xs
xsm
sm
md
lg

จาก “เด็กสู่ผู้ใหญ่” ในนิยามของคนญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์


ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies


ช่วงใกล้ ๆ วันเด็กของไทย ญี่ปุ่นก็มีวันผู้ใหญ่ เรียกอย่างเป็นทางการว่า “วันบรรลุนิติภาวะ” หรือ “เซจิน โนะ ฮิ” (成人の日;Seijin no hi) ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ เดิมเคยกำหนดไว้ในวันที่ 15 มกราคม โดยเริ่มมีตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ด้วยระบบ “แฮปปี้มันเดย์” หรือ “สุขสันต์วันจันทร์” ญี่ปุ่นปรับแก้กฎหมายให้ย้ายวันหยุดราชการทั้งหลายที่กระจายอยู่กลางสัปดาห์ขึ้นมาเป็นวันจันทร์เพื่อให้มีวันหยุดยาวติดกันเป็นเสาร์-อาทิตย์-จันทร์ และตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา วันบรรลุนิติภาวะจึงตรงกับวันจันทร์ในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคม

คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับรูปแบบทั้งในเรื่องงานและการดำรงชีวิต ด้วยลักษณะนิสัยที่ชอบจัดระเบียบหรือขีดเส้นแบ่งให้เห็นรูปแบบและขั้นตอน ในช่วงชีวิตจึงมีงานพิธีหลายอย่างที่จัดเป็นกิจจะลักษณะเพื่อบ่งชี้ให้ชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงจากขั้นหนึ่งสู่อีกขั้นหนึ่ง เช่น การฉลองความเติบโตในแต่ละช่วงวัยของเด็กตามอายุนั้น ๆ ผ่านพิธี “เจ็ดห้าสาม” หรือการแต่งงานซึ่งยังคงเป็นแนวคิดสำคัญที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางในญี่ปุ่นว่าทุกคนควรผ่านขั้นตอนนี้เพราะจะทำให้ชีวิตสมบูรณ์ (แม้ปัจจุบันคนญี่ปุ่นที่ไม่แต่งงานมีมากขึ้น แต่สังคมยังมีแนวโน้มเชื่อว่าคนที่แต่งงานแล้วน่าเชื่อถือกว่าคนโสด) รวมทั้งการจัดพิธีฉลองความเป็นผู้ใหญ่ในวันบรรลุนิติภาวะด้วย
เด็กในพิธีเจ็ดห้าสาม

พิธีฉลองรับความเป็นผู้ใหญ่ชี้ให้เห็นว่า นอกจากคนญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญต่อเด็กแล้ว (ญี่ปุ่นมีวันเด็กด้วย) ก็ยังใส่ใจต่อสำนึกของความเป็นผู้ใหญ่ด้วย เพราะผู้ใหญ่คือคนที่จะออกแรงขับเคลื่อนสังคมอย่างเต็มตัวต่อไปอีกหลายสิบปี ปีแรกของการเริ่มเป็นผู้ใหญ่จึงถือเป็นช่วงเวลาสำคัญและมีการจัดพิธีฉลองมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงทุกวันนี้ เพียงแต่มีรูปแบบและแนวคิดแตกต่างกันไปบ้างตามยุคสมัย ด้านสื่อมวลชนก็ทำข่าวทั่วประเทศทุกปี นัยหลักของพิธีคือ เพื่อต้อนรับผู้ใหญ่รุ่นใหม่เข้าสู่สังคมในฐานะคนที่ผ่านพ้นการปกป้องคุ้มครองจากผู้ปกครองแล้ว และสร้างความตระหนักให้เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม สามารถคิดอ่านได้ด้วยวิจารณญาณของตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี จึงควรมีการฉลองเป็นอนุสรณ์

จากประกาศของทางการญี่ปุ่นพบว่า ปี 2562 ผู้ใหญ่รายใหม่หรือคนที่มีอายุ 20 ปีที่ฉลองในปีนี้มีจำนวน 1.25 ล้านคน คนที่อยู่ในข่ายนี้คือผู้ที่เกิดในช่วงตั้งแต่ 2 เมษายน พ.ศ. 2541 จนถึง 1 เมษายน พ.ศ. 2542 (ญี่ปุ่นนับปีงบประมาณตั้งแต่เดือนเมษายน การเริ่มนับสิ่งต่าง ๆ จึงมักเริ่มในเดือนเมษายน) ตอนนี้เกณฑ์ความเป็นผู้ใหญ่คือ 20 ปี แต่เกณฑ์นี้เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา และล่าสุดกำลังจะเปลี่ยนอีก ในสมัยโบราณ การเปลี่ยนผ่านจากเด็กสู่ผู้ใหญ่ไม่มีเกณฑ์อายุชัดเจน มาตรฐานชี้วัดก็อาจแตกต่างกัน เช่น มอบหมายกิจกรรมเพื่อเป็นการทดสอบ ถ้าผ่านก็ถือว่าเป็นผู้ใหญ่ เด็กชายอาจได้รับคำสั่งให้เดินข้ามเขา 3 ลูกไปกลับให้ทันภายใน 2 วัน ถ้าทำได้จะได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ใหญ่ เป็นต้น

