งานของระบบท่อประปาซึ่งเร่งวางกันตั้งแต่ช่วงที่ญี่ปุ่นมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสูงก็กำลังจะหมดอายุใช้งานมากมาย ดังนั้น ให้เอกชนเข้ามาดีกว่า ทางการจะได้ไม่ต้องคิดหาวิธีประคองกิจการเอง ไม่ต้องแบกรับต้นทุน ไม่ต้องหาคน และอาจจะได้องค์ความรู้ที่มีประสิทธิภาพจากเอกชนเข้ามาด้วย
จริง ๆ แล้วเหตุผลของรัฐบาลก็พอจะรับฟังได้อยู่ เรื่องสังคมผู้สูงอายุเป็นที่รู้กัน เรื่องประชากรลดลงก็เห็นชัดขึ้นทุกปี หรือเรื่องการบำรุงรักษาระบบท่อประปาก็มีต้นทุนที่สูงมาก ด้วยค่าครองชีพในญี่ปุ่น ประเมินออกมาแล้วว่า ค่าเปลี่ยนท่อประปาที่เสื่อมโทรมตามอายุ คิดเป็นเงิน 100 ล้านเยน (ราว 30 ล้านบาท) ต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร จำนวนท่อที่หมดอายุใช้งานแล้วมีมากขึ้นทุกปี จนถึงปี 2559 มีถึง 15% ของทั้งหมดแล้ว ถ้าปล่อยไว้อย่างนี้ คำโฆษณาสวยหรูอย่างเช่นของกรุงโตเกียวที่ว่าน้ำประปาของตนสะอาดดื่มได้เลยนั้นอาจจะสูญเสียเกียรติภูมิไป (น้ำน่ะคงสะอาดจริง แต่ท่อล่ะ?)
สำหรับสาเหตุของการต่อต้านจากประชาชนก็เป็นที่เข้าใจได้เหมือนกัน คือ เป็นที่เกรงกันว่าค่าน้ำจะแพงขึ้น ทั้งยังมีคำถามอีกว่าถ้าบริษัทที่ดำเนินการอยู่นั้นล้มละลายหรือถอนตัวล่ะ? หรือถ้าเกิดภัยพิบัติแล้วระบบน้ำประปาหยุดชะงักล่ะ ใครจะรับผิดชอบ? พร้อมทั้งมีการยกตัวอย่างประเทศที่ทำแบบนี้แล้วล้มเหลวขึ้นมา เช่น เมื่อปี 2542 เมืองโคชาบัมบา ประเทศโบลิเวีย ค่าน้ำประปาแพงขึ้นกว่า 2 เท่าเมื่อเปิดทางให้บริษัทอเมริกันเข้าไปบริหาร หรือเมื่อปี 2527 กรุงปารีสของฝรั่งเศสเคยให้บริษัทเอกชนเข้ามาบริหารน้ำประปา ค่าน้ำแพงขึ้นจริง จนกระทั่งปี 2553 ต้องดึงกลับมาให้ทางการเป็นผู้บริหารเหมือนเดิม
ในกรณีของญี่ปุ่น คาดเดาได้ไม่ยากว่าค่าน้ำประปาในญี่ปุ่นคงจะแพงขึ้นแน่ แม้ว่าคงไม่ขึ้นพรวดพราดจนประชาชนตกใจก็ตาม แต่การตัดสินประเมินค่าทั้งระบบคงยังทำไม่ได้ในระยะสั้น ต้องรอดูกันอย่างน้อย 3-5 ปีว่าการตัดสินใจครั้งนี้ของญี่ปุ่นจะประสบผลสำเร็จให้นำไปอ้างอิงเป็นกรณีศึกษาได้หรือไม่
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com