ในสังคมชั้นสูงระดับขุนนางสมัยโบราณ มีพิธีเป็นกิจจะลักษณะ กล่าวคือ พอเด็กชายอายุประมาณ 12-16 ปี ถือว่ากำลังจะพ้นวัยเด็ก เมื่อพร้อมแล้วจะจัดพิธี “เก็มปูกุ” (元服;Genpuku) เพื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ พิธีนี้มีมาตั้งแต่สมัยนาระโดยได้รับอิทธิพลจากราชวงศ์ถังของจีน ในพิธีนี้เด็กชายจะเปลี่ยนทรงผมจากทรงเด็ก (เช่น รวบเป็นกระบิแนบไว้ข้างศีรษะ 2 ฝั่ง) มาเป็นทรงผู้ใหญ่ (เช่น เกล้าขึ้นไว้บริเวณกลางศีรษะ) สวมหมวกตามประเพณี เปลี่ยนชุดให้เป็นชุดผู้ใหญ่ เปลี่ยนชื่อวัยเด็กเป็นชื่อผู้ใหญ่ พิธีเก็มปูกุจัดให้เด็กผู้ชาย ส่วนของเด็กหญิงนั้นมีพิธีคล้ายกันในสมัยเอโดะ เรียกว่า “โซเดโตเมะ” (袖留;Sodetome) หรือการเปลี่ยนรูปแบบชุดกิโมโนเด็กหญิงให้เป็นผู้ใหญ่ด้วยการปรับความกว้างของแขนกิโมโนให้สอบลง
พิธีเก็มปูกุ
ส่วนพิธีฉลองการบรรลุนิติภาวะตามที่จัดอยู่ในขณะนี้มีขึ้นพร้อม ๆ กับการกำหนดวันที่แน่ชัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 ในช่วงแรกนั้นความตระหนักยังไม่แพร่หลายเท่าตอนนี้ แต่พอนานวันเข้าก็กลายเป็นกิจกรรมใหญ่ระดับประเทศที่ครอบครัวและทางการต่างให้ความสำคัญ โดยมากแล้วทางการระดับท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพจัด โดยให้ผู้ใหญ่รุ่นใหม่มารวมตัวกันที่หอประชุมประจำพื้นที่ มีผู้หลักผู้ใหญ่มาให้โอวาท ส่วนผู้ใหญ่รุ่นใหม่จะแต่งตัวเป็นทางการมาร่วมงาน ผู้หญิงนิยมใส่ชุดกิโมโน ส่วนผู้ชายมักใส่สูท บางคนอาจใส่ชุดกิโมโนชายไปร่วม

แต่สิ่งที่น่าเสียใจสำหรับช่วงหลายปีนี้คือ มักมีผู้ใหญ่รายใหม่บางคนอาละวาดสร้างความปั่นป่วนหรือทะเลาะกันในวันจัดพิธีและถูกจับกุม ส่วนใหญ่เกิดจากความคึกคะนองเกินเหตุ หรือคงลำพองใจจนขาดสติกับเสรีภาพใหม่ในฐานะผู้ใหญ่ที่ผ่านการรับรองอย่างเปิดเผย ในปี 2562 นี้ก็ปรากฏว่าเกิดเหตุอาละวาดอีกเช่นเคย อย่างที่เมืองโยโกฮามาซึ่งจัดงานใหญ่ระดับประเทศโดยมีผู้ใหญ่รายใหม่เข้าร่วมประมาณ 37,000 คน มีชายหนุ่มตะโกนโหวกเหวกวิ่งพล่านอาละวาดกลางงาน เจ้าหน้าที่จึงต้องรุดเข้าสกัด และพิธีต้องหยุดกลางคันครู่หนึ่ง เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นติดต่อกันหลายปี พอถึงวันนี้ทีไร เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือไว้เสมอ

อย่างไรก็ตาม ในอีกประมาณ 3 ปีข้างหน้า ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป นิยามของคำว่าผู้ใหญ่ในญี่ปุ่นจะ เปลี่ยนจาก “คนอายุ 20 ปี” เป็น “คนอายุ 18 ปี” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งแรกในช่วงประมาณ 140 ปีนับตั้งแต่ต้นสมัยเมจิ ก่อนหน้ากฎหมายนี้ ญี่ปุ่นได้ปรับลดอายุสำหรับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจาก 20 ปีลงมาเป็น 18 ปีแล้ว การปรับอายุบรรลุนิติภาวะลงมาก็จะสอดคล้องกับอายุที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ส่วนอายุที่แต่งงานได้นั้นปรับให้สูงขึ้นสำหรับทั้งหญิงและชายจาก 16 ปี เป็น 18 ปี

พอปรับอายุลง สิ่งที่จะเกิดตามมาคือ ในปีนั้นจำนวนผู้ใหญ่ของญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเพราะจะต้องรวมคนอายุ 20 ปี, 19 ปี, และ 18 ปีให้เป็นผู้ใหญ่คราวเดียวกัน ส่วนเรื่องสิทธิความเป็นผู้ใหญ่นั้น แน่นอนว่าคนอายุ 18 ปีจะสามารถทำอะไร ๆ อย่างที่ผู้ใหญ่ตอนนี้ทำได้ เช่น ทำนิติกรรมได้โดยไม่ต้องให้ผู้ปกครองยินยอม ทำสัญญาโทรศัพท์มือถือเองได้ ทำสัญญาเช่าห้องพักอาศัยคนเดียวได้ ทำบัตรเครดิตได้ กู้เงินเพื่อซื้อสินค้าราคาสูงได้ ทำหนังสือเดินทางประเภท 10 ปีได้ แต่บางเรื่องยังไม่อาจทำได้แม้จะบรรลุนิติภาวะตอนอายุ 18 ปีแล้วก็ตาม จะทำได้ก็ต่อเมื่ออายุถึง 20 ปีตามกำหนดเดิมในขณะนี้ ได้แก่ การดื่มสุรา การสูบบุหรี่และการซื้อบุหรี่ การซื้อบัตรที่เข้าข่ายการพนันสาธารณะ เช่น การแข่งม้า

อายุบรรลุนิติภาวะ 20 ปีของญี่ปุ่น แม้ต่ำกว่าของบางประเทศอย่างสิงคโปร์ (21) หรืออินโดนีเซีย (21) แต่ก็สูงกว่าหลายประเทศซึ่งใช้เกณฑ์ 18 ปีกันมากโดยเฉพาะในยุโรป เช่น อังกฤษ สวีเดน ฝรั่งเศส รัสเซีย ส่วนจีนก็ใช้เกณฑ์ 18 ปี และอเมริกามีตั้งแต่ 18-21 ปี ดังนั้นการลดลงมาจึงไม่ใช่การทวนกระแส แต่ก็มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอยู่ดี การสำรวจช่วงหนึ่งโดยหนังสือพิมพ์โยมิอูริกลางปีที่แล้วชี้ว่า คนที่เห็นด้วยมีประมาณ 40% ต้น ๆ ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยมี 50% ปลาย ๆ

จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมคิดว่าเด็กญี่ปุ่นอายุ 18 ปีมีความเป็นผู้ใหญ่พอที่จะใช้วิจารณญาณได้ดีและคุยกันรู้เรื่อง จากการสังเกตนักศึกษามหาวิทยาลัยปี 1 ซึ่งอยู่ในวัย 18-19 ปี ส่วนใหญ่มีความคิดอ่านเป็นของตัวเองและมีความรับผิดชอบสูง ไม่ต้องจ้ำจี้จ้ำไชเหมือนเด็ก และทำงานหาเงินแบ่งเบาภาระครอบครัวได้ด้วย เรียกได้ว่าเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตด้วยกำลังของตัวเองได้บ้างแล้ว อีกทั้งยังเห็นด้วยกับความเป็นไปได้ที่ว่า การลดอายุจะทำให้การศึกษาระดับมัธยมปลายได้รับความสำคัญยิ่งขึ้นในทางสร้างสรรค์ เพราะการจบมัธยมปลายจะหมายถึงการผ่านชีวิตวัยเด็กครบหลักสูตรเพื่อจะออกไปเป็นผู้ใหญ่ที่ทำมาหากินได้ จากจุดนี้การศึกษาของญี่ปุ่นอาจเปลี่ยนทิศทางไปใส่ใจความรู้เพื่อใช้ชีวิตในสังคมมากขึ้น แทนที่จะเน้นวิชาการให้เด็กไปสอบแข่งขันเพียงอย่างเดียว

การสร้างคนให้เป็นผู้ใหญ่ไม่ได้อยู่ที่อายุเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่วิธีสร้างและสิ่งแวดล้อมด้วย ผมเชื่อว่าระบบการศึกษาของญี่ปุ่น โดยเฉพาะช่วงปฐมวัยจนถึงมัธยมต้นนั้น เข้มแข็งในการฝึกคนให้พึ่งตนเองและมีสำนึกต่อสังคมตั้งแต่เนิ่น ๆ ดังนั้นการลดอายุความเป็นผู้ใหญ่ลงมาอีก 2 ปีจึงไม่น่าจะเป็นปัญหา

**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.mgronline.com



กำลังโหลดความคิดเห็น